โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความยาวทารกในครรภ์ เราคาดคะเนได้หรือไม่

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 11 พ.ย. 2562 เวลา 03.00 น. • Motherhood.co.th Blog
ความยาวทารกในครรภ์ เราคาดคะเนได้หรือไม่

ความยาวทารกในครรภ์ เราคาดคะเนได้หรือไม่

เมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ คุณแม่คงอยากจะรู้ว่าเจ้าตัวน้อยในท้องมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร แข็งแรงหรือไม่ ด้วยเทคโนโลยีอัลตราซาวด์ เราสามารถรู้ถึง "ความยาวทารกในครรภ์" ได้ เพื่อนำข้อมูลนี้ไปคำนวณวันครบกำหนดคลอด วันนี้ Motherhood จะมาเตรียมตัวคุณแม่ให้พร้อมในการไปทำอัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูทารกน้อยกันนะคะ มีศัพท์เฉพาะอะไรบ้างที่ต้องรู้ การทำอัลตราซาวด์มีรายละเอียดและขั้นตอนอย่างไร ตรวจเพื่อดูอะไรในครรภ์เราบ้าง ติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ

การตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์

การตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งการตรวจวิธีนี้มีความปลอดภัยสูง และสามารถทำได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ ในปัจจุบันพัฒนาการของเครื่องอัลตราซาวด์ก้าวหน้าเป็นอันมาก จากเดิมที่เป็นระบบ 2 มิติ พัฒนาสู่ระบบ 3 มิติ และระบบ 4 มิติ ทำให้เราได้รับความละเอียดในการตรวจวินิจฉัยเพิ่มขึ้นกว่าสมัยก่อน

การตรวจอัลตราซาวด์ทำให้รู้ถึงสุขภาพทารกได้หลาย ๆ ด้าน
การตรวจอัลตราซาวด์ทำให้รู้ถึงสุขภาพทารกได้หลาย ๆ ด้าน

การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงไม่ได้มีประโยชน์เพียงการดูเพศและติดตามการเจริญเติบโตของทารกเท่านั้น แต่มันยังสามารถใช้ตรวจวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ได้อีกด้วย เพื่อให้แพทย์สามารถทำการรักษาขณะทารกอยู่ในครรภ์หรือเตรียมการรักษาหลังคลอดได้ทันท่วงที โดยมีวัตถุประสงค์ในการตรวจแตกต่างกันไปในแต่ละไตรมาส

การตรวจอัลตราซาวด์ในไตรมาสต่าง ๆ

ไตรมาสที่ 1  จะทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ การตรวจในรอบแรกนี้เป็นการตรวจเพื่อยืนยันอายุครรภ์ โดยการวัดความยาวของทารกตั้งแต่ศีรษะไปถึงกระดูกก้นกบ ทำให้เราทราบกำหนดวันคลอดที่แน่นอนให้กับแม่ที่ประจำเดือนไม่มา และยังสามารถใช้ตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ โดยการวัดความหนาของต้นคอทารก และกระดูกจมูกของทารก ร่วมกับการตรวจสารชีวเคมีในเลือดของแม่ ทำให้เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยทารกกลุ่มอาการดาวน์ได้อีกทางหนึ่ง

ไตรมาสที่ 2 สำหรับการตรวจในครั้งนี้ จะเริ่มตรวจตั้งแต่อายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ เป็นการตรวจเพื่อยืนยันอายุครรภ์ให้กับแม่ที่มาฝากครรภ์ช้า และยังไม่ได้รับการตรวจตั้งแต่ในไตรมาสแรก สามารถตรวจอวัยวะต่าง ๆ สมอง กระดูกสันหลัง หัวใจ ตับ ไต ตรวจดูตำแหน่งรกและปริมาณน้ำคร่ำ อีกทั้งยังสามารถตรวจการไหลเวียนโลหิตของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูกซึ่งเชื่อมต่อมายังทารก ซึ่งหากพบความผิดปกติ ก็อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์หรือครรภ์เป็นพิษ และภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ได้

ในกรณีที่แม่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อนหน้า เราสามารถวัดความยาวของปากมดลูกในช่วงอายุครรภ์นี้ เพื่อทำนายโอกาสในการที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดซ้ำ เพื่อให้การป้องกันภาวะดังกล่าวได้ด้วย

ไตรมาสที่ 3 การตรวจครั้งที่สามนี้จะทำในช่วงอายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ เพื่อตรวจดูพัฒนาการของทารกในครรภ์ ที่สำคัญเราสามารถตรวจดูอัตราการเจริญเติบโตของทารกได้ เพราะโดยปกติภาวะทารกเติบโตช้าจะเกิดในช่วงนี้ ถ้าแพทย์สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงทีก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของทารกลง และยังช่วยลดโอกาสการเป็นเบาหวาน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูงของทารกหลังคลอดได้อีกด้วย

การทำอัลตร้าซาวด์ในช่วงนี้ยังสามารถตรวจการเจริญเติบโตของกระดูกของทารกได้ ซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยความผิดปกติของกระดูกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น คนแคระ ภาวะกระดูกบางผิดปกติ แขน-ขาสั้น มือหรือเท้าอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น เท้าปุก

อัลตราซาวด์ใช้ตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้หรือไม่

การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเพียงครั้งเดียวอาจไม่สามารถวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ แม่ตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจติดตามเป็นระยะ โดยเฉพาะในกรณีที่พบความผิดปกติของทารก อย่างไรก็ตาม การตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์สามารถดูได้จากการทำจากอัลตร้าซาวด์ 2 มิติ และควรทำช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์

อาจมีคำศัพท์และตัวย่อมากมายที่แพทย์ใช้ในการอัลตราซาวด์
อาจมีคำศัพท์และตัวย่อมากมายที่แพทย์ใช้ในการอัลตราซาวด์

ศัพท์ที่พบบ่อยในการตรวจอัลตราซาวด์

เมื่อคุณแม่ไปเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ ก็อาจจะต้องเจอกับศัพท์หรือตัวย่อแปลก ๆ ทางการแพทย์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่แพทย์พูดถึง โดยเฉพาะคำศัพท์แพทย์ที่อยู่ในรูปอัลตราซาวด์ เหล่านี้เป็นตัวย่อทางการแพทย์ที่แม่ควรรู้ก่อนไปอัลตราซาวด์ ซึ่งตัวย่อพวกนี้จะปรากฏบนจอให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นขณะที่แพทย์กำลังอัลตราซาวด์ดูลูกน้อยอยู่

CRL = Crown-Rump Length

ความยาวของทารก (CRL) คือ ระยะที่ยาวที่สุดของตัวอ่อนหรือทารก โดยวัดความยาวจากยอดศีรษะ (Crown) ไปจนถึงส่วนล่างสุดของสะโพก (Rump) การวัดความยาวของทารกจะมีประโยชน์ในการทำนายอายุครรภ์ได้ดีในไตรมาสแรก ซึ่งถือว่าเป็นตัววัดที่แปรปรวนน้อยและมีความถูกต้องแม่นยำในการทำนายอายุครรภ์มากที่สุด แต่ความถูกต้องแม่นยำในการทำนายอายุครรภ์จะลดลงเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น เนื่องจากทารกมักจะงอตัวหรือเหยียดตัวได้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และหลังอายุครรภ์ผ่าน 14 สัปดาห์ไปแล้วทารกจะมีขนาดยาวเกินไปจนไม่สามารถวัดได้ตลอดแนวความยาวจากภาพเดียว

และอีกวิธีที่จะทราบความยาวของทารก (CRL) สำหรับคุณแม่ที่ทราบอายุครรภ์ตัวเองจะสามารถคะเนความยาวของทารกได้จากการศึกษาและรวบรวมสถิติมาเป็นเวลานาน สูติแพทย์ใช้การคำนวณความยาวของทารกในครรภ์ คือ ภายใน 5 เดือนแรก นำจำนวนเดือนของการตั้งครรภ์ยกกำลัง 2 และตั้งแต่เดือนที่ 6 ขึ้นไป ให้เอา 5 ไปคูณกับจำนวนเดือน ก็จะได้ออกมาเป็นความยาวของทารกในหน่วยเซนติเมตร

ขนาดตัวของทารกในครรภ์จะค่อย ๆ โตขึ้นในแต่ละเดือน
ขนาดตัวของทารกในครรภ์จะค่อย ๆ โตขึ้นในแต่ละเดือน

LMP   = Last Menstrual Period

วันแรกของประจำเดือนรอบสุดท้าย (LMP) คือ วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายของคุณแม่ นับจากวันแรกที่มีเลือดออกมา ของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายก่อนที่จะพบว่าตัวเองตั้งครรภ์

EDD   = Estimated Delivery Date / EDC = Estimated date of confinement

วันครบกำหนดคลอด หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือวันที่คาดว่าลูกน้อยจะออกมาลืมตาดูโลก ข้อมูลส่วนนี้มาจากการสรุปเบื้องต้นว่า ระยะการตั้งครรภ์จะเป็นเวลาประมาณ 280 วัน (40 สัปดาห์) นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย (LMP)

*GA = Gestational Age *

อายุครรภ์นั้น เราได้มาจากการวัดสัดส่วนทารกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะมีความแม่นยำมากในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ และจะมีความคลาดเคลื่อนสูงมากขึ้นในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากไม่แน่ใจในอายุครรภ์ควรตรวจวัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวัดความยาวของทารกในไตรมาสแรกซึ่งมีความแม่นยำในการคำนวณอายุครรภ์มากที่สุด

ในการกำหนดวันคลอดหรือตรวจหาความผิดปรกติที่จะเกิดกับทารกในครรภ์ เป็นสิ่งที่คุณพ่อและคุณแม่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อความสมบูรณ์ของร่างกายลูกน้อยนะคะ ดังนั้น เมื่อไหร่ที่ทราบว่าตั้งครรภ์ ให้คุณแม่รีบหาข้อมูลการฝากครรภ์และรีบไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เลยค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0