โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความผิดปกติด้านการพูดของเด็กอายุ 1-5 ขวบและวิธีแก้ไขที่พ่อแม่ควรรู้

Mood of the Motherhood

อัพเดต 11 ก.ย 2562 เวลา 12.55 น. • เผยแพร่ 11 ก.ย 2562 เวลา 12.54 น. • Features

*เด็กในวัยหัดพูดบางคนจะแสดงอาการผิดปกติด้านการพูดออกมาให้เห็นในช่วงวัยที่แตกต่างกัน แต่ปัญหาและความผิดปกติเหล่านี้ยิ่งคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นเร็วเท่าไร ก็จะสามารถหาวิธีแก้ไขให้ลูกมีพัฒนาการทางการพูดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น *

1. ช่วงอายุ 1 ขวบ

หากเด็ก 1 ขวบยังไม่ยอมเปล่งเสียงอะไรออกมาเลย เรียกชื่อแล้วยังไม่หันมาตามเสียง ไม่เลียนแบบเสียง นี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกกำลังมีปัญหาด้านการสื่อสาร

วิธีแก้ไข: พ่อแม่ต้องพยายามพูดคุย ออกเสียงสูงต่ำ อา อี อู โอ อา อ่า อ้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เด็กสนใจและเริ่มออกเสียงตาม หลังจากนั้นชวนเด็กพูดคุยออกเสียงพยางค์เดียวซํ้าๆ เช่น หม่ำ-หม่ำ ปา-ปา มา-มา แล้วรอให้เด็กออกเสียงตาม พอฝึกไปได้สักระยะให้พ่อแม่เริ่มสอนลูกพูดคำสั้นๆ ที่สามารถสื่อความหมายให้เข้าใจได้ เช่น ไป เสื้อ ข้าว น้ำ

2. ช่วงอายุ 2 ขวบ

โดยทั่วไป เด็กวัยนี้จะสามารถพูดเป็นวลีประมาณสองพยางค์ได้แล้ว แต่ถ้าหากลูกยังไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดที่เป็นวลี ไม่สามารถพูดตอบรับหรือปฏิเสธได้ เป็นไปได้ว่าลูกกำลังมีความผิดปกติด้านการสื่อสาร

วิธีแก้ไข: ระหว่างทำกิจวัตรประจำวันลองฝึกให้ลูกตอบคำถามว่าเขากำลังทำอะไร เช่น กินข้าว กินน้ำ กินนม ค่อยๆ ฝึกขยายคำพูดลูกจากหนึ่งพยางค์ เป็นสองพยางค์ เพื่อเพิ่มความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ลูกให้มากยิ่งขึ้น

รวมถึงการฝึกให้ลูกรู้จักพูดตอบรับหรือปฏิเสธ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ตอบรับและปฏิเสธ เพื่อฝึกให้ลูกมีสกิลทั้งสองด้าน บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยตั้งคำถามที่จะเปิดโอกาสให้ลูกได้ตอบรับหรือปฏิเสธด้วยตัวเอง เช่น เอาข้าวเพิ่มอีกไหมคะ แล้วตอบสนองให้ตรงกับความต้องการของลูก ทำแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้ลูกสามารถแยกแยะความหมายของการพูดตกลงหรือปฏิเสธได้

3. ช่วงอายุ 3 ขวบ

เด็กสามขวบที่มีความผิดปกติด้านพูด จะไม่สามารถพูดคุยตอบโต้เป็นวลีสามคำติดต่อกันและมีความหมายไม่ได้ ไม่สามารถสื่อสารเป็นประโยคให้คนแปลกหน้าเข้าใจได้ ไม่สามารถร้องเพลงได้ (ไม่จำเป็นต้องจบเพลง) เห็นทีท่าเป็นแบบนี้แล้วต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหาพัฒนาการพูดให้เหมาะสมกับวัยโดยเร็ว

วิธีแก้ไข: จากที่เคยฝึกให้ลูกพูดวลีเดียว พออายุสามขวบต้องเริ่มให้ลูกฝึกพูดเป็นคำสามคำที่สามารถสื่อสารความหมายได้บ่อยๆ เช่น ไปหาแม่ ขอน้ำหน่อย พ่อไปทำงาน ฝึกพูดสามคำให้เด็กฟังบ่อยๆ

ตามหลักการเด็กวัยนี้ควรจะพูดเป็นประโยคให้คนแปลกหน้าเข้าใจได้เล็กน้อย หากเด็กพูดแล้วคนอื่นยังไม่เข้าใจหรือพูดไม่รู้เรื่อง พ่อแม่ต้องฝึกให้ลูกพูดประโยคที่สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ประจำวัน

และหากลูกยังไม่สามารถร้องเพลงได้ คุณพ่อคุณแม่ลองหาเพลงยอดฮิตง่ายๆ สำหรับลูก มาร้องเพลงด้วยกันกับลูก ฝึกร้องทีละท่อนแล้วให้เด็กร้องตาม ประกอบท่าทางที่สนุกสนานเข้าไปด้วย จะช่วยพัฒนาการพูดสื่อสารของลูกให้ดียิ่งขึ้น

4. ช่วงอายุ 4 ขวบ

ถ้าลูกวัยสี่ขวบยังไม่รู้จักพูดจาให้เข้ากับเหตุการณ์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและยังไม่สามารถบอกคุณสมบัติของสิ่งของได้ เช่น รูปร่าง สี ขนาดของสิ่งของ แสดงให้เห็นว่าเด็กกำลังมีปัญหาด้านการสื่อสารอยู่ พ่อแม่อาจจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเสียแล้ว

วิธีแก้ไข: พ่อแม่ต้องค่อยฝึกสอนให้ลูกรู้จักว่าสถานการณ์แบบนี้ ควรพูดอย่างไร เช่น สอนให้เด็กยกมือไหว้ผู้ใหญ่ทุกครั้งที่เจอ เวลาเด็กทำผิด สอนให้เขาพูดให้ติดนิสัยว่าขอโทษครับ/ค่ะ เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์เหล่านี้เอง เด็กๆ จะรู้จักพูดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

และหากลูกยังไม่สามารถบอกรูปร่าง สี ขนาดของสิ่งของ คุณพ่อคุณแม่ลองมองหาของรอบตัวในชีวิตประจำวัน เช่น ตอนกำลังกินข้าว ก็สอนลูกให้เห็นว่าช้อนสำหรับตักข้าวมีสีขาว หรือตอนแต่งตัวด้วยกัน พ่อแม่อาจจะพูดว่าเห็นไหมเสื้อหนูตัวเล็ก เสื้อพ่อตัวใหญ่ หลังจากฝึกพูดให้เขาเข้าใจเรื่องรูปร่าง สี ขนาดแล้ว ลองเช็คดูว่าเขาสามารถบอกได้หรือไม่

5. ช่วงอายุ 5 ขวบ

เด็กอายุเท่านี้ควรพูดได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ถ้าลูกยังไม่สามารถพูดหรือเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวัน อยู่ในกลุ่มเพื่อนก็เอาแต่นั่งเงียบ ไม่พูดคุย โต้ตอบสนทนากับเพื่อนๆ นี้อาจเป็นจุดสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้พ่อแม่เริ่มเอะใจว่าลูกกำลังมีปัญหาเรื่องการพูดอยู่หรือเปล่า

วิธีแก้ไข: คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มขอความช่วยเหลือและความร่วมมือจากคุณครูที่จะช่วยกระตุ้นให้ลูกมีพัฒนาการ อยากเล่า อยากคุยมากขึ้น และทุกวันหลังจากลูกกลับมาจากโรงเรียน คอยถามลูกวันนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เป็นโอกาสฝึกให้เขาหัดเล่าเรื่องราว หากลูกจำไม่ได้ พ่อแม่อาจจะต้องช่วยไกด์ทางค่อยถามว่าตอนเช้าพอหนูถึงโรงเรียนหนูทำอะไรบ้าง ตอนกลางวันกินข้าวกับอะไร วันนี้ได้เล่นอะไรกับเพื่อนบ้าง ค่อยๆ ฝึกเขาให้ลำดับเหตุการณ์และเล่าเรื่องเองได้ในที่สุด

อ้างอิง

RAMA CHANNEL

ตามใจนักจิตวิทยา

สถาบันราชานุกูล

คู่มือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ

แบบประเมินและป้องกันพัฒนาการเด็กไม่สมวัย วัยแรกเกิด-5 ปี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0