โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

คุยกับ “แหม่ม-คัทลียา” และ “BNK48” จากซีรีส์ “ONE YEAR 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ” กับเรื่องครอบครัวที่ต้องใช้ “หัวใจ” สื่อสาร

LINE TODAY

เผยแพร่ 29 ม.ค. 2563 เวลา 10.27 น.

เรื่องราววุ่น ๆ แต่อบอุ่นหัวใจของ “ONE YEAR 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ” ใกล้เดินทางมาถึงบทสรุปเต็มที LINE TODAY มีโอกาสพูดคุยกับคณะลูกสาวและคุณแม่ นำทีมโดย แหม่ม-คัทลียา และสาว ๆ BNK48 อย่างเฌอปราง ปัญ มิวนิค ฟ้อนด์ วี จูเน่ เจน และน้ำใส ถึงปัญหาครอบครัวที่ดูเหมือนจะเล็กแต่ส่งผลมหาศาลหากไม่เปิดใจ และได้รู้ว่าบทเรียนที่ทุกคนได้รับจากการสวมบทบาทในซีรีส์ สอนให้พวกเธอเรียนรู้ว่า “การสื่อสาร” จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากทุกคนไม่เริ่มใช้ “หัวใจ”

 “ONE YEAR 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ” เล่าเรื่องครอบครัวของแม่มุก (แหม่ม-คัทลียา) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ใช้ชีวิตกับลูกสาววัยกำลังโต 5 คน ในวันที่สิ่งต่าง ๆ กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะคนรักใหม่ของแม่ คือลุงตั้ม (ดู๋-สัญญา) และลูกติดสองคนกำลังจะย้ายเข้ามาอยู่ด้วย ในเงื่อนไขที่ว่า “ภายในระยะเวลา 1 ปี ถ้ามีใครในบ้านแม้แต่คนเดียวไม่มีความสุขในการอยู่ร่วมกัน พ่อกับแม่จะต้องเลิกกัน” และนี่คือความคิดเบื้องลึกเบื้องหลังของทีมนัดแสดงที่ตกตะกอนจากระยะเวลาประมาณ 3 เดือนภายในกองของซีรีส์สุดอบอุ่นเรื่องนี้

ขอเริ่มจากการปรับความเข้าใจระหว่างคนสองวัยอย่าง “เด็ก” กับ “ผู้ใหญ่” ภายในบ้าน ที่บางครั้ง ความไม่เข้าใจก็กลายเป็นหมอกควันให้คนทั้งสองรุ่นถูกตัดขาดออกจากกันอย่างไม่ตั้งใจ เราอยากรู้ว่าในชีวิตจริง ชาว ONE YEAR รับมือกับ “ความไม่เข้าใจ” นี้ ยังไงบ้าง?

เฌอปราง : เวลามีปัญหากับผู้ใหญ่ เราจะสื่อสารด้วยเหตุผลค่ะ แต่บางทีเราก็มีเหตุผลของเรา เราก็จะพยายามชี้แจงให้เข้าใจที่สุดว่าเราต้องการอะไร จะทำอะไร บางทีก็ต้องถามเขาว่าทำไมเขาถึงขัดแย้งกับเรา มีเหตุผลอะไรที่เราต้องปรับหรือเปล่า ไม่งั้นเราจะทำอย่างนี้แหละ ก็ต้องคุยกันค่ะ

แล้วสำหรับเฌอปราง ส่วนมากจะเป็นเรื่องอะไร?

เฌอปราง : เรื่องเรียนต่อ จะเรียนอะไร เรียนยังไง แต่ว่าที่บ้านหนูไม่ค่อยถาม เพราะหนูจะชัดเจนว่าจะเรียนแบบนี้ เราไม่ชอบพูดซ้ำ ๆ เรารู้สึกว่าก็อธิบายให้เข้าใจแล้ว เคลียร์กันแล้ว 

หลายประเด็นใน “ONE YEAR 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ” พูดถึงการไม่ “สื่อสาร” กันอย่างตรงไปตรงมาในครอบครัว แต่ละคนเคยเจอปัญหาอย่างในเรื่องไหม และคิดว่าความต่างของ “วัย” ของสมาชิกในบ้านมีผลต่อการเปิดใจแค่ไหน?

ปัญ รับบทเป็น "พลอย" และ เฌอปราง รับบทเป็น "เพชร" 
ปัญ รับบทเป็น "พลอย" และ เฌอปราง รับบทเป็น "เพชร" 

ปัญ: หนูว่าจริง ๆ มันไม่ได้เกี่ยวกับอายุ อย่างแม่หนูทำงาน แล้วบางทีเราอยู่บ้าน พอแม่ทำงานทุกวันเวลาอยู่บ้านจะเหมือนอยู่ที่ทำงาน คือจะเป็นระบบระเบียบ แล้วหนูเป็นคนที่ชีวิตไม่ค่อยเป็นระเบียบเท่าไร จะใช้ชีวิตแบบใช้ไปเลย ไม่ค่อยได้วางแผนว่าวันนี้จะทำอะไร พอมันอยู่คนละด้านกันมันก็จะมีบ้างที่ทะเลาะกันเรื่องการจัดการเวลาบ้าง แต่ว่าเรื่องอื่น ๆ เรื่องความชอบอะไรแบบนี้แม่ก็ไม่เคยมาว่า หรือมีปัญหากัน

จูเน่ : จริง ๆ ซีรีส์เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เล่าชีวิตครอบครัวหนูได้ดีมาก ๆ เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่หนูแยกทางกันและทั้งคู่ก็มีครอบครัวใหม่ ตัวหนูเองเหมือนผ่านจุดเรื่องครอบครัวของตัวเองมาแล้ว แล้วพอมาเจอในซีรีส์ สำหรับ “ตะวัน” ไม่ได้อินกับครอบครัวขนาดนั้น เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ เพราะไม่ได้เป็นลูกแท้ ๆ ก็เลยจะไม่ได้มีส่วนในการทะเลาะ หรือว่าไปมีปัญหาตัดสินใจอะไรในครอบครัวได้ พอเห็นเรื่องราวตรงนี้ แล้วก็อดนึกถึงครอบครัวเราไม่ได้จริง ๆ

อย่างเรื่องช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ก็เป็นเรื่องที่หนูรู้สึกอยากพูด เพราะว่าหนูเป็นลูกคนกลางค่ะ แล้วที่รู้สึกว่าตัวเองโดนมาตลอด คือการโดนเปรียบเทียบกับคนอื่น ไม่ใช่ใครแต่คือพี่น้องตัวเอง และนี่คือสิ่งที่หนูเชื่อว่าเด็กหลายคนที่มีพี่น้อง มันจะมีการที่พ่อแม่เมนชั่นถึงพี่น้องเรา ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมา แบบที่เขาเองอาจจะไม่ได้ตั้งใจจะพูดเพื่อให้เรารู้สึกอย่างนั้น แต่เขาอาจจะต้องการผลักดันเรา ให้เราตั้งใจเรียนเหมือนพี่ หรือว่าทำไมเราไม่น่ารักเหมือนน้อง อาจจะเพราะเราดื้อด้วยนะคะ ก็เลยโดนซ้ำ ๆ มันทำให้เกิดความรู้สึกไม่ชอบในระยะยาว 

และปัญหาหลักคือหลาย ๆ เรื่องที่เรามองว่ามันสำคัญสำหรับเรามาก แต่พ่อแม่อาจจะไม่ได้มองว่ามันสำคัญ ในวัยเขาก็จะรู้ว่าเรื่องนี้มันมีอะไรให้ต้องระวัง คือเราเข้าใจ แต่หลายครั้งเราแค่รู้สึกน้อยใจ สมมติว่าหนูทะเลาะกับเพื่อนที่โรงเรียน กลับมาบ้านแล้วร้องไห้ หนูโวยวายบอกให้พ่อพาไปเที่ยวหน่อยได้ไหม พ่อก็จะแบบ พ่อมีงานต้องทำ พ่อจะต้องทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่กว่าลูกเยอะ มันเป็นเรื่องที่ปัญหาเรากับปัญหาเขาไม่เท่ากัน

 สำหรับผู้ใหญ่ หนูอาจจะไม่เข้าใจในมุมแม่ขนาดนั้น แต่ว่าพอหนูโตขึ้น และมีน้องสาวเลยเห็นว่าหลายครั้งเราอยากเตือนเขา แต่เราไม่รู้จะใช้คำพูดอย่างไรดี หนูเลยรู้สึกว่าคำพูดเป็นเรื่องสำคัญมาก มันสร้างความประทับใจได้ และมันก็สร้างบาดแผลให้กับคน ๆ หนึ่งได้เหมือนกัน

พี่แหม่ม คัทลียา รับบทเป็น​ "แม่มุก" และลูกสาวของบ้าน ONE YEAR
พี่แหม่ม คัทลียา รับบทเป็น​ "แม่มุก" และลูกสาวของบ้าน ONE YEAR

สำหรับ “แม่มุก” ตัวละครคุณแม่แสนสำคัญที่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของเรื่องราว คิดอย่างไรกับ “ความต่างระหว่างวัย” ?

พี่แหม่ม : คือจริง ๆ เราเรียนรู้จากสองเจเนอเรชั่นคือตั้งแต่ตอนที่เราเป็นเด็ก กับเราในยุคของเราตอนโต ในยุคนี้ที่เราเป็นแม่แล้วจริง ๆ และมีลูก เรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วมันต้องมาพบกันคนละครึ่งทาง 

พอมามีลูกเองเราก็จะรู้ว่า อ๋อ จริง ๆ ที่พ่อแม่เขาพูดเขาบ่นเพราะว่าเขาอาบน้ำร้อนมาก่อน เขาก็มีประสบการณ์และมองเห็นความน่าจะเป็นหรือปัญหาล่วงหน้า เขาจะไกด์เราได้ ซึ่งจริง ๆ พี่ว่าอันนี้สำคัญมากกับคนเป็นพ่อเป็นแม่ คือเด็กบางทีไม่ใช่ว่าเขาไม่เชื่อมั่นในตัวพ่อแม่นะคะ บางอย่างเขาก็ต้องการคำแนะนำจากพ่อแม่ แต่เราก็ต้องฟังเขาด้วย คือมาแชร์ซึ่งกันและกัน ในขณะที่บางอย่างเขาก็ต้องให้พ่อแม่ช่วยตัดสินใจ เพราะวุฒิภาวะเขายังไม่ถึง หรือประสบการณ์เขายังไม่พอ อันนี้เราต้องไกด์เขา

แต่เราจะสอนเสมอว่า ไม่ต้องฟังแม่หมดก็ได้ เพราะว่าแม่จะพูดอะไรก็ได้ ถ้าแม่อยากให้ลูกเรียนหมอมาก แต่ลูกทรมานมาก ลูกไม่ได้อยากเรียนหมอ อันนี้ก็ไม่ควร แต่ว่าให้เชื่อเหตุ และผล เพราะว่าเหตุและผลเนี่ยมันไม่โกหกใคร ซึ่งพี่จะเอาไว้สอนลูกเสมอ บางทีแม่พูดด้วยอคติโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะบางอย่างมันดูท่าทางน่าเชื่อถือ ดูเป็นเรื่องเป็นราว แบบพ่อแม่ไทยอะ ลูกต้องเป็นหมอ คนนี้ต้องเป็นข้าราชการ ซึ่งในความเป็นจริงมันอาจจะหมดยุคไปแล้วรึเปล่า

“แม่มุก” ในมุม “แม่แหม่ม” เป็นคนอย่างไร เหมือนหรือต่างจากบทบาทคุณแม่ในชีวิตจริงของแม่แหม่มอย่างไรบ้าง?

พี่แหม่ม : มีเหมือนและต่าง ที่เหมือนก็คือเราจะเป็นเพื่อนกับลูก จะเฮฮา สนุกสนาน ไปไหนไปกัน คุยได้ทุกเรื่อง เป็นแม่ที่คิดบวกเพราะว่าเรารักลูก แต่ในขณะเดียวกันชีวิตจริงอาจจะเข้มงวดกว่าแม่มุกหน่อยนึง เป็นคนเจ้าระเบียบนิด ๆ คือขอให้อยู่ในเส้นทางนะ เลี้ยวซ้ายได้นิดหน่อยเลี้ยวขวาได้นิดหน่อย แต่ไม่ใช่ห้ามซ้ายห้ามขวาเลย มันไม่ได้หรอก

ทุกคนได้รับบทบาทที่ใกล้เคียงกับตัวเอง คือการเป็นพี่ เป็นเพื่อน เป็นลูกสาว เมื่อมองย้อนไปถึงบทบาทของตัวเองในครอบครัว มีฉากไหนที่รู้สึกว่ามันตรงกับเรามาก หรือรู้สึกอินกับตัวละครมาก ๆ ไหม?

เฌอปราง : อินจนอึดอัด ในบทนิ่งจนตัวเย็นเหมือนน้ำแข็ง เฌออึดอัดกับ “พี่เพชร” มาก แบบจะอะไรขนาดนี้ ปล่อยบ้างเถอะ คือคิดเองเออเองเยอะ แต่พอเราคิดในมุมเขา ว่าเขายังไม่เคยเผชิญอะไรเยอะ เขาอยู่แต่กับโรงเรียน กับที่บ้าน ดูแลที่บ้าน ทำงาน แค่นี้ เขายังไม่ได้ลองอะไรหลาย ๆ อย่าง ทุกอย่างก็ต้องแบบนี้แหละ ครั้งนี้ก็เลยทำให้เขาเรียนรู้อะไรขึ้น

เจน รับบทเป็น "ทราย" และวี รับบทเป็น "ไพลิน"
เจน รับบทเป็น "ทราย" และวี รับบทเป็น "ไพลิน"

พี่แหม่ม : จริง ๆ เรื่องนี้พี่ว่ามันรีเลตได้กับทุกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวไหน บ้านนี้อาจจะก็รู้สึกกับ “ตะวัน” อีกบ้านนึง โห “แพรวพราว” นี่ใช่เลย หรืออีกบ้านนึงก็จะ เออ ใช่ พ่อแม่เรากำลังเป็นแบบนี้ ซึ่งมันก็เป็นซีรีส์ที่มีประโยชน์มากกับสังคมไทย อาจเพราะว่า ณ ขณะนี้ ด้วยเทคโนโลยี ด้วยอินเทอร์เน็ต ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างที่มันเปลี่ยนไป มันทำให้ครอบครัวเราห่างกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ใต้หลังคาเดียวกันแต่ว่าบนโต๊ะทานข้าวถือมือถือคนละเครื่อง ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่แค่ที่บ้านด้วย เราเห็นตามร้านอาหาร ตามอะไรอย่างนี้ บางทีมันก็ไม่ต้องมาด้วยกันหรอก กินคนละที่ก็ได้นะ ถ้ามาแล้วเล่นมือถืออะไรอย่างนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะให้ไม่มีเลยก็ไม่ได้ เราก็ต้องอยู่กับสิ่งที่มันเกิดขึ้นด้วย แต่เราก็ต้องคุยกัน 

ซึ่งพี่ว่าการสื่อสารเนี่ยสำคัญที่สุด อย่างของที่บ้านก็จะพูดเลย เราก็จะมีประสบการณ์ของเรามาว่าพ่อแม่ก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันเหมือนกัน หรือบ้านสามี ทุกบ้านมันมีปัญหาอยู่แล้ว เมื่อมีลูกตัวเอง ก็รู้สึกว่าการคุยกันสำคัญมาก ไม่ใช่สักแต่จะอยู่บ้าน แต่ว่าไม่พูดกัน พอเห็นลูกซึม ก็ต้องถามบ้างว่า โอเคไหมลูก พี่ว่ามันต้องใส่ใจ พ่อแม่ต้องไม่ละเลย ไม่มองข้าม 

ปัญ รับบทเป็น "พลอย" และ เฌอปราง รับบทเป็น "เพชร"
ปัญ รับบทเป็น "พลอย" และ เฌอปราง รับบทเป็น "เพชร"

อีกไม่กี่ตอน ผู้ชมจะได้เห็นบทสรุปของเรื่องราวในซีรีส์ “ONE YEAR 365 บ้านฉัน บ้านเธอ” กันแล้ว พวกเราอยากให้ทุกคนใส่ใจอะไรเป็นพิเศษ หรืออยากฝากอะไรกับคนที่กำลังลุ้นกับซีรีส์เรื่องนี้กันอยู่ไหม?

จูเน่ : ช่วงหลัง ๆ ของ “ตะวัน” จะมีพาร์ตความรักเข้ามาเยอะขึ้น เหมือนตะวันก็ลั้นลาเหลือเกิน ในขณะที่คนก็เอาใจช่วย “พี่เพชร” ว่าจะอะไรยังไง 

เฌอปราง : ก็คือบทเรียนของ “พี่เพชร” นั่นแหละ เรื่องการสื่อสาร การไม่พูดกัน ซึ่งมันอาจจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นนั้น อยากให้รอติดตามชมในตอนต่อไปค่ะ

ปัญ : เอาจริง ๆ ซีรีส์เรื่องนี้มันสอนอะไรหลายอย่างเลย เมื่อก่อนหนูเป็นคนที่รู้สึกว่าเราจะชอบคิดแทนคนอื่น แบบเขาอาจจะรู้สึกอย่างนี้อยู่ ถ้าเราทำอย่างนี้เขาจะรู้สึกอย่างนี้ คิดว่าสิ่งนี้น่าจะดีที่สุดสำหรับเขา อย่างในซีรีส์เรื่องนี้ "พี่เพชร" ก็จะคิดว่าการที่เขาเป็นคนเดินออกมา แล้วให้ตะวันได้รักกับบูมคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับ "ตะวัน" กับ "บูม" เพราะว่า "ตะวัน" ก็รักเขา และ "พี่เพชร" ก็รัก "ตะวัน" แต่ "พี่เพชร" หารู้ไม่ว่า ถ้าตะวันรู้ทีหลังว่า "พี่เพชร" ทำแบบนั้น เขาจะยิ่งเสียใจ 

 มันเลยทำให้หนูรู้สึกว่าซีรีส์เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่าอย่าไปคิดแทนคนอื่นว่าอะไรจะดีที่สุดสำหรับเขา ให้เขาเลือกเอง เราก็ทำสิ่งที่ใจเราเรียกร้อง แล้วสุดท้ายมันจะนำพาเราไปในสิ่งที่ถูกต้องเอง ถ้าเราไปเก็บไว้กับตัวเอง มันจะทุกข์ทั้งเขาและเรา สิ่งนี้คือสิ่งที่หนูได้จากการที่หนูดูซีรีส์ ตอนเล่นไม่รู้สึกแบบนี้นะ แต่พอมานั่งดูแล้วก็เลยรู้ว่ามีจุดนี้ด้วย

ฟอนด์ : อยากให้ทุกคนได้ดูกันค่ะว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร อาจจะหักมุมก็ได้นะ พ่อหนูอาจจะเป็นอะไรหรือเปล่านะ?

เฌอปราง : ในเรื่องมันก็จะมีการตัดสินใจที่ไม่ปรึกษากันอยู่เยอะ มันจะสะท้อนให้เห็นว่าเราควรคุยกันให้มากกว่านี้เยอะมาก ๆๆ

พี่แหม่ม : ใช่ ๆ พี่ว่ามันจะเป็นบทเรียนที่ดีนะคะ มันจะเป็นบทเรียนที่ดีกับความสัมพันธ์ และสถาบันครอบครัวของแต่ละบ้าน พี่ว่ามันจะช่วยพัฒนาให้ดีขึ้น ถ้าดูซีรีส์เรื่องนี้

จูเน่ : หนูบังคับให้ทุกคนดู ส่งให้พ่อแม่ดูด้วย

ปัญ : แต่หนูไม่กล้าดูพร้อมเขาอะ เขิน

จูเน่ : หนูดูพร้อมพ่อในซีนกับบูมอะ พ่อก็แซว เอาดอกไม้มาให้ด้วย

เฌอปราง : เรื่องนี้ไม่มีตัวร้ายด้วย ทุกคนมีแต่ความหวังดีให้กัน เป็นความหวังดีระหว่างกันค่ะ

พี่แหม่ม : เชื่อว่าทุกคนจะรู้สึกอยากเอาใจช่วยทุกตัวละครเลยค่ะ 

ติดตามชมซีรีส์ “ONE YEAR 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ” ทุกวันพฤหสบดี ทาง LINE TV เท่านั้น แล้วมาลุ้นบทสรุปของครอบครัวแม่มุกด้วยกันนะคะ :)

น้ำใส รับบทเป็น "จิ๊บบี้"
น้ำใส รับบทเป็น "จิ๊บบี้"
เจน รับบทเป็น "ทราย"
เจน รับบทเป็น "ทราย"
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0