โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จากเซ็นเซอร์สื่อ ถึง กุข่าว และ สื่อเลือกข้าง

The Momentum

อัพเดต 26 มี.ค. 2562 เวลา 07.11 น. • เผยแพร่ 26 มี.ค. 2562 เวลา 07.11 น. • พิรงรอง รามสูต

In focus

  • อีกวิธีการหนึ่งที่ใช้จัดการการสื่อสารที่ใช้แพร่หลายในช่วงก่อนเลือกตั้งโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ก็คือ การกุข่าวหรือสร้างและแพร่กระจายข่าวลือ ข่าวลวงเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝั่งคู่แข่งหรือฝั่งขั้วตรงข้ามทางการเมือง
  • ปรากฏการณ์ข่าวที่บิดเบือนและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางนั้น อาจแยกแยะได้จาก "เจตนา" เริ่มจากไร้เจตนา แต่เป็นเพียงความผิดพลาดของข้อมูลข่าวสาร (Falseness) ในขั้นต้น จนถึงระดับเจตนาจงใจทำร้าย (Intent to Harm)
  • ขณะที่ Misinformation คือ ข้อมูลข่าวสารที่เกิดจากข้อผิดพลาด โดยไม่เจตนาหรือจงใจ แต่มีอีกประเภทคือ Disinformation ข้อมูลข่าวสารที่ถูกกุขึ้นอย่างจงใจ เช่น มีการจัดการเนื้อหาทั้งทางอักษร เสียง ภาพ อาจมีการสร้างทฤษฏีสมคบคิด หรือสร้างข่าวลือเพื่อส่งผลต่อมติมหาชน (public opinion)
  • ที่น่าสนใจคือบทบาทของการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของข้อมูลข่าวสารที่เป็นปัญหา ส่วนใหญ่มาจากพลเมืองออนไลน์ที่มีความสนใจและตื่นตัว

 

การเมืองไทยห่างหายจากการเลือกตั้งทั่วไปมานานหลายปี การเลือกตั้งในวันที่24 มีนาคม2562 นับเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของขั้วอำนาจที่มีตัวแทนอยู่ในพรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ แต่ละฝ่ายจึงต้องอาศัยกลวิธีทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและแยบยลเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งในแง่ของการขจัดข่าวร้ายขยายข่าวดี การโฆษณาชวนเชื่อ การรณรงค์ผ่านวาทกรรมและภาพลักษณ์ การขายตรงด้วยการตลาดแบบไวรัล และแม้แต่การกุข่าวหรือสร้างข้อมูลบิดเบือนเพื่อดิสเครดิตคู่แข่ง

นับแต่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง และสื่อสำนักต่างๆ เริ่มทำข่าวและนำเสนอแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ขั้นตอน ตลอดจนตัวละคร และภาคส่วนต่างๆ ในการเลือกตั้ง ก็เริ่มมีการเซ็นเซอร์สื่อที่รายงานเนื้อหาที่อาจจะไม่เป็นบวกกับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นขั้วอำนาจหนึ่งที่ลงประชันในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

แน่นอนว่า เสรีภาพในการแสดงออกกับระบอบอำนาจนิยมเป็นเสมือนไม้เบื่อไม้เมากัน ในระบอบอำนาจนิยมใดๆ รัฐบาลย่อมไม่อยากได้ยินเสียงอื่นใดนอกจากเสียงของตัวเองหรือเสียงที่สนับสนุนตน การควบคุมไม่ให้เสียงที่แตกแถวหรือเสียงที่คัดค้านดังไปในวงกว้างจึงเป็นเรื่องปกติของระบอบนี้

การเซ็นเซอร์สื่อก่อนเลือกตั้ง

กรณีการเซ็นเซอร์สื่อที่ปรากฏเป็นข่าว ก็อย่างกรณีของวอยซ์ทีวีซึ่งถูกระงับการออกอากาศไป15 วันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สืบเนื่องจากรายการWake Up News ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับ การเลือกตั้ง อำนาจการจัดตั้งรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ อำนาจทหาร และ คสช. วอยซ์ทีวีถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสทช.) ลงมติว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม ส่อให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน และมีการกระทำความผิดซ้ำซาก จึงถูกระงับการออกอากาศไปช่วงหนึ่ง แม้ภายหลังศาลปกครองกลางจะมีมติทุเลาคำสั่งกสทช. และให้วอยซ์ทีวีกลับมาออกอากาศได้ก็ตาม

หรือกรณีของช่อง9 MCOT HD เมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่คุณอรวรรณ ชูดี(กริ่มวิรัตน์กุล) ผู้ดำเนินรายการ“ศึกเลือกตั้ง62” ถูกบอร์ด อสมท.สั่งให้ยุติการทำหน้าที่ หลังจัดดีเบตระหว่างตัวแทนจากพรรคการเมือง10 พรรค และมีนิสิตนักศึกษากว่า 100 คนจากกว่า 16 มหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมฟังและโหวต เนื้อหารายการตั้งคำถามและขอความเห็นเรื่องที่สมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยคสช. จำนวน 250 คนร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเรื่องพลเอกประยุทธ จันทร์โอชาจะไม่ร่วมการดีเบตนโยบายพรรคการเมือง วันถัดมา ทางบอร์ดอสมท. ก็มีคำสั่งให้ผู้ดำเนินรายการยุติหน้าที่ในกำหนดวันที่เหลือ

การเซ็นเซอร์สื่อทั้งสองกรณี เป็นอะไรที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะวอยซ์ทีวีเป็นสื่อฝีปากกล้าของค่ายชินวัตร ขณะที่ช่อง9 MCOT HD ก็เป็นกึ่งๆ สื่อของรัฐเพราะถือหุ้นส่วนใหญ่โดยกระทรวงการคลัง จึงมีความเสี่ยงในการถูกเซ็นเซอร์ทั้งคู่ หากด้วยเหตุผลที่ต่างกัน

การเซ็นเซอร์เป็นวิธีปิดกั้นข่าวสารแบบโบราณที่ไม่สนใจเสรีภาพสื่อหรือเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน จึงส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผู้มีอำนาจในการรับรู้ของสาธารณะ แม้ใบสั่งในการเซ็นเซอร์จะไม่ได้ออกมาจากรัฐบาลโดยตรง และรัฐบาลอาจไม่ได้รู้เรื่องด้วยซ้ำ แต่ผลเสียหายก็บังเกิดในทันที

การกุข่าวและแพร่กระจายข่าวลือ

ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลไหลเวียนอย่างรวดเร็ว และระบบเทคโนโลยีเปิดกว้างสำหรับการสื่อสารจากทุกทิศทางอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้จัดการการสื่อสารที่ใช้แพร่หลายในช่วงก่อนเลือกตั้งโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ก็คือ การกุข่าวหรือสร้างและแพร่กระจายข่าวลือ ข่าวลวงเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝั่งคู่แข่งหรือฝั่งขั้วตรงข้ามทางการเมือง

คนสร้างข้อมูลจำพวกนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคการเมือง แต่เป็นใครก็ได้ที่มีเจตนาในทางลบต่อตัวเล่นทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้

ที่ปรากฏเป็นข่าวและมีการแชร์กันกว้างขวางก็เช่น กรณีต่อไปนี้

  • กรณีเว็บไซต์ปลอมนำเสนอข่าวที่มีภาพและคำบรรยายประกอบว่า พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กินกาแฟแก้วละ12,000 บาท พร้อมภาพใบเสร็จราคาอาหารมากกว่า 80,000 บาท ซึ่งก็ปรากฏต่อมาว่าเป็นข่าวเท็จ ผู้คนที่แชร์ข่าวนี้ก็เดือดร้อนไปด้วย เพราะเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.คอมพ์ ในข้อการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
  • กรณี#เนชั่นโป๊ะแตก ที่ขึ้นเทรนดิงติดอันดับหนึ่งในแฮชแท็กของทวิตเตอร์ หลังรายการ“ข่าวข้น คนเนชั่น” ทางช่องเนชั่นทีวีเผยแพร่คลิปเสียงสนทนาเกี่ยวกับการวางแผนการเลือกตั้ง พร้อมนำเสนอภาพกราฟิกเป็นเงาดำคล้ายอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คู่กัน ภายหลังผู้ตรวจสอบจากพื้นที่ออนไลน์เปิดเผยว่า นี่เป็นคลิปที่มีการเอาเสียงของทั้งสองคนมาตัดต่อเสียใหม่ ทางเนชั่นถูกต่อว่าทั้งจากตัวธนาธรเองว่ามาตรฐานทางจริยธรรมตกต่ำและจากสังคมที่ตั้งคำถามกว้างขวางเกี่ยวกับเจตนาแอบแฝงในการปล่อยคลิปเสียงดังกล่าวออกอากาศโดยไม่ตรวจสอบให้ดีก่อน
  • กรณีการหยิบประเด็นการให้สัมภาษณ์นิตยสารเมื่อหลายปีมาแล้วของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เกี่ยวกับการยิ้มของคนไทย ว่าสะท้อนถึงการไม่มีจุดยืน มาแพร่กระจายในรูปแบบอินโฟกราฟิกส์ที่มีภาพและคำพูดที่ตัดทอนให้เกิดอคติได้ง่าย และการเผยแพร่ข่าวลือที่ว่า ทางพรรคมีนโยบายจะลดเงินเดือนหรือบำนาญของข้าราชการ ซึ่งภายหลังทางพรรคอนาคตใหม่ปฏิเสธว่าเป็นเท็จทั้งหมด

ในระดับหนึ่ง ปรากฏการณ์ข่าวที่บิดเบือนและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางเหล่านี้ เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของภาวะไร้ระเบียบทางข้อมูลข่าวสาร(information disorder) ที่ควรจับตามองเป็นพิเศษ ขณะที่ข้อมูลข่าวสารกำลังท่วมท้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ออนไลน์นั้น ผู้ผลิตและนำเนื้อหาเข้าสู่ระบบจะเป็นใครก็ได้ที่มีทักษะเพียงพอ

หากวิเคราะห์โดยใช้“เจตนา” เพื่อจัดระดับความร้ายแรง เริ่มจากไร้เจตนา แต่เป็นเพียงความผิดพลาดของข้อมูลข่าวสาร(Falseness) ในขั้นต้น จนถึงระดับเจตนาจงใจทำร้าย(Intent to Harm)  

ภาวะไร้ระเบียบทางข้อมูลข่าวสาร(อ้างอิงจากรายงานในปี2018 ของCouncil of Europe ในเรื่องนี้) จะแยกได้เป็น3 กลุ่ม คือ

  • Misinformation ข้อมูลข่าวสารที่เกิดจากข้อผิดพลาด โดยไม่เจตนาหรือจงใจ เช่น ลงcaption ชื่อคนไม่ตรงกับภาพ แปลความหมายจากภาษาอื่นผิด เป็นต้น
  • Disinformation ข้อมูลข่าวสารที่ถูกกุขึ้นอย่างจงใจ เช่น มีการจัดการเนื้อหาทั้งทางอักษร เสียง ภาพ อาจมีการสร้างทฤษฏีสมคบคิด หรือสร้างข่าวลือเพื่อส่งผลต่อมติมหาชน(public opinion) ข้อมูลข่าวสารแบบdisinformation อยู่ในเจตนาระดับกลาง ไม่ได้ไร้เจตนาเหมือนความผิดพลาดของข้อมูล แต่ก็ไม่รุนแรงถึงขั้นจงใจทำร้าย
  • Malinformation ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ควรเผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลอื้อฉาวที่สามารถทำลายชื่อเสียง หรือ ข้อมูลที่สร้างความเกลียดชังบนพื้นฐานของอคติ เป็นต้นmalinformation อาจมีเค้าโครงจากข้อเท็จจริงแต่ถูกเผยแพร่เพื่อแก้แค้น หรือเพื่อเจตนาทำร้ายทำลายฝ่ายตรงข้าม

ทั้งสามกรณีที่ยกมา ส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่ในขีดขั้นของ Disinformation มากกว่าข้ออื่น และที่น่าสนใจคือบทบาทของการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของข้อมูลข่าวสารที่เป็นปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากพลเมืองออนไลน์ที่มีความสนใจและตื่นตัว ในแวดวงวิชาการเรียกพลเมืองออนไลน์ที่สวมบทบาทในลักษณะนี้ว่า“ฐานันดรที่ 5” เพราะเป็นผู้ช่วยตรวจสอบอำนาจของฐานันดรที่ 4 ในอีกคำรบหนึ่ง หรือตรวจสอบแหล่งอำนาจในสังคมที่ฐานันดรที่ 4 อาจละเลยหรือหลงลืมไป บทบาทของฐานันดรที่5 มักปรากฏโดดเด่นโดยเฉพาะในช่วงที่สื่อกระแสหลักถดถอยหรือถูกควบคุม กรณีนาฬิกาหรูของบิ๊กป้อมก็เป็นหนึ่งในข้อมูลที่ค้นพบและนำเสนอโดยผู้ที่เข้าข่ายเป็นฐานันดรที่5 จนเกิดเป็นกระแสกว้างขวางไปในโลกโซเชียลและสื่อกระแสหลักตามมา

ในอีกระดับหนึ่ง การสร้าง Disinformation ตลอดจนท่าทีในการนำเสนอข่าวสารของสื่อสารมวลชนทั้งกระแสหลัก กระแสรอง ไปจนถึงสื่อทางเลือกจำนวนหนึ่ง ยังสะท้อนถึงการเลือกข้างของสื่อวิชาชีพ(ผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นสื่อและยึดโยงกับจรรยาบรรณวิชาชีพ) ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา มักจะมีความคาดหวังในเชิงบรรทัดฐานว่าจะต้องตั้งมั่นอยู่บนความเป็นวัตถุวิสัย กล่าวคือ การไม่ลำเอียง ไม่มีฝักฝ่าย การเอาตัวเองออกห่างผลประโยชน์หรืออคติใดๆ และการยึดเอาประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง

แต่ด้วยการเปิดหน้าไพ่ของสื่อวิชาชีพจำนวนมากว่า เชียร์ใครและไม่เชียร์ใคร แม้จะในดีกรีที่แตกต่างกัน ก็เป็นบทพิสูจน์ที่ดีว่า“ฐานันดรที่ 4” ในประเทศนี้ยังไม่ได้เป็นอิสระจากอิทธิพลของการเมืองแบบแบ่งขั้วที่ครอบงำพอที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่ถูกกังขาจากสังคมได้ 

ต้นทุนของการเลือกข้าง และภูมิคุ้มกันของสังคม

หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ สื่อมวลชนที่เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อมืออาชีพจำนวนไม่น้อยน่าจะต้องทบทวนตัวเองและพยายามสร้างต้นทุนทั้งทางวิชาชีพและทางสังคมให้ดีขึ้น หากยังจะหาญเรียกร้องและใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนของสื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้ใช้ในระดับปัจเจกเป็นผู้ดูแลกันเองเป็นพื้นฐาน ก็ปรากฏเรื่องราวของการไม่ลงรอย ขัดแย้ง ใช้ถ้อยคำโจมตีกัน หรือแม้แต่การยกเลิกความเป็นเพื่อน(unfriend) ในเฟซบุ๊กซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมของคนไทยอย่างกว้างขวาง และคงจะมีการใช้ประทุษวาจา(hate speech) ทำร้ายทำลายกันไม่มากก็น้อยในหน้าเพจที่เป็นกลุ่มแบ่งขั้วแบบสุดโต่ง หรือในหน้าเพจส่วนตัวของผู้ใช้บางคน

การเลือกข้างทางการเมืองในส่วนนี้คงเป็นอะไรที่ห้ามกันไม่ได้ เพราะเป็นเสรีภาพในระดับปัจเจก แต่ก็ควรจะต้องมีการสร้างความตระหนักรู้เพื่อรังสรรค์ให้พื้นที่ออนไลน์เป็นปริมณฑลการสื่อสารที่มีความรับผิดชอบ เคารพสิทธิ และความแตกต่างหลากหลายทางความคิดของผู้อื่นด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0