โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จับตาสภาสหรัฐฯ ผ่าน ‘รัฐบัญญัติประชาธิปไตยฮ่องกง’?

The Momentum

อัพเดต 15 ก.ย 2562 เวลา 11.01 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2562 เวลา 11.01 น. • สาธิต มนัสสุรกุล

In focus

  • ร่างกฎหมายฉบับนี้มีชื่อว่า ‘Hong Kong Human Rights and Democracy Act’  ถูกเสนอให้นำมาใช้แทนกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายต่อฮ่องกงซึ่งออกเมื่อปี 1992 ในชื่อว่า ‘US-Hong Kong Policy Act’ ผู้เสนอให้เหตุผลว่า ฉบับเดิมไม่มีกลไกส่งเสริมประชาธิปไตย
  • กฎหมายใหม่ มีข้อเสนอให้ใช้มาตรการ 2 ข้อ คือ หนึ่ง ให้มีระบบเฝ้าจับตาและนำเสนอรายงานประเมินรับรองเป็นรายปีว่าทางการฮ่องกงเคารพธรรมนูญการปกครอง และ สอง ติดดาบให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ มีอำนาจสั่งคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ฮ่องกงที่ละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
  • ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังเป็นที่ถกเถียงในแวดวงนโยบายของสหรัฐฯ เพราะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นพ้องในเป้าหมาย เนื่องจากต่างต้องการสนับสนุนให้ฮ่องกงมีประชาธิปไตย แต่ฝ่ายหลังยังข้องใจในเรื่องของวิธีการ
  • หลายเสียงแสดงความวิตกว่า เอาเข้าจริง การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นแค่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มิหนำซ้ำ ยังจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งยิ่งตกต่ำลงไปอีก

‘โจชัว หว่อง’ จะเข้าให้ข้อมูลแก่สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ในวันอังคารนี้ เพื่อเรียกร้องให้ผ่านกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยของฮ่องกง ต้องจับตาว่ารัฐสภาอเมริกันจะโหวตเห็นชอบภายในสมัยประชุมนี้ อย่างที่ฝ่ายเสนอร่างฯ คาดหวังกันหรือไม่

ขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกงกำลังระดมเสียงสนับสนุนจากนานาชาติ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โจชัว หว่อง นักกิจกรรมผู้เป็นหน้าเป็นตาของขบวนการ เดินสายไปเยือนเยอรมนีและสหรัฐฯ เพื่อขอให้ชาติตะวันตกแสดงท่าทีต่อจีนในเรื่องนโยบายและการปฏิบัติต่อฮ่องกง

ทริปเยือนสหรัฐฯ ได้รับการจับตาเป็นพิเศษ เพราะโจชัว หว่อง วัย 22 มีข้อเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรมทั้งต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสภาคองเกรส สำหรับผู้นำวอชิงตัน เขาขอให้ทรัมป์ใส่ ‘เงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชน’ ไว้ในข้อตกลงด้านการค้าที่จะทำกับปักกิ่ง ส่วนกรณีรัฐสภาอเมริกันนั้น เขาขอให้สมาชิกลงมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง

ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังเป็นที่ถกเถียงในแวดวงนโยบายของสหรัฐฯ เพราะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นพ้องในเป้าหมาย เนื่องจากต่างต้องการสนับสนุนให้ฮ่องกงมีประชาธิปไตย แต่ฝ่ายหลังยังข้องใจในเรื่องของวิธีการ

เปิดเนื้อหา

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีชื่อว่า ‘Hong Kong Human Rights and Democracy Act’ ซึ่งมีผู้เสนอ 2 ร่าง ฉบับหนึ่งเสนอโดยวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน มาร์โก รูไบโอ จากมลรัฐฟลอริดา อีกฉบับหนึ่งเสนอโดย ส.ส.พรรครีพับลิกัน คริส สมิธ จากนิวเจอร์ซีย์

ร่างดังกล่าวถูกเสนอให้นำมาใช้แทนกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายต่อฮ่องกงซึ่งออกเมื่อปี 1992 ในชื่อว่า ‘US-Hong Kong Policy Act’ ผู้เสนอให้เหตุผลว่า ฉบับเดิมไม่มีกลไกส่งเสริมประชาธิปไตย

กฎหมายปี 1992 มีจุดประสงค์รองรับให้บริษัทอเมริกันและความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่มีต่อฮ่องกงยังคงดำเนินต่อไปเหมือนเดิมหลังจากอังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีนในปี 1997

ใจความหลักก็คือ สหรัฐฯ จะปฏิบัติต่อฮ่องกงแยกเป็นเอกเทศต่างหากจากจีน เช่น ถ้าสหรัฐฯ เล่นงานจีนด้วยภาษีนำเข้าแพงๆ อัตราภาษีนั้นจะไม่บังคับใช้กับสินค้าที่ฮ่องกงส่งออกมายังสหรัฐฯ

กฎหมายใหม่มุ่งส่งเสริมประชาธิปไตยในฮ่องกง โดยเสนอให้ใช้มาตรการ 2 อย่าง อย่างแรก ให้มีระบบเฝ้าจับตาและนำเสนอรายงานประเมินรับรองเป็นรายปี ว่า ทางการฮ่องกงเคารพธรรมนูญการปกครอง ซึ่งให้หลักประกันในเรื่องความมีอิสระของเขตปกครองพิเศษของจีนแห่งนี้ หรือไม่ เพื่อพิจารณาทบทวนสิทธิพิเศษที่สหรัฐฯ ให้แก่ฮ่องกง

อย่างที่สอง ติดดาบให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ  โดยมีอำนาจสั่งคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ฮ่องกงที่ละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

เสียงขานรับ

ฝ่ายสนับสนุนประเมินว่า ข่าวคราวการประท้วงและความโกลาหลที่ดำเนินมานานกว่า 3 เดือน คงกระตุ้นให้สมาชิกสภาคองเกรสพร้อมใจกันโหวตผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในสมัยประชุมนี้

บรรดากองเชียร์บอกว่า ถ้าประธานสภาผู้แทนราษฎร แนนซี เพโลซี กับผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา มิทช์ แม็กคอนเนล บรรจุร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาในแต่ละสภา การผ่านกฎหมายก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะใช้แค่เสียงข้างมากปกติ คือ 218 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร และ 51 เสียงในวุฒิสภา

กระแสตอบรับร่างฯ ดูจะดีพอใช้ จดหมายเปิดผนึกถึงบรรดาแกนนำพรรคในสภาคองเกรส ซึ่งโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ Change.org มีคนร่วมเข้าชื่อเป็นหางว่าว เช่น อดีตประธานสภาล่างพรรครีพับลิกัน นิวต์ กิงริช และเว่ยจิงเช็ง นักสิทธิมนุษยชนซึ่งเคยติดคุกในจีนรวม 18 ปี ปัจจุบันใช้ชีวิตในสหรัฐฯ

กระแสทัดทาน

แม้ไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของประชาธิปไตยในฮ่องกง แต่กระนั้น แวดวงผู้กำหนดนโยบายยังไม่เห็นพ้องกันในเรื่องวิธีการผลักดันให้ฮ่องกงเดินหน้าไปสู่เป้าหมายนี้

หลายเสียงแสดงความวิตกว่า เอาเข้าจริง การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นแค่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มิหนำซ้ำ ยังจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งยิ่งตกต่ำลงไปอีก

ริค ลาร์เซน ส.ส.เดโมแครตจากมลรัฐวอชิงตัน หนึ่งในคณะกรรมาธิการการทหารของสภาผู้แทนราษฎร และคณะทำงานร่วมสองพรรคเกี่ยวกับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน บอกว่า การใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจไม่น่าจะได้ผลในการเปลี่ยนพฤติกรรมของจีน การแสดงท่าทีทางการเมืองน่าจะได้ผลกว่า โดยสหรัฐฯ ต้องแถลงอย่างชัดเจนและหนักแน่น ว่า สนับสนุนผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งในกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งเจ้าตัวขอสงวนนาม บอกว่า การคว่ำบาตรเพื่อผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ถ้าจะให้ได้ผลต้องใช้มาตรการพหุภาคี หลายฝ่ายหลายประเทศพร้อมใจกันกดดัน ดังในกรณีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน หาไม่แล้ว ดาบที่กวัดแกว่งออกไปอาจฟันไปถูกชาวฮ่องกงเอง หรืออาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของฮ่องกง หรือธุรกิจของคนอเมริกัน

โจชัว ไอเซนมาน นักวิจัยอาวุโสของฝ่ายจีนศึกษาจากหน่วยงานคลังสมอง American Foreign Policy Council บอกว่า ปัญหาอมตะของอเมริกาก็คือ ชอบคิดว่าตัวเองมีอิทธิพลล้นเหลือ สามารถกำหนดความเป็นไปในโลกได้ แต่ในกรณีจีนนั้นไม่น่าจะใช่ ถ้าออกกฎหมายฉบับนี้ จีนจะยิ่งสมอ้างได้ว่า ต่างชาติทำตัวเป็นมือมืดอยู่เบื้องหลังผู้ประท้วง

เคิร์ต ถง อดีตกงสุลใหญ่สหรัฐฯประจำฮ่องกงและมาเก๊า บอกว่า กลไก 2 อย่างในร่างฯ คือ การคว่ำบาตรและการประเมินรายปีนั้น มีอยู่ในกฎหมายปัจจุบันอยู่แล้ว ถ้าต้องการลงโทษเจ้าหน้าที่ฮ่องกงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็มีกฎหมาย Magnitsky Act 2012 ซึ่งใช้ได้กับทุกกรณีทั่วโลก ถ้าต้องการลดหรือเลิกสิทธิพิเศษด้านการค้าและการเงินของฮ่องกง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มีอำนาจทำได้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยนโยบายฮ่องกงปี 1992

เมื่อวันศุกร์ (13 ก.ย.) โจชัว หว่องไปพูดที่นิวยอร์ก ในวันอังคาร หว่องจะไปพบกับวุฒิสมาชิกรูไบโอ ผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อเดือนมิถุนายน แต่ยังไม่แน่ชัดว่า หว่องจะได้พบกับเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของทรัมป์บ้างหรือเปล่า

รัฐบาลของทรัมป์คงต้องคิดคำนวณผลได้-ผลเสียหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน ไฮโก มาส ไปพบหว่องตอนไปถึงกรุงเบอร์ลินเมื่อสัปดาห์ก่อน แล้วปรากฏว่า จีนยื่นประท้วงกับเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำกรุงปักกิ่ง.

 

อ้างอิง:

South China Morning Post, 14 September 2019

AFP via Yahoo! News, 14 September 2019

Reuters, 15 September 2019

ภาพ: ISAAC LAWRENCE / AFP

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0