โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ‘สิงคโปร์’ส่อเค้าย่ำแย่ คือสัญญาณเตือนภัยของเศรษฐกิจทั่วเอเชีย ถึงพิษผลกระทบสงครามการค้า

Manager Online

เผยแพร่ 21 ก.ค. 2562 เวลา 14.16 น. • MGR Online

มันไม่ใช่แค่สิงคโปร์!!

ยอดส่งออกที่ลดต่ำลง และอัตราเติบโตขยายตัวซึ่งเลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี กำลังโหมกระพือความกังวลเกี่ยวกับทิศทางอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศนครรัฐแห่งนี้ก็จริงอยู่ แต่พวกนักวิเคราะห์เห็นกันว่า ตัวเลขเหล่านี้ยังเป็นการเตือนภัยว่า ภูมิภาคเอเชีย --หรือพูดให้เคร่งครัดยิ่งขึ้นคือเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงเอเชียใต้ กำลังบ่ายหน้าไปสู่การชะลอตัว ขณะที่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนส่งผลกระทบอันเลวร้ายออกมา

ถึงแม้สิงคโปร์อาจจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก แต่ฮับส่งออกแห่งนี้มีความอ่อนไหวอย่างสูงต่อภาวะช็อกจากภายนอก และถูกมองมานานว่าเป็นปรอทวัดดีมานด์ความต้องการในสินค้าและบริการของทั่วโลก

นครรัฐที่มั่งคั่งแห่งนี้ต้องพึ่งพาอาศัยการค้าอย่างสูงลิ่ว และแต่ไหนแต่ไรมาจะเป็นหนึ่งในสถานที่แรกๆ ในเอเชียซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือนในช่วงที่เกิดภาวะตกต่ำระดับโลก –โดยที่ธรรมดาแล้วความย่ำแย่เหล่านี้ต่างมีแรงกระเพื่อมกระจายความเลวร้ายออกไปอีกในส่วนที่เหลือของภูมิภาค

สัญญาณต่างๆ ที่ปรากฏออกมาล่าสุดในสิงคโปร์นั้นไม่สู้ดีเลย เมื่อเดือนมิถุนายน การส่งออกหล่นวูบ 17.3% จากเมื่อ 1 ปีก่อน นับเป็นอัตราติดลบที่แรงที่สุดในรอบกว่า 6 ปี นำโดยการตกฮวบในการส่งออกชิปคอมพิวเตอร์

จากนั้นก็ตามมาด้วยตัวเลขชวนช็อกของอัตราเติบโตจีดีพีประจำไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งหดตัว 3.4% เมื่อคำนวณเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (แบบไตรมาสต่อไตรมาส) ขณะที่หากคำนวณแบบเปรียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว (แบบปีต่อปี) อัตราเติบโตก็อยู่ที่แค่บวก 0.1% ถือเป็นฝีก้าวที่เชื่องช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งเป็นเวลาที่โลกยังเผชิญวิกฤตภาคการเงินกันอยู่

“สิงคโปร์คือ ‘นกคีรีบูนในเหมืองถ่านหิน’” ซง เซง วุน นักเศรษฐศาสตร์ดูแลภูมิภาค อยู่ที่ ซีไอเอ็มบี ไพรเวต แบงกิ้ง บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี “และสิ่งที่สิงคโปร์บอกเราก็คือสภาพแวดล้อม (ทางเศรษฐกิจของเอเชียตอนนี้) กำลังสาหัส”

ในอดีตพวกคนงานเหมืองถ่านหินเคยนำเอานกคิรีบูนใส่กรงลงไปด้วยในเวลาพวกเขาทำงานอยู่ใต้ดิน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเตือนอันตราย โดยที่นกพวกนี้จะตายเมื่อปรากฏก๊าซพิษขึ้นมาแม้เพียงปริมาณน้อย จึงเป็นการส่งสัญญาณให้คนงานทราบว่า พวกเขาจะต้องรีบออกมาจากเหมืองแล้ว

ขณะที่อัตราการเติบโตที่อ่อนตัวลงเรื่อยๆ ของจีน เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ถูกประณามว่าทำให้การส่งออกของชาติเอเชียทั้งหลายชะลอตัว แต่พวกนักวิเคราะห์บอกว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ก็ส่งผลทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงอย่างฉกาจฉกรรจ์

เวลานี้ปักกิ่งกับวอชิงตันได้ตอบโต้กันขึ้นภาษีศุลกากรเล่นงานสินค้าของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วหลายระลอก รวมแล้วในการค้าสองทาง มีสินค้าซึ่งถูกขึ้นภาษีเป็นมูลค่ามากกว่า 360,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า

สิงคโปร์นั้นเป็นจุดพักเปลี่ยนถ่ายสินค้าแห่งสำคัญ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่กำลังมุ่งหน้าไปยังตลาดโลกตะวันคกและที่ออกมาจากตลาดเหล่านั้น รวมทั้งยังเป็นฐานในเอเชียสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าไฮเทคบางประเภทอีกด้วย ขณะที่นครรัฐแห่งนี้อาจจะกำลังแสดงให้เห็นอาการตึงเครียดย่ำแย่กว่าใครเพื่อน แต่ข้อมูลด้านลบก็ปรากฏออกมาจากตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้เช่นกัน

การส่งออกกำลังลดต่ำกันทั่วเอเชีย ในอินเดียตัวเลขนี้ติดลบ 9.7% เมื่อเดือนมิถุนายน ส่วนที่อินโดนีเซีย เจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หล่นลง 8.9% ในเดือนเดียวกัน สำหรับเกาหลีใต้ก็เซถลาลงมา 10.7% ในเดือนพฤษภาคม

รัฐบาลต่างๆ พากันหั่นลดตัวเลขคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ และมาตรวัดกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการของประเทศจำนวนมาก ต่างวาดภาพให้เห็นอนาคตที่มืดมัว

พวกธนาคารกลางกำลังเคลื่อนไหวออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศกันเป็นแถว โดยที่อินโดนีเซียกับเกาหลีใต้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเมื่อวันพฤหัสบดี (18 ก.ค.) ที่แล้ว กลายเป็น 2 รายล่าสุดในเอเชียซึ่งหั่นต้นทุนการกู้ยืมลงมา

หน่วยงานทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของสิงคโปร์ ก็ถูกจับตามองว่าน่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกันในเวลาประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายเดือนตุลาคมนี้ อีกทั้งมีนักเศรษฐศาสตร์บางรายกำลังพยากรณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศนี้อาจร่วงลงเข้าสู่ภาวะถดถอยด้วยซ้ำไปในปีหน้า

“ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้าคราวนี้ ขณะที่ความสนอกสนใจส่วนใหญ่มุ่งโฟกัสไปที่การขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่ความเสียหายไม่ได้จำกัดวงเอาไว้เฉพาะที่ 2 ระบบเศรษฐกิจนี้เท่านั้น” ไอเอชเอส มาร์กิต บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ ระบุเอาไว้ในรายงานแสดงความคิดเห็นฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้

“ยอดส่งออกจากประเทศสำคัญๆ ของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่หรือประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า ต่างถูกกระทบกระเทือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2019”

การส่งออกชะงักงัน

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีน ส่งผลกระทบหนักต่อสายโซ่อุปทานอันสลับซับซ้อน ซึ่งอยู่เบื้องลึกของระบบการค้าโลกสมัยใหม่

มันเล่นงานใส่ดีมานด์ความต้องการของจีนในวัตถุดิบและสินค้าอื่นๆ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาจะจัดส่งมายังแดนมังกรเพื่อเข้าโรงงานผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป แล้วจากนั้นก็ขนส่งไปยังตลาดอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา

ในเอเชีย วัตถุดิบและสินค้าซึ่งเจอผลกระทบนี้มีกว้างขวางมาก ตั้งแต่น้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซีย ไปจนถึงเซมิคอนดักเตอร์จากสิงคโปร์

พวกโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตของจีนถูกบังคับให้ต้องลดการนำเข้า เนื่องจากการส่งออกของพวกเขาเองไปยังสหรัฐฯได้ลดลงฮวบเมื่อเจอการขึ้นภาษีศุลกากร

เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในเวลาที่ดีมานด์ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ ในจีนได้ชะลอลงมาอยู่แล้ว เพราะเศรษฐกิจแดนมังกรขยายตัวแผ่วลง --โดยตามตัวเลขที่เพิ่งประกาศออกมา จีดีพีแดนมังกรในไตรมาส 2 เติบโตในอัตรา 6.2% ซึ่งเป็นฝีก้าวที่อ่อนปวกเปียกที่สุดในรอบระยะเวลาเกือบ 30 ปี

ขณะที่สิงคโปร์มีความอ่อนเปราะเป็นพิเศษต่อการเชื่องช้าลงของเศรษฐกิจโลก กระนั้นเท่าที่ผ่านมาก็มักดีดตัวกลับขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง เป็นต้นว่าหลังจากหดตัวในปี 2009 ระหว่างเกิดวิกฤตภาคการเงินทั่วโลก เศรษฐกิจของนครรัฐแห่งนี้ก็กลับเติบโตพรวดพราดได้ถึง 14.5% ในปี 2010

อย่างไรก็ดี อนาคตใกล้ๆ นี้ อาจจะยังคงปั่นป่วนวุ่นวาย

โนมูระ บริษัทหลักทรัพย์ใหญ่ของญี่ปุ่นเขียนเอาไว้นารายงานชิ้นหนึ่งว่า “การส่งออกของเอเชียยังน่าจะอยู่ในความเอื่อยเฉื่อยต่อไปในช่วงหลายๆ เดือนนับจากนี้”

(เก็บความจากเรื่อง 'Canary in the coal mine': Singapore woes ring trade alarm bells ของสำนักข่าวเอเอฟพี)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0