โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จากป่าแอมะซอนสู่ศิลปะร่วมสมัยและแผ่ใบไปทุกบ้าน : ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของฟิโลเดนดรอน

a day magazine

อัพเดต 12 มิ.ย. 2563 เวลา 05.19 น. • เผยแพร่ 04 มิ.ย. 2563 เวลา 17.52 น. • วณัฐย์ พุฒนาค

ไทรใบสัก ยางอินเดียดำ ฟิโลเดนดรอน สามชื่อมหัศจรรย์และตามมาด้วยอีกสารพัดชื่อที่ล่องลอยอยู่ในไอจี ลอยเท้งเต้งไปจนถึงตลาดค้าต้นไม้วันพุธ เลยมาจนถึงตลาดต้นไม้แถวเลียบด่วน

จริงอยู่ว่ามนุษย์เราเลี้ยงต้นไม้ในร่มมาตั้งแต่บรรพกาล เรามีสวนลอยแห่งบาบิโลน มีความพยายามปลูกพืชบางชนิดในเรือนกระจก แต่ว่าการที่เราจะจินตนาการถึงการมีต้นไม้สีเขียวตัดกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ภาพของต้นไม้หนึ่งต้น ใบไม้ที่ทรงสวยตัดกับกำแพงสีขาวสะอาด พืชสีเขียวๆ ที่เคยอยู่ในป่าดงดิบกลับมาสถิตอยู่บนโต๊ะเก้าอี้ทรงโมเดิร์นผลงานแบบ Bauhaus ได้อย่างลงตัว มันก็ต้องมีจุดเชื่อมต่อบางอย่างที่ดึงและลดทอนร่มไม้ใบหนาจากป่าดิบชื้นเข้ามาสู่ชายคาบ้าน

ฟิโลเดนดรอน คือ 1 ใน 3 ไม้อัศจรรย์ข้างต้น เป็นต้นไม้ที่แค่ชื่อก็รู้สึกถึงเรื่องราวบางอย่างแล้ว แต่ฟิโลเดนดรอน–ไม้แห่งความรักในร่มไม้นี้ เป็นหนึ่งในไม้สำคัญที่มีภูมิลำเนาอยู่ในอเมริกาใต้ จากความงดงามอันแปลกประหลาดของใบและรูปทรง

มนุษย์เรารักและเห็นความงามของต้นและใบไม้มาอย่างเนิ่นนาน พืชเช่นฟิโลเดนดรอนเองก็มีประวัติศาสตร์และการเดินทางอันยาวนาน พวกมันเป็นส่วนของวิถีชีวิตชนเผ่าของชาวแอมะซอน ฟิโลเดนดรอนเริ่มเดินทางออกจากป่าสู่เมืองก็ในช่วงศตวรรษที่ 19 นักพฤกษศาสตร์ได้จำแนกฟิโลเดนดรอนไว้มากถึง 900 สายพันธุ์ และนำพวกมันเดินทางออกจากป่าในบราซิลไปสู่สวนพฤกษศาสตร์ในสเปน

หลังจากนั้นไม้ใบยักษ์นี้ก็ค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่โลกของศิลปะร่วมสมัย จากสวนพฤกษศาสตร์เริ่มแผ่ใบเข้าไปสู่ชายคาบ้าน ในช่วงนี้เองที่โลกศิลปะเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เราให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย ธรรมชาติ กระทั่งความสนใจในพืชต่างถิ่น เจ้าต้นไม้ฟอร์มสวย เทกซ์เจอร์ดีเหล่านี้จึงกลายเป็นความงามที่ค่อยๆ ย้ายตัวเองเข้าสู่ผืนผ้าใบ จากภาพวาดของ Matisse สู่ภาพถ่ายแฟชั่นของ Karl Lagerfeld และค่อยๆ กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของงานสถาปัตยกรรมภายในร่วมสมัย จากยุโรปสู่ศิลปะแบบอเมริกันที่เราคุ้นเคยจากหน้านิตยสารและสไตล์การแต่งบ้านแบบมาตรฐาน

ฟิโลเดนดรอนที่เราเอามาตั้งและนั่งยิ้มอยู่ในห้องนั่งเล่น บนโต๊ะทำงาน จึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเรา จากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ การเกิดขึ้นของชีววิทยา การจำแนกสายพันธุ์พืช ความหลงใหลในโลกตะวันออก การล่าอาณานิคม เรื่อยมาจนถึงการปฏิวัติวงการออกแบบและการเกิดขึ้นของศิลปะร่วมสมัยอื่นๆ ที่รายล้อมเราอยู่ทุกวันนี้ เส้นทางของฟิโลเดนดรอนน่าหลงใหลจนกระทั่งกลายเป็นนิทรรศการพิเศษที่พิพิธภัณฑ์ The Wolfsonian–FIU

 

ไม้ใบหนาในป่าปูน ความรักในร่มไม้ที่แผ่ใบสู่เมืองใหญ่

ลองนึกภาพงานสถาปัตยกรรมโบราณ เราเห็นภาพของความวิจิตรบรรจง เห็นการประดับประดาจำนวนมหาศาล แถมในยุคนั้นความเข้าใจเรื่องพืชพรรณก็มีน้อย ต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ท้องถิ่น ทั้งยุโรปและเอเชียก็อาจมีการเลี้ยงไม้กระถางบ้าง แต่ไม้ในร่มบางส่วนปลูกไว้เพื่อต้องการผลผลิตตลอดปี ตอนนั้นจะเอาไม้กระถางไปตั้งเป็นประธาน ไปประกอบตกแต่ง ก็ดูจะสู้ผนังหลังคาหรือภาพเขียนวิจิตรตระการตาไม่ไหว ไม้กระถางอย่างที่เราคุ้นๆ ดูจะเข้ากับศิลปะและงานออกแบบสมัยใหม่ที่เน้นความน้อยแต่มาก เป็นการนำเอาธรรมชาติกลับเข้าไปสู่เมือง สู่ตึกอาคารที่เรียบง่ายแต่ก็แห้งแล้ง

รากศัพท์ของฟิโลเดนดรอนคือ ความรัก (philo) และไม้ใหญ่ (dendron–tree) ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะต้นของมันเป็นไม้ที่เกาะกอดอยู่กับต้นไม้ใหญ่ จริงๆ ชื่อมันก็ฟังดูโรแมนติกและสะท้อนเส้นทางความรักในต้นไม้ของเราได้พอสมควร เจ้าฟิโลเดนดรอนเป็นต้นไม้ที่เติบโตในป่าดิบชื้น แรกเริ่มพบในแถบลาตินอเมริกา เช่น แคริบเบียน โคลอมเบีย และเวเนซุเอลา หลังจากนั้นในช่วงราวศตวรรษที่ 17 ยาวนานมาจนถึงศตวรรษที่ 18 โลกตะวันตกเริ่มเดินทางสำรวจ เก็บรวบรวม จำแนกสายพันธุ์พืช และเริ่มจำแนกฟิโลเดนดรอน จนกระทั่งนำพืชจากป่าดิบเหล่านี้กลับไปเลี้ยงในสวนพฤกษศาสตร์

จากการเลี้ยงเพื่อการศึกษา ในยุคที่สวนอนุบาลกล้าไม้พบว่าไอ้เจ้าใบเขียวๆ หนาๆ ทรงสวยอย่างประหลาดนี้เลี้ยงง่าย ตายยาก แถมขยายพันธุ์ไวอีกต่างหาก การเพาะและขายต้นไม้นี้จึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับตลาดต้นไม้

ย้อนไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หรือราวปี 1885 เป็นต้นมา ที่อังกฤษมีตลาดพรรณไม้ มีธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญพืชพรรณ (horticulture industry) มีแคตาล็อกราคาไม้นำเข้า ราคาเมล็ดเพื่อส่งให้กับสวน และการจัดสวนตามบ้านคหบดีและปราสาทราชวังของผู้มีอันจะกิน ในที่สุดเจ้าไม้ใบนี้ด้วยความที่ทนทาน เลี้ยงไม่ยาก ก็ค่อยๆ แมสและจับต้องได้ จากบ้านเศรษฐีสู่บ้านเรือนทั่วไปในท้ายที่สุด

 

สวยสมัยใหม่ ความงามของนางไพรในสายตาศิลปินโมเดิร์น

ความงามขึ้นอยู่กับสายตาผู้มอง จากไม้กอใหญ่ในป่าดิบมายืนรวมหมู่อยู่ในสวนพฤกษศาสตร์ ด้วยกระแสความสนใจทั้งความสนใจในพืชต่างถิ่น ไปจนถึงว่าต้นไม้เหล่านี้ก็มีความสวยงามแปลกประหลาดของมันเอง ฟิโลเดนดรอนมีทรงใบแฉก หนา เป็นมัน มีคุณสมบัติทางภาพที่น่าหลงใหลอย่างประหลาด ดิบ สวย แปลก มีลักษณะที่เป็นนามธรรมสอดคล้องกับการนำเสนอภาพและแนวคิดศิลปะสมัยใหม่

ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ศิลปินร่วมสมัยจะมองเห็นความงามในรูปทรงนี้ ศิลปินร่วมสมัยสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ล้วนมีผลงานที่ใช้ฟิโลเดนดรอนประกอบ ทั้ง La Musique ของ Henri Matisse วาดขึ้นในปี 1939 เป็นภาพของผู้หญิงเล่นกีตาร์ ด้านหลังมีใบของฟิโลเดนดรอนทอดตัวลงเป็นฉาก หรือในประติมากรรม La femme au jardin (Woman in the Garden, 1929-1920) ของ Picasso ที่ใช้ใบฟิโลเดนดรอนไร้รูปร่างรายล้อมเรือนร่างของสุภาพสตรีด้วย

จากงานของทั้งมาทิสส์และปิกัสโซแสดงให้เห็นว่าคนทั่วไปก็เริ่มคุ้นเคยกับไม้กระถางและไม้ในร่ม แถมยังมองเห็นว่าไม้เช่นฟิโลเดนดรอนนั้นมีความงามต้องกับรสนิยมสมัยใหม่ จากภาพเขียนของปรมาจารย์ หลังจากโลกของสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน ก็เริ่มมีการใช้ไม้ใบจากป่าดงดิบเหล่านี้เข้ามาเป็นทั้งองค์ประกอบและองค์ประธานของตัวพื้นที่

จากสถาปัตยกรรมอเมริกันแถวไมอามี สู่มาตรฐานภาพถ่ายในนิตยสาร

เรื่องสถาปัตยกรรมและความเฉิดฉายของฟิโลเดนดรอนค่อนข้างมีหลายกระแส แน่ล่ะว่ายุโรปกระทั่งเอเชียก็คงจะคุ้นกับไม้ในบ้านกันระดับหนึ่ง เห็นความงามและหลงใหลสีเขียวท่ามกลางคอนกรีต แต่ความเฉิดฉายของฟิโลเดนดรอนจากการเรียบเรียงของ The Wolfsonian–FIU พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในไมอามีที่จัดนิทรรศการอุทิศให้ฟิโลเดนดรอนในชื่อ Philodendron: From Pan-Latin Exotic to American Modern ทำการสดุดีไม้งามแห่งพงไพรในฐานะหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของศิลปะร่วมสมัย ชี้ให้เห็นว่าฟิโลเดนดรอนนั้นสัมพันธ์กับกระแสศิลปะและสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในชายฝั่งแถบเวสต์โคสต์ ตั้งแต่การตกแต่งภายในของบ้านสมัยใหม่ในแคลิฟอร์เนีย มาจนถึงภาพถ่ายแฟชั่นที่ทั้งคู่กลายเป็นไอคอนสำคัญให้กับโลกของงานออกแบบสมัยใหม่

ในห้วงเวลาใกล้เคียงกันกระแสศิลปะแบบสมัยใหม่ (modernist movement) พัดพาเข้าสู่โลกของสถาปัตยกรรม ในอเมริกาเองโดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งแถบเวสต์โคสต์ ด้วยภูมิประเทศชายฝั่งและความมั่งคั่งแถบไมอามี แคลิฟอร์เนีย ประกอบกับวงการสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เริ่มเกิดกระแสสร้างบ้านทำนองวิลลาหรู เป็นบ้านที่ใช้เส้นตรง กระจก วัสดุสมัยใหม่ที่เรียบง่ายและคมคาย เป็นกระแสสำคัญ

ในยุคนั้นจึงมีบ้านระดับตำนานเกิดขึ้นหลายหลัง ซึ่งในบรรดาความเรียบง่ายของบ้านหรูแบบสมัยใหม่ นักออกแบบใช้ต้นไม้เข้าไปประดับกับตัวสถาปัตยกรรมสมัยใหม่จนกลายเป็นไอคอนของวิลลาริมทะเลแบบอเมริกัน เรามีภาพถ่ายบ้าน Von Sternberg ผลงานการออกแบบของ Richard Neutra ที่ภายในมีการใช้ฟิโลเดนดรอนประดับประกอบกับห้องโล่งๆ เรียบๆ ซึ่งภาพนี้ก็เป็นอีกหนึ่งงานศิลปะภาพถ่ายทางสถาปัตยกรรม ถ่ายโดย Julius Shulman ในปี 1947 เป็นภาพแบบที่จะไปโผล่ในนิตยสารและหนังสือแบบบ้านและสถาปัตยกรรมที่เราคุ้นเคยกันดี

นอกจากบ้านของริชาร์ดแล้ว ในทำนองเดียวกันภาพงานออกแบบภายในของ Brody House ออกแบบโดยสถาปนิก Quincy Jones ก็ปรากฏการใช้กอฟิโลเดนดรอนขนาดใหญ่เป็นองค์ประธานของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เจ้าไม้จากป่าดิบเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะภาพถ่าย เป็นบ้านและภาพแบบมาตรฐานที่เราจะเห็นในตำราสถาปัตยกรรมร่วมสมัยกันจนชินตา

ฟิโลเดนดรอนรวมถึงไม้ใบอื่นๆ จึงเป็นไม้ที่มีความงามเข้ากับสุนทรียภาพของโลกสมัยใหม่ จากผืนผ้าใบมาสู่หน้านิตยสารบ้านและงานออกแบบ ความสวยของใบไม้และรูปทรงนั้นยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่ออยู่ในดินแดนของศิลปะภาพถ่ายและโลกของแฟชั่น นอกจากกอไม้ ใบไม้ที่เคยเป็นส่วนประกอบของบ้าน เคยอยู่ในกระถาง ในที่สุดก็กลายมาเป็นส่วนประกอบของภาพถ่ายจากนิตยสาร Home Décor สู่ Vogue ภาพสำคัญนั้นเป็นภาพของ Michele Oka Doner ถ่ายโดยเลเกอร์เฟลด์ โดยถ่ายให้ Vogue ในปี 1999 ตัวภาพเป็นการผสานความงามของตัวแบบกับการใช้ใบไม้ขนาดใหญ่ที่กล้องหรือภาพถ่ายสามารถจับรายละเอียดจนเกิดสไตล์แบบไฮแฟชั่น

“Philodendron”: Portrait of Michele Oka Doner by Karl Lagerfeld for Vogue, 1999.

จากเรื่องราวการย้ายจากป่าดงพงไพรที่จะว่ายาวก็ยาว จะว่าสั้นก็ไม่กี่ร้อยปี กว่าที่เจ้าฟิโลเดนดรอนจะค่อยๆ แผ่ใบเข้ามาสู่สุนทรียภาพของกระแสสมัยใหม่ จากภาพเขียนสู่สถาปัตยกรรมและงานออกแบบภายใน เรื่อยมาจนมาอยู่ในนิตยสาร ที่ทำให้ในที่สุดจากต้นไม้ใบหนาสู่การเข้ามาอยู่รวมชายคากับมนุษย์เรา ในมุมเล็กมันช่วยสะท้อนภาพของศิลปะและกระแสของโลกสมัยใหม่ที่หยั่งรากมาตั้งแต่ศตวรรษก่อนหน้า ฟิโลเดนดรอนจึงเป็นเหมือนทั้งลูกหลานและมรดกตกทอดของงานระดับไอคอนร่วมสมัยที่คลี่คลายจนมาอยู่ในรั้วบ้านของเรา

 

 

อ้างอิง

1stdibs.com

britannica.com

miamiherald.com

pikaplant.com

researchgate.net

thejoyofplants.co.uk

wolfsonian.org

wolfsonian.org

wolfsonian.org

Highlights

  • ฟิโลเดนดรอนเป็นหนึ่งในไม้สำคัญ มันมีภูมิลำเนาอยู่ในอเมริกาใต้ มีประวัติศาสตร์และการเดินทางอันยาวนาน และยังเป็นส่วนของวิถีชีวิตชนเผ่าในแอมะซอน
  • ฟิโลเดนดรอนมากถึง 900 สายพันธุ์ เริ่มเดินทางออกจากป่าในบราซิลไปสู่สวนพฤกษศาสตร์ของสเปนในช่วงศตวรรษที่ 19
  • หลังจากนั้นไม้ใบยักษ์นี้ก็ค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่โลกของศิลปะร่วมสมัย จากสวนพฤกษศาสตร์ก็เริ่มแผ่ใบเข้าไปสู่ชายคาบ้าน
  • เส้นทางของฟิโลเดนดรอนน่าหลงใหล จนกระทั่งกลายเป็นนิทรรศการพิเศษที่พิพิธภัณฑ์ The Wolfsonian–FIU
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0