โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

งานหนักไม่เคยฆ่าคน(จีน)? การทำงานแบบ 996 ทำหามรุ่งหามค่ำ หามตัวเองไปโรงพยาบาล

The MATTER

เผยแพร่ 22 เม.ย. 2562 เวลา 13.36 น. • China Door

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นการทำงานของคนจีนในรูปแบบ ‘996’  หรือการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม และทำติดต่อกัน 6 วันต่อสัปดาห์ กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงกันในวงกว้างทางโลกออนไลน์ทั้งในและนอกประเทศจีน โดยมีสาเหตุมาจากโปรแกรมเมอร์และคนจีนที่ทำงานในสายเทคโนโลยี-ไอทีออกมารวมกลุ่มกันต่อต้านการทำงานแบบ 996 ซึ่งพวกเขามองว่า เป็นการทำงานที่หนักจนเกินไป (ตามกฎหมายแรงงานจีน ชั่วโมงการทำงานตามมาตรฐาน คือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และเป็นไปได้ว่าสุดท้ายจะไปจบที่ห้อง ICU ในโรงพยาบาล มิหนำซ้ำส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินล่วงเวลาการทำงานอีก

โปรแกรมเมอร์และคนงานสายเทคโนโลยี-ไอทีก็ทำแคมเปญต่อต้านที่ดูไอที้ไอที คือสร้างโปรเจกต์บน GitHub (แหล่งฝากไฟล์งานโปรเจกต์สายไอทีที่นิยมใช้มากที่สุดแห่งหนึ่ง) ใช้ชื่อว่า 996.icu

สิ่งที่อยู่บน 996.icu ไม่ได้เป็นไฟล์ซอร์ซโค้ดของโปรแกรม หรือแอพพลิเคชั่นใดๆ ทว่าเต็มไปด้วยเนื้อหาตีแผ่ประสบการณ์การทำงานหนักหน่วงแสนของรูปแบบ 996 รวมถึงมีการเผยรายชื่อบัญชีดำ เป็นชื่อบริษัทที่ให้พนักงานทำงานในรูปแบบนี้  ซึ่งจะนำไปสู่กระแสร้อนแรงในเวลาต่อมา  เนื่องจากบริษัทไอทีชั้นนำของจีนติดอยู่ในโผนี้แทบทั้งสิ้น อย่างเช่น Alibabaของแจ็ก หม่า, JD.com, Huawei และ Pinduoduo แพลตฟอร์ม E-commerce น้องใหม่มาแรง แหล่งรวมคนทำงานหนักแบบโนโอที

เมื่อ Alibaba โดนกล่าวถึง มีหรือแจ็ก หม่าจะอยู่นิ่ง  เขาได้แสดงความคิดเห็นผ่าน Weibo โซเชียลมีเดียจีนชื่อด้วยบัญชีส่วนตัวของเขาเอง โดยมีใจความสำคัญว่า “การทำงานแบบ 996 นั้นช่วยทำให้เราประสบความสำเร็จ  มันถือเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ด้วยซ้ำ และถ้าใครที่อยากทำงานกับ Alibaba เขาเหล่านั้นต้องทำงานอย่างน้อยวันละ 12 ชั่วโมง  ถ้าไม่ทำงานแบบ 996 ตั้งแต่ตอนยังอายุน้อยๆ แล้วจะไปทำตอนไหน จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร?” แจ็ก หม่ายังย้ำอีกว่า การทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้  ดูจาก Alibaba ของเขาสิ เขาประสบความสำเร็จเพราะเขาทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับงาน

โพสต์นี้บน Weibo ถูกแชร์และมีการแสดงความคิดเห็นอย่างมากทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ แต่เท่าที่ดูจะหนักไปทางเชิงลบมากกว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยแสดงความคิดเห็นว่า “คนที่ทำงานหนักแล้วรวย ก็มีแต่เจ้าของธุรกิจอย่างแจ็คหม่าเท่านั้น”

หลังจากมีกระแสเชิงลบต่อความคิดเห็นของเขา  แจ็ก หม่าจึงออกมาโพสต์ลงบน Weibo ส่วนตัวอีกครั้ง โดยอธิบายให้ชัดเจนขึ้นว่า “ผมไม่ได้กำลังปกป้องวัฒนธรรมการทำงาน 996  แต่สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ หากคุณมีความรักในงานที่คุณทำ การทำงานวันละ 12 ชั่วโมง  ติดต่อกัน 6 วัน  มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย  มันยิ่งจะทำให้คุณประสบความสำเร็จเสียด้วยซ้ำ  แต่ถ้าคุณไม่ได้รักงานนั้น คุณก็ไม่จำเป็นต้องทำงานแบบนั้น เพราะไม่มีทางสำเร็จ  อีกอย่างหนึ่งคือ บริษัทของเราไม่ได้บังคับให้ใครต้องทำงานในรูปแบบนี้นะ”

ในขณะที่ ริชาร์ด หลิว ผู้ก่อตั้ง JD.com  อีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน E-commerce ของจีน ก็แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “ในช่วงเวลาสี่ห้าปีมานี้ บริษัทของเราเติบโตอย่างรวดเร็ว เราไม่ได้มีการบริหารจัดสรรพนักงานเท่าไหร่นัก บริษัทของเราเติบโตเรื่อยๆ ลูกค้าของเราก็เช่นกัน แต่ในขณะที่คนทำงานที่ทุ่มเทให้กับงานจริงๆ ลดน้อยลง คนขี้เกียจ หรือ slacker กลับเพิ่มมากขึ้น และเราไม่ถือว่าพวก slacker คือพี่น้องของเรา”  โดยกลุ่มคนที่ริชาร์ด หลิว ยกย่องว่าเป็นพี่น้อง เป็นคนทุ่มเทให้กับงาน ก็คือกลุ่มคนที่ทำงานในรูปแบบ 996

สื่อใหญ่ในจีนอย่าง GlobalTimes ยังออกบทความ ‘996’ overtime schedule can help India catch up with China  สนับสนุนการทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน 6 วันต่อสัปดาห์ โดยในบทความกล่าวว่า การทำงานเช่นนี้ทำให้ประเทศจีนพัฒนา และประเทศอื่นสามารถเอาเยี่ยงย่างได้ โดยเฉพาะประเทศอินเดียที่ตอนนี้แบนสินค้าจากจีน

นอกเหนือจากประสบการณ์ทำงานหนักตามวัฒนธรรม 996  และรายชื่อบริษัทที่มีการทำงานแบบนี้ บน Github 996.icu  เหล่าผู้ต่อต้านยังได้ลงรายละเอียดเบื้องต้นด้านกฎหมายแรงงานจีน ซึ่งตามกฎหมายอนุญาตให้ทำงานวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง รวมทั้งสัปดาห์ไม่เกิน 40 ชั่วโมง ถ้าหากจะทำงานล่วงเวลา ทำได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อเดือน พร้อมจ่ายค่าล่วงเวลา 150% หรือ 1.5 เท่าของเงินเดือน โดยเมื่อรวมชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาแล้ว จะต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

เมื่อดูจากกฎหมายแรงงานจีนข้างต้นจะเห็นว่า การทำงาน 996  9 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม และทำ 6 วันต่อสัปดาห์ จะมีชั่วโมงการทำงานเท่ากับ 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  เกินจากที่ในกฎหมายระบุไปมาก แต่ดูเหมือนว่าจะมีรายละเอียดเชิงลึกของระเบียบการทำงานในจีนที่ทำให้หลายบริษัทมีชั่วโมงการทำงานที่เกินได้  และทำกันเป็นปกติจนกลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของการทำงานไปแล้ว

ไม่ใช่มีเพียงคนสายงานไอทีในจีนเท่านั้นที่ทำงานหนักจนออกมาต่อต้าน รายงานของ GlobalTimes บอกอีกว่าคนที่ทำงานในสายอสังหาริมทรัพย์ และงานบริการก็จัดอยู่ในกลุ่มทำงานหนักที่มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 49-51.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เหมือนกัน

งานหนักไม่เคยฆ่าคนจริงหรือ? ไปดูสถิติที่แท้จริงจากแดนมังกรกัน

สื่อจีน BeijingHour มีการเผยสถิติออกมาว่า  ปัจจุบันประเทศจีนกลายเป็นประเทศที่ประชากรเสียชีวิตจากการทำงานหนักมากที่สุด ด้วยจำนวนกว่า 600,000คนต่อปี แซงหน้าประเทศญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มากกว่า 50% ของคนจีน เวลางานจะไม่มีการขยับตัวหรือรีแล็กซ์ใดๆ มากกว่า 67% ของคนจีน จะทำงานล่วงเวลามากกว่ากว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มากกว่า 57% ของคนจีน ทำงานล่วงเวลาและมีเวลานอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน มีเพียง 20% ที่พึงพอใจสภาพแวดล้อมการทำงานของตน คนทำงานสายไอที อิเล็กทรอนิกส์ และสาขาที่เกี่ยวข้อง มีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยสูงสุด คือ 9.3 ชั่วโมงต่อวัน คนจีนที่เสียชีวิตจากการทำงานหนัก มีอายุเฉลี่ย 44 ปี โดยกลุ่มคนทำงานสายไอที แพทย์ สื่อมวลชน และโฆษณาเป็นกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุด โรคที่เป็นกันมากในหมู่คนจีนที่ทำงานหนัก ได้แก่ ท้องผูก แขนขาไม่มีแรง ปวดหลัง โรคเครียด-ปัญหาทางจิตใจ มึนหัว-ปวดหัว เป็นที่ทราบกันดีครับว่าที่เมืองจีน คนจีนทำงานกันหนักหามรุ่งหามค่ำจริงๆ ไม่เว้นแต่นักศึกษา อย่างสมัยที่ผู้เขียนเรียนปริญญาโทที่ประเทศจีนก็ต้องมีการเข้าแล็บตามเวลา เวลาเข้าแล็บคือ 8.30-22.00 น. มีเวลาพักกลางวัน 3 ชั่วโมง และตอนเย็น 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่แต่ในแล็บตลอด บางคนนอนในแล็บก็มี แม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม

สาเหตุที่คนจีนทำงานหนักคงหนีไม่พ้นแรงกดดันและการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ตัวผู้เขียนเคยมีประสบการณ์เข้าไปในโรงพยาบาลจีน เลยทำให้รู้ว่ามีคนจีนเป็นโรคเครียดและมาพบจิตแพทย์จำนวนมาก และหนึ่งในสาเหตุของความเครียดก็มาจากการทำงานนี่แหละ

มหาวิทยาลัย Inner Mongolia university  ของจีน เผยผลการวิจัยเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาของคนจีน ที่สอดคล้องกับผลสำรวจที่พูดถึงไปก่อนหน้าเช่นกัน ผลการศึกษาบอกว่า 42% ของพนักงานในจีนในทุกสาขาจะทำงานล่วงเวลา มีชั่วโมงการทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะแรงงานที่ได้รับค่าแรงต่ำ-การศึกษาไม่สูง  แรงงานเหล่านี้จะต้องทนทำงานอย่างหนัก คิดเป็นร้อยละ 58.8 ของกลุ่มตัวอย่างที่วัดจาก 30,591 คน ใน 29 มณฑลของจีน

สาเหตุหลักที่ทำให้คนจีนเหล่านี้ต้องทำงานล่วงเวลาแม้จะรู้ว่าหนักเกินไปมาจากความไม่มั่นใจในอนาคตของตนเอง

คนจีนรู้ดีว่าประเทศตัวเองมีประชากรเยอะ  การแข่งขันในตลาดแรงงานนับว่าสูงมาก มีคนพร้อมที่จะเข้ามาอยู่ในตำแหน่งงานของตนเองตลอดเวลา ขนาดที่ว่าถ้าดูจากข้อมูลของ Mafengwo แพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์รายใหญ่ของจีน เวลาไปเที่ยวในช่วงวันหยุดหรือลาพักร้อน 88% ของคนเหล่านี้ก็ยังต้องทำงานไปด้วย

ร่างกายคนเราไม่มีอะไหล่เปลี่ยน ถึงแม้เงินทองจะสำคัญ แต่ถ้าสุขภาพไม่ดี เงินทองที่หามาได้ก็ต้องนำมาใช้จ่ายรักษาโรคจนหมด ดังนั้นทุ่มเททำงานได้ แต่อย่าลืมรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายด้วยนะครับ

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0