โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยกับวัยรุ่นอายุ 14 ผู้ผลักดันให้สังคมเข้าใจความโดดเดี่ยว และซึมเศร้าของคนรุ่นใหม่

The MATTER

อัพเดต 12 ม.ค. 2562 เวลา 08.39 น. • เผยแพร่ 12 ม.ค. 2562 เวลา 07.53 น. • Pulse

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นในวาระวันเด็ก ตลอดทั้งวันนี้คงได้เห็นภาพในทีวีเป็นรอยยิ้มของเด็กที่สดใส ผู้ใหญ่จัดงานให้อย่างครื้นเครง ความคักคึกในวันเด็ก กลายเป็นภาพจำที่เราคุ้นกันมาตั้งแต่จำความได้

ท่ามกลางความสุขจำนวนมากมายที่เกิดขึ้นในวันเด็ก เราเชื่อว่า ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เลือกจะอยู่ในมุมส่วนตัวของบ้าน กำลังไตร่ตรองถึงอารมณ์ และสับสนกับความรู้สึกของตัวเอง

ชีวิตการเป็นเด็กนั้นไม่เคยง่าย และไม่ได้มีแค่ภาพสดใสเพียงอย่างเดียว หากแต่หลายคนกำลังเผชิญหน้ากับภาวะกดดันทางจิตใจ ทั้งจากความสัมพันธ์ภายในครอบครัว รวมถึงการแบกรับความคาดหวังในเรื่องการศึกษาอันหนักอึ้ง

ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา วัย 14 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยม 3 ตอนนี้เธอและเพื่อนๆ ในกลุ่มเยาวชนเลิฟแคร์คลับ กำลังผลักดันให้สังคมไทย เข้าใจปัญหาภาวะจิตใจที่เด็กนักเรียนรุ่นราวคราวเดียวกับเธอกำลังเผชิญอยู่

หนึ่งในประเด็นที่เธอและเพื่อนกำลังเรียกร้อง คือการแก้ไขกฎหมายสุขภาพจิต เพื่อเปิดทางให้นักเรียนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเดินเข้าไปรับการรักษาสุขภาพจิตจากแพทย์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง 

“เคยไปงานนึงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต มีผู้ใหญ่ท่านนึงดูในรายชื่อวิทยากรแล้วพูดว่าเอาเด็กหญิงมาเป็นวิทยากรได้ยังไง” ปราชญาเล่าให้เราฟังพร้อมกับความในใจที่อยากให้สังคมมองว่า ความเครียดและภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นกับนักเรียนได้ แม้ยังอยู่ในระดับประถมหรือมัธยมก็ตาม

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ออกมาผลักดันเรื่องภาวะจิตใจของวัยรุ่น

มีช่วงหนึ่งที่เพื่อนและคนรอบตัวของเรา ต้องพบเจอปัญหาทั้งความเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย จนมาถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่ามันต้องมีความเปลี่ยนแปลงแล้ว มันเป็นจุดที่เราอยากช่วยเพื่อนและคนรอบข้าง

เหตุการณ์แบบไหนที่คนรอบตัวเราเผชิญ

ก็มีทั้งเพื่อนรักเรียน รุ่นพี่ รุ่นน้องที่ทั้งกรีดข้อมือ กินน้ำยาล้างห้องน้ำ ผูกคอตาย ส่วนมากเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนวัยมัธยมปลาย

เวลาพูดสังคมเราพูดถึงเรื่องความเครียด หรืภาวะความกดดันทางใจ หลายคนมักมองว่ามันเป็นเรื่องที่เฉพาะผู้ใหญ่ต้องเผชิญเสียมากกว่า เรามองเรื่องนี้อย่างไร

ผู้ใหญ่มักจะคิดว่าเด็กเพิ่งเกิดมา เพิ่งเผชิญกับโลก คิดว่าจะไม่ต้องเผชิญเรื่องเครียดอะไรมากเหมือนผู้ใหญ่ แต่ความที่เขาเพิ่งเผชิญกับโลกนี่แหละ ที่ทำให้เขาต้องเจอสังคมที่หลากหลายรูปแบบ แล้วเขาอาจจะไม่สามารถรับมันได้

ส่วนใหญ่เวลาที่คุยหรือเห็นมา นักเรียนวัยนี้เครียดกับเรื่องอะไรเป็นหลัก

ที่เจอมาจะเป็นเรื่องของครอบครัว ความกดดันของพ่อแม่ แล้วบางทีคำพูดของพ่อแม่ที่ไปกระทบกระเทือนจิตใจของเด็ก เช่น พ่อแม่ต้องการให้ลูกสามารถสอบได้ที่หนึ่ง หรือไปสอบแข่งขันได้อันดับสูงๆ พอเขาไม่สามารถทำได้ก็จะโดนตีบ้าง ทำร้ายบ้าง หรือว่าคำพูดเปรียบเทียบกับคนข้างบ้าน พ่อแม่คิดว่ามันจะเป็นแรงผลักดัน แต่มันเป็นอีกแง่นึงเลยก็คือการกดดัน

อย่างตัวเราเองเคยเจอกับเรื่องราวแบบไหนบ้าง

เราเคยเจอเรื่อง Cyber Bully กับการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน บางทีการที่เรามีความสามารถ ซึ่งเพื่อนบางคนก็จะมองว่าเราตั้งใจอวดความสามารถนี้ให้เห็น ที่เคยโดนก็คือคำพูดว่า “ไอ้นี้มันอวดเก่ง” จนบางทีเราก็มีความคิดเล็กๆ ว่าถ้าเราไม่มีความสามารถในด้านนั้น เพื่อนอาจจะคุยกับเรามากขึ้นเคยรู้สึกโทษตัวเองเหมือนกันนะว่า ถ้าเราไม่ได้ภาษานี้ เราก็อาจจะคุยกับเพื่อนได้มากขึ้นรึเปล่า

แล้วเราจัดการกับเรื่องนี้ยังไง

ตอนที่ยังเด็กกว่านี้ เราเคยรู้สึกว่าไม่มีที่พึ่งอะไรเลย แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีพ่อแม่นี่แหละเป็นที่พึ่งให้เราได้มากที่สุด เราก็จะปรึกษาพ่อแม่ แต่เพื่อนที่เจอปัญหาแบบเดียวกันกับเรา แล้วพ่อแม่ไม่ได้เป็นแบบเดียวกันกับเรา เขาก็ไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร เขาก็จะเลือกปรึกษาเพื่อนหรือพี่น้องมากกว่า

ทำไมเด็กวัยมัธยมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจที่จะปรึกษาเรื่องนี้กับทางบ้าน

เพราะหลายครอบครัวตั้งความหวังกับเด็กๆ เอาไว้สูง ถ้ามันมีเรื่องอะไรบางอย่างที่จะทำให้เขาคิดมาก เราก็ไม่อยากที่จะให้มีเรื่องพวกนั้นเกิดขึ้น ทุกคนอยากจะเป็นคนเก่งและคนดีในสายตาของพ่อแม่เสมอ ไม่อยากให้พ่อแม่รู้สึกไม่สบายใจ

เท่าที่รับรู้มา อายุน้อยสุดที่เจอปัญหาเรื่องภาวะจิตใจคือเท่าไหร่

ที่เจอมาคือชั้น ป.2 คือช่วงนั้นพ่อแม่ของเขาทำงานหนักมากๆ ไม่ได้กลับบ้านมาดูแลเขาเลย และเห็นพ่อแม่ของเพื่อน มารับเพื่อนที่หน้าโรงเรียนทำให้เขาน้อยใจว่า พ่อแม่ไม่รัก ก็เลยตัดสินใจกรีดข้อมือตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ ซึ่งพ่อแม่ก็กลับมาสนใจเขาจริงๆ

แต่พอเมื่อแผลที่ข้อมือหายไป พ่อแม่ของเขาก็ไม่ได้มาคุยว่า การกระทำแบบนี้มันผิดนะ แล้วพ่อแม่ก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม ไม่สนใจเขาเหมือนเดิม จนทำให้เด็กกรีดข้อมืออยู่เรื่อยๆ กลายเป็นว่าคนนั้นที่เครียดอย่างเดียว ก็กลายเป็นโรคซึมเศร้า และมีสุขภาพจิตที่ชอบเห็นตัวเองมีเลือด

เราในฐานะเพื่อนเขา ก็เลยบอกว่าจะไปหาหมอกันไหม ตอนแรกเขาก็ไม่ยอม เพราะกลัวว่าถ้าพ่อแม่รู้ เขาก็จะยิ่งดูไม่ดีในสายตาของพ่อแม่ไปอีก เพราะเขาเป็นคนที่เรียนเก่งมาก แต่เราก็ไปคุยกับพ่อแม่เขา จนสุดท้ายพวกเขาก็ลางานมาเพื่อที่จะพาลูกไปหาหมอด้วยตัวเอง จากจุดนั้นเป็นต้นมาเขาก็รู้สึกว่าได้รับการเทคแคร์ และยินดีที่จะได้รับการรักษาจากหมอ

คิดว่าเรื่องการแข่งขันในโรงเรียนมันส่งผลกระทบต่อเรื่องจิตใจขนาดไหน

บางทีที่เรากดดันตัวเองมากเกินไปว่าต้องเรียนให้เก่ง มันก็ทำให้เครียด เราก็จะกดดันตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจเป็นโรคเรื่องสุขภาพจิตได้

ในโรงเรียนมีการแข่งขันที่สูงมาก ทั้งแข่งเพื่อให้เป็นท็อปของห้อง หรือแข่งให้ได้เก่งในระดับประเทศ เคยมีเพื่อนที่สอบคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับประเทศ ซึ่งพ่อแม่ก็คาดหวัง ครูก็คาดหวัง พอสอบได้หลายปีติดกันเป็นตัวแทนของประเทศ แต่มีปีนึงที่ไม่สามารถสอบได้ หลังจากนั้นพ่อแม่ก็แบน ส่วนครูก็ตัดความสนใจจากเขาไปเลย เพื่อไปหาเด็กอีกคนนึงที่จะเป็นตัวแทนของโรงเรียน มันทำให้เขารู้สึกว่า เขาต้องเก่งให้ได้ พอเป็นแบบนั้นก็กดดันตัวเองเข้าไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นว่าผู้ใหญ่มองกันที่ผลลัพธ์มากกว่า

*เวลาเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นมา เด็กหลายคนก็เลยรู้สึกไม่สบายใจที่จะหยิบเอาเรื่องพวกนี้ไปปรึกษาครูในโรงเรียน *

ขอลองยกตัวอย่าง จริงๆ ก็มีครูที่เก็บความลับของเด็กได้ แต่ก็มีครูบางคนที่เก็บความลับของเด็กไม่ได้ เอาความลับที่เด็กมาปรึกษาไปบอกเด็กนักเรียนในห้องอื่น แล้วบอกว่าพวกเธออย่าเป็นเหมือนเขานะ

ลองนึกภาพเวลาเดินไปโรงอาหาร คนที่นั่งอยู่ก็จะซุบซิบนินทากันว่า คนนี้ไงที่เป็นโรคซึมเศร้า พอความที่เป็นโรคซึมเศร้า ผู้ใหญ่ก็จะมองว่าเป็นโรคบ้า พอมาบอกเด็กว่าเป็นโรคบ้า เด็กก็จะเชื่อตามกันว่าคนนี้เป็นบ้า จากปัญหาแค่จุดเล็กๆ มันก็กลายเป็นการบูลลี่กันในโรงเรียนได้

ครูแนะแนวช่วยเป็นที่พึ่งให้กับปัญหานี้ได้แค่ไหน

เราอยากให้ครูแนะแนวมีความรู้เรื่องสุขภาพจิตของนักเรียนจริงๆ เวลาเด็กเข้าไปขอคำปรึกษาก็จะให้คำปรึกษา หรือคำปลอบโยนที่ถูกต้องได้ แต่ถ้าครูให้คำพูดไปแบบผิดๆ เช่น “อย่าไปคิดมาก” แต่เด็กบางคนก็จะกลับไปคิดว่า ก็เราเลิกคิดมากไม่ได้ไงถึงเป็นแบบนี้ เขาก็เลยรู้สึกว่าโลกนี้มันไปต้องการเขาแล้ว เพราะแม้กระทั่งครูแนะแนวยังให้คำปรึกษาเขาไม่ได้

หรือบางครั้ง ครูประจำชั้นจะบอกว่าให้เด็กเอาเรื่องนี้กลับไปคุยกับพ่อแม่ แต่ประเด็นคือ ปัญหามันเกิดขึ้นระหว่างเขากับพ่อแม่ พอกลับไปเหมือนเดิม แล้วพ่อแม่อาจจะยิ่งโกรธเด็กไปอีกที่เอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ครูฟัง

มันกลายเป็นว่าการได้คุยกับครูแทนที่จะเป็นเซฟโซน มันกลับกลายเป็นโซนที่เขาไม่อยากจะเข้าไปอีก ทำให้เขาไม่กล้าจะปรึกษาเรื่องนี้กับใคร ไม่ว่าจะเป็นครู พ่อแม่ หรือเพื่อน

มีกรณีที่เด็กๆ วัยเดียวกับเราสับสนกับตัวเองไหม คือยังไม่รู้ว่าความเศร้าและเครียดที่เจอมันคืออะไรกันแน่

บางคนไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า เขาไม่กล้าไปตรวจด้วย ปัญหาใหญ่คือเด็กหลายคนไม่ได้ถูกสอนให้เข้าใจว่า โรคซึมเศร้าไม่เท่ากับการเป็นบ้า แต่จริงๆ แล้วมันเป็นโรคที่รักษาได้

จากที่เราเรียนมา ในหนังสือเรียนอธิบายเรื่องภาวะซึมเศร้ายังไงบ้าง

มันเป็นเนื้อหาแค่ระดับเบื้องต้นที่บอกให้รู้ว่ามันมีโรคซึมเศร้า แต่ไม่ได้มีสิ่งที่บอกว่าโรคซึมเศร้ามันเป็นยังไงจริงๆ ถ้าเราอยากเข้าใจมันตั้งแต่เนิ่นๆ เราก็ต้องไปค้นคว้าศึกษาเอาเอง ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่เราควรได้เรียนรู้ แต่ยังมีในบทเรียนไม่เยอะมากเท่าไหร่

แล้วคิดว่าหลักสูตรการศึกษาควรเพิ่มอะไรเข้าไปบ้าง

น่าจะมีข้อมูลพื้นฐานของโรคซึมเศร้า มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงมีวิธีการที่เพื่อนๆ จะควรใช้คำพูดที่ใช้ปลอบโยนกันและกันได้

การเพิ่มนักจิตวิทยาเข้าไปประจำในโรงเรียนจะช่วยแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน

ควรเพิ่มนักจิตวิทยาเข้าไปในทุกโรงเรียน และสร้างพื้นที่ให้เด็กเข้าไปปรึกษา พูดคุย หรือเล่นได้ โดยไม่ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดในสังคม เพราะที่ผ่านมาเด็กบางคนยังไม่กล้าเข้าหานักจิตวิทยา และเมื่อเด็กไม่มีที่พึ่ง ไม่มีคนให้คำปรึกษาได้ เขาก็จะเก็บความเครียดนี้เอาไว้กับตัวเอง แล้วพอเขาเครียดมากๆ มันเลยเป็นสาเหตุหลักของการทำร้ายตัวเอง

*เท่าที่คุยกันมาเหมือนกันว่า ตอนนี้กลายเป็นนักเรียนต้องคอยช่วยเหลือกันเอง ดูแลกันเองเสียเป็นส่วนใหญ่ *

เวลาเราเจอเพื่อนที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา เราจะพยายามคุยแบบเพื่อนบอกเพื่อนว่าอาการของโรคมันเป็นแบบนี้นะ แต่ไม่ต้องกังวลไปหรอก เพราะถ้ารักษาไปเรื่อยๆ เราก็จะหายและกลับมาได้เหมือนเดิม

อยากบอกกับผู้ใหญ่ให้เข้าใจปัญหาภาวะจิตใจของนักเรียนว่าอะไรบ้าง

อยากให้เขาเรียนรู้และเข้าใจมากขึ้น ความเครียดมันมีอยู่กับทุกคน แต่จะมากหรือน้อยก็คงแตกต่างกันไป อยากให้ศึกษามากขึ้น เข้าใจในตัวเด็กมากขึ้น และยินดีให้เขาได้เข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ

ตอนนี้เด็กหลายคนต้องใช้ชีวิตแบบวนลูปทุกวัน ไม่มีเวลาพักผ่อนหรือไปทำกิจกรรมอย่างอื่น หรือแม้แต่เขาอยากจะเล่นเกม บางทีพ่อแม่ก็จำกัดว่าเล่นเกมที่เป็นวิชาการภาษาอังกฤษเท่านั้น บางทีเด็กก็รู้สึกถูกบังคับมากเกินไป

อยากให้สังคมปรับความเข้าใจและเปิดใจกับเด็กที่พบเจอปัญหาแบบนี้ เพราะถ้าปัญหายังเป็นเหมือนเดิม เด็กก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นตัวปัญหาในสังคม

Photo by Asadawut Boonlitsak

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0