โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

งบเลือกตั้ง “5,800 ล้าน” ที่เสียไป ได้ความโปร่งใสกลับมาเท่าที่จ่ายไหม?

Another View

เผยแพร่ 27 มี.ค. 2562 เวลา 01.00 น.

งบเลือกตั้ง “5,800 ล้านที่เสียไปได้ความโปร่งใสกลับมาเท่าที่จ่ายไหม?

กลายเป็นการเลือกตั้งที่น่าจับตามอง และหลายฝ่ายตั้ง ‘ข้อสังเกต’ มากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะตามปกติจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา (ซึ่งนับที่ประสบความสำเร็จล่าสุดก็ย้อนกลับไปตั้ง 8 ปีที่แล้ว) หลังปิดหีบเลือกตั้ง ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจาก “กกต.” ที่ทุกหน่วยเลือกตั้งนับคะแนนส่งกันเข้ามาจะต้องประกาศได้โดยประมาณตั้งแต่คืนเลือกตั้ง เพื่อที่ผู้สมัครจากพรรคต่าง ๆ จะได้โทรศัพท์กันจนสายไหม้ ต่อรองขั้วอำนาจในสภาว่าใครกันแน่ที่จะได้เป็นรัฐบาล

แต่ทว่าผ่านมาแล้วสามวัน เราได้เห็นแค่รายชื่อ 350 ส.ส. เขต โดยที่ไม่มีข้อมูลคะแนนดิบที่แต่ละคนได้ ทั้งที่ในคืนวันเลือกตั้งที่ทุกคนต่างลุ้นผลคะแนน กลับมีข้อครหาว่าทำไมบางหน่วยถึงผลคะแนนไม่คงที่ จากคนที่ชนะ กลายเป็นแพ้ คะแนนสูงสุด กลายมาอยู่เป็นอันดับสอง!

จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาซึ่ง กกต. จัดโต๊ะแถลงข่าวหลังกลับบ้านไปนอนในคืนวันเลือกตั้ง และใช้เวลาไปเพียง 28 นาทีกับการตอบคำถาม ทั้งสองท่านกลับโบ้ยความผิดพลาดมาที่สื่อมวลชนว่า เป็นเพราะสื่อเอาผลคะแนนที่ได้ไปใส่สูตรประมวลผล ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์กันเอาเอง ทำให้ผลออกมาคลาดเคลื่อน และ กกต. ยังไม่ได้รับรอง หลายฝ่ายมองว่า เหมือนเป็นการ ‘ตอบไม่ตรงคำถาม’ ของท่านตัวแทน กกต. เสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะยังไม่มีทางได้รู้จนกว่าจะถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริง ก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นไปตามครรลองการปฏิบัติงานของ กกต. อยู่แล้วที่จะต้องรอผลพิจารณาการกระทำความผิดเลือกตั้ง แจกใบเหลืองใบแดงกับผู้สมัครที่ทำผิด ถึงจะได้ประกาศผลทั้ง 500 ที่นั่งอย่างเป็นทางการ

คำถามก็คือ ในตอนนี้ที่หลายคนยังสงสัยอยู่กับตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ์ที่ยังไม่นิ่ง จะนับบัตรจากนิวซีแลนด์ที่มาถึงล่าช้า (จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ - ที่ประธานการบินไทยออกมาบอกว่า เรียกแล้ว แต่ไม่มารับ) เป็นบัตรดีหรือไม่ เพราะในกฎการเลือกตั้งและคิดคะแนนแบบใหม่ ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ์จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ใช้ในการคิดจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรค ตามหลักจัดสรรปันส่วนผสม

ยิ่งตัวเลขสุดท้ายออกมาช้าเท่าไหร่ แต่ละพรรคยิ่งนิ่งนอนใจไม่ได้ว่าใครจะมีสิทธิ์ตั้งรัฐบาล

อย่าลืมว่าในตอนนี้ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ต่างมีจำนวน ส.ส. เขต บวกปาร์ตี้ลิสต์ตามสูตรที่สื่อคำนวณอยู่ในจำนวนที่ใกล้เคียงกันมาก และต่างฝ่ายต่างออกมาเคลมว่าตัวเองมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล ฝั่งหนึ่งอ้างจำนวนเก้าอี้ ส.ส. เขตที่ได้ ส่วนอีกฝ่าย อ้างจำนวนรวมผู้ที่เทคะแนนให้ 

กกต. จึงเป็นหน่วยงานกลางที่ต้องเร่งปฏิบัติหน้าที่ให้รวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ก็ต้องทำงานอย่างโปร่งใส อย่าให้ใครมาแสดงความกังขาได้ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ก็ยื่นหนังสือเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลการลงคะแนนทั้งหมดออกสู่สาธารณะ ได้แต่หวังว่าหากพวกท่าน ๆ ที่กินเงินเดือนเป็นแสนอยากแสดงความบริสุทธิ์ใจ ก็ควรเปิดข้อมูลออกมาให้ทุกคนได้รับทราบ

เพราะอย่าลืมว่าเงินภาษีจากประชาชนที่ลงทุนไปกับการจัดเลือกตั้งครั้งนี้ สูงกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ มากถึง 2,800 กว่าล้านบาท (ครั้งก่อน ๆ เฉลี่ยเพียง 3,000 ล้านบาท) เพราะฉะนั้น เงิน 5,800 ล้านบาท จึงไม่ใช่เงินแจกเอาไปโปรยเล่น แต่เป็นเงินลงทุนกับอนาคตของประเทศที่ต้องโปร่งใส ไม่เอาไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ในจำนวนเงินเท่านี้ 99 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายกับการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรที่ทำหน้าที่ในวันเลือกตั้ง หีบเลือกตั้ง 45,000 หีบราคารวม 18 ล้านบาท ค่ารักษาความสงบเรียบร้อย 95 ล้านบาท และค่าขนส่งหีบเลือกตั้ง 160 ล้านบาท

หากเราเชื่อว่าในโลกนี้ ทุกอย่างแก้ปัญหาได้ด้วยเงิน (ฮา) เงินจำนวนเท่านี้ ไม่ควรทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่อยู่ ๆ คะแนนหด กกต. กลับบ้าน ประกาศผล ส.ส. เขตแบบไม่ประกาศคะแนนดิบ หรือแม้แต่ข้อแก้ตัวว่าระบบล่ม!

 มีประโยคภาษาอังกฤษหนึ่งที่คนชอบพูดกัน คือประโยคว่า ‘You only have one job!’ หรือ ‘มีงานเดียวก็ทำให้มันดีด้วยสิ’ 

 

ภาพประกอบ

https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2343821

https://www.posttoday.com/world/584531

https://www.sanook.com/news/7715566/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0