โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"คิกออฟ" การเมืองท้องถิ่น "พรรคอนาคตใหม่" เปิด "กติกา" การคัดสรร ฟัง "ธนาธร-ปิยบุตร" ชี้แจง

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 20 ก.ค. 2562 เวลา 22.21 น. • เผยแพร่ 20 ก.ค. 2562 เวลา 22.21 น.
ในประเทศ 2031

จังหวะก้าว “พรรคอนาคตใหม่” ต่อไป ประกอบด้วย 3 ภารกิจ คือ 1.งานในสภาผู้แทนราษฎร 2.งานสร้างพรรคการเมือง และ 3.การเลือกตั้งท้องถิ่น

ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอื่น ทำให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีเวลาเดินทางไปรับฟังปัญหาพี่น้องประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องท้องถิ่นมากขึ้น

ไล่เรียงตามลำดับเวลาการเดินทางตั้งแต่ จ.ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, ตราด, ระยอง, จันทบุรี, อุดรธานี, เลย, เชียงราย, เชียงใหม่ และล่าสุดคือ จ.ขอนแก่น

แต่ละที่ที่ไป นอกจากประชาชนซึ่งมารอต้อนรับ เข้าร่วมกิจกรรมที่ทางพรรคจัดแล้ว ยังมีนักการเมืองท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมากเข้ามาหา เพื่อสอบถามถึงข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงเสนอตัวที่จะขอสมัครเป็นผู้ลงแข่งขันการเมืองท้องถิ่นในนาม “พรรคอนาคตใหม่”

ทั้งธนาธร, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค, ชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรค รวมถึงแกนนำคนอื่นๆ ต้องชี้แจงทำความเข้าใจ

เพราะบางพื้นที่ไม่ใช่แค่นักการเมืองท้องถิ่นเฉพาะจังหวัดนั้นๆ หากแต่เป็นหลายจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ ต่างพุ่งเข้าหา และหวังเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วม “เขย่าการเมืองท้องถิ่น”

จึงต้องมีการชี้แจงระเบียบกติกาให้ชัดเจน

 

กติกา “อนาคตใหม่”
ตัวแทนพรรคร่วม “เขย่าท้องถิ่น”

ด้วยเหตุแห่งคำถามที่มีมากมาย รวมถึงการที่นักการเมืองท้องถิ่นเข้าหาแสดงตัวพร้อมเพรียงนี่เอง

ปิยบุตร ในฐานะประธานกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นพรรคอนาคตใหม่ จึงต้องออกประกาศชี้แจง

ถือเป็น “กติการ่วมกัน” เพื่อความ “เข้าใจตรงกัน” ลดการที่ธนาธร ปิยบุตร ชำนาญ หรือแกนนำพรรคคนอื่นๆ ต้องอธิบาย

สาระสำคัญของ “กติกา” มีหลายจุดน่าสนใจ อาทิ ในส่วนของวิธีการรับสมัคร ผู้สมัครจะต้องสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นคณะ นั่นคือ คณะผู้บริหาร อบจ. ได้แก่ นายก และรองนายก ตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่ ส.จ. ต้องเป็นทีมไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของ ส.จ.ในจังหวัดนั้น

ระบุไว้ชัดเจน “ไม่ครบ” ตามนี้ ผู้สมัครไม่มีสิทธิเข้ารับการสรรหา

การยื่นใบสมัครและหลักฐานต่างๆ กำหนดให้ยื่นได้ที่เว็บไซต์ www.futureforwardparty.org ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 เวลา 00.00 น. ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2562 เวลา 24.00 น.

เกินเวลา เอกสารไม่ครบ ขีดเส้นใต้ชัด “ถือว่าเป็นผู้ไม่มีสิทธิเข้ารับการคัดสรรในรายนั้น”

สิ่งที่ต้องพิจารณาสำหรับหลักฐาน นอกจากเอกสารทั่วๆ ไป มีอีก 2 รายการน่าพิจารณา

1. รายงานโครงการบริหาร อบจ. การประเมินงบประมาณและแนวนโยบายที่จะใช้รณรงค์ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบไปด้วย 5 นโยบาย ทั้งนี้ ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ เคยกล่าวไว้ว่า ท้องถิ่นทุกๆ แห่งที่พรรคส่งตัวแทนลงแข่งขันจะต้องนำไปผลักดัน

ได้แก่ นโยบายเรื่องท้องถิ่นเปิดเผย (Open Local Government) นโยบายขนส่งมวลชนสาธารณะในท้องถิ่น นโยบายเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการกำหนดงบประมาณท้องถิ่น นโยบายเรื่องการจัดการการศึกษาในท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และนโยบายกำจัดขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

2. รายการเอกสารการแสดงวิสัยทัศน์ เช่น วิสัยทัศน์ทิศทางของจังหวัดในอีก 10 ปี หรือ 20 ปีต่อไป หรือแนวทางการพัฒนาจังหวัดให้ไปสู่จังหวัดที่มีจุดเด่นด้านใด เป็นต้น

ระยะเวลา 1 เดือนเต็ม คือห้วงแห่งการรับสมัคร โดยจะประกาศรายชื่อผู้สมัครเพื่อเข้าสู่การ “คัดเลือก” วันที่ 1 กันยายน 2562 จากนั้นจะเข้าสู่การ “แข่งขันภายใน” เพื่อเป็นตัวแทนลงสมัครท้องถิ่นในนาม “พรรคอนาคตใหม่”

ผ่านอีก 3 ขั้นตอน หากแต่หลายกระบวนการ นั่นคือ

1. ขั้นตอนการกลั่นกรองเบื้องต้น มีคณะกรรรมการกลั่นกรองเบื้องต้นตรวจสอบเอกสารต่างๆ พร้อมทั้งพิจารณาฐานข้อมูลของพรรคเรื่องพื้นที่ยุทธศาสตร์และโอกาสช่วงชิง

2. ขั้นตอนพิจารณาโดยคณะกรรมการสรรหา มีคณะกรรมการสรรหาที่ต้องรับฟังความคิดเห็น, สัมภาษณ์ เปิดแสดงวิสัยทัศน์ประชันนโยบาย เป็นต้น

3. ขั้นตอนการให้ความเห็นชอบโดยคณะกรรมการบริหารพรรค มีการประชุมเพื่อพิจารณามติรับรอง

การประกาศผล จะกำหนดโดยคณะกรรมการสรรหาต่อไป

จาก “กติกา” เห็นชัดว่าค่อนข้างชัดเจนและรัดกุม โดยเฉพาะการ “ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหา”

“มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติตามประกาศนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวให้เป็นที่สุด และให้คณะกรรมการสรรหามีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ใดๆ เพื่อให้การสรรหาสมาชิกที่สมควรเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหาร อบจ. และ ส.จ. ของพรรคอนาคตใหม่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้”

 

“ธนาธร” ตอบคำถาม
“ทีมจังหวัด-ส.ส.” ต้องหนุนใคร?

แม้จะมีประกาศ กำหนด “กติกา” อนาคตใหม่ออกมาแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ชัดเจน นั่นคือเรื่องของ “พื้นที่” ซึ่งพรรคจะส่งผู้สมัครลงแข่งขัน

ธนาธรได้เคยกล่าวไว้หลายครั้งในหลายเวทีว่า พรรคไม่ส่งตัวแทนลงแข่งทุกจังหวัด อาจมีเพียง 15-20 จังหวัด ซึ่งตัวเลขนี้แม้ในประกาศเองก็ยังไม่แน่นอน

เนื่องจากยังมีคณะกรรมการกลั่นกรอง “พิจารณาฐานข้อมูลของพรรคเรื่องพื้นที่ยุทธศาสตร์และโอกาสช่วงชิง” เป็นตัวกำหนด

ในการประชุม ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ประจำสัปดาห์ มีหลายคำถามถึงธนาธรและแกนนำพรรค

คัดมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น

ธนาธรระบุว่า สิทธิในการจัดทีมเข้าแข่งขัน เป็นสิทธิที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่ไม่มีสิทธิคือ การที่ผู้สมัครเข้ารับการแข่งขันเป็นตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ไปเคลมว่าเป็นทีมที่พรรคให้การรับรองแล้ว หรือพรรคปิดรับสมัครแล้ว และมีแต่ทีมของตนเองเพียงทีมเดียวเท่านั้นที่ได้รับคัดเลือกลงแข่ง

กรณีนี้ยอมรับว่า แม้ยังไม่มีการเปิดรับสมัคร ก็เริ่มมีการเคลมเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแล้วในบางพื้นที่

“ผมขอย้ำชัดๆ อีกครั้งว่า ตอนนี้พรรคอนาคตใหม่ยังไม่รับรองใคร ไม่มีการตีตราหรือแสตมป์ให้ทีมใดหรือคนใดเลยสักคนในประเทศนี้ ไม่ว่าแห่งหนตำบลใด ยังไม่มีการรับรองว่าเป็นผู้สมัครในนามของพรรค การเปิดรับสมัครจะมีขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2562 ทั้งนี้ จังหวัดไหนซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของพรรคในการส่งเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีกี่ทีมมาสมัครก็ได้

“แต่สุดท้ายก็ต้องมีการแข่งขันประชันวิสัยทัศน์กันต่อหน้าสมาชิก ทีมจังหวัด และคณะกรรมการสรรหา ก่อนที่จะมีการประกาศรับรองว่าเป็นผู้สมัครในนามของพรรคอนาคตใหม่” นายธนาธรกล่าว

และการแข่งขันต้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ นั่นคือผ่านเอกสารที่นำเสนอนโยบาย และการสัมภาษณ์แสดงวิสัยทัศน์

อย่างไรก็ตาม มีคำถามแสดงความเป็นห่วง เมื่อเกิดการแข่งขันแล้ว มีทีมที่แพ้แยกตัวไปลงแข่งในนามอิสระ พรรคอนาคตใหม่จะมีท่าทีอย่างไร?

ธนาธรตอบชัดๆ ว่า ในจังหวัดที่พรรคไม่ได้ส่งผู้สมัคร ทีมจังหวัด หรือ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ มีสิทธิที่จะสนับสนุนใครหรือทีมใดก็ได้ แต่ต้องเป็นคนหรือทีมที่มีจิตใจไม่เป็นปฏิปักษ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ส่วนจังหวัดที่พรรคส่งเลือกตั้งท้องถิ่น มีการแข่งขันแล้วเกิดมีทีมแพ้ จากนั้นทีมที่แพ้ไปลงแข่งในนามอิสระ กรณีนี้ในส่วนของสมาชิกจะไม่บังคับว่าจะต้องสนับสนุนใคร แต่สำหรับทีมจังหวัด และ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ในจังหวัดนั้น ต้องสนับสนุนทีมที่ลงแข่งในนามของพรรคเท่านั้น ไม่สามารถไปสนับสนุนทีมอื่นได้

เพราะถือว่า ทีมจังหวัด และ ส.ส.เป็นกลไกสำคัญสำหรับพรรคอนาคตใหม่

“ทีมที่เป็นตัวแทนลงแข่งในนามของพรรคอนาคตใหม่ มาจากมติของพรรค คณะกรรมการสรรหา มาจากมติของพรรค ดังนั้น การที่ทีมจังหวัด หรือ ส.ส.ของพรรคไปสนับสนุนทีมอื่นที่ไม่ใช่มติของพรรค ขณะที่พรรคเองก็มีทีมลงรับเลือกตั้งนั้น เป็นการผิดวินัยอย่างแน่นอน” ธนาธรกล่าว

เป็นความชัดเจนของพรรคอนาคตใหม่ต่อการ “เลือกตั้งท้องถิ่น”

 

อีกครั้งที่จะเป็นบทพิสูจน์คำว่า “การเมืองสร้างสรรค์” และการใช้ “นโยบายหาเสียง” เป็นไปได้

ต้องยอมรับว่าเป็น “งานหิน” สำหรับภารกิจ “เขย่าท้องถิ่น” เพราะอย่างที่ทราบกันดี เลือกตั้งระดับชาติ กับเลือกตั้งท้องถิ่น มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ติดตามกันไปยาวๆ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0