โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คึกคักย้อนวันวานที่ “เขาดิน” ก่อนปิดตำนานสวนสัตว์แห่งแรกของไทย

Manager Online

อัพเดต 10 ส.ค. 2561 เวลา 07.41 น. • เผยแพร่ 10 ส.ค. 2561 เวลา 07.41 น. • MGR Online

Facebook :Travel @ Manager

"สวนสัตว์ดุสิต" หรือ “เขาดิน” สวนสัตว์หนึ่งเดียวที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ และอยู่คู่คนไทยมานานกว่า 80 ปี โดยในช่วงที่ผ่านมามีข่าวว่าจะมีการย้ายที่นี่ไปในสถานที่ใหม่ เหตุเพราะที่ตั้งเดิมเริ่มคับแคบ ซึ่งข่าวนี้ก็ได้มากระตุ้นกล่องความทรงจำของพวกเราหลายคน ให้อยากกลับไปย้อนวันวานเพื่อเป็นการอำลาสถานที่แห่งนี้

สำหรับข่าวการย้ายสวนสัตว์ดุสิตไปในสถานที่ใหม่นั้น ได้รับการยืนยันชัดเจนแล้วว่า จะย้ายไปอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่ บริเวณคลอง 6 ต.รังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยทางสวนสัตว์ดุสิตจะเปิดให้บริการจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 และจะเริ่มทยอยดำเนินการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกไปจัดแสดง ณ สวนสัตว์ต่างๆ ภายใต้การบริหารขององค์การสวนสัตว์ จำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี และสวนสัตว์ขอนแก่น โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ต่อประชาชนชาวไทยและชาวองค์การสวนสัตว์ ที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระราชทานโฉนดที่ดิน จำนวน 300 ไร่ ให้กับองค์การสวนสัตว์ เพื่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ โดยมีขนาดใหญ่กว่าสวนสัตว์ดุสิตเดิมถึง 3 เท่า ทำให้สัตว์มีพื้นที่ที่อยู่อย่างสบาย มีอากาศที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หากนับจากวันนี้ไปก็จะเหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงเดือนแล้ว ที่ทุกคนจะได้กลับไปย้อนวันวานเที่ยวชมสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิดกันที่นี่ และเมื่อเวลาของ “สวนสัตว์ดุสิต” เหลือน้อยลงเท่าใด ประชาชนก็ยิ่งหลั่งไหลกันมาเก็บความทรงจำที่นี่กันมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ที่นี่ในวันนี้กลับมามีชีวิต คึกคัก เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะกันอีกครั้งหนึ่ง มีทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มากันทั้งครอบครัว มากันเป็นกลุ่มเพื่อน หรือคณะนักเรียนที่ได้มาทัศนศึกษาหาความรู้กันที่นี่

อย่างคุณพิศุทธิ์ ศรีภา หนึ่งในคนที่ชอบแวะมาเที่ยวที่เขาดินแห่งนี้ ได้บอกถึงความรู้สึกที่ได้ทราบถึงข่าวที่นี่จะปิดตัวลงว่า “ความรู้สึกแรกที่ได้รู้ข่าวก็รู้สึกเสียดาย เพราะสถานที่นี่ถือเป็นที่เที่ยวที่ได้เห็นสัตว์ต่างๆ มากมาย ทั้งสัตว์ในประเทศและต่างประเทศ ในระยะใกล้ๆ อีกด้วย”

คุณพิศุทธิ์ยังเล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กต่อว่า “ที่แห่งนี้ยังเป็นทั้งที่เที่ยวที่ได้ทั้งความเพลิดเพลินและได้ความรู้ไปในตัว รวมถึงสถานที่นี้ยังอยู่ในทำเลที่ตั้งไม่ไกลบ้านมากนัก สามารถเดินทางได้สะดวก ทำให้ได้แวะมาเที่ยวชมที่นี่อยูบ่อยครั้ง แต่เนื่องจากปัจจุบันจำนวนสัตว์เพิ่มขึ้นและสัตว์มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น พื้นที่จึงคับแคบลง จึงเกิดความรู้สึกสงสารสัตว์เหล่านี้ และเห็นด้วยว่าควรย้ายไปยังสถานที่ใหม่เพื่อให้สัตว์มีที่อยู่ขนาดเพิ่มขึ้น”

จากการได้พูดคุยกับประชาชนที่มาเที่ยวชมสวนสัตว์ในวันนี้ต่างรู้สึกเห็นด้วยกับข่าวการย้ายสถานที่ครั้งนี้ อย่างคุณภัทรา หงษ์ทอง ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่เห็นด้วยกับข่าวนี้ โดยคุณภัทรา ได้เล่าว่า “ส่วนตัวแล้วไม่ได้มาเที่ยวที่เขาดินบ่อยเท่าไหร่ แต่เมื่อได้มาเห็นที่นี่ในปัจจุบันก็รู้สึกเห็นด้วยว่าควรย้ายไปอยู่ที่ใหม่ เพราะอย่างแรกเราต้องมองถึงสวัสดิภาพทางการเป็นอยู่ของสัตว์ที่นี่ เนื่องจากสภาพโดยรอบเขาดินไม่เหมาะกับให้สัตว์อยู่อาศัยแล้ว มันต่างจากในอดีตเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ที่บริเวณนี้ไม่ได้มีถนนตัดผ่านหรือมีที่อยู่อาศัยรายล้อมขนาดนี้ มันจึงเป็นการดีต่อสัตว์มากๆ เพราะที่ใหม่ที่จะย้ายไปมันมีพื้นที่มากขึ้น สัตว์จะได้อยู่สบายมากขึ้น”

สำหรับ “สวนสัตว์ดุสิต” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่พ.ศ.2438 ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงสวนแห่งนี้ให้กว้างขวางและดีกว่าที่เป็นอยู่ และเปิดให้ประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจด้วย จากนั้นทางเทศบาลนครกรุงเทพ ได้จัดการย้ายกวางดาวและสัตว์ชนิดต่างๆ มาจากสวนอัมพร และย้ายสัตว์บางชนิด เช่น จระเข้ ลิง จากสวนสราญรมย์มาไว้ที่นี่ และเมื่อปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต่างๆ เรียบร้อยแล้วจึงเปิดสวนดุสิตให้ประชาชนเที่ยวชม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2481 และให้เรียกสวนดุสิตนี้ว่า "สวนสัตว์ดุสิต" ซึ่งถือได้ว่าเป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย

และเมื่อซื้อบัตรเข้าผ่านประตูเข้ามาเรียบร้อยแล้ว ทางด้านขวามือจะเจอกับยีราฟชูคอยาวยืนต้อนรับทักทายแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน ใกล้กันจะมี ม้าลาย นกกระจอกเทศ และส่วนที่เรียกว่าเกาะนก ซึ่งเป็นกรงขนาดใหญ่มีนกกว่าร้อยชนิดมาให้เด็กๆ ส่องหากันอย่างสนุกสนาน

ต่อมาจะต้องไม่พลาดไปดูลิง ที่นี่มีมากมายหลายพันธุ์ด้วยกัน ทั้งลิงชิมแปนซี ลิงอุรังอุตัง ลิงแสม ฯลฯ และสัตว์เผ่าพันธุ์เดียวกับลิงอย่าง ชะนีแก้มขาว ชะนีมือขาว ชะนีมือดำ ค่างดำ ค่างเทา ค่างแว่นถิ่นใต้ จากนั้นจะถึงโซนของบรรดาเจ้าป่าต่างๆ ตั้งแต่สิงโต เสือโคร่ง เสือขาว เสือดาว เสือปลา เสือไฟ ฯลฯ จากนั้นจะเป็นส่วนที่เป็นขวัญใจเด็กๆ ก็คือหมีคนหรือหมีหมา ตัวอ้วนน่ากอด และอีกหนึ่งไฮไลท์ของการมาเที่ยวสวนสัตว์ดุสิตก็คือ “แม่มะลิ” ฮิปโปๆ ตัวโตที่มีอายุ 51 ปี ถือเป็นฮิปโปโปที่มีอายุยืนที่สุดในประเทศไทย เดินอุ้ยอ้ายอวดโฉมมาให้ชมความน่ารัก และยังเป็นขวัญใจนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยเสมอมา

ถัดมาจะเป็นส่วนของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ที่นี่มีอาคารแยกเป็นสัดส่วนโดยเฉพาะ อีกอย่างหนึ่งที่ไม่น่าพลาดก็คือ การชมการแสดงความสามารถของสัตว์ โดยมีการฝึกให้สัตว์ต่างๆ ได้แสดงความสามารถน่ารักๆ ให้คนได้ชมกัน อย่างเช่น การแสดงของแมวน้ำแสนรู้ ที่เรียกรอยยิ้มจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี

พักสายตาจากการชมบรรดาสิงสาราสัตว์ด้วยการแวะไปดูหลุมหลบภัยสาธารณะ หรือหลุมหลบลูกระเบิดที่สร้างไว้ตั้งแต่เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หรือจะแวะมานั่งพักผ่อนตากลมชมวิวกันบริเวณที่นั่งริมบึง ที่นี่ก็มีเรือถีบให้เช่าด้วย ถีบไปเรื่อยๆ สัมผัสบรรยากาศของความร่มรื่นรวมถึงสายน้ำนิ่งในบึงกว้างอีกด้วย

ทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 80 ปีที่ "เขาดิน" อยู่คู่คนไทย และอีกไม่นานก็จะต้องปิดตำนานลงแล้ว ใครที่อยากมาร่วมเก็บความทรงจำรำลึกบรรยากาศเก่าๆ ก่อนที่สวนสัตว์เขาดินจะย้ายไปสถานที่แห่งใหม่ สามารถมาได้จนถึงสิ้นเดือนนี้เท่านั้น (31 ส.ค. 61)

“สวนสัตว์ดุสิต” ตั้งอยู่บนถนนพระราม 5 เขตดุสิต กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ทุกวัน อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็กเล็ก-ปวช. 20 บาท ปวส.-มหาวิทยาลัย 50 บาท ข้าราชการในเครื่องแบบ 50 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ภิกษุ สามเณร และคนพิการ เข้าชมฟรี และจะเปิดให้ชมถึงวันที่ 31 ส.ค. นี้เท่านั้น สอบถามโทร.0-2281-2000

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0