โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

จับตา ‘สายการบินโลก’ รายไหนรุ่ง รายไหนร่วง

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 09 พ.ย. 2562 เวลา 02.00 น. • The Bangkok Insight
จับตา ‘สายการบินโลก’ รายไหนรุ่ง รายไหนร่วง

ในปี 2562 นี้ มีการคาดการณ์กันว่า สายการบินพาณิชย์ทั่วโลกจะมีรายได้รวมกันอยู่ที่ราว 865,000 ล้านดอลลาร์  แรงหนุนจากจำนวนนักเดินทางที่เพิ่มขึ้นราว  5.1% โดยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่ความต้องการการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ช่วยให้บรรดาสายการบินชั้นนำของโลก ยังรักษาการทำกำไร หรือกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งหนึ่ง

ภาพ : pixabay
ภาพ : pixabay

สิงคโปร์ แอร์ไลนส์

บริษัทสายการบินแห่งชาติสิงคโปร์ รายงานผลประกอบรายปีในปีงบการเงิน 2561 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แรงหนุนจากจำนวนผู้โดยสารที่พุ่งขึ้นอย่างมาก แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในด้านเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบถึงครึ่งหนึ่งของผลกำไรบริษัท โดยในปีงบการเงินที่แล้ว ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา สิงคโปร์ แอร์ไลนส์ มีรายได้เพิ่มขึ้น 3.3% มาอยู่ที่ 16,320 ล้านดอลลาร์ จากจำนวนผู้โดยสารที่พุ่งขึ้น 7.2%

ขณะที่ผลกำไรโดยรวมของบริษัท ลดลง 47.5% มาอยู่่ที่ 682.7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากระดับ 1,300 ล้านดอลลาร์ในปีงบการเงินก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี รายได้ของบริษัทยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการยกเครื่องฝูงบิน และปรับโครงสร้าง ซิลค์ แอร์ สายการบินในเครือ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการควบรวมกิจการกับสิงคโปร์ แอร์ไลนส์ ที่เป็นสายการบินหลัก

คาเธ่ย์ แปซิฟิก 

สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิค สายการบินหลักของฮ่องกง รายงานผลประกอบการปี 2561 ด้วยตัวเลขกำไรสุทธิ 2.35 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง หลังจากที่บริษัทขาดทุนติดต่อกัน 2 ปีซ้อน โดยการกลับมาทำกำไรอีกครั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่สายการบินยกเครื่องการดำเนินงานครั้งใหญ่ ทั้งลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มเส้นทางบินระยะไกลไปตะวันออกกลาง

แควนตัส 

แควนตัสกรุ๊ปประกาศผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2561 ด้วยตัวเลขรายได้ที่สูงถึง 17,970 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย  โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 890 ล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย โดยระบุว่าได้แรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในทุกตลาด รวมถึงความแข็งแกร่งจากเส้นทางบินภายในประเทศออสเตรเลียทั้งของสายการบินแควนตัสและสายการบินเจ็ท สตาร์ หน่วยงานในเครือ

เจแปน แอร์ไลนส์

หลังจากที่เคยประสบภาวะขาดทุน ถึงขั้นต้องยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์สินภายใต้กฎหมายล้มละลายเมื่อปี 2553 สายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่นรายนี้ ก็สามารถพลิกฟื้นกลับมา จนสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ในปีงบการเงิน 2562 นี้ บริษัทได้เริ่มดำเนินโครงการลดค่าใช้จ่ายอีกครั้ง ผลจากรายได้ที่ซบเซาลง ทำให้กำไรในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบการเงินปัจจุบันร่วงลง แต่บริษัทยังคงยืนยันในตัวเลขคาดการณ์กำไรสุทธิตลอดทั้งปีงบการเงินปัจจุบัน ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคมปีหน้า ว่าจะอยู่ที่ 114,000 ล้านเยน ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายในวงกว้าง

โคเรียน แอร์

สายการบินรายใหญ่สุดของเกาหลีใต้ ในแง่ของขนาดฝูงบิน ตกอยู่ในภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัวผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของสายการบินลดลง ประกอบกับเงินวอนที่อ่อนค่าลง ความต้องการในการขนส่งสินค้าทางอากาศร่วงลง และความต้องการเดินทางไปยังญี่ปุ่นดิ่งลงอย่างหนัก จากปัญหาขัดแย้งทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ

ล่าสุด สายการบินได้ประกาศโครงการหยุดงานแบบสมัครใจนาน 3 เดือนสำหรับพนักงานที่มีอายุงานตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เนื่องจากบริษัทมียอดขาดทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 458,130 ล้านวอน

แอร์ ฟรานซ์

ปี 2562 กลายเป็นปีที่ถือได้ว่าค่อนข้างซบเซาสำหรับสายการบินจำนวนหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่ผู้เล่นรายใหญ่ อย่างแอร์ฟรานซ์ ที่แม้จะทำกำไรอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในปีงบการเงินปัจจุบัน สายการบินเตือนว่า กำลังเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินงาน ผลจากความไม่แน่นอนในเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง และเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนแอลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น

บริติช แอร์เวย์ส

สายการบินรายใหญ่สุดของสหราชอาณาจักร และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป เคยประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ก่อนจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง หลังจากดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กลายมาเป็นเอกชนอย่างเต็มตัวเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

ตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา สายการบินรายนี้สามารถทำกำไรมาได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถทำส่วนต่างผลกำไรจากการดำเนินงานได้ระหว่าง 12-15% ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า แม้จะประเมินว่าจำนวนผู้โดยสารจะมีอัตราการเติบโตลดลงเหลือเพียง 3.4% ในระยะเวลาดังกล่าว

อเมริกัน แอร์ไลนส์

สายการบินรายใหญ่สุดของสหรัฐ ที่ทำกำไรมาได้อย่างต่อเนื่อง ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางด้านรายได้ในปีนี้ จากปัญหาเรื่องความปลอดภัยของเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ ที่ทำให้เครื่องบินรุ่นนี้ ถูกทั่วโลกสั่งห้ามบิน ซึ่งอเมริกัน แอร์ไลนส์ คาดว่า เรื่องนี้จะเป็นตัวฉุดกำไรก่อนหักภาษีของบริษัทลงมามากถึง 540 ล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ราว 400 ล้านดอลลาร์

กระนั้นก็ตาม บริษัทเชื่อว่า ผลประกอบการโดยรวมตลอดทั้งปีน่าจะยังอยู่ในด้านบวก จากความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 3% ในไตรมาส 3 ของปีงบการเงินปัจจุบัน จนช่วยหนุนให้บริษัททำรายได้ในไตรมาสนี้ได้มากเป็นประวัติการณ์ถึง 11,900 ล้านดอลลาร์

กาตาร์ แอร์เวย์ส

เจ้าของรางวัลสายการบินดีที่สุดในโลกประจำปี 2562 จากการจัดอันดับของสกายแทร็กซ์ เป็นอีก 1 สายการบินที่ทำกำไรมาได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะเจอกับความท้าทายหลายด้าน รวมถึง การที่กาตาร์ยังโดนคว่ำบาตรจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งในตะวันออกกลางมาตั้งแต่ปี 2560 จนทำให้สายการบิน ไม่สามารถบินเข้าน่านฟ้าของประเทศเหล่านี้ได้

ในรายงานผลประกอบการล่าสุด สำหรับปีงบการเงินที่ผ่านมา สายการบินยังมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งแม้จะเจอกับความท้าทายจำนวนหนึ่ง ซึ่งในปีงบการเงินปัจจุบัน กาตาร์ แอร์เวย์ส ได้เพิ่มจุดหมายปลายทางการบินใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้นับถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สายการบินมีเที่ยวบินไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 160 แห่ง

เอมิเรตส์

สายการบินแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่ทำกำไรมาอย่างต่อเนื่องถึง 29 ปี ยังมีแนวโน้มที่สดใส หลังผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปีงบการเงิน 2562 นับถึงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัททำกำไรพุ่งขึ้นถึง 282% ที่ 862 ล้านเดอร์แฮมยูเออี หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบการเงินที่แล้ว

เอมิเรตส์มีกำไรเพิ่มขึ้น ทั้งที่รายได้โดยรวมของบริษัทลดลงมาราว 3% มาอยู่ที่ 47,300 ล้านเดอร์แฮมยูเออี และจำนวนผู้โดยสารลดลง 2% อานิสงส์จากการที่บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ 8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลงมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0