โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

งัด ม.143 ป้องงบสะดุด - ทางออกอื้อ

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 24 ม.ค. 2563 เวลา 15.13 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2563 เวลา 14.58 น.

วันที่ 24 มกราคม 2563 รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า กระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลจะเกิดขึ้นจากไม่มีงบประมาณ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีผลทำให้กฎหมายตกไปทั้งฉบับ ต้องใช้งบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อน ถึงแม้กระบวนการจะล่าช้าออกไป แต่ไม่ถึงกับเป็นเรื่อง Government shutdowns ซึ่งเป็นปัญหาจากรัฐบาลไม่มีเงินใช้จ่าย แต่กรณีนี้ยังคงมีงบประมาณปี 2562 ใช้ไปก่อน เพียงแต่ว่ายังไม่ลงตัวทั้งหมด ทำให้ส่วนหนึ่งไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ในการดำเนินการโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ส่วนการตรากฎหมายใหม่ก็ต้องใช้เวลาเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นปัญหาตามมา

เชื่อปมเสียบบัตรแทนบั่นทอนเรือเหล็ก

รศ.ดร.ยุทธพรวิเคราะห์ไปถึงปัญหานี้จะเป็นอีกหนึ่งความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทยได้ในระยะยาว แต่ในภาพใหญ่ขณะนี้คงยังไม่ถึงขั้นนั้น ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนภาพให้เห็นว่าบรรดา ส.ส.ต้องตระหนักถึงการทำหน้าที่จากปัญหาเสียบบัตรแทนกันไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และยังเชื่อว่ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เห็นปัญหาเกิดขึ้น ทำให้ ส.ส.ต้องให้ความสำคัญต่อการเป็นผู้แทนของประชาชนในการทำหน้าที่ รวมถึงต้องทำตามสิ่งที่กฎหมายควบคุมไว้ในเรื่องการลงคะแนนจะทำแทนกันไม่ได้ เพราะข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ชัดเจนในข้อที่ 80 และ ส.ส.ต้องลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น โดยมาตรา 120 วรรคสาม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เขียนไว้ชัดเจน

"ตรงนี้ยังเป็นปัญหาสังคมวิทยาการเมืองด้วย เพราะ ส.ส.ไม่ได้เห็นความสำคัญของงานฝ่ายนิติบัญญัติหรืองานในสภาเท่ากับงานในพื้นที่ การได้รับเลือกตั้งหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในสิ่งที่เขาเข้าประชุม แต่ขึ้นอยู่กับการลงพื้นที่พบประชาชน ทำให้ ส.ส.บางส่วนลงพื้นที่มากกว่าทำงานในสภา ขณะเดียวกันอำนาจแฝงการทำงานในสภา เช่น บทบาทจากแกนนำพรรค หรือผู้ทำหน้าที่วิปเป็นการออกคำสั่ง ทำให้ ส.ส.รู้สึกไม่มีสมรรถนะทางการเมืองในการลงมติ การลงมติหลายครั้งกลายเป็นการลงมติแบบเหมาเข่ง มีการฝากบัตรกันมาเสียบแทน เลยทำให้อำนาจแฝงเหล่านี้ส่งผลต่อการทำงานของ ส.ส.ในสภา" รศ.ดร.ยุทธพร ระบุ

รศ.ดร.ยุทธพร มองไปถึงสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ต้องแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นต้องเร่งทำกฎหมายงบประมาณปี 2563 ให้เสร็จโดยเร็ว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กฎหมายงบประมาณปี 2563 เป็นโมฆะ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องกำชับ ส.ส.ในฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล ให้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับงานสภา เพื่อจะแก้ปัญหาระยะยาวในเรื่องนี้

เล็งศาลรธน.ตัดสินได้2แนวทาง

ส่วนนายยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการอ้างว่าการช่วยกันลงคะแนนนั้นไม่ได้เป็นการลงคะแนนแทนกัน เพราะส.ส.ที่ให้คนอื่นลงคะแนนให้นั้นอยู่ในห้องประชุม แต่ด้านหนึ่งถ้าอยู่ในห้องประชุมแล้ว ทำไมถึงไม่ลงคะแนนเองเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดเป็นหลักการให้ ส.ส.ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติหรือการครอบงำของบุคคลใดตามหลักความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย

นายยอดพล กล่าวว่า ดังนั้น ไม่ว่ากรณีใดๆ ส.ส.ย่อมไม่สามารถให้บุคคลลงคะแนนแทนตนเองได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดเอาไว้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีกฎหมายใดที่บัญญัติให้ ส.ส.ลงคะแนนแทนกันได้ จึงมีผลให้การลงคะแนนเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

"อาจดูเหมือนจุกจิก แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งแล้วจะเห็นได้ว่าหากเรายอมให้ ส.ส.ลงคะแนนแทนกันได้ เช่น ส.ส.คนหนึ่งมีโพยและเขียนบอกว่าให้ลงคะแนนอย่างไร พร้อมกับมอบบัตรลงคะแนนให้ เช่นนี้ ส.ส.ก็ไม่จำเป็นต้องมาประชุมสภา ทั้งๆ ที่ ส.ส.มีสถานะเป็นตัวแทนของประชาชน" นายยอดพล กล่าว

สำหรับการลงมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะมีผลอย่างไรต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 นายยอดพล กล่าวว่า ประเด็นนี้อาจมีความเป็นไปได้สองแนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ไม่ตกไปทั้งฉบับ เพราะการลงมติที่มิชอบด้วยกฎหมายในมาตรานั้นไม่ได้เป็นมาตราที่เป็นสาระสำคัญ และแนวทางที่ 2 ตกไปทั้งฉบับ เพราะกระบวนการที่มิชอบด้วยกฎหมายเป็นสาระสำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาและการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

วิษณุให้รอผลสอบสภา-ศาลรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสภา และรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ศาลก็ต้องรอผลตรวจสอบของสภาเช่นกัน สำหรับบัตรประจำตัว ส.ส. จะใช้ 2 กรณีคือ แสดงตนและลงมติ แต่ปัญหาคือ มีการแสดงตนแล้วกดลงมติหรือไม่ อย่างการลงมติในวาระ 2 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ มีการทำผิดๆ ถูกๆ ตั้งแต่มาตรา 31 ขึ้นไป ตรงนั้นไม่ต้องแสดงตน เพราะแสดงไปแล้วในตอนต้น แต่พอจบวาระ 2 จะขึ้นวาระ 3 ต้องแสดงตนใหม่ จึงต้องดูว่าเป็นไปได้อย่างไรว่ามีการเสียบบัตรคาไว้ แล้วเด้งออกมาเป็นการแสดงตน แล้วเด้งออกมาเป็นการลงมติ ต้องตรวจสอบตรงนี้ และหากเจ้าตัวไม่อยู่แล้วบัตรเสียบคาไว้จริงอย่างที่อ้าง การที่บัตรคาอยู่จะไม่เกิดผลอะไรทั้งนั้น ก็ต้องตรวจสอบ

เมื่อถามว่า บางฝ่ายพยายามหยิบยกเจตนาว่า เจ้าตัวอยู่ในห้องประชุม แต่มีการฝากบัตรกับเพื่อน เนื่องจากช่องลงมติไม่พอ นายวิษณุ กล่าวว่า เจตนาไม่ใช่เรื่องใหญ่ สุดท้ายให้ออกมาเป็นข้อเท็จจริงว่าเสียบบัตรคาไว้หรือไม่ หรือมอบหมายให้ใครกดหรือไม่ หรือได้มอบหมายคนอื่นแล้วรู้หรือไม่ว่าใครกด อาจจะได้คำตอบไม่ครบหมดก็ได้

ส่วนข้อเสนอให้มีการใช้วิธีสแกนนิ้วเพื่อแก้ปัญหาการเสียบบัตรแทนกันนั้น ก็ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ แต่หากที่นั่ง ส.ส.กำหนดตัวบุคคลไว้แล้ว ใครไม่อยู่ที่ตรงนั้นก็ว่าง สามารถช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว ซึ่งไม่ว่าผลสอบของสภาเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังต่อไปในอนาคต เพราะกว่าห้องประชุมสุริยันจะเสร็จ คงมีการลงมติอีกหลายครั้ง ก็ต้องระวังไม่ให้เกิดกระทำโดยมิชอบ จนเกิดผลกระทบต่อระบบทั้งหมด ต้องป้องกัน

ยันไม่วิบัติ-ลั่นมี6-7ทางออก

เมื่อถามว่า มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับทางออกของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ แล้วหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทางออกมีอยู่ แต่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน ถ้าศาลวินิจฉัยว่าผิดตรงไหนจะได้แก้ไข ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลกันตอนนี้ ก็บอกไปแล้วว่าไม่มีอะไร วันนี้ความกังวลคือการล่าช้า แต่ความเสียหายร้ายแรงมันไม่เกิด อย่าไปพูดให้เกิดความกังวล มีคนออกมาพูดก่อนว่าจะวิบัติ จึงย้ำว่าไม่วิบัติ ยังไงก็ทำได้ ข้าราชการได้เงินเดือน เพราะสำนักงบประมาณเตรียมวิธีแก้ปัญหาไว้แล้ว โดยโครงการต่างๆ อาจมีช่องทางไปได้ แต่โครงการลงทุนใหม่อาจจะยาก แต่ขอให้รู้ก่อนว่าความผิดเกิดขึ้นที่ตรงไหน จะแก้อย่างไร ขณะที่การออก พ.ร.ก.เงินกู้ ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด แต่เป็นทางสุดท้าย

เมื่อถามว่า กรณีนี้สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเร่งด่วนได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลรู้อยู่แล้ว เพราะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ควรจะเร็วกว่ากำหนดเวลาที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ต่างกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 และ 2557 แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ในมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดว่า หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาเห็นชอบ ที่เขียนไว้เช่นนั้นเพราะกลัวสภาแช่ไว้ แปรญัตติกันไปมา จึงเขียนว่าถ้าไม่เสร็จให้ถือว่าเสร็จ ดังนั้นจึงเป็นความต่าง แต่หากศาลบอกว่าไม่ต่างก็แล้วแต่ศาล เพียงแต่ที่ยื่นเพื่อชี้ประเด็นให้เห็นว่าไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้ หากมาตรา 143 สามารถใช้ได้กับเรื่องนี้ มันจะกลับไปสู่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่เสนอในวาระที่ 1 ดังนั้นทุกอย่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ตัดออกไป จะกลับไปสู่ร่างแรก เพราะเจตนาของมาตรานี้ต้องการให้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะเกิดกระบวนการทำผิด หรือคณะกรรมาธิการทำล่าช้า โดยมาตรา 143 ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย แต่เป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งมีถึง 6-7 ทางออก และถึงอย่างไรงบประมาณก็ได้ออก ไม่มีใครเดือดร้อน ไม่มีข้าราชการคนไหนไม่ได้เงินเดือน หรือโครงการไหนดำเนินการไม่ได้ เพียงแต่จะช้า ไม่มีปัญหา ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่คาดหมายว่าจะวิบัติ

ประสานเสียงปมนริศรต่างกัน

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า ประเด็นเสียบบัตรแทนกันยังไม่ได้มีการร้องเรียนเข้ามา ดังนั้นต้องรอให้มีการร้องเรียนเข้ามาก่อนจึงจะดำเนินการไต่สวนได้ ส่วนที่จะยกเหตุอันควรสงสัยเข้าไปไต่สวนเองนั้น ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถทำได้ แต่ประเด็นนี้ปรากฏข้อเท็จจริงเบื้องต้นผ่านทางสื่อมวลชนเท่านั้น เบื้องต้นสำนักงาน ป.ป.ช.เฝ้าติดตามแต่ต้องรอข้อเท็จจริงปรากฏให้ครบถ้วนเสียก่อน

เมื่อถามว่า หากเทียบกับกรณีของนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่ ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิดในกรณีนี้ไปก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า สำหรับคดีของนายนริศร ยังเหลือการไต่สวนในทางอาญาอยู่ อย่างไรก็ดีการเสียบบัตรแทนกันระหว่างกรณีนายนริศรกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ไม่อาจเทียบกันได้ แม้จะเกิดเหตุการณ์คล้ายกัน แต่ข้อเท็จจริงอาจต่างกันก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องรอผลสรุปเบื้องต้นเสียก่อน จึงจะดำเนินการอะไรต่อไปได้

"ชวน"ยื่นศาลรธน.ชี้ขาดแล้ว

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ได้ลงนามในหนังสือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลเข้าชื่อนำเสนอมา ขณะนี้ยังอยู่ในเงื่อนเวลา 3 วัน นับตั้งแต่วันที่วุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว ก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้

"ผมเห็นว่ากรณีฝากให้คนอื่นเสียบบัตรลงคะแนนแทน แต่ตัวไม่อยู่ในห้องประชุม เป็นกรณีที่มีปัญหาแน่นอน แต่กรณีที่ตัวอยู่ในที่ประชุม แล้วให้บุคคลอื่นเสียบบัตรลงคะแนนแทน ก็ต้องดูที่เจตนารมณ์และต้องตักเตือน แม้สถานที่จะไม่เอื้ออำนวย แต่ก็อยากให้หลีกเลี่ยงการเสียบบัตรแทนกัน" นายชวนกล่าว และระบุว่า ปัญหาจะน้อยลงเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาหน้าในเดือนพฤษภาคม เพราะจะสามารถใช้ห้องประชุมสุริยัน ซึ่งมีจำนวนที่นั่งครบ และเครื่องลงมติเพียงพอกับจำนวนสมาชิก แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกสภาที่จะต้องระมัดระวังและรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ ส่วนข้อเสนอให้ใช้อัตลักษณ์สแกนม่านตา หรือลายนิ้วมือ แทนการใช้บัตรแสดงตนนั้นต้องดูความเหมาะสม การจะพยายามทำทุกอย่างโดยสิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็น จะเป็นการสิ้นเปลืองจนเกินไป เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ป้องกันหมดโดยไม่เชื่อถือกันเลย ก็อาจจะมีปัญหา และกรณีที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเครื่องเตือนให้ส.ส.ต้องระมัดระวังด้วย

ฟันธงร่างก.ม.งบตกทั้งฉบับ

ด้านนายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร แต่สำหรับส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่าหากเป็นกรณีที่กระบวนการตราไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ร่าง พ.ร.บ.จะต้องตกไปทั้งฉบับ เพราะถือว่าเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีแนวคำวินิจฉัยเมื่อปี 2557 มาแล้วว่าเมื่อกระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบย่อมจะต้องตกไปทั้งฉบับ ไม่ได้ตกไปเฉพาะบางมาตรา ซึ่งการให้บุคคลลงคะแนนแทนตนเองไม่ว่าจะอ้างด้วยเหตุผลใดย่อมฟังไม่ขึ้น แม้ผู้นั้นจะอยู่ในห้องประชุมขณะที่มีการลงคะแนนก็ตาม

นายโภคิน กล่าวอีกว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างพ.ร.บ.ตกไปทั้งฉบับจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการหาทางออกสำหรับกรณีนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าไม่สามารถนำมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญมาปรับใช้ได้ เนื่องจากมาตรา 143 เป็นเรื่องที่กำหนดให้สภาพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณให้เสร็จภายใน 105 วัน หากไม่ทันตามกรอบเวลาจะให้ถือว่าสภาได้ให้ความเห็นชอบตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และส่งให้วุฒิสภาต่อไป แต่สำหรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกรณีที่เรื่องกระบวนการตราที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจะมาอ้างไม่ได้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายงบประมาณที่สภาแก้ไขตกไปทั้งฉบับ จะนำร่างกฎหมายงบประมาณฉบับของคณะรัฐมนตรี(ครม.)มาบังคับใช้ เพราะเป็นคนละกรณีกัน

เมื่อถามว่า รัฐบาลสามารถตราพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เพื่อบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณได้หรือไม่ นายโภคิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นการเฉพาะว่าการจ่ายเงินแผ่นดินและการจัดทำงบประมาณจะต้องกระทำเป็น พ.ร.บ.เท่านั้น อีกทั้งยังได้บัญญัติเป็นการเฉพาะด้วยว่ากรณีใดบ้างที่ ครม.สามารถตราพ.ร.ก.ได้บ้าง จึงเห็นว่าการตรา พ.ร.ก.ในกรณีนี้ย่อมไม่สามารถกระทำได้ เพราะหากทำเช่นนั้นจะเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

เตือนบิดเบือนกระทบเชื่อถือ

ส่วนนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กรณีกดบัตรแทนกันของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่สำคัญ 2 ด้าน ทั้งทางด้านความเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศ และความเสียหายต่อบรรทัดฐานของการตีความกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในสังคม นับเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศต้องการการขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ ซึ่งถือเป็นความหวังเดียวที่เหลืออยู่ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจขณะนี้ ซึ่งความล่าช้านี้ยังจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และสร้างความชะงักงันต่อเศรษฐกิจประเทศ

"เมื่อพิจารณาจากบรรทัดฐานในอดีตที่เราสามารถเทียบเคียงได้อย่างชัดเจนว่าการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณครั้งนี้มีกระบวนการตราที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นโมฆะได้" นายสมพงษ์กล่าว

ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การให้ความเห็นทางกฎหมายของนายวิษณุเป็นการให้ความเห็นที่ขาดหลักเกณฑ์ทางกฎหมายรองรับ คนเป็นนักกฎหมายอย่าไปรับรองในเรื่องที่ยังไม่รู้จริง สิ่งที่ยังไม่เห็นจริง การพูดของนายวิษณุถือว่าเป็นการชี้นำ เพราะทุกครั้งที่นายวิษณุพูดการตัดสินขององค์กรอิสระมักจะออกมาในทิศทางเดียวกัน ทุกวันนี้ประเทศไทยไม่มีกฎหมายแล้วหรือ ถึงเอาความเห็นของคนคนเดียวทำทุกอย่างได้

อนค.จี้รัฐบาลลาออกรับผิดชอบ

ด้านนายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่(อนค.) กล่าวว่า เป็นไปได้ 3 แนวทางคือ 1.ร่างพ.ร.บ.เป็นโมฆะ เพราะเป็นส่วนในสาระสำคัญ ต้องตราขึ้นมาใหม่ 2.รัฐบาลไม่สามารถจะออกพ.ร.ก.มาใช้ก่อนได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินต้องทำเป็น พ.ร.บ.เท่านั้น เพราะจะต้องมีขั้นตอนและรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ และ 3.ไม่สามารถใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ได้ เพราะมิใช่กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาไม่เสร็จภายในระยะเวลา 105 วัน แต่พิจารณาเสร็จแล้วกลับมาโมฆะในภายหลัง

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าร่างกฎหมายงบประมาณเป็นโมฆะเพราะไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักนิติประเพณีแล้ว ทางรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร นายชำนาญ กล่าวว่า ตามนิติประเพณี คือ ลาออกหรือยุบสภา แต่ในเมื่อผู้ที่เสียบบัตรแทนกันเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ควรจะลาออก โดยในสัปดาห์หน้าทางฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งหากยื่นแล้วรัฐบาลก็ไม่สามารถยุบสภาหนีได้ ตอนนี้ก็คงเหลือทางเดียวคือลาออกเท่านั้นเอง

แนะ6ข้อจับโป๊ะเสียบบัตรแทน

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์แสดงความเห็นกรณีเสียบบัตรแทนกัน มีข้อความว่า "โคนัน จับมือลงคะแนนแทนเพื่อนไม่ยาก 1.คนที่ลงคะแนนแทนต้องเป็น ส.ส.แน่นอน เพราะมีแต่ ส.ส.จึงจะมีสิทธิอยู่ในสภา ตอนลงคะแนน 2.ตรวจบันทึกการลงคะแนนของ ส.ส.ที่ปรากฏเป็นข่าว จะระบุว่า ลงคะแนนในเวลาเท่าใดของเครื่องลงคะแนนเครื่องใด 3.ดูบันทึกการลงคะแนนก่อนหน้า และหลังการลงคะแนนของ ส.ส.คนดังกล่าว 4.หากเวลาก่อน เป็นเวลาห่างกันมาก แปลว่า คนที่ลงคะแนนก่อนเป็นการลงในประเด็นก่อน ไม่เกี่ยวกัน ดังนั้นคนที่ลงคะแนนแทน ควรเป็นคนหลัง 5.แต่ถ้าห่างกันเป็นวินาที ให้สันนิษฐานว่า คนที่ลงคะแนนก่อนคือคนลงคะแนนแทน เพราะโดยปกติคนจะทำของตนเองก่อนจึงจะทำให้เพื่อน 6.ให้เรียกสอบบุคคลที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย และบุคคลที่ลงคะแนนในเวลาใกล้เคียงกันในเครื่องลงคะแนนที่ติดกัน ทั้งซ้าย ขวา และหลัง เพื่อระบุว่าใครยืนที่เครื่องลงคะแนนที่มีปัญหา และมีพฤติกรรมการลงคะแนนอย่างไร หวังว่า กรรมการสอบข้อเท็จจริงคงจะดำเนินการอย่างจริงจังนะครับ ไม่ทำแค่เป็นพิธี แล้วบอกว่า จับมือใครดมไม่ได้"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0