โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

รู้หรือไม่?...‘ความสามารถในการรับความเสี่ยง’ ประเมินผ่านการทำ “Suitability Test” ได้

Wealthy Thai

อัพเดต 8 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 20 ส.ค. 2564 เวลา 11.50 น. • ดร.ธนัยวงศ์ กีรติวานิชย์

ในการลงทุนใดๆ หากนักลงทุนยังไม่สามารถจับต้นชนปลายว่า จะเริ่มต้นได้อย่างไรนั้น สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจำเป็นต้องรู้นอกเหนือจาก “เป้าหมาย” ในการลงทุนของตนเอง ก็คือ “ระดับความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้ (Risk Tolerance)” ว่า สามารถรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้มากน้อยเพียงใด
“หากรับความเสี่ยงได้น้อย ก็ย่อมเหมาะกับทางเลือกในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่หากรับความเสี่ยงได้สูงมาก ก็สามารถที่จะลงทุนในอะไรก็ได้ตามแต่ที่ตนเองต้องการ”
แล้วอย่างงี้จะรู้ได้ไงละว่า ตนเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากพิจารณาตามหลักวิชาการแล้ว ระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละคนรับได้ จะสามารถประเมินได้จาก

  • ความสามารถในการรับความเสี่ยง (Ability to Take Risk) หมายถึง ความพร้อมที่จะลงทุน และสามารถยอมรับผลลัพธ์ที่เกิดจากการขาดทุนได้มากน้อยแค่ไหน โดยจะพิจารณาจาก ‘อายุ’ และ ‘ฐานะทางการเงิน’ ของนักลงทุนแต่ละคน

หากมีอายุน้อย หรือฐานะการเงินเข้มแข็งก็ย่อมมีความสามารถในการรับความเสี่ยงสูง แต่หากมีอายุมาก หรือฐานะการเงินอ่อนแอ ความสามารถในการรับความเสี่ยงก็จะต่ำ”

  • ความเต็มใจในการรับความเสี่ยง (Willingness to Take Risk) หมายถึง พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนผู้นั้น โดยพิจารณาจากทัศนคติที่มีต่อความเสี่ยง หากมองความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ท้าทาย ตื่นเต้น เร้าใจ แสดงว่า เต็มใจรับความเสี่ยงได้สูง สามารถลงทุนในอะไรที่มีความไม่แน่นอนได้ ในทางกลับกัน หากมองความเสี่ยงเป็นสิ่งที่น่ากลัว ย่อมเต็มใจรับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็จะเลือกลงทุนในอะไรที่ให้ผลลัพธ์ที่แน่นอนแทน

“แน่นอนว่า นักลงทุนคนเดียวกันอาจมีความสามารถในการรับความเสี่ยง และความเต็มใจในการรับความเสี่ยงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันก็ย่อมได้ เช่น นักลงทุนที่ชอบความตื่นเต้นเร้าใจ แต่ฐานะการเงินกลับอ่อนแอ ย่อมไม่กล้าที่จะนำเงินไปลงทุนในอะไรที่มีความเสี่ยงสูง หรือนักลงทุนที่มองเรื่องการลงทุนเป็นสิ่งที่อันตราย แม้ว่าฐานะการเงินเข้มแข็ง แต่ก็จะไม่นำเงินมาเสี่ยงลงทุนอยู่ดี ในกรณีที่ผลการประเมินออกมาสวนทางกันเช่นนี้จะถือว่า นักลงทุนผู้นั้นรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ต่ำนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การประเมินระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ตามหลักวิชาการนั้นกลับเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)” ในฐานะผู้กำกับดูแลการทำธุรกรรมในตลาดทุนจึงได้มีการพัฒนา “แบบสอบถาม (Questionnaire)” ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมิน โดยจะมีลักษณะเป็นแบบฟอร์มมาตรฐานให้ธุรกิจหลักทรัพย์ยึดปฏิบัติเป็นรูปแบบเดียวกัน (Single Form)
ซึ่งในอดีตจะเรียกกันว่า “แบบประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Profile Questionnaire)” แต่เพื่อให้สอดคล้องกับการให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความต้องการของนักลงทุนภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จึงได้เปลี่ยนมาเรียกเป็น “แบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน (Suitability Test หรือเรียกสั้นๆ ว่า Suit Test)” แทนในที่สุด
Suitability Test” ประกอบด้วยคำถามแบบปรนัย (Multiple Choices) จำนวน 12 ข้อ คำถามแต่ละข้อจะมีเกณฑ์การให้คะแนน และมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป โดยจะนับคะแนนรวมตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 10 เพื่อประเมินหาความเสี่ยงโดยรวมที่นักลงทุนรับได้ ส่วนข้อที่ 11 และข้อที่ 12 จะใช้ประเมินการยอมรับความเสี่ยงจากอัตราเลกเปลี่ยน และการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ แต่จะไม่มีการนำมานับคะแนนรวมแต่อย่างใด เมื่อนักลงทุนทำแบบประเมินเสร็จเรียบร้อยครบทุกข้อแล้ว ก็จะทำการประมวลผล แล้วแบ่งระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ออกตามเกณฑ์คะแนนดังนี้

  • หากคะแนนน้อยกว่า 15 แสดงว่า นักลงทุนรับความเสี่ยงได้ต่ำ

  • หากคะแนนอยู่ระหว่าง 15 ถึง 21 แสดงว่า นักลงทุนรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงต่ำ

  • หากคะแนนอยู่ระหว่าง 22 ถึง 29 แสดงว่า นักลงทุนรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง

  • หากคะแนนอยู่ระหว่าง 30 ถึง 36 แสดงว่า นักลงทุนรับความเสี่ยงได้สูง

  • หากคะแนนตั้งแต่ 37 ขึ้นไป แสดงว่า นักลงทุนรับความเสี่ยงได้สูงมาก

ทั้งนี้ นักลงทุนต้องเป็นผู้ลงมือ “ทำแบบประเมินด้วยตนเองเท่านั้น” จึงจะทราบถึงระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ในขณะที่ “ผู้ติดต่อผู้ลงทุน” ก็สามารถนำผลที่ได้จากการประเมินไปใช้ในการให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละคนรับได้นั่นเองครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0