โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คำ ผกา | ช่วยเอาสมองมาทำงานด้วย

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 14 ธ.ค. 2563 เวลา 12.06 น. • เผยแพร่ 26 พ.ค. 2563 เวลา 05.37 น.
คำผกาปรับสัดส่วนใหม่

“โรงเรียนเปิดไม่ได้ก็เรียนออนไลน์สิ”

รัฐบาลไทยที่เลือกใช้มาตรการยาแรงมากในการรับมือกับการระบาดของโควิด ทั้งล็อกดาวน์ ปิดเมือง เคอร์ฟิว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนถึงการขยายการเปิดเรียนของปีการศึกษาใหม่ออกไปอย่างน้อยจนถึงเดือนกรกฎาคม

ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเลือกใช้ระบบการเรียนออนไลน์และออนแอร์

ทั้งระบบออนไลน์และออนแอร์นี้ ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ารายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรมของมันคืออะไร

สำหรับฉัน นอกจากจะไม่เห็นด้วยกับการใช้ยาแรงขนาดนี้ของรัฐบาลแล้ว ยังไม่เห็นด้วยเลยกับการเลื่อนการเปิดเรียนออกไป

แล้วพยายามจะทดแทนด้วยสิ่งที่เรียกว่า การเรียนออนไลน์ หรือการเรียนออนแอร์

เขียนอย่างนี้อาจจะมีคนบอกว่า ไม่กลัวเด็กติดเหรอ?

ฉันก็จะยืนยันเช่นเดิมว่า ใครที่กลัวก็จงเอาลูกลาออกจากโรงเรียน แล้วจัดโปรแกรมโฮมสกูลที่บ้านด้วยตนเองเลย

และยังอยากยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า สำหรับครอบครัวที่มีความพร้อม เช่น พ่อ-แม่ มีเวลา มีทรัพยากร มีเงิน มีความรู้ มีความเวอไวเว็บ มีความอินเตอร์ สากล หรือมีองค์ความรู้ที่เป็นของตนเองอย่างเพียงพอ ฉันคิดว่า ครอบครัวเช่นนี้ อย่าเอาลูกเต้าไปฝากไว้กับระบบการศึกษาในระบบเลย

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบการศึกษาไทย ที่ไม่ได้ให้ “การศึกษา” ที่เป็นชิ้นเป็นอันแก่เด็ก

โดยมากการศึกษาไทยก็เน้นเรื่องการสมยอมต่อระบบอำนาจนิยมไปวันๆ

ใช้เวลาร้อยละสามสิบของการศึกษาไปกับการตรวจผม ตรวจเล็บ ตรวจว่าใส่เครื่องแบบครบ ถูกต้องหรือไม่

นี่ไม่ต้องพูดถึงเนื้อหา หลักสูตร ที่ทั้งเชย ทั้งรุงรัง เยิ่นเย้อ ขาดๆ เกินๆ

อีที่ควรละเอียด ไม่ละเอียด ไอ้ที่ไม่ควรยาก กลับยากเกินไป

ไม่เน้นการคิด วิเคราะห์ ไม่เน้นเรื่องการปูพื้นฐานให้เด็กไปแสวงความรู้ด้วยตนเอง

เน้นยัดเข้าไปเยอะๆ แล้วบังคับให้เด็กคายออกมาให้ครบถ้วนเพื่อเอาคะแนนตอนสอบ

บอกตามตรงว่า สำหรับผู้ปกครองที่มีความพร้อม มากันถึงขนาดที่โรงเรียนยังเก็บค่าเทอมอยู่ โดยที่ลูก-หลานเราต้องมานั่งเรียนหนังสือที่บ้าน

ฉันคิดว่า เอาลูกหลานลาออกมาทำโฮมสกูล แล้วไปตามสอบเอาวุฒิกับ กศน.เถอะ

ส่วนคนที่เอาลูกเข้าโรงเรียนเพราะมองไปที่การเข้ามหาวิทยาลัย ก็ขอให้ทอดสายตาไปยาวๆ ว่า การศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถตอบสนองของตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิดหรือไม่

ไม่นับว่าเกือบทุกมหาวิทยาลัยในยุคหลังโควิดก็จะพากันเอาตัวไม่รอด

เพราะกับนิสิต นักศึกษา ที่กำลังเรียนอยู่นี้ มหาวิทยาลัยก็กำลังมะงุมมะงาหรากับการสอนออนไลน์ และไม่สามารถส่งต่อองค์ความรู้ ที่เด็กพึงมีพึงได้จากการเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่

ไม่นับว่า ขนาดไม่มีโควิด มหาวิทยาลัยก็ใช่ว่าจะได้สั่งสมความเป็นเลิศทางวิชาการอะไรได้นักหนา

ที่เด็กมันเก่ง มันฉลาด ก็ดูเหมือนจะเป็นเพราะการขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเองแล้วเอากลับมาฟาดใส่หน้าครูบาอาจารย์ที่ยังเก่าคร่ำครึอยู่ด้วยซ้ำ

ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งก็บอกว่า “โอ๊ย ลูกชั้นแฮปปี้มากกับการเรียนออนไลน์ เก่งเชียว เชื่อมต่ออะไรเองได้หมด เรียนสนุก ไม่เครียด ครูไม่บังคับมาก”

สำหรับผู้ปกครองกลุ่มนี้ ฉันคิดว่า เมื่อโรงเรียนกลับไปเปิดปกติ น่าจะไปต่อรองกับทางโรงเรียน ให้ทำหลักสูตรแบบยืดหยุ่นสำหรับพวกเขา เป็น learn from home แทนการไปโรงเรียนสัปดาห์ละ 5 วัน ก็ไปโรงเรียนแค่สำหรับบางวิชา สัปดาห์ละ 2 วันก็พอ

ที่เหลือเรียนจากบ้าน ก็อาจจะทำให้เด็กมีความสุขมากกว่า

แค่คิดจากมุมของผู้ปกครองที่กลัวลูกไปติดโควิดตาย (หรือไปติดโควิดแล้วเอามาติดคนที่บ้านตาย) + ผู้ปกครองที่พร้อมทำโฮมสกูล + เด็กที่ถนัดเรียนออนไลน์มากกว่าเรียนออฟไลน์ ก็ทำให้เราจินตนาการถึงการออกแบบการศึกษาในอนาคตว่า มันสามารถยืดหยุ่นได้มากกว่านี้ร้อยเท่าพันเท่า

แล้วกระทรวงศึกษาธิการมีแผนระยะยาว ถึงการปฏิรูปการศึกษาให้ยืดหยุ่นขนาดนี้แล้วหรือยังว่า เออ ในอนาคตโลกจะเปลี่ยน ความรู้ ทักษะ ที่โลกต้องการจากมนุษย์เปลี่ยน ภัยพิบัติ โรคระบาดอาจจะมา

และในเมื่อโลกทางเทคโนโลยีเปลี่ยนมากขนาดนี้ กระทรวงศึกษาฯ ควรเลิกทำระบบการเรียนการสอน การวัดผลแบบเดียว

เลิกผูกขาดความถูกต้อง แต่เปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้คุม” ไปเป็น “ผู้อำนวยความสะดวกและความเป็นธรรมทางการศึกษา” แทน

นั่นคือ ปล่อยให้แต่ละโรงเรียนสามารถ “ยืดหยุ่น” จัดระบบการเรียนการสอน การวัดผลของตนเองได้

เช่น เปิดโอกาสให้โรงเรียนจัดทำระบบการเรียนกึ่งออฟไลน์ กึ่งออนไลน์ – และการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ให้ยึดเอา “ลูกค้า” หรือนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนของตัวเองเป็นที่ตั้ง

โอ เขียนมาตั้งนาน

ฉันก็รู้แล้วว่า สิ่งนี้เรียกว่าการออกแบบการศึกษาโดยเอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง ที่มันควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

แต่สุดท้าย โควิดมาปั๊วะ ความเลยแตกดังโป๊ะ ว่า เย็บเอ๊ยยยยย เอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง แม่! เพราะถ้าจัดการการศึกษาแบบเอานักเรียนเป็นศูนย์กลางจริง ป่านนี้ ไม่ยักแย่ยักยันกับการจะออนไลน์ ออนแอร์กันขนาดนี้

มันควรจะสมูธ ลื่นไหล เป็นแพรผ้า เพราะแต่ละโรงเรียนมีความพร้อมที่จะยืดหยุ่น ปรับตัวโดยอิงความพร้อม หรือความต้องการของนักเรียนเป็นหลัก และแต่ละโรงเรียนไม่จำเป็นต้องจัดการในโมเดลเดียวกัน

แต่เราไม่ได้มีแต่นักเรียนที่มีความพร้อม

กลับมาดูว่าฟังก์ชั่นของโรงเรียนนอกจากเป็นที่เรียนหนังสือแล้วเป็นอะไรได้อีกบ้าง?

เคยได้ยินทฤษฎีไม่ให้ลูกไปโรงเรียนไหม?

โดยอุดมคติแล้ว ก็เฉกเดียวกับการให้ลูกกินนมแม่ ใน “อุดมคติ” เขาก็จะบอกว่า ให้ลูกกินนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ กินไปเถอะ มันดี มันมีสายใยรัก บลาๆ

แต่ประเด็นคือ ไม่ใช่แม่ทุกคนที่สามารถอยู่บ้านให้นมบุตรได้โดยไม่ต้องทำมาหากิน

เช่นเดียวกัน ในอุดมคติ เขาก็บอกว่า ให้เด็กเล่นอยู่ที่บ้านไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบเอาไปเข้าโรงเรียนหรอก หกขวบ เจ็ดขวบเข้าก็ยังทัน ถึงตอนนั้นเด็กพร้อมเรียนพอดี

แต่ในโลกที่ไม่ใช่อุดมคติ มีพ่อ-แม่จำนวนไม่น้อยที่ต้องเอาลูกไปฝากโรงเรียนเด็กเล็กตั้งแต่ขวบครึ่ง ก็ด้วยเหตุผลเดียวว่า พ่อ-แม่ต้องไปทำงาน ไม่มีใครเลี้ยง

สักสามสิบกว่าปีที่แล้ว ก็กระทรวงสาธารณสุขเองนี่แหละสนับสนุนให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กประจำหมู่บ้าน เก็บเงินผู้ปกครองวันละ 1 บาท ทำศูนย์ง่ายๆ กันที่สถานีอนามัย จ้างคนในหมู่บ้านมาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ไม่ได้เรียนอะไรนักหนา ร้องเพลง กินข้าว นอนกลางวัน อาบน้ำ ประแป้ง รอพ่อ-แม่มารับตอนเย็นหลังเลิกงานหรือหลังไปนา ไปสวน

โรงเรียนสำหรับเด็กและผู้ปกครองจำนวนมาก เขาไม่ได้หวังว่าโรงเรียนจะให้ความรู้วิชาการอะไรกันนักหนา เขาถึงไม่ค่อยจะ “เรียกร้อง” อะไรจากครู ครูจะดี จะด่า จะกล้อนผม ก็หยวน ก็ฟังก์ชั่นของโรงเรียนก็เหมือนที่ฝากเลี้ยง

ไม่ใช่แค่ที่ฝากเลี้ยงในช่วงกลางวัน แต่ยังหวังว่า เด็ก ลูกเต้าไปโรงเรียน จะได้กินอิ่ม กินดี กินมีโภชนาการกว่ากินอยู่ที่บ้าน

วิชาความรู้ก็งั้นๆ ด้วยสถานะที่เป็นอยู่ ยังไงก็ไม่มีปัญญาจะไปแข่งขันกับคนที่เขาร่ำรวย เรียนโรงเรียนดังๆ มีตังค์ไปเรียนพิเศษอะไรอยู่แล้ว เอาลูกไปโรงเรียนก็เพราะมันเป็นภาคบังคับ

ขออาศัยครูช่วยอบรมบ่มนิสัย อาศัยว่าโรงเรียนมีข้าวให้กิน เชื่อใจว่าอย่างน้อยโรงเรียนก็เป็นพื้นที่ปลอดภัย เอาลูก-หลานไปฝากไว้

พ้นจากภาคบังคับก็หางานทำ มีผัว มีเมีย มีลูก ทำมาหากินกันตามประสาต่อไป

“ข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่า ในปีการศึกษา 2561 นักเรียนชั้นอนุบาล 1-มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3,231,424 คน หรือคิดเป็น 47% ของนักเรียนทั้งหมดขาดแคลนหนังสือเรียน ในขณะที่มีนักเรียนชั้นอนุบาล 1-มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3,552,487 คน ขาดแคลนชุดนักเรียน อีก 3,454,961 คน ขาดแคลนเครื่องเขียน และยังมีนักเรียน 3,214,572 คน ขาดแคลนอาหารกลางวัน”

สำรวจ “ความเหลื่อมล้ำ” ในระบบการศึกษาไทย

ถ้าข้อมูลนี้จริง เราก็อนุมานได้เลยว่า มีนักเรียนไทยสามล้านกว่าคนที่อยู่ในกลุ่ม “ขาดแคลน” และอนุมานต่อไปได้ว่า นี่เป็นกลุ่มที่สำหรับเขาแล้ว โรงเรียนเป็นที่ที่ “แบ่งเบาภาระ” ของพ่อ-แม่ โรงเรียนเป็นที่ที่เขาจะมีหนังสือ มีสนาม มีของเล่น มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ผ่อนภาระการจัดหาด้วยตัวเองจากผู้ปกครอง ไปจนถึงเป็นที่ที่พวกเขาจะได้กินอาหารกลางวัน – เผลอๆ สำหรับเด็กกลุ่มนี้ วิชาความรู้เป็นแค่ผลพลอยได้ด้วยซ้ำ

คำถามของฉันคือ ในเมื่อสิ่งที่เด็กกลุ่มนี้ต้องการจากโรงเรียนคือ “บริการ” อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการศึกษา แล้วถ้าเขาต้องอยู่บ้าน ไม่ได้ไปโรงเรียน ทางกระทรวงศึกษาฯ จะทดแทน ชดเชยสิ่งที่หายไปจากชีวิตพวกเขาได้อย่างไร?

เพราะการเรียนออนไลน์ ออนแอร์ให้แต่ “ความรู้” (สมมุติว่าให้ได้) แต่ให้ “บริการ” อื่นๆ เช่น ห้องสมุด หนังสือ ของเล่น อาหาร และการดูแลจากครูไม่ได้

ถามสั้นๆ ว่า กระทรวงศึกษาฯ ที่กินภาษีประชาชน จะดูแลเด็กนักเรียนทั้งกลุ่มที่มีความพร้อมแต่ต้องการอิสรภาพในการจัดการศึกษาด้วยตนเอง กับกลุ่มขาดแคลนที่ต้องการพึ่งพิงบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องการเรียนอย่างเดียวจากโรงเรียนได้อย่างไร

เพราะการจะตอบคำถามนี้ได้ต้องพูดได้มากกว่าการถ่มถุยคำว่าเรียนออนไลน์ออกมาโดยไม่ผ่านหลืบหรือกลีบสมองส่วนไหนในหัวของท่านเลย

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0