โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุณหมอขอรีวิว วิธี reuse หน้ากากอนามัย และ N95

SpringNews

เผยแพร่ 30 มี.ค. 2563 เวลา 10.07 น.
คุณหมอขอรีวิว วิธี reuse หน้ากากอนามัย และ N95

อ.พญ.พิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ และ อ.นพ.โชติวัฒน์ ตันศิริสิทธิกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มารีวิววิธี reuse หน้ากากอนามัย และ N95 โดยในสถานการณ์ปรกติ จะไม่แนะนำให้นำหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ซ้ำ แต่ด้วยความจำเป็นในยุคโควิด 19 ทรัพยากรมีไม่เพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องนำหน้ากากอนามัยมาใช้ซ้ำ จึงขอมารีวิววิธี REUSE ให้ได้รู้ถึงประสิทธิภาพของแต่ละวิธีกัน

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจถึงหลักการการทำงานของหน้ากากอนามัย และ N95 กัน นั่นคือ หน้ากากมีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นกลางซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกรองฝุ่นละออง หรือ Filtration Layer นั้นทำมาจากวัสดุที่เรียกว่า meltblown (MB) PP (polypropylene) nonwoven electret มี ประจุไฟฟ้าสถิตย์ ซึ่ง Surgical mask มีตัวแผ่นกรองนี้แค่ชั้นเดียว แต่ในขณะที่ N95 นั้นมีแผ่นกรองนี้ถึง 2 ชั้น ทำให้ประสิทธิภาพการกรองของ N95 สูงกว่า หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป

การทำงานกลไกการกรองของ Filtration Layer ด้วยไฟฟ้าสถิตย์ เป็นกลไกที่สำคัญมากที่จะทำให้แผ่นกรองมีประสิทธิภาพการกรองเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ทำให้ได้มาตรฐานของ National Institute for Occupational Safety and Health หรือ NIOSH ของอเมริกา

หลักการพิจารณาคุณสมบัติของวิธีทำความสะอาดหน้ากากที่ดี มีดังนี้

1. ฆ่าเชื้อไวรัส และแบคทีเรียก่อโรค ที่สะสมบนหน้ากากได้อย่างมีประสิทธิภาพ (germicidal ability)

2. ไม่ทำลายโครงสร้างของหน้ากาก (structural integrity)

3. คงประสิทธิภาพการกรองของหน้ากากไว้ได้ (filtration efficiency)

ในการทำความสะอาดหน้ากากอนามัยมีหลายวิธีด้วยกัน ทั้ง ผึ่งแห้ง, อบความร้อน 70 องศา 30 นาที, รังสียูวี, ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์, ซักด้วยน้ำยาฟอกขาว และ นึ่งไอน้ำเดือด 30 นาที ด้วยความหลากหลายนี้เองวันนี้จึงได้นำมารีวิว รวมถึงเปรียบเทียบวิธีการต่างๆ ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ว่าให้ประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง ดังนี้

จากหลักฐานงานวิจัยจากต่างประเทศ พบว่า

วิธีการฉายรังสียูวี ใช้ UV-C ที่ความเข้มข้น 4 w/cm2 ห่าง 3 cm. 10 นาทีขึ้นไป สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่ UV-A ไม่สามารถฆ่าได้

วิธีการอบความร้อน หรือ Dry Heat ที่อุณหภูมิ 56 องศา เป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาทีขึ้นไป สามารถฆ่าเชื้อได้

ทั้ง UV และ Dry Heat สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ และประสิทธิภาพการกรองด้วยมาตรฐาน NIOSH พบว่า ประสิทธิภาพการกรองด้วยวิธีฉายรังสี UV จะอยู่ที่ 95.50 เปอร์เซ็นต์ และ วิธี Dry Heat อยู่ที่ 96.60 เปอร์เซ็นต์ สรุปได้ว่า แทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการกรองเลย

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ห้ามใช้แอลกอฮอล์ หรือ คลอรีน ในการทำความสะอาดหน้ากาก เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการกรองลดลงมาอยู่ที่ 56.33 เปอร์เซ็นต์ และ 73.11 เปอร์เซ็นต์

ส่วนวิธีการอบร้อนหน้ากาก N95 ด้วยอุณหภูมิ 60-65 องศา เป็นเวลา 1 ชั่วโมง นั้นผลปรากฏว่า ไม่ทำให้โครงสร้างเส้นใยเปลี่ยนแปลง ส่วน Surgical Mask ก็ให้ผลเฉกเช่นเดียวกัน

งานวิจัยจากต่างประเทศชี้อีกว่า แสงยูวีที่ระดับเข้มมาก สามารถส่งผลต่อโครงสร้างหน้ากากได้ ซึ่งทาง 3M ก็ชี้ตรงกันกับงานวิจัยว่า UV ส่งผลต่อโครงสร้างหน้ากาก N95 จริง หากใช้ UV 30 นาที สามารถทำให้สายคาดหน้ากากรุ่น 1870 สูญเสียความยืดหยุ่น และ หน้ากากรุ่น 1860 nose foam เปลี่ยนรูปได้ พร้อมกับมีกลิ่นเหม็นไหม้ชัดเจนอีกด้วย

3M รุ่น 1870
3M รุ่น 1870

ข้อพึงระวังในการใช้แสง UV ในการทำความสะอาดหน้ากาก

1. แสง UV ต้องส่องถูกทุกพื้นผิวของหน้ากาก ถ้าวางแล้วมีมุมอับ เช่น รอยพับ ก็อาจจะทำให้ตรงนั้นยังมีเชื้ออยู่ได้ และควรกลับด้านหน้ากากอนามัยเวลาอบด้วย

2. ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อของแสง UV แต่ละเครื่องนั้นแตกต่างกัน ขึ้นกับความแรงของหลอดไฟ ชนิด และประเภทของหลอดไฟ ซึ่งในท้องตลาดมีทั้ง LED และ แบบหลอด ฉะนั้น ระยะห่างระหว่างหน้ากากกับหลอดไฟ จึงควรใช้วิจารณญาณก่อนซื้อ โดยพิจารณาเอาเฉพาะเครื่องที่มีการพิสูจน์แล้วว่าสามารถฆ่าเชื้อได้จริง

3. การฉายรังสี UV-C ถูกผิวหนัง สามารถทำให้ผิวหนังไหม้ และ อาจก่อมะเร็งผิวหนังได้ หากดวงตาโดนรังสีโดยตรง จะก่อให้เกิดต้อกระจกหรือกระจกตาอักเสบได้

4. มีข้อมูลจากผู้ที่ประดิษฐ์แผ่นกรองของหน้ากาก N-95 นั่นคือ  นายแพทย์ ปีเตอร์ ไซ กล่าวว่า ไม่ควรใช้แสง UV ในการ ทำความสะอาดหน้ากาก เนื่องจากแสงยูวีจะไปทำลาย electrostatic charge หรือ ประจุไฟฟ้สถิตย์ของแผ่นกรอง meltblown (MB) PP (polypropylene) nonwoven electret ซึ่งจะทำให้ลดประสิทธิภาพการกรองของหน้ากากไปในกรณีใช้ซ้ำ

ข้อพึงระวังในการอบร้อนสำหรับทำความสะอาดหน้ากาก ที่ควรพิจารณาคือ

1. ระวังอย่าวางหน้ากากให้สัมผัสส่วนที่เป็นโลหะของเครื่อง เพราะ อาจจะร้อนเกินไปจนทำให้หน้ากากเสียโครงสร้าง ถ้าเป็นไปได้เครื่องควรที่จะเป็นพลาสติกที่ทนความร้อน

2. อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 56-75 องศา (ถ้าเป็นไปได้ควร ทดสอบอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์)

3. ควรเปิดเครื่องเพื่อวอร์มเครื่องให้ร้อนก่อนที่จะใส่หน้ากากลงไป และอบประมาณ 30 นาที โดยไม่เปิดฝาออกมาระหว่างอบ

4. ลมร้อนอาจจะระบายออก และพัดเอาเชื้อกระจายได้ จึงควรคว่ำหน้ากาก หรือถ้ากังวลมากอาจนำตัว filter ของ 3M มาติดเพื่อกรองอากาศที่จะออกมาจากตัวเครื่องก็ได้

สรุป แสง UV เทียบกับ DRY HEAT (70 องศาเซลเซียส)

  • แสง UV กับ Dry Heat มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียทั้งคู่
  • ในทางปฏิบัติ การใช้แสง UV อาจมีข้อด้อยกว่า Dry heat เพราะ Dry heat นั้นง่ายกว่าในแง่ของการควบคุมตัวแปร อุณหภูมิ และความทั่วถึงในการฆ่าเชื้อ และสเปกเครื่อง UV ในท้องตลาดนั้นมีความแตกต่างกันมาก จึงอาจไม่ได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกับในห้องทดลอง
  • นอกจากนี้ UV อาจมีผลต่อประสิทธิภาพการกรองประจุไฟฟ้สถิตย์ (electrostatic charge) และ ผลต่อโครงสร้างส่วนอื่นของหน้ากาก เช่น สายคาดหน้ากาก ซึ่งอาจทำให้หน้ากากไม่แนบสนิทไปกับใบหน้าเวลาใส่
  • ช่วงนี้มีหลายทีมทั้งไทยและต่างประเทศกำลังเร่งมือทำวิจัยในเรื่องการใช้ UV และ dry heat สำหรับ mask reuse น่าจะมีผลลัพธ์เผยแพร่ออกมาอีกในเร็วๆ นี้
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0