โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุณกำลังทำร้ายสุขภาพจิตของคนอื่นโดยไม่รู้ตัวรึเปล่า?

HealthyLiving

อัพเดต 15 ส.ค. 2562 เวลา 02.30 น. • เผยแพร่ 06 ส.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living
thumb_dujdaot.jpg

คุณกำลังทำร้ายสุขภาพจิตของคนอื่นโดยไม่รู้ตัวรึเปล่า?โดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดที่อยากให้ผู้คนสื่อสารกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ
การทำร้ายผู้อื่นแบบที่คุณไม่รู้ตัว เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการกระทำโดยตั้งใจและรู้ตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณได้เลือกแล้ว บทความนี้จึงไม่แตะไปถึงการทำร้ายในรูปแบบนั้น หากแต่สิ่งที่เราสนใจก็คือ การกระทำที่เกิดจากการลืมคิดในมุมกลับ ว่าคนที่ฟังจะรู้สึกอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราจะมาชวนให้ทบทวนกัน 

“เฮ้ยไปทำอะไรมา อ้วนขึ้นตั้งเยอะ” เราทักคำนี้กับเพื่อนในออฟฟิศเพื่อแสดงความสนิทและเรียกรอยยิ้มของเพื่อน คุณรู้ไหมเวลาที่คนเราถูกทักเรื่องรูปร่างในประโยคทักทายมันทำให้รู้สึกอย่างไร

“เรื่องแค่นี้เอง เศร้าไปได้” เราเผลอให้กำลังใจเพื่อนที่อกหักแทบตายด้วยการตีค่าเรื่องของเขาเล็กกว่าที่เขาเห็น

“ก็แกปรี๊ดอย่างเนี้ย ใครเค้าอยากจะคุยด้วย” เราอยากเตือนสติเพื่อนด้วยการมองข้ามความโกรธของเขาแล้วแถมการตัดสินสิ่งที่เขารู้สึกว่าเป็นสิ่งไม่ควรทำ

ประโยคเหล่านี้ออกจากปากคนรอบตัวเราบ่อยมานานจนเราแทบไม่เห็นว่ามันจะทำร้ายจิตใจคนได้อย่างไร ในขณะที่โลกใบนี้ก็อยู่ยากขึ้นเรื่อย ๆ สุขภาพจิตคนถูกสั่นคลอนด้วยระบบเศรษฐกิจ การเมืองและสภาพภูมิอากาศมามากพอแล้ว เรายังมอบการสื่อสารให้คนรอบ ๆ ตัวเรามีสุขภาพจิตที่ท้อแท้มากด้วยการพูดแบบไม่คิดก่อนว่าถ้าในมุมของเขาถ้าฟังแล้วเขาจะรู้สึกอย่างไร

ในชีวิตประจำวันการทำร้ายกันแบบรวดเร็วแบบไม่ต้องแตะตัวมักเกิดขึ้นในรูปของการสื่อสาร เช่น การพูด และการซัดแทงคนด้วยน้ำเสียง การสื่อสารสามารถทำร้ายจิตใจคนให้เจ็บปวดยิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานพูดต่อกัน พ่อแม่พูดกับลูก หรือคนรักพูดต่อกัน คำแรง ๆ หลายคำที่เราเคยได้ยินแล้วไม่เจ็บปวด หรือเคยเจ็บปวดแต่ชินแล้ว เราก็ลืมคิดไปว่าคนอื่นอาจจะเจ็บปวดหรือรู้สึกต่างจากเราก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถเอามาตรวัดหรือประสบการณ์เรายึดเป็นตัวตั้งในการสื่อสารทั้งหมด เช่น “ก็ตอนเด็กๆ ชั้นก็ถูกสอนถูกด่ามาแบบนี้ชั้นยังไม่เห็นเป็นไร” แบบนี้ไม่ได้ เพราะเรากับเค้ามันคนละคนกัน

ในขณะที่หลายคนมีความกล้าหาญที่จะลบศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้อื่นแล้วเรียกเค้าว่า “ไอ้โง่”ได้อย่างเต็มปาก เรียกต่อหน้าบ้าง ลับหลังบ้าง พอมีคนทักว่าการเรียกอย่างนั้นมันเป็นเรื่องไม่โอเค ก็ยังยืนยันว่า “ก็มันโง่จริง ๆ นี่นา” 

การตีค่าผู้อื่นโดยยึดมุมมองของเราเป็นตัวตั้งเท่ากับเราเอาพิมพ์เขียวของเราไปทาบบนการกระทำของคนอื่นโดยไม่ได้ให้พื้นที่เค้าเลยว่า แล้วในชีวิตของเขามีหลักการอย่างอื่นที่ยึดโยงมาหรือไม่ ไม่ได้เหลือความเป็นไปได้เลยว่าที่เค้าทำงานออกมาไม่ได้ตามที่เราคาดหวัง อาจเป็นเพราะเค้าใช้หลักการความคิดอีกอย่างที่เราอาจจะนึกไม่ถึงหรือไม่เคยรู้จักเลยก็ได้

การที่เราไม่ยอมเอาตัวเองไปคิดในมุมของคนรับสารก่อนว่าถ้าเขารับสิ่งที่เราพูดไปแล้วเค้าจะเป็นยังไงบ้างทำให้ความสัมพันธ์และคุณภาพชีวิตงานและเรื่องส่วนตัวร้าวรานและบานปลายมานับไม่ถ้วน และสิ่งนั้นคือการเริ่มต้นของปัจจัยที่จะมากัดกินสุขภาพจิตใจของทั้งเราและก็เค้า เพราะฉะนั้น เพียงแค่รู้ว่าตัวเองต้องการจะพูดอะไร ก็ยังไม่ใช่กระบวนการที่เพียงพอสำหรับการสื่อสาร 

การเห็นอกเห็นใจ – การสังเกตเห็นว่าคนที่เราสื่อสารสารด้วยกำลังรู้สึกอะไรและมีความคิดอะไรอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราทำร้ายจิตใจคนได้ มันคือการมองคนให้ทะลุลึกไปกว่าแค่เห็นว่าเค้ากำลังทำอะไร มองลึกไปว่าความรู้สึกเขากำลังเป็นแบบไหน แล้วใคร่ครวญกับตัวเองว่าถ้าเราส่งสารแบบที่เราอยากส่งไปแล้วเขาจะรู้สึกอย่างไร 

เวลาเราอยากมองให้รู้ว่าอีกคนกำลังรู้สึกอะไร มีมุมมองความคิดกับเรื่องที่เรากำลังจะพูดด้วยอย่างไร และ ณ ตอนนั้นเค้ากำลังทำอะไร และเค้ามีความคาดหวังจากเราอย่างไร จะช่วยให้เรารู้ว่าเราจะเลือกคำพูดละเอียดอ่อนเบอร์ไหนมาสื่อสาร รู้ว่าจะใช้น้ำเสียงยังไง การไตร่ตรองทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราลดการทำร้ายจิตใจคนอื่นโดยไม่จำเป็น เช่น ในสถานการณ์ที่ออฟฟิสตอนเช้าที่ทุกคนเพิ่งฝ่ารถติดมาถึง เราเห็นเพื่อนร่วมงานที่กลับเข้ามาทำงานที่เดิมอีกครั้ง หลังจากไม่ได้เจอกันมาสองปี คำว่า “เฮ้ย หวัดดี ไปทำอะไรมาอ้วนจัง” ไม่น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะพูดแบบนี้คือเอานิสัยส่วนตัวเราเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้นในห้วงเวลาอันสั้นคุณอาจจะจินตนาการจากมุมของเขาก่อนว่า ความรู้สึก เค้าไม่ได้มาทำงานที่นี่นานแล้วอาจจะรู้สึกประหม่าและตื่นเต้นกับการทำงานวันแรก  เห็นได้จากแววตา ความคิด (สถานการณ์นี้เราอาจไม่รู้ว่าเค้าคิดอะไร) สิ่งที่ทำ เค้าเพิ่งเปิดประตูเข้ามาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและเป็นคนเริ่มทักทายเพื่อนคนอื่นในที่ทำงานทีละคน ความคาดหวัง จากสิ่งที่เขาทำ เขาน่าจะคาดหวังให้ทุกคนต้อนรับเค้ากลับมาที่นี่อย่างอบอุ่นและเป็นมิตร เพราะว่าเขากำลังทำสิ่งนั้นอยู่ นั่นคือการเดินเข้าไปหาและทักทายผู้คนก่อนอย่างให้เกียรติ

พอคิดมาถึงตรงนี้เราก็อยากจะเห็นว่าเขาน่าจะต้องการได้รับการต้อนรับอย่างให้เกียรติเพราะการมาทำงานวันแรกมันก็ไม่เคยง่ายแม้เป็นที่ทำงานเก่าก็ตาม แล้วเราก็จะสามารถเลือกคำที่ให้เกียรติในการต้อนรับเพื่อนร่วมงานเก่าได้ว่า “สวัสดี ไม่เจอกันนานเลย ยินดีต้อนรับนะ ดีใจที่ได้ร่วมงานกันอีกครั้ง”

แม้กระบวนการพยายามเห็นใจผู้อื่นนี้จะดูใช้เวลา แต่ถ้าเราฝึกทำสิ่งนี้บ่อย ๆ มันจะสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาอันสั้นเพียงแค่เราพยายามสังเกตและเคารพสิ่งที่เขาแบกมาให้ได้มากที่สุด

แต่มันก็มีในหลายสถานการณ์ที่เราก็อาจไม่สามารถรู้ได้ว่าเค้าเหล่านั้นแบกความรู้สึก ความคิด และความคาดหวังอะไร เราก็สามารถใช้คำถามปลายเปิดสั้น ๆ เพื่ออนุญาตให้เค้าได้ตอบผ่านคำพูดและภาษาร่างกายได้ เช่น ในสถานการณ์การที่เพื่อนรักกำลังผิดหวังจากงานที่ทำอยู่ เราสามารถถามเพื่อนอย่างอ่อนโยนได้ว่า

"แกคิดยังไงกับเรื่องที่งานล่ม” (ความคิด)“ก็คิดอยู่ว่าสิ่งที่ทำแล้วพลาดเกิดจากตัวชั้นเองหรือว่าเกิดจากอะไร”“แล้วแกรู้สึกยังไงถ้ามันเกิดขึ้นจากทั้งสองอย่างเลย” (ความรู้สึก)“ก็คงเสียใจว่าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานมันล่ม รู้สึกผิด เซ็ง”“ชั้นเห็นแกนั่งนิ่งไม่กินอะไรเลย อยากให้ชั้นsupportยังไงไหม(สิ่งที่ทำอยู่กับความคาดหวัง)“นี่ก็ช่วยมากแล้ว นั่งอยู่ด้วยกันนี่แหละ อยากใช้ความคิดเงียบ ๆ แบบมีคนอยู่เป็นเพื่อนแบบนี้แหละ”

บางทีการถามเพื่อรู้ก่อนโพล่งแนะนำและพร่ำสอนก็ทำให้เราสร้างบทสนทนาที่เป็นการเยียวยาจิตใจให้กับคนรอบตัวได้ การใส่ใจในสิ่งเหล่านี้เรียกว่าการสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นยาราคาถูกที่ช่วยอุ้มชูสุขภาพจิตของญาติมิตรและเพื่อนร่วมโลกได้เป็นอย่างดี
เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะเป็นมนุษย์สายโพล่ง สายลั่น สายสอน และสายแนะนำ อยากชวนให้ลองใคร่ครวญความรู้สึก ความคิด การกระทำ และความคาดหวังของอีกฝั่งก่อนที่จะตัดสินใจสื่อสารออกไป เพราะหลายครั้งความหวังดีแบบไม่เห็นใจก็อาจก่อให้เกิดการพังทลายของสุขภาพจิตใจเหมือนกัน 
 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0