โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยกับนายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์: ขอให้การผ่าตัดคลอดเป็นทางเลือกสุดท้ายของคุณแม่

Mood of the Motherhood

อัพเดต 14 ธ.ค. 2562 เวลา 03.51 น. • เผยแพร่ 13 ธ.ค. 2562 เวลา 14.15 น. • INTERVIEW

ประเทศไทยมีสถิติการผ่าคลอด (โดยไม่จำเป็น) เป็นอันดับสองรองมาจากประเทศจีน (ที่มาข้อมูล) แต่ถ้าเทียบกันที่จำนวนประชากรทั้งสองประเทศแล้ว ประเทศไทยอาจจะถือเป็นประเทศที่มีการผ่าคลอดเป็นอันดับหนึ่งเสียด้วยซ้ำ

น่าแปลกใจไม่น้อย เพราะการคลอดธรรมชาตินั้นให้ประโยชน์กับตัวคุณแม่และสุขภาพของลูกอย่างมาก ค่าใช้จ่ายในการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติก็ต่ำกว่า แต่ทำไมคุณแม่หลายคนยังเลือกใช้วิธีการผ่าตัดคลอดมากกว่า

ด้วยเหตุนี้เอง M.O.M จึงขอนำความสงสัยนี้ไปปรึกษา นายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์—สูตินรีแพทย์ ประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรและประธานอนุกรรมการการศึกษา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย นายแพทย์ผู้ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนให้คุณแม่เลือกใช้วิธีผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

เพื่อพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้อัตราการผ่าตัดคลอดของคนไทยสูงขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และเราก็ได้ได้ทราบว่าคุณหมอกำลังพัฒนาเตียงคลอดดึงขื่อ—เตียงที่จะช่วยให้การคลอดตามธรรมชาติเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณแม่มากขึ้น เราก็ยิ่งมีความหวังว่าการพูดคุยครั้งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ได้ลองเปิดใจพิจารณาการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติดูอีกสักที

ทำไมคุณแม่ส่วนใหญ่ถึงเลือกวิธีผ่าตัดคลอดแทนวิธีคลอดธรรมชาติ

จากประสบการณ์ที่ดูคนไข้เอง หมอขอแบ่งสาเหตุออกเป็น 3 ปัจจัย ปัจจัยแรกเป็นปัจจัยจากคนไข้และญาติ สิ่งที่ทำให้คนไข้อยากผ่าตัดคลอดเพราะเขาอยากควบคุมทุกอย่างได้  (sense of control) ไม่ต้องเผชิญความกังวลว่าลูกจะคลอดเมื่อไร สามารถบริหารจัดการเวลาชีวิตตัวเองและญาติได้ เช่น กำหนดคลอดวันศุกร์นี้ ก็จะลางานให้เรียบร้อย สามารถบอกสามีให้ล็อกคิววันนี้ไว้ บอกปู่ย่าตายายรับรู้เพื่อที่จะได้เดินทางมาเห็นหน้าหลาน และปัจจุบันคนไทยแต่งงานกันช้าขึ้น รอมีทุกอย่างพร้อมถึงค่อยมีลูก แต่ล่วงเลยวัยเหมาะสมแก่การตั้งครรภ์มาแล้ว ทำให้เสี่ยงมีบุตรยากมากขึ้น และยังมีข้อมูลการศึกษาว่าการผ่าตัดคลอดทำให้เกิดอันตรายกับเด็กน้อยลง

ปัจจัยต่อมาคือบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าเผชิญปัญหาอะไรก็ตาม เช่น ปากมดลูกคุณแม่ยังไม่ค่อยเปิด แทนที่จะใช้ยาเร่งคลอด การเลือกใช้วิธีผ่าตัดคลอดเป็นทางเลือกที่เร็วกว่า

ปัจจัยสุดท้ายเป็นเรื่องของโครงสร้างและระบบของโรงพยาบาล บางโรงพยาบาลใช้ห้องผ่าตัดรวมกัน ไม่ได้มีห้องผ่าตัดคลอดแยก หากมีเคสก้ำกึ่งคลอดธรรมชาติก็ได้ หรือผ่าตัดคลอดก็ได้ สมมติเด็กในครรภ์หัวใจเต้นไม่ปกติ อาจจะต้องรอเช็กอาการสักสองชั่วโมง แต่ถ้าถึงเวลาที่อาการแย่ลง ห้องผ่าตัดอาจจะไม่ว่างแล้วทำให้หมอต้องเลือกวิธีผ่าตัดคลอดเพื่อความปลอดภัยของคนไข้

พอหลายปัจจัยมารวมกัน ก็ส่งผลให้อัตราการผ่าตัดคลอดในประเทศของเราสูงขึ้น

การถือฤกษ์คลอด ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อัตราการผ่าตัดคลอดสูงขึ้นด้วยใช่ไหม

เรื่องนี้มีคนพูดถึงเยอะมากครับ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวเจอเรื่องนี้น้อยมาก แต่ที่อื่นอาจจะเยอะก็ได้ เรื่องนี้ก็ตอบแทนโรงพยาบาลอื่นไม่ได้เหมือนกัน​ (หัวเราะ) แต่หากคนไข้ยืนยันจะผ่าตัดคลอดตามฤกษ์ หมอก็จะบอกว่าฤกษ์ที่ดีที่สุดคือ ฤกษ์ที่เด็กพร้อมที่สุดและทีมพร้อมที่สุด

แม้ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดคลอดจะสูงกว่ากว่า แต่ก็ไม่ค่อยมีผลต่อการตัดสินใจของคุณแม่

ตอนนี้ดูเหมือนว่าทุกคนจะยอมจ่ายเงินมากกว่า เพราะไม่อยากเจ็บและสามารถควบคุมทุกอย่างได้ดั่งใจ แล้วบางครอบครัวก็วางแผนกันมาแล้วว่าจะมีลูกกี่คน ถ้าเขาวางแผนมีลูกคนเดียว มันก็เป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในชีวิต และก็มีเวลาถึง 9 เดือนค่อยเก็บหอมรอมริบเงินไว้เป็นค่าผ่าตัดคลอด

แล้วทางการแพทย์ กรณีไหนที่คุณหมอสามารถให้ผ่าตัดคลอดได้บ้าง

ทางการแพทย์จะมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดสองกรณีที่หมอสามารถผ่าตัดได้ อย่างแรกคือ ข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องผ่าท้องคลอด (Absolute indication) เช่น มีก้อนที่ปากมดลูก ส่งผลให้ปากมดลูกเปิดไม่ได้หรือมีภาวะรกเกาะต่ำ ข้อบ่งชี้ที่อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ว่าอาจต้องผ่าท้องคลอด (Relative indication) เช่น ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ อยู่ในท่าหันก้นออก หรืออยู่ในแนวขวาง ก็เป็นทางเลือกให้หมอประเมินและตัดสินใจว่าควรจะคลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด

อยากทราบเหตุผลส่วนตัวของคุณหมอว่าทำไมถึงพยายามสนับสนุนวิธีการคลอดแบบธรรมชาติ 

หมออยากรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด หมอพิจารณาแล้วว่าการคลอดแบบธรรมชาติเป็นแนวทางการรักษาที่น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้ คนไข้ที่เลือกวิธีการคลอดธรรมชาติจะไม่มีแผลติดเชื้อจากการผ่าตัดจนอันตรายต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ท่อไต ไม่มีปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อจนต้องใช้สายสวนปัสสาวะจนเสี่ยงต่อภาวะการติดเชื้อ และไม่ต้องเสียเลือดมาก ซึ่งจะส่งผลให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วกว่า น้ำนมก็จะมาเร็วกว่า ลูกสามารถกินนมแม่ได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถมีลูกได้หลายคน เพราะไม่มีแผลที่มดลูก ส่วนลูกก็จะได้รับแบคทีเรียที่ดีเมื่อผ่านช่องคลอดคุณแม่ออกมา ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องอาการภูมิแพ้น้อยลงในอนาคต

หากมองในมุมของประเทศชาติ การคลอดธรรมชาติช่วยลดการใช้ทรัพยากรโดยไม่จำเป็น สมมติคนไข้คลอดเองได้ แต่คนไข้ไปใช้ห้องผ่าตัดวันนั้น แทนที่เราจะเก็บไว้เพื่อผ่าตัดคนไข้ฉุกเฉินหรือผ่าตัดเคสจำเป็นอื่นๆ แต่เรากลับใช้ทรัพยากรส่วนนี้ในกรณีที่ไม่จำเป็นเท่าไร

เคยมีสถิติว่าการที่เราผ่าตัดคลอดโดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินเท่าไร มันมีตัวเลขอยู่ แต่หมอจำไม่ได้ แต่ก็ว่าเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจเหมือนกัน

ในฐานะที่คุณหมอเป็นประธานอนุกรรมการการศึกษาราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย อยากทราบว่าราชวิทยาลัยสูติฯ มีนโยบายการรณรงค์ให้คนไทยผ่าตัดคลอดน้อยลงอย่างไรบ้าง

ทางราชวิทยาลัยสูติฯ มี Statement ออกมาทั้งหมด 7 ข้อ และตอนนี้เริ่มหาสาเหตุเป็นเพราะอะไรจำนวนตัวเลขการผ่าตัดคลอดถึงได้สูงเกินกว่าที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) กำหนดถึงสองเท่า ตอนนี้เริ่มเก็บข้อมูลแบบ Robson Classification แล้วเอาข้อมูลนั้นมาดูกันอีกทีว่าเราจะสามารถทำให้การผ่าตัดคลอดโดยไม่จำเป็นลดลงอย่างไรได้บ้าง

ในต่างประเทศมีปัจจัยที่จะช่วยลดการผ่าตัดคลอดเยอะมาก เช่น การให้ญาติมาอยู่ด้วยจะได้รู้สึกอุ่นใจ แต่ว่าประเทศไทยบริบทมันทำอย่างต่างประเทศไม่ได้ทุกโรงพยาบาล

ทำไมคนถึงกลัวการคลอดธรรมชาติ ความยากของการคลอดเองจริงๆ แล้วคืออะไร

ประสบการณ์ในการทำคลอดคนไข้ที่ผ่านมา ปัญหาที่หมอพบคือคนไข้ไม่ค่อยมีแรงเบ่ง และหมอรู้สึกว่าท่าคลอดบนเตียงในโรงพยาบาลอาจจะไม่เหมาะสมกับการคลอดธรรมชาติ

เป็นที่มาให้คุณหมอคิดพัฒนาเตียงคลอดดึงขื่อที่เหมาะกับการคลอดตามธรรมชาติมากขึ้น 

วันหนึ่งหมอดูละคร บุพเพสันนิวาส เป็นตอนที่แม่หญิงการะเกดคลอดลูก แล้วดึงขื่อเพื่อเบ่งคลอด ซึ่งท่านี้คือท่าที่ถูกต้องในการคลอดลูกเลยนะ เพราะช่วยให้คุณแม่มีแรงและเบ่งง่ายขึ้น

หมอก็เข้าไปดูที่เพดานห้องคลอดเลยว่าเราสามารถทำขื่อดึงเหมือนในละครได้ไหม แต่ห้องคลอดตีฝ้าเพดานหมดเลยทำไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะทำให้ห้องคลอดมีขื่อมันดูยุ่งยากมาก และถ้าขื่อหล่นลงมาทับคนไข้จะทำยังไง จนเป็นช่วงที่โรงพยาบาลต้องซื้อเตียงคลอดใหม่ หมอก็คุยกับบริษัททำเตียงคลอดว่าเราอยากได้ที่ดึงแบบนี้ จนได้ออกมาเป็นเตียงมีคานคร่อม แล้วดึงผ้าจากตรงคานที่อยู่ติดกับเตียงแทนการใช้ขื่อ แล้วใช้เท้าสองข้างยันปลายเตียงเอาไว้ คล้ายท่า McRobert maneuver ที่ช่วยทำอุ้งเชิงกรานเปิดมากขึ้น และทำให้คลอดง่ายขึ้น

ท่า McRobert maneuver ที่ช่วยทำให้คลอดง่ายขึ้น จะคล้ายๆ ท่าที่คุณหมอทำในรูปเตียงเวอร์ชั่นที่ 1
ท่า McRobert maneuver ที่ช่วยทำให้คลอดง่ายขึ้น จะคล้ายๆ ท่าที่คุณหมอทำในรูปเตียงเวอร์ชั่นที่ 1

ตอนนี้เตียงพัฒนาไปถึงไหนแล้ว

คนไข้และพยาบาลหลายคนในห้องคลอดให้ฟีดแบ็กกลับมาจนตอนนี้เตียงพัฒนาไปถึงเวอร์ชั่นที่ 3 แล้ว คือแก้ไขขนาดเตียงให้เหมาะกับสรีระของคนไทย เวอร์ชั่นแรกเป็นภาพที่เผยแพร่ทั่วอินเทอร์เน็ต มีแต่ที่ดึงแทนขื่อ ยังไม่มีที่ยันขากับที่พักขา ส่วนเวอร์ชั่นสอง เพิ่มที่ยันขาผสมผสานกับที่พักขา ที่ยันขามีไว้ช่วยให้ตัวคนไข้ไม่เคลื่อนที่ ส่วนที่พักขาช่วยให้แม่ได้พักขาหลังจากแม่คลอดเสร็จ

ถ้าเตียงคลอดดึงขื่อพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว

ถ้าเตียงช่วยทำให้อัตราผ่าตัดคลอดลดลง หมอก็คงดีใจมาก และยินดีให้คนอื่นเอาไปประยุกต์ใช้ ถ้าจะช่วยทำให้เรามีเตียงคลอดที่พัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม

'การแพทย์แปดนาที' ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และความรู้เกี่ยวกับเรื่องภายในของผู้หญิง
'การแพทย์แปดนาที' ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และความรู้เกี่ยวกับเรื่องภายในของผู้หญิง

นอกจากเตียงคลอดแล้ว คุณหมอมีไอเดียอะไรที่อยากทำเพื่อสนับสนุนให้คุณแม่เลือกใช้วิธีคลอดธรรมชาติมากขึ้นอีกบ้าง

ตอนนี้หมอมีไอเดียเยอะแยะมาก อย่างแรกต้องให้ความรู้เรื่องวิธีการทำคลอดกับคุณแม่ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะปัญหาของหลายคนคือเขาไม่รู้ว่าการคลอดเองมีประโยชน์อย่างไรบ้าง บางโรงพยาบาลมีเปิดโรงเรียนพ่อแม่ ให้ความรู้และทำกิจกรรมเตรียมพร้อมเป็นพ่อแม่ แต่ที่นี่ยังไม่มี เวลาคนไข้มาหาหมอ หมอจะถามตั้งแต่ครั้งแรกว่าอยากคลอดยังไง ถ้าคนไข้ตอบได้ทันทีว่าอยากผ่าตัดคลอด ถึงแม้หมอจะสนับสนุนการคลอดธรรมชาติ หมอก็ไม่รีบปฏิเสธ แต่หมอจะพูดให้ฟังถึงข้อดีข้อเสียของการคลอดทั้งสองแบบ ให้เขาพิจารณาเอง

แต่การพูดก็เหมือนเลกเซอร์สอนนักศึกษา พอออกจากห้องเขาลืมหมด บางทีหมอก็จะส่งลิงก์คลิปบรรยายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ให้เขาฟัง เจอกันครั้งต่อไปค่อยถามอีกทีว่าเขาอยากคลอดแบบไหน

อันต่อมา คือหมอจะเก็บข้อมูลคนไข้ที่เคยคลอดทั้งสองวิธี ให้เขามาเล่าให้ฟังว่ารู้สึกอย่างไร ไขข้อข้องใจว่าแบบไหนเจ็บมากหรือเจ็บน้อยกว่า ผลดีผลเสียต่างกันอย่างไร คนที่ยังไม่เคยคลอดลูก พอได้ฟังจากคนที่มีปร ส่วนเรื่องระดับนโยบายเราคงค่อยๆ หาเหตุผลกันว่าทำไมอัตราการผ่าตัดคลอดในประเทศเราถึงสูงนัก หากพบว่าสาเหตุคือคนไข้กลัวเจ็บ การให้ความรู้มันก็เป็นหนทางช่วยได้ หรือถ้าคนไข้ไม่ใช่คนในละแวกโรงพยาบาล ไม่สามารถมาถึงโรงพยาบาลได้ภายใน 1-2 ชั่วโมงที่จะคลอด ก็ต้องวางแผนเพิ่มโรงพยาบาลหรือทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงโรงพยาบาลง่ายขึ้น เช่น โทร. 1669 แล้วมีรถมารับทันทีได้ไหม เพราะแต่ละที่ก็มีบริบทไม่เหมือนกัน เรื่องนี้ยังต้องดูกันต่อไป

สำหรับคุณแม่ที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แต่ยืนยันที่จะผ่าตัดคลอด คุณหมอมีวิธีรับมืออย่างไร

หมอก็จะบอกว่าขอดูเป็นกรณีไป เพราะการผ่าตัดคลอดจะไม่ใช่ทางเลือกแรกของการคลอดแน่นอน

สำหรับว่าที่คุณแม่ที่อยากได้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และความรู้เกี่ยวกับเรื่องภายในของผู้หญิง สามารถเข้าดูได้ที่ ‘การแพทย์แปดนาที’

เฟซบุ๊ก: Olarik Musigavong

LINE: http://nav.cx/xdIw3UU

Website: www.olarik.me

Twitter: Olarik Musigavong

Youtube: Olarik Musigavong

สัมภาษณ์วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0