โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความตลก อารมณ์ขัน กับ Untitled Goose Game

The MATTER

อัพเดต 11 ธ.ค. 2562 เวลา 03.28 น. • เผยแพร่ 11 ธ.ค. 2562 เวลา 03.24 น. • Game Theory

‘อารมณ์ขัน’ สำคัญแค่ไหนกันสำหรับการดำรงชีวิต?

เหมือนจะเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ว่า คนเราขาดอารมณ์ขันไม่ได้ โดยเฉพาะในยามที่สถานการณ์ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมหดหู่ มองไปทางไหนก็ไม่เห็นทางออก ความหวังดูริบหรี่ลงเรื่อยๆ แต่การศึกษาอารมณ์ขันอย่างเป็นระบบ ศึกษาด้วยหลักวิชาการวันนี้ยังไม่แพร่หลายมากนัก ค่าที่ถูกนักจิตวิทยาจำนวนมากดูแคลนว่าเรื่องนี้ไม่ ‘ซีเรียส’ หรือ ‘เร่งด่วน’ พอที่จะควรค่าแก่การศึกษา ถึงแม้ว่านักจิตวิทยาสังคมชื่อดังหลายคนจะประกาศก้องถึงความสำคัญของอารมณ์ขัน อาทิ มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) ผู้ได้รับสมญา 'บิดาแห่งจิตวิทยาเชิงบวก' บอกว่าการมีอารมณ์ขันคือหนึ่งในลักษณะ 24 ประการที่เชื่อมโยงกับการมีความเป็นอยู่ที่ดี (wellbeing) ก็ตาม

ในโลกแห่งความจริง อารมณ์ขันอยู่ทุกที่และวนเวียนอยู่รอบตัวเรา การหัวเราะเอิ้กอ้ากจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่เราทำตั้งแต่วินาทีแรกๆ ที่เราลืมตาดูโลก และถ้าหากว่าเราโชคดี มันก็จะเป็นสิ่งท้ายๆ ที่เราได้ทำก่อนตาย และถ้าลองคิดดูดีๆ แล้ว ยากมากที่เราจะผ่านพ้นแต่ละวันไปได้โดยไม่อมยิ้มหรือหัวเราะในใจ เพื่อนของผู้เขียนบางคนบอกว่าต้องดูคลิปตลกในยูทูบก่อนนอน ไม่อย่างนั้นจะนอนไม่หลับ และการหัวเราะเบาๆ แบบนี้ก็เกิดกับเราถี่กว่าอารมณ์อื่นๆ ที่นักจิตวิทยาชอบศึกษา ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเสียดาย ความภาคภูมิใจ หรือความอับอายขายหน้า

ในเมื่อธรรมชาติของมนุษย์แสวงหาความเพลิดเพลินและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด จึงไม่น่าแปลกใจที่โฆษณาและสื่อบันเทิงส่วนใหญ่จะเน้นความตลกที่ทำให้เราหัวเราะ ต่อให้เป็นภาพยนตร์ดราม่าหรือแอ๊กชั่นก็มักจะมีฉากตลกสอดแทรกอยู่เสมอ นักวิจัยบางคนเริ่มเสนอว่า การศึกษาอารมณ์ขันด้วยหลักจิตวิทยาอย่างเป็นระบบอาจทำให้เรา ‘ปรับปรุง’ การหล่อเลี้ยงอารมณ์ขันได้ แบบเดียวกับที่การศึกษาวิธีที่มนุษย์ทำความเข้าใจกับภาษา (language comprehension) นำไปสู่การพัฒนาวิธีสอนภาษามาแล้ว ถึงแม้จะยังมีน้อย แต่งานวิจัยด้านจิตวิทยาที่ศึกษาอารมณ์ขันก็เจอข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายเรื่อง

นักวิจัยพบว่าอารมณ์ขันช่วยให้เรารับมือกับ

ภาวะเครียดและสถานการณ์ไม่เป็นใจได้ดีขึ้น

แถมยังช่วยรับมือกับความโศกเศร้าอาดูรด้วย คนที่รู้สึกตลกและหัวเราะได้เวลาที่คุยเรื่องคู่ครองของตัวเองที่ล่วงลับไปแล้ว แสดงออกว่าสามารถปรับสภาพอารมณ์ได้ดีหลังคนที่เขาหรือเธอรักจากไป

นอกจากนี้อารมณ์ขันยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายด้วย แพทย์พบว่าการหัวเราะ โดยเฉพาะหัวเราะดังๆ แบบท้องคัดท้องแข็งช่วยการไหลเวียนของเลือด การทำงานของปอด และการทำงานของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะช่วงหน้าท้อง (ภาพยนตร์ที่แสดงประโยชน์นานัปการของอารมณ์ขันจากมุมของการแพทย์ที่ดีมาก คือเรื่อง 'Patch Adams')

นอกจากอารมณ์ขันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราในระดับปัจเจกแล้ว มันยังมีประโยชน์ในระดับสังคมด้วย ไม่น่าแปลกใจที่คนเปี่ยมอารมณ์ขัน รุ่มรวยมุกตลก มักจะเป็นที่นิยมและได้รับเสียงชื่นชมมากกว่าคนอื่น ความสามารถของเราในการทำให้คนอื่นตลกและ ‘เก็ต’ มุกตลก ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนอื่นว่าเขาจะอยากจีบหรือเป็นเพื่อนกับเราหรือไม่ (ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ตัวย่อ GSOH – ย่อมาจาก good sense of humor เป็นคำอธิบายคุณสมบัติที่พบบ่อยในประกาศหาคู่ออนไลน์)

นักวิจัยบางคน อาทิ บาร์บ เฟรเดอริกสัน (Barb Frederickson) พบว่าการมีอารมณ์ขันเป็นวิธีเพิ่มพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมาก ยังไม่นับว่ามันเป็นวิธีที่ดีในการปลดชนวนความตึงเครียดเวลาเข้าสังคม เราทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ที่พอมีใครพูดล้อเล่นสถานการณ์ตรงนี้ สถานการณ์น่ากระอักกระอ่วนก็ดูผ่อนคลายขึ้นทันที

ในระดับที่ใหญ่กว่านั้นอีก อารมณ์ขันได้รับการพิสูจน์มาหลายยุคแล้วว่าเป็น ‘อาวุธ’ ที่ทรงพลังในการท้าทายหรือต่อต้านผู้มีอำนาจ รวมทั้งระบอบเผด็จการ (อ่านตัวอย่างที่สนุกมากของไทยได้ในหนังสือ หัวร่อต่ออำนาจ โดย ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ) ผู้บริโภคหลายคนใช้อารมณ์ขันในการวิพากษ์วิจารณ์ยี่ห้อที่ตัวเองไม่ชอบ

ตัวอย่างที่สนุกมากคือเพลงล้อเลียนสายการบินยูไนเต็ด ชื่อเพลง United Break Guitars แต่งและขับร้องโดย เดฟ แคร์รอล (Dave Carroll) เพลงนี้มีคนดูไปแล้วกว่า 19.6 ล้านวิว และส่งผลให้ราคาหุ้นของยูไนเต็ดดิ่งลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์!

แน่นอน อารมณ์ขันถึงแม้จะทรงพลัง

และมีประโยชน์มากมาย มันก็ไม่ใช่จะสร้างกันได้ง่ายๆ

เราทุกคนคงนึกชื่อภาพยนตร์ รายการทีวี และโฆษณาหลายเรื่องที่พยายามตลกแต่ปรากฎว่า ‘มุกแป้ก’ หรือที่แย่กว่านั้นคือกลายเป็นแสดงความไร้รสนิยมหรือดูแคลนวัฒนธรรมชนชาติอื่นจนถูกประณามอย่างรุนแรง

ในโลกของเกม อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยดีในเกมจำนวนนับไม่ถ้วน แต่เกมที่ยกให้อารมณ์ขันเป็นพระเอก และตลกจริงๆ ชนิดที่ดาราตลกค้างฟ้าอย่าง ชาร์ลี แชปลิน ถ้าได้เล่นคงบอกว่า นี่คือผู้สืบทอดอารมณ์ขันแบบเขาในโลกสมัยใหม่ นั่นก็คือ 'The Untitled Goose Game' เกมเล็กแต่ฮอตฮิตติดลมบน ฝีมือของ House House สตูดิโออินดี้จากออสเตรเลีย

เล่นแล้วให้อารมณ์เหมือนหลุดเข้าไปในหนังของ ชาร์ลี แชปลิน หรือฉากในเรื่อง มิสเตอร์บีน (Mr. Bean) แต่สนุกกว่าอีกเพราะคราวนี้เราเป็นคน (ตัว) สร้างความวุ่นวายและความตลกวายป่วงทั้งหลายเอง

เราจะเข้าใจแก่นของเกมนี้ทันทีที่เปิดฉากโดยไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เราเล่นเป็นห่านซนขนขาวฟู เดินเตาะแตะ (แค่ท่าเดินก็กินขาดแล้ว) แถมวิ่งและสยายปีก ใช้จะงอยปากของเราสร้างความวุ่นวายและร้าวฉานให้กับเหล่ามนุษย์ในเมือง ทำให้คืนวันอันแสนสงบของพวกเขาน่าตื่นเต้นกว่าปกติ (ต้องขอบคุณเราสิ!)

แนวเกมของเกมนี้สรุปได้สั้นๆ ว่า เป็นเกมพัสเซิล (puzzle แก้ปริศนา) ที่ไม่มีนามธรรมอะไรเลย ทุกสิ่งจับต้องได้อยู่ในโลกจริง(ของเกม) แถมฟิสิกส์ของสิ่งของต่างๆ ในเกมยังถูกต้องสมจริงตามหลักฟิสิกส์พอสมควร เช่น ของยิ่งหนักเราจะคาบในปากไม่ได้ ต้องค่อยๆ ลากด้วยความเชื่องช้า, สิ่งของทรงกลมกลิ้งเร็วหรือช้าตามน้ำหนักและความลาดชันของพื้นที่, เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ถ้าลากลงน้ำจะขัดข้องชั่วคราว (ซึ่งก็ช่วยในการแก้ปริศนา เช่น ฉากแรกในสวนเราต้องคาบวิทยุไปวางบนผ้า (ภารกิจปิกนิก) แต่ปัญหาคือมันส่งเสียงดังมาก คนทำสวนจะปรี่เข้ามายึดจากเราไปทันที แต่ถ้าลากมันลงน้ำก่อน วิทยุจะเงียบเสียงลงชั่วคราว เปิดโอกาสให้เราคาบมันย่องผ่านคนทำสวนได้สำเร็จ)

ทีมผู้สร้าง The Untitled Goose Game จำลองฟิสิกส์ของสิ่งต่างๆ มาอย่างสมจริง แต่ก็ไม่ละเอียดยิบย่อยจนทำให้หมดสนุก แต่ฟิสิกส์สนุกสนานก็ยังไม่ใช่ดาวเด่นของเกม ดาวเด่นที่แท้จริงต้องยกให้กับความละเอียดลออของการสังเกตและจำลอง 'พฤติกรรม' ของมนุษย์ในโลกจริง มาใส่ให้กับมนุษย์จำแลงในเกม ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองเล็กไร้นามในชนบทอังกฤษ (สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรม เสื้อผ้าของผู้คน และอาการ ‘ถือตัว’ สนุกๆ ของผู้อาวุโสบางคนในเกม)

แต่อากัปกิริยาของพวกเขาล้วนเป็นสากล คนที่มองเห็นของหาย (เพราะไปอยู่ในจะงอยปากเราแล้ว) จะออกเดินตามหา ถ้ากำลังจดจ่อทำอะไรสักอย่างแต่ได้ยินเสียงร้องของเรา อารามตกใจก็จะทำให้ค้อนหรือของที่ถืออยู่หลุดมือ หรือบางทีก็อาจผิดใจกับคนอื่นเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นตัวการก่อความเสียหาย ขณะที่ตัวเราแสยะยิ้มมุมปาก (ห่านยิ้มไม่ได้ แต่จินตนาการเอาก็แล้วกัน) อยู่ห่างๆ

ในฉากหนึ่ง เรา (ห่าน) เห็นคนแก่กำลังปาลูกดอกเล่นในสวนหลังบาร์เหล้า เราเตาะแตะไปซุ่มสังเกตจากพุ่มไม้ใกล้เคียง ไม่กี่นาทีก็พบว่าผู้อาวุโสจะย่องแย่งมานั่งพักบนม้านั่งใกล้ๆ เป็นครั้งคราวเพื่อพักขา ทีนี้ถ้าใครมาดึงม้านั่งออกในจังหวะที่กำลังจะหย่อนก้นล่ะ? มันต้องตลกแน่เลย ก่อนหน้านั้นเราก็แกล้งคนทำสวนไปทีแล้ว ยื่นจะงอยปากไปเปิดก๊อกน้ำขณะที่เขากำลังก้มตัวมาเช็คความอ้วนพีของแปลงแครอท เปียกโชกตลกมาก ตลอดทั้งเกม Untitled Goose Game กระตุ้นให้เราคิดแบบ มิสเตอร์บีน หรือ ชาร์ลี แชปลิน สำรวจฉากใหม่ๆ เพื่อดูว่ามีโอกาสที่จะสร้างสถานการณ์ตลก (บนความเดือดร้อน(เล็กน้อย)ของคนอื่น) อะไรได้บ้าง

เล่นไปสักพักเราจะเริ่มคุ้นเคยกับอารมณ์ขันของเกมจนเล็งเห็นได้เองว่าอะไรที่น่าจะเป็น ‘ปริศนา’(สถานการณ์ตลกที่ต้องสร้าง) ที่ต้องแก้ในฉากนั้นๆ โดยไม่ต้องเปิดโพยคำสั่งในเกมขึ้นมาดู (เราต้องแก้ปริศนาจำนวนหนึ่งให้ได้ก่อน ถึงจะเปิดทางไปฉากต่อไป) ที่สนุกกว่านั้นอีกคือ ทุกฉากมีปริศนา ‘ลับ’ ที่ไม่ได้อยู่บนโพย แต่ถ้าเราทำได้ เกมจะขึ้นข้อความบอกว่าเราแก้ปริศนาลับได้แล้วนะ ยกตัวอย่างเช่น ในฉากแรกคือคนทำสวน ปริศนาลับข้อหนึ่งคือ “ล็อกประตูสวน ขังให้คนทำสวนอยู่ด้านนอก” เป็นต้น

ระบบเกมเล่นง่ายมาก กดปุ่มหนึ่งเพื่อก้ม อีกปุ่มอ้าปากงับของ กดอีกปุ่มค้างเพื่อวิ่ง อีกปุ่มกางปีก (ข่มขู่) ปุ่มสุดท้ายแผดร้อง ทั้งเกมใช้เวลาเพียง 5-6 ชั่วโมงก็จบ แต่เราจะสนุกสนานและหัวเราะดังๆ มากกว่าหนึ่งครั้งตลอดเกม และแน่นอน ถ้าอยากหาปริศนาลับให้ครบทุกอันก็ต้องใช้ความสังเกตและเจ้าเล่ห์แสนกล รวมถึงความคิดสร้างสรรค์มากเป็นพิเศษ

อะไรที่ทำให้ The Untitled Goose Game เกมเล็กๆ ที่ทีมผู้สร้างทั้งทีมมีสมาชิกเพียงสี่คน ได้รับความนิยมเปรี้ยงปร้างติดชาร์ตทั้งพีซี เครื่องนินเทนโดสวิทช์ และกำลังแพร่ไปอีกหลายคอนโซล?

ผู้เขียนคิดว่าหลักๆ มาจากความสำเร็จของ House Houseในการสื่ออารมณ์ขันแบบสากล และสร้างความตลกแบบสากลที่ใครๆ ก็ ‘เก็ต’ ได้

ไม่เกี่ยงว่าจะมีอายุ เพศ เชื้อชาติ หรือมาจากวัฒนธรรมไหน ความที่เกมนี้ทั้งเกมไม่มีบทพูดอะไรเลย คนเล่นไม่ต้อง ‘อ่าน’ อะไรเลย (ยกเว้นเมนูคั่นเกม) ก็ทำให้มันเหมาะกับการเล่นกับเด็ก และให้เด็กเล่นเพื่อฝึกปรือความคิดสร้างสรรค์ (แต่พ่อแม่ก็คงต้องคอยกำชับว่า อย่าทำตัวเหมือนห่านในชีวิตจริงนะลูก เดี๋ยวจะเดือดร้อน!)

เหนือสิ่งอื่นใด The Untitled Goose Game ให้เราแปลงร่างเป็น ‘ตัวตลก’ ที่ก่อความวุ่นวายให้กับชาวเมือง อลหม่านแต่ก็สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม จนสุดท้ายก็ไม่มีใครถือสาเจ้าห่านแสนซนเหมือนกับที่ไม่มีใครถือสาเด็กซน ห่านในเกมนี้ไม่ใช่ตัวตลกที่ซ่อนเร้นความหม่นเศร้าอย่างตัวตลกใน Dropsy แต่เป็นตัวตลกแบบคลาสสิก ตลกชวนหัวแบบ มิสเตอร์บีน หรือ ชาร์ลี แชปลิน

The Untitled Goose Game เป็นเกมตลกยอดนิยมได้ก็เพราะความ ‘เป๊ะ’ และความชัดเจนแม่นยำของการสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ รวมถึงการทำให้ห่านเป็นพระเอกที่อดเอ็นดูไม่ได้ ไม่ว่ามันจะก่อความวุ่นวายขนาดไหน แค่ท่าเดินชูคอเตาะแตะก็ตลกแล้วในตัวมันเอง แต่พอลงน้ำก็ว่ายปร๋ออย่างสง่างาม ทั้งหมดนี้ดู ‘จริง’ ดังนั้นจึงสร้างความรู้สึกร่วม และทำให้เราหัวเราะออกมาเมื่อเกิดสถานการณ์ตลก ทั้งที่เราจงใจทำให้เกิด และที่เราสร้างสถานการณ์โดยบังเอิญ

ทั้งหมดนี้ทำให้ The Untitled Goose เป็นเกมตลกที่จะได้รับความนิยมและคนเล่นจะจดจำอย่างชื่นมื่นไปอีกนาน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเกมนี้ถึงมีแฟนพันธุ์แท้เป็นล้านคน บางคนทุ่มเทถึงขนาดเก็บและลากของทุกสิ่งที่เก็บได้ในเกมเอาไปไว้ในรังห่าน (ใช้เวลาเพียงเจ็ดชั่วโมงเท่านั้นในเวลาจริง)

ความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่องของ The Untitled Goose Game น่าจะจุดประกายให้ดีไซเนอร์ออกแบบ ‘เกมตลก’ กันมากขึ้น ไม่ใช่แต่เพียงสอดแทรกฉากตลกเข้ามาในเกม ผู้สังเกตการณ์วงการหลายคนเสนอว่า เกมในอนาคตน่าจะมีอารมณ์ขันเป็นศูนย์กลางของเกมมากขึ้น เมื่อคนเริ่มมองหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่และเบื่อหน่ายกับความเครียดและความรุนแรงในโลกแห่งความจริง

The Untitled Goose Game จะคลาสสิกไปอีกแสนนานก็เพราะห่านแสนซนอยู่ในตัวพวกเราทุกคน ความโกลาหลอลหม่านที่ห่านสร้างในแง่หนึ่งก็เปรียบดังกระจกสะท้อนความโกลาหลของเหตุการณ์ในโลกจริง เหตุการณ์ที่บ่อยครั้งดูเหลือเชื่อและ ‘เหนือจริง’ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเราต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์ขันกันมากขึ้น – ทั้งในการรับมือกับเหตุการณ์ การรักษาสติสัมปชัญญะและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเอาไว้ และการต่อต้านท้าทายเผด็จการ ไม่ต่างจากใน The Great Dictator ภาพยนตร์ตลกสุดคลาสสิกของ ชาร์ลี แชปปลิน

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0