โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

จับสัญญาณราคาทอง

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 27 พ.ค. 2562 เวลา 03.24 น.
wedding-gifts-1808235_960_720

คอลัมน์ สถานีลงทุน

โดย ธนรัชต์ พสวงศ์ ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

ทิศทางราคาทองคำในเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้ปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,300 ดอลลาร์ เนื่องจากความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากที่สหรัฐมีการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่าวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% จากระดับ 10% ทำให้จีนต้องใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐกลับโดยประกาศจะเพิ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 25% จากเดิมระดับ 10% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 62

แต่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ทองคำเริ่มมีแรงเทขายและปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง และข่าวว่าสหรัฐได้ประกาศ “ยกเลิก” คำสั่งห้ามบริษัทสหรัฐในการดำเนินธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี เป็นการชั่วคราว ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐเริ่มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง นักลงทุน “ขาย” ทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สถานการณ์ที่ต้องจับตา คือ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ภายหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีประกาศยกเลิกคำสั่งผ่อนผันในการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านแก่ 8 ประเทศนั้น ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิตาลี กรีซ ไต้หวัน และตุรกี เพื่อขจัดช่องทางการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน จึงทำให้สร้างความไม่พอใจของหลายประเทศ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านจึงเริ่มทวีคูณมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสหรัฐได้ส่งกำลังทหาร รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 เข้าสู่ตะวันออกกลาง ส่งผลให้อิหร่านหลังจากที่เคยใช้ความอดทนอดกลั้นกับสหรัฐมาตลอด 1 ปีจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าสหรัฐจะประกาศคว่ำบาตรการทำธุรกรรมด้วยเงินสกุลเรียลของอิหร่าน

มาตรการคว่ำบาตรการทำธุรกรรมของธนาคาร การขนส่งทางเรือ หรือแม้แต่มาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอิหร่านเป็นอย่างมาก โดยการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ระบุว่า เศรษฐกิจอิหร่านจะหดตัวลง 6% ในปีนี้ โดยเป็นการหดตัวมากกว่าปีที่แล้วที่เศรษฐกิจหดตัว 3.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงถึง 40% เพราะได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐยังเดินหน้าใช้มาตรการกดดันอิหร่าน ทำให้อิหร่านอาจเริ่มหมดความอดทนต่อสหรัฐ อิหร่านจึงขู่ที่จะถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2558 และจะเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมมากกว่าที่ได้รับอนุญาตภายใต้ข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่ทำร่วมกับประเทศมหาอำนาจ รวมถึงสหรัฐในตอนแรก โดยข้อตกลงนี้มีขึ้นเพื่อควบคุมกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะบานปลาย จนกลายเป็นสงครามระหว่างสหรัฐและอิหร่าน สถานการณ์“ตึงเครียด” ในตะวันออกกลางนั้น จึงเป็นปัจจัยหนุน “ราคาน้ำมัน” ให้ปรับตัวขึ้น ทั้งนี้หากสถานการณ์ดังกล่าว “ลุกลามบานปลาย” จนเกิดสงครามระหว่างประเทศนั้น ก็จะส่งผลให้ราคา “ทองคำ” ปรับตัว “ขึ้น” เช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนหลีกเลี่ยงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น แล้วหันไป“ซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย” เพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศนั้นยังคงไม่นำไปสู่สงคราม ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความต้องการที่จะใช้แนวทางทางการทูตกับอิหร่าน รวมถึงการเจรจาโดยตรงกับผู้นำอิหร่านมากกว่า แม้ว่าทางด้านอิหร่านจะไม่สนใจที่จะเจรจาต่อรองกับสหรัฐ หลังจากที่สหรัฐประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมาใช้กับอิหร่านอีกครั้ง รวมถึงที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐบางท่านนั้นจะต้องการให้สหรัฐทำสงครามกับอิหร่านก็ตาม

แนวโน้มราคาทองคำในเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่าจะมีทิศทาง sideways down ในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวลง ก็ยังคงมี “แรงซื้อ” เข้ามาเล็กน้อย ทั้งนี้ หากว่าราคาทองคำ spot ปรับตัวลงทะลุแนวรับ 1,266 ดอลลาร์/ออนซ์ ที่เป็นจุดต่ำสุดของราคาทองคำในปีนี้ จะทำให้ราคาทองคำปรับลงแรงและมีโอกาสไปถึงแนวรับสำคัญ 1,258 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยราคาทองคำมีแนวต้านสำคัญบริเวณ 1,300 ดอลลาร์

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าจับตามองต่อไปไม่เพียงแต่เป็นสถานการณ์อิหร่านเท่านั้น ยังเป็นความขัดแย้งทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับหลายประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ในขณะที่การเจรจาทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ และยังมีทีท่าต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงยืดเยื้อต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0