โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คำแนะนำทางการเงิน สำหรับคนรุ่นใหม่ - โค้ชหนุ่ม The Money Coach

THINK TODAY

เผยแพร่ 14 พ.ย. 2562 เวลา 01.19 น. • โค้ชหนุ่ม The Money Coach

จากการที่ได้ทำงานในสายการเงินส่วนบุคคล ทั้งบรรยาย ตอบคำถาม และให้คำปรึกษาทางการเงิน ผมพบข้อเท็จจริงข้อหนึ่ง นั่นคือ การจัดการเงินในช่วง 10 ปีแรกของการทำงาน (ช่วงอายุ 20-30 ปี) มีผลต่ออนาคตทางการเงินของคนเราอย่างมาก

คนที่จัดการเงินได้ดีตั้งแต่เริ่มทำงาน ก็มักจะมีชีวิตการเงินที่ดีมีความสุข ไม่ค่อยทุกข์ร้อนเรื่องเงินให้วุ่นวายใจ หรือแม้จะมีบ้าง ก็อยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้

ตรงกันข้ามกับคนที่จัดการเงินแย่ตั้งแต่เริ่มทำงาน คนกลุ่มหลังนี้กว่าจะตั้งหลักตั้งตัวได้ ก็เล่นเอาเหนื่อย เสียเวลาไปค่อนชีวิต และมีจำนวนไม่น้อยที่มีชีวิตการเงินลำบากไปจนถึงวันเกษียณ หากปล่อยปละละเลย ไม่เร่งแก้ไข

ด้วยเหตุนี้เวลาเจอน้อง ๆ ที่เรียนจบใหม่ และเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ผมจึงมักแนะนำให้พวกเขาใส่ใจและให้ความสำคัญกับการเงินในช่วง 10 ปีแรกเป็นพิเศษ โดยบอกเล่าเป็นหลักการจัดการเงินอย่างง่าย 5 ข้อดังนี้

1. อย่าก่อหนี้บริโภค

ข้อนี้ผมให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 เลย เพราะกลุ่มของหนี้บริโภคนั้นไม่ว่าจะเป็น หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคล เหล่านี้ล้วนแต่เป็นหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยสูงมาก สูงถึงระดับ 18-28% เลยทีเดียว (หนี้นอกระบบยิ่งไปกันใหญ่) เรียกว่า ถ้าเราเผลอไปเป็นหนี้เหล่านี้ รับรองว่าชีวิตเหนื่อยตั้งแต่อายุยังน้อยแน่นอน

ทั้งนี้ ผมไม่ได้ห้ามใช้บัตรเครดิตนะครับ สามารถมีหรือพกบัตรเครดิตไว้แทนการพกพาเงินสดได้ แต่ใช้เท่าไหร่ ก็จ่ายคืนไปเต็มจำนวน ไม่จ่ายขั้นต่ำหรือจ่ายคืนบางส่วน ถ้าไม่มั่นใจว่าชำระคืนเต็มจำนวนได้ ก็อดทนรอสักหน่อย เก็บเงินเพิ่มอีกสักนิด อย่าใช้บัตรตามใจตัวเองครับ

2. ออมขั้นต่ำ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้

สำหรับคนทั่วไป ผมจะแนะนำให้เริ่มออมที่อัตรา 10% ของรายได้ (หาได้ 100 เก็บ 10) แต่ถ้าใครไหว อยากประสบความสำเร็จทางการเงินเร็วขึ้น ผมแนะนำให้ออมที่ระดับ 20% ไปเลยครับ

สำหรับเป้าหมายการออม ก็ให้เริ่มจากการออมเพื่อเก็บเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเป็นเป้าหมายแรก จากนั้นค่อยขยับไปสู่การเก็บออมเพื่อลงทุนสร้างความมั่งคั่งในลำดับถัดไป

ส่วนใครที่มีภาระทางการเงิน (เช่น ต้องส่งเงินให้ที่บ้าน หรือ มีภาระหนี้ กยศ.) การออมที่ระดับ 10-20% อาจเป็นภาระมากเกินไป ก็อาจปรับลดเหลือสัก 3-5% ก่อนก็ได้ แต่ไม่ออมเลยไม่ได้นะครับ เพราะถ้าทำอย่างนั้นจะหมดกำลังใจไปเสียก่อน

คิดง่าย ๆ ว่า ทำงานทั้งเดือน แล้วต้องให้เงินกับทุกคนบนโลก (ธนาคาร เจ้าของบ้านเช่า ร้านอาหาร บริษัทสาธารณูปโภค ฯลฯ) ยังไงเหลือเก็บไว้ให้ตัวเองบ้าง สักนิดสักหน่อยก็ยังดี

3. เริ่มลงทุนให้เร็ว

ระหว่างที่เริ่มเก็บเงิน อยากให้เริ่มศึกษาเรื่องการลงทุนควบคู่กันไปด้วย ตอนที่เงินยังไม่เยอะมากนี่แหละ คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด พอศึกษาได้สักหน่อย ก็ให้เริ่มต้นลงทุนเท่าที่เรารู้และเข้าใจ เมื่อมั่นใจก็ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเงินลงทุน

ผมเองตอนเริ่มต้นลงทุนหุ้น จำได้ว่าตอนนั้นเปิดบัญชีด้วยเงินเก็บ 5,000 บาท เลือกลงทุนธุรกิจที่เรารู้จัก หุ้นราคาไม่แพงมาก เพื่อลองวิชา เก็บเงินไป ศึกษาไป ลงทุนไป นานวันเข้าก็เก่งก็แม่นการลงทุนมากขึ้น ก็ค่อยปรับเพิ่มการลงทุน

ส่วนใหญ่ที่ผมเห็น น้องที่เริ่มลงทุนตั้งแต่เรียนจบใหม่ สุดท้ายผ่านไป 10 ปี มีพอร์ตหลักหลายแสน (บางคนถึงหลักล้าน) กันหลายคนเลย ซึ่งเงินสะสมก้อนนี้จะช่วยให้เรามีความมั่นใจทางการเงินในช่วงอายุต่อไปได้อย่างสบาย

4. วางแผนรับมือความเสี่ยงไว้ตลอดเวลา

ชีวิตเป็นเรื่องไม่แน่นอน ในบางครั้งก็มีโชคร้าย เจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ ตกงาน ฯลฯ แวะเวียนเข้ามา และกระทบกับการเงินของเราได้อยู่เสมอ

ดังนั้นในทุกช่วงชีวิต เราจึงควรประเมินความเสี่ยงทางการเงินเหล่านี้ และหาทางป้องกันเอาไว้ ซึ่งเครื่องมือที่เหมาะสม อาทิ เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ขนาดสัก 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน รวมไปถึงพวกประกันต่าง ๆ จะช่วยลดผลกระทบทางการเงินให้กับเราได้ ในวันที่โชคร้ายมาเยือน ทำให้ไม่ต้องหยิบยืมและสร้างภาระการเงินให้กับชีวิต

5. เน้นทำงานสร้างคุณค่า และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

สิบปีแรกของการทำงาน อย่าโฟกัสที่เงินเดือนหรือรายได้เพียงอย่างเดียว ให้มองเรื่องของโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วย งานที่ดีต้องทั้งเลี้ยงชีวิต (มีกิน มีใช้ มีเหลือเก็บ) และช่วยสร้างโอกาสให้ชีวิตได้ด้วย (ให้ความรู้และประสบการณ์ที่ต่อยอดได้ในอนาคต)

ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นการค้นหาตัวเองไปด้วยในตัว ไม่ว่าจะเป็นงานที่สร้างรายได้หรืองานอดิเรก การที่เราจัดสรรเวลาเรียนรู้ให้กับหลายเรื่อง ที่เรารู้สึกสนุก สนใจ อยากทำ ซนและผจญภัยกับมันให้มากพอ สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ ขัดเกลาวิธีคิด มุมมอง ทักษะ และประสบการณ์ของเราให้แหลมคมมากขึ้น ค้นพบตัวตนและงานที่เหมาะกับตัวเองได้ในที่สุด

ทั้งหมดนี้ คือ หลักคิดทางการเงินสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ผมอยากฝากให้กับน้อง ๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานทุกคน จำไว้นะครับว่า ถ้าการเงินในช่วง 10 ปีแรกเป็นไปด้วยดี การสร้างชีวิตและครอบครัวในช่วงอายุที่สูงขึ้นไป ก็จะเป็นเรื่องไม่ยาก แม้ภาระการเงินอาจจะหนักขึ้นบ้าง ทั้งจากการซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ค่าใช้จ่ายลูก ฯลฯ แต่ก็จะอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้

และด้วยภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี ที่สั่งสมมานานนับ 10 ปี ก็จะเป็นรากฐานที่ดี ที่ช่วยให้เรามีชีวิตที่สมดุล ร่มเย็น และมีความสุขได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0