โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จับแพะ-แพะรับบาป ทำไมต้องเรียกเป็น "แพะ" ???

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 05 ส.ค. 2566 เวลา 05.49 น. • เผยแพร่ 05 ส.ค. 2566 เวลา 05.43 น.
ภาพปก-แพะรับบาป

แพะรับบาป แทนคน

การฆ่าคนหรือสัตว์ เป็นเครื่องเซ่นสังเวย ในพิธีกรรมเซ่นวักสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปกป้องคุ้มครองชุมชนให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายหายนะ พบทั่วไปในชุมชนดึกดําบรรพ์ทั้งโลก จะต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อย

ฆ่าคนก่อนเปลี่ยนเป็นสัตว์หรือฆ่าสัตว์ก่อนฆ่าคน ยังสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จึงเปิดช่องไว้ให้ทักท้วงถกเถียงตามสะดวก

แต่ภูมิภาคอุษาคเนย์มีหลักฐานการฆ่าคนและสัตว์ในยุคเดียวกันราว 3,000 ปีมาแล้ว แต่ใช้เซ่นวักต่างผี ดังนี้

ฆ่าคน เซ่นวักตีนผีดิน

ฆ่าหมา เซ่นวักผีข้าว (เพราะเชื่อว่าหมาเก้าหางนําพันธุ์ข้าวจากฟ้าลงมาให้มนุษย์ปลูกกิน)

หลังรับศาสนาจากอินเดีย อาจเป็นเหตุให้เปลี่ยนการเซ่นวักผีน้ำผีดินจากการฆ่าคนเป็นฆ่าควาย มีในนิทานตำนานปราสาทวัดพู ที่จําปาสัก ในลาว

พิธีฆ่าสัตว์และคนเพื่อเซ่นวักสิ่งศักดิ์สิทธิ์สมัยแรกๆ ยังไม่พบชื่อเรียกพิธีอะไร?

เพิ่งพบ พิธีฆ่าแพะบูชายัญ เรียกชื่อว่าแพะรับบาป เมื่อ ค.ศ. 1530 (ตรงกับยุคต้นอยุธยา พ.ศ. 2073 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร)

มีคําอธิบายในหนังสือปรักปรําศาสตร์ (Scapegoat A History of Blaming Other People by Charlie Campbell) แปลโดย อลิสา กันตสมบัติ บอกว่า

คําว่า “แพะรับบาป” ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดย วิลเลี่ยม ทินเดล ผู้แปลพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับ ปี 1530 เขาคิดคํานี้ขึ้นเพื่ออธิบายพิธีกรรมวันไถ่บาปของชาวยิวในหนังสือเลวีนิติที่มีการบูชายัญแพะสองตัว

*ตัวแรก ใช้บูชายัญถวายพระยาห์เวห์ พระเจ้าของชาวยิว เพื่อที่พระองค์จะได้ยกโทษให้ชาวอิสราเอล แพะตัวนี้เป็น “บรรณาการไถ่บาป” และการบูชายัญก็เป็นการกระทำเพื่อไถ่บาปมนุษย์ ซากที่เหลือจะถูกเผาทิ้งนอกบริเวณชุมชน*

*ตัวที่สอง อุทิศให้อาชาเซล เทพเจ้าแห่งโลกหลังความตาย แพะตัวนี้จะถูกนำออกไปปล่อยไว้นอกเขตหมู่บ้าน*

หลังจากนั้นแพะรับบาปก็แพร่หลาย แล้วถูกใช้ในความหมายต่างๆ กัน

แต่ที่สําคัญ คือใช้เรียกคนที่ถูกปรักปรำ (เป็นแพะ) ให้รับบาปแทนคนอื่นว่า “แพะรับบาป”

ตกถึงยุคใหม่ในการเมืองปัจจุบัน จู่ๆ แพะรับบาปก็ไม่ใช่การกระทำในพิธีกรรม และไม่ใช่วิธีปกป้องชุมชนอีกต่อไป แต่กลายเป็นวิธีปกป้องคนคนหนึ่งหรือสองคนแทน

ทุกครั้งที่มีเหตุหายนะ คนส่วนมากจะหาทางกล่าวโทษคนส่วนน้อย

ทางการเมืองสมัยใหม่ มีตัวอย่างเป็นรูปธรรมมากมายทั้งในไทยและในโลกว่า

แพะรับบาปหมายถึงใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกผลักให้รองรับความโกรธ และการกล่าวโทษอันหลากล้นที่ตามมาหลังเหตุหายนะ

ปรักปรำศาสตร์ เป็นหนังสือไม่ปรักปรำใคร แต่แฉการปรักปรำทั่วไปในประวัติศาสตร์โลก (ไม่มีไทย) ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันได้อย่างอัศจรรย์ใจ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0