โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"คำต่อคำ" แถลงการณ์ "ประยุทธ์" เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ 4 ข้อห้ามช่วงสงกรานต์ ตำหนิคนฝ่าฝืนเคอร์ฟิว

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 05 ส.ค. 2565 เวลา 06.48 น. • เผยแพร่ 10 เม.ย. 2563 เวลา 12.06 น.
365556

วันที่ 10 เมษายน 2563 เวลา 18.01 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทรท.) ว่า พี่น้องประชาชนที่เคารพ วันนี้ตนในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ขอรายงานความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ ที่ได้สั่งการ และรัฐบาลได้มีมติในแต่ละด้าน ตามลำดับดังนี้

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย มาตรการลดการแพร่กระจายของโควิด-19 ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การรณรงค์เพื่อการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน (Work from home)

รวมถึงกลไกในการทำงานที่ขันแข็งของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ที่ทำหน้าที่เหมือน “มดงาน” ในการเดลิเวอรี่ – หยิบยื่นสุขภาพที่ดี ไปถึงหน้าประตูบ้าน ทุกครัวเรือน มุ่งเน้นผู้ที่กักตัวและเฝ้าระวังเชื้อ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นับเป็นระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ขอขอบคุณ อสม.ที่เข้มแข็งทุกคน

เพิ่มขีดความสามารถรักษาผู้ติดเชื้อโควิด

สำหรับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของเราในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ โดยรัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาหน้ากากอนามัย N95 เพิ่มอีก 2 แสนกว่าชิ้น สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันสามารถอบความร้อนจากรังสี UV-C เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำได้ 4 ครั้ง ปัจจุบันโควตาหน้ากากอนามัยสำหรับหมอและพยาบาลทั่วประเทศ อยู่ที่ 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน ส่วนหน้ากากผ้าสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ที่ไม่มีอาการป่วย ได้ให้แต่ละชุมชนผลิต เพื่อแจกจ่ายกันเองครบตามเป้าหมายแล้วกว่า 50 ล้านชิ้น ซึ่งถือว่าเพียงพอ

โดยหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า N95 และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เหล่านี้ ศบค.มีข้อมูลตั้งแต่โรงงานผลิต การจัดส่งโดยบริษัทไปรษณีย์ไทย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ไปจนถึงการกระจายในพื้นที่ ประชาชนสามารถตรวจสอบทุกขั้นตอนได้

ส่วนการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์จากประเทศจีนและญี่ปุ่น ที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้ว 5 ครั้ง รวม 187,000 เม็ด และอยู่ระหว่างกันจัดหาเพิ่มเติมอีก 200,000 เม็ด นอกจากนี้การจัดเตรียมเตียงเพิ่มและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ในการรองรับดูแลผู้ป่วย 98 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล หาห้อง ICU เพิ่มอีก 80 เตียง เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต รวมทั้งความพร้อมของสถานที่ในกักตัวเฝ้าระวังของรัฐ ทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค สามารถรองรับได้ประมาณ 20,000 คน โดยประเด็นที่ผมให้ความสำคัญอย่างมาก คือการป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องติดเชื้อเพิ่มเติมอีก

ตำหนิพวกฝ่าฝืนเคอร์ฟิว-ยังไม่ขยายเวลาออกนอกเคหสถาน

ด้านป้องกันและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการรักษาความมั่นคง ประกอบด้วย การจำกัดการเดินทางระหว่างจังหวัด และการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ช่วงเวลา 4 ทุ่ม – ตี 4 เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ศบค. จัดกำลังพลกว่า 20,000 นาย ตั้งจุดตรวจรูปแบบต่าง ๆ มากว่า 1,000 แห่ง

ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนดีขึ้น เพิ่มขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ฝ่าฝืน มีการมั่วสุม ชุมนุมกันในยามวิกาล กว่า 6,500 ราย ในช่วงวันที่ 3 –10 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เนื่องจากถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป ในแง่การจำกัดการแพร่ระบาดของโรคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ใช้กฎหมายเพิ่มเติมให้รุนแรง หรือประกาศเคอร์ฟิวที่มากขึ้น

บุคคลที่ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบเหล่านี้จะทำให้พ่อแม่ พี่น้อง ประชาชน คนไทย ที่หาเช้ากินค่ำ และคนส่วนใหญ่ ต้องลำบากในการใช้ชีวิตในช่วงเวลานี้ ขอเตือนให้แก้ไขตัวเอง ศบค.ยังไม่มีแนวความคิดที่จะขยายเวลาเพิ่มเตมหรือการห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลานี้

ด้านการควบคุมสินค้า สถิติการร้องเรียนการขายสินค้าราคาแพง การกักตุนสินค้า และการปฏิเสธการขายสินค้าโดยไม่มีเหตุผล มีเป็นจำนวนมาก โดยช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา สามารถจับกุมและดำเนินคดีการขายสินค้าเกินราคาได้ 20 ราย การไม่ติดป้ายแสดงราคาสินค้า 36 ราย การจงใจทำให้ราคาสินค้าต่ำ หรือสูงเกินสมควร ทำให้เกิดการปั่นป่วน 75 ราย เป็นต้น

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประกาศให้หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือแอลกอฮอลล์เป็นสินค้าควบคุม มีสถิติการกระทำความผิดเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์ โดยจับกุม 334 คดี ยึดของกลางเป็นหน้ากาก กว่า 2,700,000 ชิ้น แอลกอฮอลล์มากกว่า 330,000 ลิตร ชุดตรวจ โควิด-19 60,000 ชุด และเครื่องวัดอุณหภูมิกว่า 4,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ารวม มากกว่า 177 ล้านบาท

เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลักการสำคัญ คือ วันนี้ต้องรอด วันข้างหน้าต้องกลับมาเข้มแข็ง ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็น “ระยะเร่งด่วน” สำหรับประชาชนทุกกลุ่มไปแล้ว

ล่าสุด รัฐบาลได้ออกมาตรการเพิ่มเติมในระยะที่ 3 อีก เพื่อรักษา เยียวยา และเตรียมความพร้อมของประเทศในทุกมิติ เป็นวงเงิน หนึ่งล้านเก้าแสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 9-10 ของ GDP ประกอบด้วย

1.การออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา วงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยครอบคลุม 3 แผนงานหลัก ได้แก่

(1) แผนงานด้านสาธารณสุข เพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค และสนับสนุนการทำงานและงานวิจัย

(2) แผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ครอบคลุมประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง โดยสองแผนงานนี้จะใช้งบประมาณรวมหกแสนล้านบาท

(3) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม การสร้างงานใหม่ การกระตุ้นการบริโภค การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาในระยะยาว โดยแผนงานนี้ใช้งบประมาณสี่แสนล้านบาท

2.การออกพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญอย่างยิ่ง วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการร่วมกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน โดยการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และป้องกันมิให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจในวงกว้าง

นอกจากนี้ยังพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ SMEs เป็นระยะเวลา 6 เดือน และการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการ เข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการนี้จำนวนหนึ่งล้านเจ็ดแสนราย จะช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาฟื้นตัวได้

3.การออกพระราชกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ป้องกันไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ที่อาจลุกลามส่งผลร้ายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจได้

4.การเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ โดยให้หน่วยงานปรับลดงบประมาณ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพัน เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาภัยพิบัติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณนี้ โดยคณะรัฐมนตรีจะเร่งเสนอร่างกฎหมายโดยเร็ว และคาดว่าจะทูลเกล้าถวายได้ไม่เกินกลางเดือนมิถุนายน 2563

5.คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการ การเพิ่มบุคลากรแพทย์ พยาบาล และข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลของสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ กว่า 45,000 อัตรา ทั้งในส่วนของอัตราข้าราชการตั้งใหม่ จำนวนกว่า 38,000 อัตรา และอัตราข้าราชการตั้งใหม่ สำหรับนักเรียนแพทย์ ปี 2563 จำนวนกว่า 7,000 อัตรา

โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) พิจารณารายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทย โดยจะได้มีการพิจารณาดูแลด้วยการปรับเกลี่ยในระยะแรกจากอัตราที่ว่างอยู่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะได้ดำเนินการและชี้แจงให้ทราบในโอกาสต่อไป

6.การเพิ่มจำนวนหน่วยใช้ไฟฟ้าฟรีจาก 50 หน่วยต่อเดือน เป็น 90 หน่วยต่อเดือน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ซึ่งคาดว่าประชาชนได้รับผลประโยชน์ 6.4 ล้านราย

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ได้พิจารณากรณีประโยชน์ทดแทนการว่างงานของผู้ประกันตน โดยได้อนุมัติหลักการให้กระทรวงแรงงานร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทน จากการว่างงานใน 2 กรณี คือ กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเกิดเหตุสุดวิสัย

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานที่ครอบคลุมการว่างงานจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในครั้งนี้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมด้วย เช่น การว่างงาน เนื่องจากการให้ปิดเมือง การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการประกาศเคอร์ฟิว รวมทั้งการให้หยุดประกอบกิจการดังกล่าว ที่มิได้เป็นผลจากคำสั่งของทางราชการโดยตรงนอกจากนี้ ลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย

กรณีการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้ หรืองบประมาณใดก็ตาม ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาโควิด ในการสาธารณสุข เยียวยา ดูแล ฟื้นฟูประชาชนทุกภาคส่วน จะมีคณะกรรมการพิจารณา ติดตาม กำกับดูแล คัดแยก เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น ผอ.ศบค. และนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติก่อน จึงจะดำเนินการได้ เรื่องใดก็ตามที่หลุดออกมาเป็นข่าว ตามสื่อโซเชียล หากไม่ผ่านมติครม.อนุมัติ ก็ถือว่าเป็นข่าวปลอม เชื่อถือไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ต้องการให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน

เล็งออกมาตรการช่วยเหลือคนไทยที่เดินทางกลับไม่ได้

ด้านการต่างประเทศ ที่ผ่านมาเน้นการกักกันผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ 14 วัน ปัจจุบัน ได้มีมาตรการชะลอการเดินทางกลับของชาวไทยในต่างประเทศ ออกไปจนถึงวันที่ 18 เมษายน เนื่องจากข้อเท็จจริงตามสถิติ ชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อลดผลกระทบในระหว่างที่ต้องอาศัยในต่างแดน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ในรูปแบบ “เงินช่วยเหลือ” เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เป็นต้น

และด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤต ปัจจุบัน ยังคงปรากฎมี ข่าวปลอม – ข่าวบิดเบือน อย่างต่อเนื่อง เฉพาะเมื่อวานนี้ มีคดีจำนวนทั้งสิ้น 26 คดี จับกุม – แจ้งข้อหา จำนวน 10 คดี มีผู้ต้องหา 13 ราย และออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก จำนวน 3 คดี

นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 100 วันแล้วที่เราได้ร่วมต่อสู้กันมาในสงครามโควิด 19 ในครั้งนี้ ด้วยการเตรียมความพร้อม และการเฝ้าระวังที่เข้มงวดตั้งแต่ต้น ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำให้เรามียอดผู้ป่วยในระดับที่ควบคุมได้ มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศชั้นนำ และมีความพร้อมรับมือในทุก ๆ ด้าน เป็นข้อพิสูจน์ว่าการดำเนินการของเรานั้นมีประสิทธิภาพประเทศต่าง ๆ ยกให้เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโควิด-19

“ขอให้พวกเราทุกคนเชื่อมั่นในมาตรการของรัฐ และมีวินัยอย่างเคร่งครัดในการปฏิบัติตาม ขอให้สัญญาว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หน้าที่ของผม คือดูแลคนไทยทุกคนทั้งประเทศ ขอให้พวกเราจะสู้ไปด้วยกัน พวกเราคือทีมประเทศไทย หากเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ไม่มีศึกใดที่เราจะเอาชนะไม่ได้”

สำหรับบุคคลากรด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลและสถานีอนามัยต่าง ๆ พร้อมทั้งสมาชิก อสม. นับล้านคนทั่วประเทศ ที่ทำงานอยู่ในด่านหน้าของพวกเรา รวมถึงเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร และจิตอาสา ทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือดูแล และให้บริการประชาชน ในวิกฤตินี้ ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อสุขภาพของท่านเอง ผมอยากบอกให้ทุกคนทราบว่า ท่านคือ ความหวัง คือ “ฮีโร่” ที่อยู่ในหัวใจของตน และหัวใจของคนไทย ทั้ง 70 ล้านดวง ขอขอบคุณในความเสียสละของทุกท่าน

เตือน 4 ข้อห้ามช่วงสงกรานต์

สัปดาห์หน้าเป็นช่วงเทศกาลประเพณีสงกรานต์ แม้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกาศเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ แต่ให้ทำงานตามปกติ แล้วจะชดเชยภายหลัง แต่ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิด

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญ ทั้งข้อห้ามและข้อแนะนำ ดังนี้

(1) งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ

(2) งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา

(3) งดเว้นการรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี

(4) งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงาน และมีคุณค่าทางจิตใจ จึงขอให้ปฏิบัติ ดังนี้

(1) สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน

(2) การแสดงความกตัญญู ขอพรต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 – 2 เมตร และให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยด้วย

(3) ส่งเสริมให้แสดงความรักและความกตัญญู ต่อบุพพการี – ผู้มีพระคุณ ที่อยู่ไกลกัน ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือสื่อออนไลน์ และในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย ที่จะมาถึงในเร็ววันนี้

“ผมในนามของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ขออวยพรให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจร่วมต่อสู้วิกฤตินี้ไปด้วยกัน และขอให้สงกรานต์นี้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อครอบครัว กันให้มากที่สุด เราจะร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้ให้จงได้ “ประเทศไทยจะต้องชนะ” อย่างแน่นอน”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Live : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงสถานการณ์ COVID-19

โพสต์โดย Matichon Weekly – มติชนสุดสัปดาห์ เมื่อ วันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2020

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0