โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

จับตาทีวีดิจิทัล “คืน 4 ช่อง” เม็ดเงินโฆษณาหาย 2% ช่อง 3 ประหยัดทันที 2 พันล้าน โมโน-ช่อง8-เวิร์คพอยท์ รายละ 800 ล้าน

Positioningmag

อัพเดต 20 เม.ย. 2562 เวลา 07.02 น. • เผยแพร่ 20 เม.ย. 2562 เวลา 06.58 น.

ประกาศคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562  แก้ปัญหากิจการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล โดยให้นำคลื่นความถี่ 700 MHz มาจัดสรรให้กับ 3 ค่ายมือถือ เพื่อนำไปใช้ในเทคโนโลยี 5G คาดว่าจะได้เม็ดเงินราว 75,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้จะนำไปชดเชยให้ทีวีดิจิทัล 32,000 ล้านบาท ด้วยการยกเว้นเก็บค่าใบอนุญาตอีก 2 งวดที่เหลือและจ่ายเงินค่าเช่าโครงข่าย MUX ตลอดอายุใบอนุญาตถึงเดือนเมษายน 2572

อีกประเด็นสำคัญจากมาตรา 44 คือการเปิดทางให้ “ทีวีดิจิทัล” ที่เหลืออยู่ 22  ช่อง สามารถ “คืนช่อง” ได้ โดยให้มาแจ้งสิทธิคืนช่องภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562  และได้รับเงินชดเชยก้อนหนึ่ง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์โดยคณะทำงานที่ กสทช. จัดตั้งขึ้น คาดสรุปตัวเลขช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้

EIC คาดช่องข่าว-เด็ก-ครอบครัวคืนรายแรกๆ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่าทีวีดิจิทัลที่มีแนวโน้ม“คืนช่อง” มาจาก 3 ปัจจัย คือ

  • กลยุทธ์ ซึ่งประกอบด้วย เนื้อหารายการ (Content) ช่องทางการรับชมรายการที่มากกว่า 1 ช่องทาง (Multi-screen strategy) เช่น เว็บไซต์ของช่อง YouTube Facebook เป็นต้น และพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership)
  • ความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเรตติ้งเป็นตัวตัดสินความนิยมของรายการทีวี
  • เสถียรภาพทางการเงิน สะท้อนจากการเติบโตของรายได้ ผลกำไรจากการดำเนินการ และอัตราส่วนของหนี้สินต่อของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio)

จากปัจจัยดังกล่าว จึงประเมินว่ามี 4 ช่องที่มีแนวโน้มคืนช่อง  แบ่งเป็น 3 ช่องข่าว และอีก 1 ช่องเด็กและครอบครัว เนื่องจากรูปแบบและการนำเสนอรายการไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่จึงส่งผลให้เรตติ้งต่ำกว่าช่องอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน สะท้อนถึงรายได้และอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สำหรับผู้เล่นบางรายที่ถือใบอนุญาตมากกว่า 1ช่อง การคืนช่องบางส่วนอาจส่งผลบวกมากกว่าผู้เล่นรายอื่น ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลงพร้อมทั้งการได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตที่เหลือ ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตเพิ่มขึ้น

คืน 4 ช่องเม็ดเงินโฆษณาทีวีหายไป 2%

หากมีการคืนใบอนุญาต 4 ช่อง  อีไอซี มองว่าจะไม่ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมและผู้บริโภคมากนัก โดยรายได้จากการโฆษณาของทั้ง 4 ช่องที่คืนใบอนุญาต คิดเป็น 2% ของมูลค่าโฆษณาทีวี หรือประมาณ 1,200 ล้านบาทโดยกระบวนการคืนใบอนุญาตจะเกิดขึ้นในช่วง กุมภาพันธ์-ธันวาคม 2563ดังนั้นผลกระทบของการคืนใบอนุญาต อยู่ในปี 2564

ขณะที่อานิสงส์ของรายได้โฆษณา จากการคืนใบอนุญาต 4 ช่อง จะไปอยู่ในช่องที่เหลือและสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะช่องที่มีผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเดียวกับรายที่คืนใบอนุญาต ในกรณีที่ผู้ประกอบการ 1 รายมีช่องทีวีดิจิทัลมากกว่า 1 ช่อง และช่องที่มีเนื้อหาและกลุ่มคนดูใกล้เคียงกัน รวมถึงการให้บริการสื่อวิดีโอหรือโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตหรือ Over-the-Top platform (OTT)ยังคงมีทิศทางเติบโตโดยนีลเส็น ระบุว่ากว่า 80% นิยมการรับชมแบบย้อนหลังและใช้เวลาเฉลี่ย 58 นาทีต่อวัน ทำให้เม็ดเงินโฆษณาโอทีทีเพิ่มขึ้น

สำหรับ “ผู้บริโภค” การคืนช่องและยุติออกอากาศจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากความนิยมของช่องที่มีแนวโน้มคืนใบอนุญาตอยู่ในระดับไม่สูง  หากมีการคืนช่องข่าวและช่องเด็ก อาจส่งผลต่อความหลากหลายของการรับชมสื่อที่เป็นเนื้อหาข่าว เด็กและครอบครัวได้เช่นกัน

MUX สูญรายได้คืนช่อง 2.5 พันล้าน

ทางด้าน ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ได้แก่ ไทยพีบีเอส ททบ.5 กรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท  มีแนวโน้มสูญเสียรายได้จากการให้เช่าโครงข่ายในระยะเวลาอีก 10 ปีที่เหลือราว 2,500 ล้านบาท

แต่เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 4 ช่องใช้ผู้ให้บริการโครงข่ายที่แตกต่างกันจึงทำให้ผลกระทบจากการสูญเสียรายได้อยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาทต่อรายต่อปี หรือคิดเป็นราว 8-12% ของรายได้การให้เช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลทั้งหมดของผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล ดังนั้นผลกระทบอาจอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก

ค่าย้ายคลื่นฯทีวีดิจิทัล 2.5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ การคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลกสทช. จะได้รับประโยชน์จากการเสียค่าใช้จ่ายลดลง เนื่องจากค่าใช้จ่ายทดแทนการย้ายคลื่นของทั้ง 4 ช่องทีวีดิจิทัลอยู่ที่ราว 1,600 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ารายรับของ กสทช.จากค่าธรรมเนียมรายปีของทีวีดิจิทัลทั้ง 4 ช่องในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าประมาณ 180 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเมื่อรวมกับการย้ายคลื่นฯทีวีดิจิทัลอีก 18 ช่องที่ดำเนินการต่อไปยังช่วงคลื่น 470MHz กสทช.จะมีค่าใช้จ่ายราว 20,000-25,000 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายจำนวนนี้จะมาจากค่าประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ที่ประมูลไปแล้วปี 2018 และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กทปส.) ในขณะที่ กสทช. ประเมินว่ารายได้จากการประมูลคลื่น 700MHz ที่เรียกคืนจากกิจการทีวี จะมีมูลค่ากว่า 75,000 หมื่นล้านบาท

โบรกฯชี้ BEC ได้ประโยชน์สูงสุด

มาตรา 44  ที่เข้ามาช่วยเหลือทีวีดิจิทัล บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัดวิเคราะห์ว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุด คือBEC เนื่องจากมีทีวีดิจิทัล 3 ช่อง  ประเมินผลประโยชน์ที่ได้รับราว 1,970 ล้านบาท  คาดว่า BEC มีโอกาสคืนใบอนุญาต 1 หรือ 2 ช่อง คือช่อง 3 family  หรือช่อง3 SD  ซึ่งเป็นบวกต่อต้นทุนที่ลดลง  แต่ก็มองผลเสียด้านต้นทุนค่าเสียโอกาสจากเงินที่ลงทุนไปแล้ว  ขณะที่ RS  WORKPOIN  และ MONO จะได้รับผลประโยชน์รายละ800 ล้านบาท   จากการเปิดทางให้ “คืนช่อง” คาดว่ามี ผู้ประกอบการ 6-7 รายมีโอกาสที่จะคืนใบอนุญาต

“ทีวีดิจิทัล”พึ่งแหล่งรายได้ใหม่

ทิศทางการแข่งขัน “ทีวีดิจิทัล” หลังจากนี้ จะมุ่งสู่ Omni-channel การขายลิขสิทธิ์รายการทีวี และ Home Shoppingถือเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้ช่องทีวีดิจิทัล  ซึ่งผู้ประกอบการบางรายแล้วได้ดำเนินการไปแล้ว

การศึกษาของ McKinsey and EY พบว่า Omni-channelหรือการเชื่อมโยงช่องทางต่าง ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ(Seamless) จะเป็นการสร้าง Ecosystem ของธุรกิจสื่อทั้งหมดและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เพิ่มขึ้น เช่น อมรินทร์ทีวี ที่ใช้กลยุทธ์ออมนิ แชนแนลกับ4 ช่องทางในมือได้แก่  สื่อออนไลน์ สิ่งพิมพ์ อีเวนต์ และกิจกรรม ให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและนำเสนอขายแพ็คเกจโฆษณาผ่าน 5 ช่องทางดังกล่าว

ด้านการขายลิขสิทธิ์รายการทีวี BEC ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ JKNให้เป็นตัวแทนจำหน่ายคอนเทนต์70 เรื่องในต่างประเทศ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา ทำให้รายได้จากการขายลิขสิทธิ์รายการทีวีของ BEC ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 300% ในตลาดต่างประเทศ ช่อง CBS สหรัฐฯใช้ช่องทางเดียวกันในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 33%มูลค่ากว่า1,200ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2560

อีกการปรับตัวคือ RS ได้ปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นธุรกิจ “สุขภาพ-ความงาม” มากขึ้น โดยใช้ช่อง 8 และสื่ออื่นในมือโฆษณาสินค้าที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตน ผ่านรายการ Home shopping “Shop1781” ซึ่งสร้างรายได้ให้กับ RS กว่า 2,100 ล้านบาทในปี 2561หรือราว 60% ของรายได้ทั้งหมด

เทรนด์การสร้างรายได้ทั้ง 3 รูปแบบจะเป็นช่องทางใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและต่อยอดในการทำธุรกิจทีวีดิจิทัล

*KGI คาดทรูรับคลื่น 700 หวังยืดจ่ายเงิน *

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI  วิเคราะห์กลุ่มสื่อสาร จากการกำหนดประมูลคลื่น 700 MHz ภายในเดือนมิถุนายน 2562 โดยการประมูลจะแบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ใบละ 15 MHz และการจ่ายเงินงวดแรกในเดือนตุลาคม2563 โดยค่ายมือถือที่มีความต้องการขยายเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHzจะต้องแจ้งยื่นประมูลคลื่น 700 MHz ภายในวันที่10 พฤษภาคม2562 และรายละเอียดการประมูลทั้งหมดจะเปิดเผยภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562KGI คาดว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคม “ทุกราย”จะยื่นความจำนงใช้สิทธิและรอ รายละเอียดในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม เพื่อตัดสินใจอีกครั้ง ซึ่งหากไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz จะต้องกลับไปชำระเงินคลื่น 900 MHz ตามเงื่อนไขเดิม

ดังนั้นมองว่า TRUE มีโอกาสสูงสุดที่จะเข้าประมูลคลื่น 700 MHz เนื่องจากมีภาระจ่ายค่าคลื่น 900 MHz  ปีหน้ากว่า 60,000 ล้านบาท และฐานะทางการเงินไม่แข็งแกร่งเท่า ADVANC หรือ เอไอเอส.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0