โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุณแม่อายุเกิน 35 ปี มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง

Mood of the Motherhood

อัพเดต 16 พ.ย. 2561 เวลา 10.53 น. • เผยแพร่ 13 พ.ย. 2561 เวลา 10.00 น. • INTERVIEW

ในยุคที่หนุ่มสาวนิยมแต่งงาน สร้างครอบครัว และตัดสินใจมีลูกช้าลง รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับว่าที่คุณแม่ที่วางแผนการตั้งครรภ์ไว้ในวัยหลังอายุ 35 ปี

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งอายุมากขึ้น การตั้งครรภ์ก็ยิ่งมีความเสี่ยงทั้งต่อตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์มากขึ้นตามไปด้วย

เราจึงมาขอข้อมูลจากพญ.ธาริณี ลำลึก —สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ประจำโรงพยาบาลพญาไท 2 เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของว่าที่คุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ว่าจะต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยง และควรดูแลตัวเองกับลูกในท้องอย่างไร

อายุเฉลี่ยของคุณแม่ที่มาฝากครรภ์ในปัจจุบัน

อายุเฉลี่ยของคุณแม่ที่มาฝากครรภ์จะอยู่ที่ 30 ปี ขึ้นไป ช่วง 34-38 ปี เริ่มกลายเป็นอายุปกติ แต่ถ้าคุณแม่ดูแลตัวเองดี ก็สามารถตั้งครรภ์และเลี้ยงลูกในวัยเช่นนั้นได้

อายุของผู้หญิงที่เหมาะต่อการตั้งครรภ์

อายุไม่เกิน 35 ปี และไม่ต่ำกว่า 20 ปี เพราะอายุที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น

ความเสี่ยงระหว่างคุณแม่อายุน้อยกว่า 20 ปี กับคุณแม่อายุมากกว่า 35 ปี

ในกรณีตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 20 ปี เรียกว่า teenage pregnancy ความเสี่ยงนี้เกิดจากร่างกายของคุณแม่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นความสมบูรณ์ของร่างกาย สรีระของร่างกาย ภูมิต้านทานของร่างกาย ส่งผลต่อทารกระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด ทำให้มีน้ำหนักตัวน้อย ทารกมีภาวะเสี่ยงเลือดจาง ตลอดจนครรภ์เป็นพิษ

ในกรณีตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี มีความเสี่ยงทั้งต่อคุณแม่และทารก มีความเสี่ยงที่คุณแม่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เนื้องอกในมดลูก และซีสต์ในรังไข่

ทารกมีโอกาสเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย เสียชีวิตในครรภ์ และมีโครโมโซมผิดปกติ ก่อให้เกิดโรคดาวน์ซินโดรม ทารกมีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมในอัตราส่วน 1 ใน 200

และถ้าคุณแม่อายุ 40 ปี ขึ้นไป ก็มีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมได้ในอัตราส่วน 1 ใน 70

ยิ่งเสี่ยงยิ่งต้องมีการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม

ปัจจุบันเราสามารถตรวจว่าทารกเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่ ตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ โดยมีวิธีการตรวจ 2 วิธี คือตรวจคัดกรองและตรวจวินิจฉัย

การตรวจคัดกรองมีสองแบบคือ การตรวจอัลตราซาวนด์กับการเจาะสารเคมีในเลือด ถ้าผลคัดกรองออกมาว่า ลูกมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคดาวน์ซินโดรม เราจะไปสู่ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโดยการเจาะน้ำคร่ำเพื่อดูผลต่อไป

หากพบว่าทารกในครรภ์เป็นโรคดาวน์ซินโดรม

มีสองทางเลือก หากพบแล้วว่าทารกเป็นโรคดาวน์ซินโดรม ทางเลือกแรกคือคุณแม่ตั้งครรภ์ต่อ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดูแลลูก ส่วนทางเลือกที่สองคือยุติการตั้งครรภ์

โรคหรือภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์

อย่างแรกเนื้องอก เราป้องกันไม่ได้ ถ้าคุณแม่รู้ตัวว่าเป็นเนื้องอก ควรทำการผ่าตัดให้เรียบร้อยก่อนตั้งครรภ์

เบาหวาน ถ้าเป็นการวินิจฉัยระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถรักษาระหว่างตั้งครรภ์ตามชนิดของโรคได้ เช่น เป็นเบาหวานชนิดที่หนึ่ง คือน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก การรักษาจะใช้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ส่วนชนิดที่สอง เป็นชนิดที่มีค่าระดับน้ำตาลสูง จะใช้วิธีการรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน เพื่อลดระดับน้ำตาลลง

ครรภ์เป็นพิษ มีองค์ประกอบสองอย่าง คือความดันโลหิตสูงกับโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการชัก และถ้ามีอาการขั้นรุนแรง จะพบว่ามีเลือดออกในตับ เลือดออกตามร่างกาย ตับวาย ไตวาย ทารกขาดออกซิเจนและเสียชีวิต เกิดได้ทั้งในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากเกินไปและอายุน้อยเกินไป ถ้ามีอาการเหล่านี้แนะนำให้รีบคลอดหรือยุติการตั้งครรภ์

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนตั้งครรภ์

อย่างแรกคุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อน ว่าการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงและควรดูแลตัวเอง โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับอย่างเพียงพอ

ก่อนตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์ ตรวจสุขภาพ เพื่อดูว่ามีโรคประจำตัวไหม รวมถึงควบคุมน้ำหนัก เพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น แท้งง่าย เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ และภาวะตกเลือดได้

ที่สำคัญคือควรฉีดวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนโรคหัดเยอรมัน เพราะหากคุณแม่ไม่มีภูมิคุ้มกันและติดโรคหัดเยอรมันภายหลัง ก็ทำให้ทารกในครรภ์พิการได้

ดูแลตัวเองและใกล้ชิดคุณหมอ

เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ให้รีบไปฝากครรภ์และตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงคุณแม่ควรรับประทานวิตามินเสริม จำพวกกรดโฟลิกให้ได้อย่างน้อย 400 ไมโครกรัมต่อวัน เพราะเป็นสารที่ช่วยลดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ถึง 70 และควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน แอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่

ที่สำคัญคือไม่ควรรับประทานยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะยาบางตัวส่งผลกับทารกในครรภ์ได้ หากคุณแม่เจ็บป่วยและต้องรับประทานยา ก็ควรพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ก่อนทุกครั้ง

คุณแม่อายุมากขึ้น จะมีน้ำนมน้อยลง

แนวโน้มของหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากขึ้น ปริมาณน้ำนมจะน้อยกว่าผู้หญิงในช่วงอายุปกติอยู่แล้ว แต่ปัจจัยของการผลิตน้ำนมขึ้นอยู่กับพื้นฐานสุขภาพของคุณแม่แต่ละคนมากกว่า ถ้าดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ระหว่างตั้งครรภ์รับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ร่างกายก็สามารถผลิตน้ำนมได้

พัฒนาการของลูกขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู

อายุของแม่ไม่ส่งผลต่อพัฒนาการของลูก กรณีที่คุณแม่มีอายุมาก แต่ลูกคลอดออกมาสมบูรณ์ พัฒนาการของลูกจะขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของคุณแม่มากกว่า

แต่ข้อดีของการตั้งครรภ์ตอนอายุมากก็คือ คุณแม่มีประสบการณ์ มีการตัดสินใจที่ดี มีความรับผิดชอบ และมีความพร้อมที่จะดูแลทารกได้เป็นอย่างดี

เคสคุณแม่ที่ทั้งเสี่ยงและน่าเป็นห่วง

เคยเจอที่ตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติอายุ 45 ปี หลังจากตรวจร่างกายพบว่าเจอก้อนเนื้อบริเวณเต้านม สุดท้ายพบว่าแม่เป็นมะเร็งเต้านม เคสนี้จึงมีความยุ่งยาก เพราะมะเร็งก็จะกระจาย เด็กก็จะโต เราจึงต้องให้เด็กโตเพียงพอก่อน แล้วรีบคลอดเด็กออกมา ก่อนที่มะเร็งจะกระจาย แล้วค่อยไปรักษามะเร็งต่อ เพราะยารักษามะเร็งอาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้

เทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้หญิงอายุมากตั้งครรภ์ได้

พอผู้หญิงอายุมากขึ้น ปริมาณและคุณภาพของไข่ก็จะลดลง โอกาสตั้งครรภ์ก็จะน้อยลง แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์หลายตัวที่ช่วยให้มีบุตร ไม่ว่าจะเป็น…

การทำ IUI (Intrauterine Insemination) คือการฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ แต่มีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 15%

การทำ GIFT (Gamete Intrafallopian Tube Transfer) หรือ IVF (In Vitro Fertilization) คือเอาไข่และอสุจิออกมาผสมกันที่หลอดแก้ว จากนั้นเลี้ยงจนเป็นตัวอ่อนสักระยะหนึ่ง แล้วฝังเข้ามดลูก

การทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) ใช้อสุจิฉีดเข้าไปในไข่เลย โดยคุณหมอจะเอาเข็มที่มีเชื้ออสุจิฉีดเข้าไปในไข่ แล้วเลี้ยงให้โตสักระยะหนึ่ง จึงฝังเข้าไปในมดลูก

การตั้งครรภ์เมื่อคุณแม่อายุมากกว่า 35 ปี มีโอกาสเสี่ยงทั้งต่อตัวคุณแม่และทารกก็จริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเกินไปนัก ถ้าหากคุณแม่เตรียมความพร้อม ดูแลสุขภาพร่างกาย และอยู่ในความดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม M.O.M ขอให้คุณแม่ ว่าที่คุณแม่ และลูกน้อยมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงกันถ้วนหน้านะคะ

สัมภาษณ์วันที่ 11 ตุลาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0