โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จัดการขยะได้ แต่ยังไม่พ้นปัญหาพลาสติก : เมื่อญี่ปุ่นเพิ่งตื่นตัวเรื่องถุงพลาสติก

The MATTER

อัพเดต 18 ม.ค. 2563 เวลา 01.39 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 19.37 น. • Thinkers

ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ซื้อถุงผ้ากันกี่ถุงแล้วครับ?

ใช่ครับ ตั้งแต่มีการแบนถุงพลาสติกในร้านค้าหลายๆ เครือที่เมืองไทย ก็เป็นข่าวถึงขนาดเพื่อนชาวญี่ปุ่นผมยังเอารูปที่ชาวไทยพยายามหานั่นนี่มาใช้แทนถุงพลาสติกไปซื้อของมาถามเลยว่านี่เขาเล่นกันขนาดนี้เหรอ ก็เป็นเทรนด์ไปช่วงนึงนะครับ แน่นอนว่า เรื่องปัญหาถุงพลาสติกนี่ก็เป็นเรื่องที่ถกกันมานาน ของบ้านเราก็ปัญหาหนักเพราะสัตว์ได้รับผลกระทบเยอะมาก จนจากที่แต่เดิมจะมีเวลาอีก 2 ปีก่อนเลิกใช้ ก็ร่นเวลามา จนเอาจริงๆ หลายคนก็ปรับตัวไม่ถูก

ในขณะเดียวกันเอง ที่ญี่ปุ่นก็ใช่ว่าจะไม่มีการรณรงค์เรื่องนี้นะครับ เพราะว่าญี่ปุ่นเองก็เป็นประเทศที่มีการใช้พลาสติกสูงมาก ถ้าเราดูแต่ตัวเลขปริมาณขยะอย่างเดียวญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้โดดเด่น แต่พอคำนวณด้วยจำนวนประชากรแล้ว ญี่ปุ่นจ่อมาเป็นอันดับสองของโลกในด้านการทิ้งขยะพลาสติก เป็นรองแค่เพียง แท่ แท้น อเมริกานั่นเองครับ เปิดหัวมาก็เริ่มเหนื่อยล่ะครับ

เอาจริงๆ พอมาใช้ชีวิตที่นี่ ผมเองก็รู้สึกไม่ต่างกับที่เมืองไทยมาในเรื่องการใช้ถุงพลาสติก แน่นอนว่า มีห้างบางเครือที่เริ่มการคิดเงินค่าถุงมาได้เกินสิบปีแล้ว แต่ว่า ส่วนใหญ่แล้ว เอาแค่ในชีวิตประจำวันผมนี่ เดินซื้อของที่ไหน ก็ต้องคอยพูดประโยคว่า "Fukuro wa Irimasen" หรือ ไม่ต้องการถุง แทบจะเป็นคาถาส่วนตัวไปแล้ว ซูเปอร์บางแห่งยังพอมีป้ายให้หยิบใส่ตะกร้าบอกว่าไม่ต้องการถุง แต่มันก็วางไว้ตรงหน้าแคชเชียร์นั่นล่ะครับ คือแทนที่จะหยิบมาใส่ตะกร้าต่อหน้าแคชเชียร์ แล้วแคชเชียร์ก็ต้องหยิบป้ายออกอีก ผมว่าบอกแคชเชียร์ตรงๆ น่าจะช่วยลดปริมาณงานทั้งสองฝ่าย (ยกเว้นคุณจะขี้อายอย่างหนัก) แต่รวมๆ แล้ว ก็ต้องบอกเสมอว่า ไม่เอาถุงครับ

ขอออกตัวก่อนเลยว่าผมเป็นคนไม่ชอบใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่เรียนมัธยมแล้ว เพราะไม่คิดว่ามันสะดวกอะไรเลย ผมเป็นคนพกเป้เสมอ มีอะไรยัดใส่เป้ก็จบ สบายตัวกว่าเยอะ ทุกวันนี้ก็มีถุงผ้าที่ใช้วนซ้ำไปมาประมาณ 4 ถุง ใช้ซื้อของเสมอ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร อย่าได้หวังจะเห็นผมถือถุงพลาสติกง่ายๆ ครับ ทำมา 20 กว่าปีแล้ว

ทีแรกผมก็เคยคิดว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่จัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ดี แต่ตั้งแต่อยู่ญี่ปุ่นรอบแรก จนกลับมาอยู่อีกครั้ง ก็รู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก 'แต่' ต้องเน้นย้ำว่าแต่ก็มีหลายเจ้าที่พัฒนาขึ้นด้วยการเก็บค่าถุงพลาสติก รวมถึงชาวญี่ปุ่นเองก็มีความพยายามที่จะลดการใช้ถุงด้วย My Bag หรือถุงผ้าแบบเราๆ นี่ล่ะครับ แม่บ้านหลายคนก็มีตะกร้าของตัวเองในการไปซื้อของเข้าบ้าน เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ถุงพลาสติกมันไม่สะดวกเท่าไหร่ในการเรียงของ และหลายคนก็เลือกถุงเก็บความเย็นมาใช้แทน เพราะสะดวกกว่าเยอะแถมไม่ต้องห่วงเรื่องความสดของอาหาร ก็ถือว่ายังดีอยู่ครับ แต่ปัญหาน่าจะไปอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อที่เน้นความสะดวก จนหลายครั้งก็คือ ซื้อของแล้วใส่ถุงโดยอัตโนมัติ ตามรูปแบบที่ได้อบรมมา ซึ่งใช้แป๊บๆ ก็ทิ้งแล้ว ยังดีที่มีหลายครั้งที่ซื้อของเล็กๆ แล้วพนักงานจะถามก่อนเลยว่าต้องการถุงไหม

แต่ถึงเห็นว่ายังใช้กันอยู่แบบนี้ ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่เดือดร้อนอะไรนะครับ

จริงๆ แล้ว กระแสการถุงแบนพลาสติกก็เป็นที่สนใจในสังคมญี่ปุ่นเช่นกัน

เพราะนับวันปัญหาขยะในท้องทะเลรวมถึงที่อื่นๆ ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบทุกส่วน และที่สำคัญ ต่อให้ไม่ใช่ขยะที่ถูกทิ้งเรี่ยราดหรือหลุดไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ดี สาเหตุก็คือ การจำกัดมันต้องใช้งบประมาณที่สูงเอาเรื่องครับ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลท้องถิ่นเกียวโต ก็ต้องใช้งบประมาณในการกำจัดขยะพลาสติกสูงถึงปีละ 4.2 พันล้านเยน ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าลดปริมาณขยะได้ งบตรงนี้ก็สามาถหมุนไปใช้กับอย่างอื่นได้

และรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะว่าเขากำลังจะจัดโอลิมปิกในปีนี้ แถมเป็นประเทศก้าวหน้าที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาลดปริมาณขยะพลาสติก ดังนั้นก็เลยต้องรีบหาผักชี พยายามจัดการกับการใช้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้นภาพลักษณ์เจ้าภาพคงไม่งามนัก หลังจากเลื่อนบ้าง ออกมาเป็นนโยบายไม่ได้บังคับใช้บ้าง สุดท้ายก็จะพยายามหันมาใช้เป็นนโยบายบังคับใช้แล้ว ซึ่งก็เน้นไปที่ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่วนถุงพลาสติกเนื้อหนาที่สามารถใช้ซ้ำได้ หรือถุงพลาสติกที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือย่อยสลายในทะเลได้ก็จะได้รับการยกเว้น (ซึ่งก็ดูน่าห่วงหน่อยว่า ย่อยสลายไปแล้วเป็นไมโครพลาสติกหรือไม่)

แต่ก็นั่นล่ะครับ ดูเหมือนว่าสุดท้ายแล้ว ก็จะบังคับแค่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนระดับ SME ก็ยังปล่อยให้ใช้ต่อไปได้ ซึ่งก็ควรดูต่อไปว่า กลุ่มธุรกิจแบบไหนที่จะได้รับการยกเว้น ตัวอย่างที่ผมสนใจคือ กลุ่มพวกเครือร้านอาหารใหญ่ๆ ที่มักจะใส่สินค้าแบบซื้อกลับบ้านในถุงพลาสติกเสมอ เพราะความสะดวก ลดความเสี่ยงเวลาเจออาหารที่ร้อนหรือมัน ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ด หรือพวกข้าวหน้าเนื้อหรือแกงกะหรี่นี่ล่ะครับ ในขณะที่หลายแบรนด์ก็พยายามลดปริมาณขยะลง อย่าง Uniqlo ก็มีถุงกระดาษให้เลือกใช้ (เดี๋ยวนี้เค้าเน้นเช็คอินเอง หยิบถุงกลับบ้านเองครับ) แถมกำลังจะลดปริมาณห่อบรรจุสินค้าลงด้วย

แต่เอาจริงๆ แล้ว สำหรับผม ผมมองว่าถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็ยังพอมีที่มีทางในสังคมอยู่นะครับ เพราะดูเหมือนจะเป็น 'ถุงขยะ' สำหรับแม่บ้านชาวญี่ปุ่นกันจริงๆ เพราะระบบการทิ้งขยะแบบญี่ปุ่นที่เก็บแบบระบุวัน และไม่สามารถเอาไปทิ้งที่จุดทิ้งได้ก่อน แต่ละครั้งจึงมักจะเป็นถุงขยะขนาดใหญ่ (30-45 ลิตร) แน่นอนว่าไม่เหมาะกับการใช้เป็นถุงขยะทั่วไปแน่ๆ ถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตจึงมักจะแปลงร่างเป็นถุงขยะขนาดย่อมก่อนที่จะรวมไปทิ้งในถุงใหญ่อีกที ทุกวันนี้ผมก็รับถุงเวลาซื้อผลไม้จากร้านผลไม้นี่ล่ะครับ เพราะว่าร้านเขาวางขายแบบโล่งๆ เลยไม่มีหีบห่ออะไร ได้มาก็พับเก็บไว้ใช้เป็นถุงขยะ เรียนตามตรงว่า ถุงพลาสติกที่ผมคิดว่าไร้มูลค่าสุดคือ พวกถุงพลาสติกหนาๆ แบบที่ห้างสรรพสินค้าหรือร้านหนังสือแบบเครือชอบใช้กัน เพราะเอามาใช้อะไรต่อแทบไม่ได้ แน่นอนว่าเอามาใช้ในฐานะถุงได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สะดวกเหมือนถุงผ้า แถมจะใช้เป็นถุงขยะก็ไม่ได้ เพราะเป็นทรงตัดแบบที่มัดด้านบนเหมือนถุงพลาสติกจากซูเปอร์มาร์เก็ต (ลองนึกถึงถุงตามห้างไทยดูนะครับ)

ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ แม้ภาพของถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งจะดูน่ากลัวและเป็นภัยต่อธรรมชาติอย่างหนัก

แต่พอไปดูรายละเอียดแล้ว

มันนับเป็นแค่ 2% ของขยะพลาสติกทั้งหมดครับ

ดูเหมือนว่าชาวญี่ปุ่น (และชาวโลก) จะใช้เวลารบกับถุงพลาสติกอย่างหนัก แต่จริงๆ แล้ว เรากำลังรบกับกองทัพส่วนน้อย แม้จะชนะศึกได้ แต่ก็อาจจะแพ้สงคราม ปัญหาขยะพลาสติกของญี่ปุ่น จริงๆ แล้ว ส่วนมากมาจากขยะอุตสาหกรรมและมาจากการก่อสร้างนั่นเอง

ยังไม่นับว่ามีขยะพลาสติกแบบอื่นอีกเยอะมากๆ ในสังคมญี่ปุ่น ที่เน้นความสะดวกสบาย จนผลิตขยะเยอะมหาศาล ขนาดผมเองยังไม่อยากกินกาแฟสดที่กดจากตู้ในร้านสะดวกซื้อ เพราะสุดท้ายก็ต้องใช้แก้วพลาสติกของเขาเท่านั้น เหมือนเซเว่นบ้านเราที่เอาแก้วไปเองแต่พนักงานก็ต้องทิ้งแก้วเพราะเขานับยอดขายจากจำนวนแก้ว (ผมอ่านในเว็บเจอว่าถ้าเอาแก้วตัวเองไป จะได้ส่วนลดด้วย แต่ไปๆ มาๆ ถามหลายร้านก็ได้แต่บอกว่า ให้ใช้แก้วทางร้านเท่านั้น อ่า…) แล้วก็ยังมีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือบริการส่งอาหารหมุนเวียนอยู่ในตลาดอีกมากมาย จนเอาเข้าจริงๆ ควรมานั่งคิดกันจริงๆ ว่า เราแก้ปัญหาถูกจุดไหม

เขียนมาซะยืดยาว ถามว่าผมเห็นด้วยกับนโยบายการเลิกใช้ถุงของไทยไหม ผมก็คงบอกว่า ผมเห็นด้วยกับการลดปริมาณขยะพลาสติก แต่ไม่คิดว่าการเลิกกะทันหันเป็นนโยบายที่ดี เพราะดูเหมือนจะยังคิดไม่ละเอียดพอ (จากเดิมมีกรอบเวลา ก็เร่งมาซะอย่างนั้น โดยยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ดี) แถมยังมีรายละเอียดที่เราควรดูอีกเยอะ เช่นถ้าผลักดันให้ใช้ถุงผ้า ต้องใช้กี่ครั้งถึงดีต่อสิ่งแวดล้อมจริง ถุงกระดาษลงทุนแค่ไหนและใช้ทรัพยากรแค่ไหน บางคนก็เอาถุงผ้าปลอมหรือถุงพลาสติกทอมาแจกอีก การทำ CSR แบบนี้ตกลงดีต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือ

ของแบบนี้มันต้องไปหลายๆ ทางพร้อมกันครับ ทั้งการพยายามหานโยบายที่ดีทั้งในด้านการชักจูงให้เลิกใช้ เช่น ไม่ใช่ให้แต้มสะสมเพิ่มถ้าไม่รับถุง แต่เป็นการคิดเงินค่าถุง เพราะคนเรามักจะไม่อยากเสียเงินที่มีอยู่ เทียบกับการได้แต้มสะสมที่จับต้องไม่ได้แล้ว ความรู้สึกต่างกันครับ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ว่าควรใช้อะไรแทน และที่สำคัญคือหาการพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค รวมไปถึงการอบรมนิสัยการทิ้งขยะ และการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ไม่อย่างนั้นแล้ว ผมก็คิดว่าก็เหมือนการเล่นเกมตีตัวตุ่น ตีที่นึง ก็ไปโผล่อีกที่นึง

และที่สำคัญคือ ตกลงถุงพลาสติกคือตัวบอสจริงหรือ หรือว่าเป็นแค่ตัวลวงทำให้เราหลงประเด็นไป ทั้งๆ ที่ปัญหาใหญ่กว่าแต่เรามองไม่ค่อยเห็นซ่อนตัวอยู่แท้ๆ ดูญี่ปุ่นสิครับ ต่อให้แบนถุงทั้งหมด สุดท้ายก็แก้ปัญหาได้แค่ 2% เอง

อ้างอิงข้อมูลจาก

www.j-cast.com

www.chuo-u.ac.jp

www.japantimes.co.jp

www.japantimes.co.jp

www.japantimes.co.jp

imidas.jp

www.gomi100.com

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0