โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คิมบ้าหรือซิมบ้า? ว่าด้วยประเด็นสองจ้าวป่าที่สุดท้ายแล้วอาจไม่มีใครลอกใคร

The MATTER

เผยแพร่ 17 ก.ค. 2562 เวลา 13.09 น. • Rave

นี่คือเรื่องราวของลูกสิงโตผู้พลัดพรากจากถิ่นกำเนิด เดินทางออกห่างจากเส้นทางของบิดาผู้เป็นราชาของปวงสรรพสัตว์ ลูกสิงโตน้อยจำต้องไปเติบโตในแดนไกล ห่างเหินจากพวกพ้องเดิม แต่ก็ยังโชคดีที่ได้เจอเพื่อนใหม่ ทำให้ลูกสิงโตน้อยค่อยๆ เติบโตขึ้น และกลายเป็นสิงโตผู้สง่ามงาม จนกระทั่งวันหนึ่ง โชคชะตาได้ชักจูงให้สิงโตหนุ่มต้องเดินทางสู่ถิ่นกำเนิด และในที่สุดสิงโตหนุ่มก็ผ่านอุปสรรค จนกลายเป็นราชาของป่าตัวใหม่ไป

ทั้งหมดที่เล่าไปนั้น หลายท่านน่าจะนึกถึงพล็อตโดยคร่าวของภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง 'Lion King' ที่กำลังมีฉบับจัดทำใหม่เข้าฉายในปีค.ศ. 2019 แต่ในขณะเดียวกัน ท่านที่ติดตามมังงะและอนิเมะรุ่นคลาสสิก อาจจะไปนึกถึงเรื่อง 'Kimba The White Lion' แทน

และหลายท่าน น่าจะพอเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า Kimba The White Lion นั้น ฉบับมังงะเขียนมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1950 ก่อนจะถูกสร้างเป็นอนิเมะฉบับแรกในปีค.ศ. 1965 เป็นเวลากว่า 29 ปี ก่อนที่ The Lion King จะออกฉายในปีค.ศ. 1994

"แบบนี้ก็ฟันธงได้เลยว่า Disney ลอก" หลายท่านน่าจะคิดเช่นนี้ หรือแม้แต่ผู้เขียนเอง ครั้งหนึ่งก็เคยเห็นพ้องกับประเด็นนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เรามองว่าเรื่องนี้อาจจะไม่สามารถสรุปได้ด้วยการด่วนตัดสินมองแค่โครงสร้างเรื่อง และยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ก็ทำให้เราพอจะพบหลักฐานเพิ่มเติม หรือการแสดงความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ดังนั้นเราคิดว่านี่เป็นโอกาสอันดี ที่จะกลับไปมองเรื่องนี้กันอีกครั้ง

เรื่องราวของ สิงห์น้อยจ้าวป่า ที่วุ่นวายและซับซ้อนไม่น้อย

ภาพจาก - https://www.mebmarket.com
ภาพจาก - https://www.mebmarket.com

ภาพจาก - https://www.mebmarket.com

สิงห์น้อยจ้าวป่า หรือที่ใช้ชื่อญี่ปุ่นว่า 'Jungle Taitei' (จักรพรรดิป่า - Jungle Emperor) ว่ากันโดยโครงเรื่อง มังงะของอาจารย์เทะสึกะ โอซามุ จะเล่าเรื่องราวของ เลโอ ลูกสิงโตเผือก ที่มีพ่อชื่อ ปัญจะ กับ เอลิซ่า ราชาและราชินีของผืนป่าแอฟริกาที่คอยปกป้องสรรพสัตว์จากภัยอันตรายต่างๆ เช่น การล่าของเหล่ามนุษย์ ทว่า เลโอ นั้นถูกคลอดหลังจากที่เอลิซ่าถูกมนุษย์จับ และปัญจะถูกยิงจนเสียชีวิต ทำให้ เลโอ ต้องเดินทางอยู่บนท้องทะเล จนกระทั่งมีคนมารับเลี้ยง สิงห์ใหญ่ในผืนป่าจึงแปรผันกลายเป็นสิงห์ใหญ่ที่มีมนุษย์รับเลี้ยง และทำให้เลโอสามารถพูดภาษาของมนุษย์ได้ในเวลาต่อมา

ภาพจาก - https://www.vox.com

จนกระทั่งวันหนึ่งกลุ่มมนุษย์ที่เคยล่าปัญจะพ่อของเลโอพบว่า บ้านเกิดของเลโอ มีมูนไลท์สโตน แร่ธาตุสำคัญสำหรับนักวิชาการที่กำลังทำความเข้าใจการแยกตัวของเปลือกโลก เลยทำให้ เลโอ ได้ร่วมเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดอีกครั้ง แล้วก็เกิดเหตุวุ่นวายมากมายที่ทำให้เลโอกลายเป็นเจ้าป่าอีกครั้ง ทั้งยังได้ครองคู่กับ ไลย่า สิงโตสาว จนมีลูกแฝดชื่อ ลูเน่ กับ ลูคิโอ ที่ภายหลัง ลูเน่ นั้นหนีออกจากป่าไปอาศัยอยู่ในเมืองมนุษย์ ส่วน เลโอ ก็ปกครองป่าจนสงบ แม้ว่าจะเอาอิทธิพลจากเมืองมนุษย์มาทำให้สัตว์ป่าส่วนหนึ่งชื่นชอบ แต่อีกส่วนก็รังเกียจ และสุดท้าย เลโอ ก็เดินทางร่วมกับคณะเดินทางของมนุษย์ไปยังพื้นที่ด้านในของแอฟริกาที่เป็นจุดกำเนิดของ มูนไลท์สโตน การเดินทางครั้งนี้ยากลำบาก ทำให้ เลโอ ต้องตาบอด แต่สุดท้ายคณะเดินทางก็พิชิตยอดเขาที่พวกเขาต้องการไปได้ ทว่าในการเดินทางกลับมานั้น มนุษย์ที่เดินทางสำรวจเสียชีวิตไปเกือบทั้งหมด เหลือเพียงแค่ เลโอ กับ ลุงหนวด ที่เคยดูแลเจ้าป่าตอนวัยเด็ก ซึ่ง เลโอ ก็ยอมสละชีพตัวเอง จนทำให้ลุงหนวดรอดชีวิตมาพบกับ ลูเน่ ลูกชายที่เดินทางกลับมาจากการอยู่เมืองมนุษย์มารับช่วงเป็นเจ้าป่าต่อจากผู้พ่อ และเรื่องราวทั้งหมดก็จบลง ณ ที่นี้

เรื่องราวของฉบับมังงะที่กล่าวถึงนั้น อาจารย์เทะสึกิ โอซามุ ได้ระบุไว้ในช่วงปัจฉิมลิขิตของมังงะเล่มสุดท้ายว่า ทั้งหมดที่อ่านมานั้น เป็นมังงะฉบับที่ 'เขียนใหม่' ขึ้นมาในภายหลัง เนื่องจากตัวต้นฉบับแรกสุดสูญหายในยุคที่ อาจารย์เทะสึกะ เปิด มุชิโปร บริษัทสร้างอนิเมะ และทางบริษัทอนุญาตให้ พนักงานยืมต้นฉบับไปอ่านเพื่อศึกษาสไตล์ของงานได้ โชคไม่ดี พนักงานท่านหนึ่งได้ยืมต้นฉบับของเรื่องนี้ กลับเสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน และต้นฉบับนั้นก็หายสาปสูญไป ทำให้อาจารย์เทะสึกะกับทีมงานต้องเขียนเนื้อเรื่อง 2 ใน 3 ขึ้นมาใหม่

แม้ว่าตัวอาจารย์เทะสึกะเองจะรำพึงว่า ต้นฉบับที่วาดใหม่นั้นแตกต่างจากเดิมอยู่มาก ที่ยังพอเป็นเรื่องดีก็คือ ตัวมังงะฉบับที่หาอ่านได้ในปัจจุบันนี้ มีการปรับเอารายละเอียดเมื่อครั้งที่ถูกสร้างเป็นอนิเมะเมื่อปีค.ศ. 1965 และ ปีค.ศ. 1966 เข้ามาด้วย

ภาพยนตร์ Jungle Taitei ฉบับปี 1997 / ภาพจาก - https://alchetron.com/Jungle-Emperor-Leo
ภาพยนตร์ Jungle Taitei ฉบับปี 1997 / ภาพจาก - https://alchetron.com/Jungle-Emperor-Leo

ภาพยนตร์ Jungle Taitei ฉบับปี 1997 / ภาพจาก - https://alchetron.com/Jungle-Emperor-Leo

เวลาผ่านไปหลายปี สิงห์น้อยจ้าวป่า ถูกนำกลับมาสร้างเป็นอนิเมะอีกครั้ง ซึ่งมีแผนสร้างขึ้นในปีค.ศ. 1988 และมีการวางแผนให้เนื้อเรื่องของฉบับรีเมคแตกต่างไปจากฉบับเดิมอยู่บ้าง กับจะมีการสร้างภาพยนตร์ด้วยเทคนิคสมัยใหม่ แต่ก็มีเหตุไม่คาดฝันก่อนที่อนิเมะจะออกฉายในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1989 เมื่ออาจารย์เทะสึกะ โอซามุ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปีนั้น ตัวภาพยนตร์ที่มีการวางแผนการสร้างขั้นต้นจึงถูกเลื่อนการสร้างไปจนถึงปีค.ศ. 1997 และอนิเมะของสิงห์น้อยจ้าวป่าก็หายไปจากคนดูจนถึงปีค.ศ. 2007 ที่เป็นภาพยนตร์สำหรับฉายทางโทรทัศน์ซึ่งตีความพล็อตให้แตกต่างจากเดิม

ก่อนจะเป็น Lion King

เหตุการณ์เริ่มต้นในปีค.ศ. 1988 ทีมงานของ Disney Animation เริ่มถกกัน หรือถ้าระบุให้ชัดขึ้นก็คือ ปีเตอร์ ชไนเดอร์ (Peter Schneider) ประธานของ Disney ในขณะนั้น เคยให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาเริ่มคิดเรื่องนี้ระหว่างเดินทางบนเครื่องบิน โดยใช้วรรณกรรมคลาสสิคเป็นแรงบันดาลใจเรื่องหนึ่งก็คือ แฮมเลต (Hamlet) ที่เล่าเรื่องเจ้าชายเดนมาร์กที่หาทางชำระแค้นกับราชาที่เป็นลุง ซึ่งเขาทราบว่าเป็นผู้สังหารพ่อของตัวเขาเอง หนำซ้ำยังแต่งงานกับแม่ของเขาอีก ส่วนอีกเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจก็คือเรื่องของ โมเสส (Moses) ตามพระคัมภีร์คริสตชน ที่ต้องโดนขับไล่และออกตามหาตัวเองจนพบเจอในที่สุด

ภาพร่างในช่วงที่ The Lion King ยัง เป็น The King Of The Jungle ที่ลิงบาบูนยังเป็นตัวร้าย / ภาพจาก - https://lionking.fandom.com
ภาพร่างในช่วงที่ The Lion King ยัง เป็น The King Of The Jungle ที่ลิงบาบูนยังเป็นตัวร้าย / ภาพจาก - https://lionking.fandom.com

ภาพร่างในช่วงที่ The Lion King ยัง เป็น The King Of The Jungle ที่ลิงบาบูนยังเป็นตัวร้าย / ภาพจาก - https://lionking.fandom.com

ซึ่งในเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์ The Lion King ก็มีทีมงานหลายคนที่ระบุว่า พวกเขาเคยเรียกบทร่างภาพยนตร์ว่า Bamblet เพราะเป็นเรื่องราวของสัตว์พูดได้ อย่าง Bambi ที่เอามาผสมการทวงอำนาจแบบ Hamlet นั่นเอง ทำให้ดราฟท์บทช่วงแรกๆ นั้นมีความละม้ายกับวรรณกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจ แต่เมื่อมีการพัฒนาบทในช่วงปีค.ศ. 1990-1993 เรื่องราวก็มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก นับตั้งแต่ชื่อเรื่องชั่วคราว ที่เคยใช้ชื่อว่า The King Of The Beasts แล้วก็เป็น The King Of The Jungle ก่อนจะปรับมาใช้ชื่อ The Lion King แบบที่คนดูคุ้นเคยกัน

ภาพจาก - https://www.iamag.co/
ภาพจาก - https://www.iamag.co/

ภาพจาก - https://www.iamag.co/

ในช่วงแรกของการพัฒนาภาพยนตร์ จอร์จ สคริบเนอร์ (George Scribner) มารับหน้าที่เป็นผู้กำกับหลัก ก่อนจะได้ โรเจอร์ อัลเลอร์ส (Roger Allers) มาร่วมเป็นผู้กำกับในปีค.ศ. 1991 ทิศทางการสร้างหนังในตอนแรกนั้น ตัว จอร์จ สคริบเนอร์ อยากจะให้เป็นการเล่าในสไตล์สารคดีสัตว์ป่า แต่ก็มีการตัดสินใจสร้างภาพยนตร์ให้เป็นแนวมิวสิคัลขึ้นระหว่างทาง จอร์จ จึงขอถอนตัวออกจากภาพยนตร์ ก่อนที่ ร็อบ มินคอฟฟ์ (Rob Minkoff) จะมาเป็นผู้กำกับร่วมแทนในเวลาต่อมา

ภาพจาก - https://www.iamag.co/
ภาพจาก - https://www.iamag.co/

ภาพจาก - https://www.iamag.co/

เรื่องราวในช่วงแรกนั้นยังเป็นสงครามระหว่าง สิงโต กับ ลิงบาบูน ทีมีไฮยีน่าเป็นพวกพ้อง และมี สการ์ (Scar) เป็นหัวหน้าที่บงการอยู่เบื้องหลัง ตัวละครหลายตัวก็เป็นสัตว์ประเภทอื่น รวมถึงมีการตัดบทบางส่วนออก เช่น การที่ สการ์ พยายามจะจีบแม่ของซิมบ้า และพยายามจีบนาล่า การปรับแก้เพลงใหม่ อย่างเช่น ตัวเพลง Circle Of Life ที่ทำออกมาในเวอร์ชั่นสุดท้าย ทำให้มีการแก้ไขฉากเปิดใหม่ให้เข้ากับเพลงมากขึ้น จากเดิมทีที่จะทำฉากเปิดให้เป็นฉากเงียบไม่มีบทพูด Hakuna Matata เองก็เป็นเพลงที่มาปรับแก้ทีหลัง เพราะเดิมทีเพลงจะเล่าเรื่องกินแมลงแบบเต็มๆ ซึ่งดูชวนยี้ไปหน่อยสำหรับคนดูหลายคน ก่อนจะลงเอยกลับมาเป็นพล็อตที่ The Lion King ใช้งานจริงในภาพยนตร์ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1994 และกลายเป็นเรื่องราวที่หลายคนนั้นรักแล้วก็คุ้นเคยกันอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ทว่า…

ดราม่าใหญ่ที่อาจจะมีจุดเริ่มต้นจากคำโกหกเล็กๆ

เพราะความที่มีสิงโตเป็นตัวเอกเหมือนกัน และมีเรื่องการกลับมาทวงคืนตำแหน่งเจ้าป่าใกล้ๆ กัน เมื่อ The Lion King ออกฉายในปีค.ศ. 1994 ผู้ชมกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะในอเมริกา หรือ ญี่ปุ่นเอง ต่างรู้สึกได้ในวูบแรกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความละม้ายคล้ายกับ สิงห์น้อยจ้าวป่า อย่างมาก

Matthew Broderick ผู้พากย์ Simba ตอนเป็นผู้ใหญ่ ในภาพยนตร์ The Lion King ฉบับปี 1994 / ภาพจาก - https://www.popsugar.com
Matthew Broderick ผู้พากย์ Simba ตอนเป็นผู้ใหญ่ ในภาพยนตร์ The Lion King ฉบับปี 1994 / ภาพจาก - https://www.popsugar.com

Matthew Broderick ผู้พากย์ Simba ตอนเป็นผู้ใหญ่ ในภาพยนตร์ The Lion King ฉบับปี 1994 / ภาพจาก - https://www.popsugar.com

เหตุที่ชาวอเมริกาเองก็รู้สึกแปลกใจเช่นเดียวกับทางญี่ปุ่น ก็เพราะตัว Kimba The Whilte Lion เคยออกฉายในอเมริกาเมื่อปีค.ศ. 1966 นั่นเอง ความจริงแล้วทีมงานหลายๆ คน ของทาง The Lion King เองก็รู้สึกเหมือนกันว่า งานที่พวกเขาทำอยู่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับ Kimba The Whilte Lion ตัวอย่างเช่น แมทธิว โบรเดริค (Matthew Broderick) ผู้ให้เสียง ซิมบ้า ตอนผู้ใหญ่ ก็เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายเจ้าว่า เจ้าตัวจะได้รับบทในฐานะ คิมบ้า ไม่ใช่ ซิมบ้า

อนิเมเตอร์หลายๆ คนที่ทำงานกับภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน ก็น้อมรับว่าในช่วงหนึ่ง The Lion King มีส่วนร่วมกับ Kimba The White Lion จริง ยกตัวอย่างเช่น ทอม สิโต (Tom Sito), มาร์ค คอสเลอร์ (Mark Kausler), ซาดาโอ มิยาโมโตะ (Sadao Miyamoto), ฌอน เคลเลอร์ (Sean Keller) (โดยเฉพาะสองท่านแรกที่ถือว่ามีส่วนในการแต่งเรื่องด้วย)

ภาพจาก - D23.com
ภาพจาก - D23.com

ภาพจาก - D23.com

และอีกบุคคลที่ช่วยยืนยันว่าเดิมที The Lion King นั้นเกี่ยวข้องกับ Kimba The White Lion ก็คือ รอย อี. ดิสนีย์ (Roy E. Disney - ลูกชายของ Roy O. Disney ที่เป็นน้องชายของ Walt Disney) ที่เคยเขียนจดหมายตอบโต้กับสมาชิกเมื่อปีค.ศ. 1993 ไว้ดังนี้

'จิล คุณถามว่าทางเรา มีตัวละคร 'แม่ที่น่ารัก' ในภาพยนตร์อนิเมชั่นของทางดิสนีย์บ้างหรือไม่ รอชม 'The Lion King' ในฤดูร้อนปีหน้า แม่ของคิมบ้า นั้นเป็นตัวละครที่น่ารักทีเดียว' (Jill, you asked whether we had any "nice motherly figures" in Disney's animated future. Wait until you see next summer's "The Lion King," and Kimba's mother. She's quite lovely.)

ภาพจาก - https://tezuka.co.jp/
ภาพจาก - https://tezuka.co.jp/

ภาพจาก - https://tezuka.co.jp/

กระนั้นถ้าอ่านข่าวย้อนไปในช่วงที่ดราม่านี้เริ่มต้นขึ้น มัตสึทานิ ทาคายูกิ (Matsutani Takayuki) ประธาน เทะสึกะโปรดักชั่น (Tezuka Production) ก็ยังเคยออกมาให้สัมภาษณ์ 'ถ้า Disney ได้รับแรงบันดาลส่วนหนึ่งจากอาจารย์เทะสึกะ โอซามุ ผู้ก่อตั้งเทะสึกะโปรดักชั่นที่เสียชีวิตไปจริง อาจาจารย์เทะสึกะคงดีใจอย่างมากแน่ๆ แต่เมื่อดูหนังทั้งเรื่องแล้ว พวกเราคิดว่า 'Lion King' เป็นคนละเรื่องกับ 'สิงห์น้อยจ้าวป่า' และถือว่าเป็นผลงานออริจินัลของทาง Disney' (If Disney took hints from the 'Jungle Emperor' our founder, the late Osamu Tezuka, would be very pleased by it. On the whole, we think 'Lion King' is absolutely different from 'Jungle Emperor' and is Disney's original work.)

กลายเป็นว่า ณ ตอนช่วงแรกๆ นั้น ทางเทะสึกะโปรดักชั่นเอง ไม่ได้ขุ่นเคืองใจอะไรเสียด้วย  ถ้าเช่นนั้นอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้มีการประท้วงอย่างชัดเจนระดับที่ผู้เขียนมังงะและอนิเมเตอร์ในประเทศญี่ปุ่นกว่า 488 คน ทำการรวมชื่อเพื่อประท้วงการกระทำของทาง Disney ที่ทำตัวเหมือนกับว่า สิงห์น้อยจ้าวป่า ไม่มีตัวตนบนโลก

สิ่งที่ทำให้เกิดดราม่าอย่างสมบูรณ์ ก็คงไม่มีอะไรมากกว่า การโฆษณาและการออกตัวผ่านสื่อว่า 'Lion King เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกที่ทาง Disney เป็นผู้สร้างเนื้อเรื่องออริจินัลทั้งหมดเอง' และทาง เทะสึกะโปรดักชั่น ก็ไม่ได้ตัดสินใจทำการฟ้องร้องใดๆ  โดยแหล่งข่าวหลายแห่งระบุว่า เพราะทาง เทะสึกะโปรดักชั่น เป็นบริษัทที่เล็กกว่าทาง Disney อยู่มาก

ถ้าการ PR นั้นทำให้เรื่องแย่ไม่มากพอ ต่อมาในปีค.ศ. 1997 เมื่อทางญี่ปุ่นสร้างภาพยนตร์สิงห์น้อยเวอร์ชั่นป่าจนเสร็จสิ้น และ Julian Grant ได้ตัดสินนำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปฉายในอเมริกา ทาง Disney ได้ส่งทีมกฎหมายให้ยุติการฉายและระบุว่าภาพยนตร์ทำการลอกเรื่องราวของ The Lion King มา ก่อนที่จะมีการถอนฟ้องไปในภายหลัง

ภาพจาก - Amazon.com
ภาพจาก - Amazon.com

ภาพจาก - Amazon.com

นอกจากนี้หลังจาก The Lion King เข้าฉาย ก็มีการออก DVD ของ สิงห์น้อยจ้าวป่า ในอเมริกาด้วยชื่อใหม่ ที่ประชดประชันทาง Disney อีกด้วย

ถ้าแบบนี้หมายความว่า Disney ลอกงานมาจริงอย่างนั้นหรือ ?

Disney กับ Osamu และเหตุผลอื่นๆ ที่พัฒนามาเป็นดราม่าสำหรับบุคคลภายนอก

ภาพจาก - https://commons.wikimedia.org/
ภาพจาก - https://commons.wikimedia.org/

ภาพเจ้าปัญหาที่มักถูกยกมาอ้างอิงว่าเป็น 'การลอกงาน' ของทาง Disney / ภาพจาก - https://commons.wikimedia.org/

ถ้าย้อนกลับไปดูเรื่องย่อของฉบับมังงะ ที่เรากล่าวถึงในช่วงแรกของบทความนั้น ถ้านับเฉพาะโครงเรื่องโดยย่อจะพบว่า เรื่องของ สิงห์น้อยจ้าวป่า นั้น ไม่ได้มีอะไรตรงกับเนื้อเรื่องหลักของ Lion King มากนัก เพราะฝั่ง Disney ไม่ได้ใส่ตัวละครมนุษย์เข้าไปในเรื่องเลย ต่างกับงานของอาจารย์เทะสึกะ โอซามุ ที่มีองค์ประกอบของเรื่องที่มีความเหนือจริง อย่างการที่ เลโอ สามารถพูดคุยภาษามนุษย์ได้

จุดที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดของเรื่อง ก็คงจะเป็นช่วงองก์ที่สองของตัวมังงะและอนิเมะ จะมีสิงโตแผงคอดำที่ชื่อ บูบู้ ตาเดียว เป็นตัวร้ายลักษณะคล้ายๆ กับ Scar ของทาง Lion King ก็ตามที แต่ถ้าลงรายละเอียดลงไปแล้ว ตัว บูบู้ นั้นเป็นตัวละครสมทบในฉบับมังงะ แต่ในอนิเมะนั้นมีการขยายบทให้ บูบู้ มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น แถมตัวบูบู้นั้นในต้นฉบับไม่ได้เป็นคน

และถ้าดูจากเรื่องราวในต้นฉบับจะพบว่า สิงโตขาว ที่เป็นตัวเอกของเรื่องนั้นถูกตั้งชื่อว่า เลโอ (Leo) แต่ที่มีการเปลี่ยนเป็น คิมบ้า (Kimba) ก็มีผลมาจากเฟร็ด แลดด์ (Fred Ladd) ผู้นำอนิเมะญี่ปุ่นเข้าไปฉายในอเมริกา ได้เกิดความกลัวขึ้นมาว่า ถ้าใช้ชื่อ เลโอ แบบตรงๆ นั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหากับสิงโตของทาง MGM ที่ใช้ชื่อ เลโอ เหมือนกัน (เลโอ ตัวที่ว่านี่คือสิงโตตัวแรกที่มาร้องโฮกใส่หน้าจอของค่ายหนัง MGM นั่นล่ะครับ) เลยมีการเลี่ยงบาลีไปใช้ชื่อ คิมบ้า ที่เป็นภาษาสวาฮิลี ซึ่งแปลว่าสิงโตแทน และส่งผลให้ตัวละครอื่นๆ อีกหลายตัวต้องโดนปรับชื่อตาม อย่าง บูบู้ ตาเดียว จึงโดนเปลี่ยนชื่อเป็น คลอว์ (Claw) แทน อีกส่วนที่น่าพูดถึงก็คงจะเป็นตัวละครลิงบาบูน บรัสซ่า (Burazza) เป็นตัวละครที่มีเฉพาะในฉบับอนิเมะเท่านั้น ไม่ได้มีในตัวมังงะต้นฉบับแต่อย่างไร

และหลายๆ ครั้งที่มีการถกกัน มักจะมีการหยิบยกเอาภาพร่างชุดแรกของทาง Disney ที่มี ลูกเสือสีขาวอยู่ในภาพมาเป็นการอ้างอิง กระนั้นถ้าย้อนไปดูแล้ว ภาพดังกล่าวเป็นหนึ่งในภาพร่างที่ใช้ในการพรีเซนต์เบื้องหลังภาพยนตร์ The Lion King ที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่ภาพเดียวแต่มีนับกว่าสิบ กว่าร้อยภาพ

และการจะยกภาพเพียงไม่กี่ภาพแล้วมาฟันธงว่า 'นี่คือการลอก' ก็คงจะไม่แฟร์เท่าใดนัก แต่การที่ Disney กับทีมงานสร้างเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะหนึ่งในผู้กำกับ โรเจอร์ อัลเลอร์ส ที่เคยทำงานในประเทศญี่ปุ่น ไม่เคยออกมายอมรับโดยตรงว่า 'รู้จัก Kimba The White Lion' เลยทำให้ดราม่าออกทะยานไกลมาจนถึงทุกวันนี้

กระนั้น… ถ้าตั้งคำถามใหม่อีกครั้งว่า

'ถ้า The Lion King ไม่ได้ลอก แล้ว The Lion King เป็นอะไรกับ Kimba The White Lion'

เราอาจจะต้องคุยกันต่ออีกเล็กน้อย

ย้อนไปในช่วงปีค.ศ. 1980 ณ ตอนนั้นอาจารย์เทะสึกะ โอซามุ ได้เดินทางไปประเทศอเมริกาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในเดือนเมษายนปีค.ศ. 1980 ที่ล่ามของอาจารย์เทะสึกะระบุว่าได้พาอาจารย์ไปสตูดิโออนิเมชั่นของทาง Disney ที่ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนียมาด้วย และด้วยความสัมพันธ์ของอาจารย์เทะสึกะ ที่มองวอลต์ ดิสนีย์ เป็นแรงบันดาลใจ

ภาพจาก - http://www.tcj.com/tezuka-osamu-the-rectification-of-mickey/
ภาพจาก - http://www.tcj.com/tezuka-osamu-the-rectification-of-mickey/

ภาพจาก - http://www.tcj.com/tezuka-osamu-the-rectification-of-mickey/

ตัวอาจารย์เคยให้สัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้งว่า ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Bambi ของทาง Disney (บางข้อมูลระบุว่าอาจารย์เทะสึกะดูหนังเรื่องนี้มากกว่า 80 ครั้ง แต่บางสื่อก็ระบุว่าดูไปมากกว่า 100 ครั้ง) นั้นเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของอาจารย์ที่ทำให้อาจารย์อยากจะเล่าเรื่องของสัตว์ป่าที่มีสติสัมปชัญญะทั้งยังพูดคุยได้แบบมนุษย์ จนกลายเป็นผลต่อการเขียน สิงห์น้อยจ้าวป่า กับมังงะอีกหลายเรื่องที่มีสัตว์เป็นตัวละครเด่น

และความติ่งในตัว วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ของอาจารย์เทะสึกะก็มีมากพอระดับที่อาจารย์ตัดสินใจเดินทางไปกระทบไหล่ในงาน New York World's Fair 1964 และในงานนั้น วอลต์ ดิสนีย์เองก็ชื่นชมมังงะ 'เจ้าหนูปรมาณู' ของอาจารย์เทะสึกะอีกด้วย และหวังว่านักเขียนมังงะชาวญี่ปุ่นจะสร้างผลงานแบบนี้ต่อไป และอาจารย์เทะสึกะก็ได้ขอซื้อลิขสิทธิ์จาก Disney และเป็นผู้วาด Bambi หรือแม้แต่การเขียน Mickey Mouse ลงในมังงะของตัวเองในภายหลัง

ดังนั้นจึงมีทฤษฏีหนึ่งที่เชื่อว่า ในช่วงปีค.ศ. 1980 ทาง Disney กับอาจารย์เทะสึกะ อาจจะเริ่มพูดคุยในการสร้างภาพยนตร์ร่วมกัน ด้วยเหตุที่ว่า ตัว เทะสึกะ โอซามุ เองก็มีประสบการณ์การสร้างอนิเมชั่นอยู่ไม่น้อย และถ้าย้อนไปในช่วงปีค.ศ. 1980 ภาพยนตร์อนิเมชั่นของทาง Disney ยังอยู่ในช่วงที่ตกต่ำ ทางบริษัทต้องการที่จะสร้างชื่ออีกครั้งด้วยการนำเอาวรรณกรรมที่โด่งดังอยู่แล้วมาบอกเล่าใหม่ ซึ่งแผนงานดังกล่าวนี้นำพาไปสู่การสร้าง The Little Mermaid (1989), Beauty and the Beast (1991), Aladdin (1992) ฯลฯ จนถูกเรียกชื่อยุคสมัยนี้ในภายหลังว่า ดิสนีย์เรเนซองส์ (Disney Renaissance)

ดังนั้นมีความเป็นไปได้ไม่น้อย เมื่อผู้บริหารของทาง Disney เกิดปิ๊งไอเดียอยากจะสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่เล่าเรื่องสัตว์ป่าในแอฟริกาเมื่อปีค.ศ. 1988 โดยจะอ้างอิงจาก Kimba The White Lion เช่นเดียวกับงานเรื่องอื่นๆ ในยุคดิสนีย์เรเนซองส์ที่อ้างอิงจากวรรณกรรมหรือนิทานยุคเก่าก่อนหน้านี้ แต่ด้วยการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของอาจารย์เทะสึกะในปีค.ศ. 1989 ซึ่งขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์ยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้นแบบเต็มรูปแบบ กอปรกับเหตุผลอื่นๆ อีกมากมายในขั้นตอนการสร้างที่ทำให้พล็อตเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ทีมงานสร้างส่วนที่เข้ามาทำงานในช่วงหลัง ไม่ทราบว่าแผนงานนี้เดิมทีเป็นอย่างไร

แต่สุดท้ายที่เราพอจะบอกได้ก็คือ ทั้ง สิงห์น้อยจ้าวป่า / Kimba The White Lion และ The Lion King ต่างก็กลายเป็นผลงานที่โดดเด่นด้วยตัวเอง โดยมีจุดร่วมกันที่ชัดเจนที่สุดก็คือการเป็นอนิเมชั่นที่บอกเล่าชีวิตของสัตว์ที่อยู่บนโลกใบนี้

และถ้ามองผลงานของทั้งทางฝั่ง วอลต์ ดิสนีย์ และ เทะสึกะ โอซามุ นั้นเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานในอุตสาหกรรมการ์ตูนจำนวนมาก จึงไม่แปลกนักที่วงจรความคิดของเหล่าผู้คนที่เชื่อมโยงด้วยการ์ตูนจะกลายเป็นงานที่มีบางส่วนชวนระลึกถึงต่อกันและกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็คงเป็น วงเวียนชีวิต ของผู้รักการ์ตูนทุกคนนั่นเอง

อ้างอิงข้อมูลจาก

Yesterworld Entertainment

Jon Solo

Huffington Post

Mental Floss

Iamag.co

AP News

Baltimore Sun

UPI

Kimba The White Lion: Kimba W. Lion's Corner of the Web

Facebook: Julian Grant

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0