โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความจริงคืออะไร - เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

TALK TODAY

เผยแพร่ 18 พ.ย. 2562 เวลา 17.00 น. • เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ที่ผมเริ่มสัมภาษณ์คนมาลงเพจ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ จำนวนในปัจจุบันคือกว่าหกร้อยโพสต์ ถ้าคิดเป็นจำนวนคนก็น้อยกว่าเล็กน้อย เพราะบางครั้งหนึ่งคนมีหลายโพสต์ ในฐานะคนทำงานสัมภาษณ์หลากกลุ่มหลายประเด็น คำถามที่ตัวเองเจออยู่บ่อยๆ คือ

 เราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาพูดความจริง

 ทุกครั้งที่เจอคำถาม ผมอ้ำอึ้ง ช่วงแรกคำตอบแตกต่างตามคนถาม ถ้าใครดูอยากรู้จริงจัง ผมเลือกที่จะแจกแจงในเรื่องที่พอประเมินได้ เช่น การถามเรื่องเดิมสองสามครั้งในหนึ่งการสัมภาษณ์ หรือบางคำตอบสามารถตรวจทานได้จากข่าวสาร ซึ่งหากไม่ตรงกัน ก็เป็นไปได้ทั้งโกหกหรือพูดผิด แต่ถ้าใครถามแล้วดูไม่ได้สนใจมาก ผมมักยิ้มแทนคำตอบ

 เวลาผ่านไปสักระยะ ผมเลือกที่จะตอบว่า “ไม่รู้ว่ะ” ไม่ได้ยียวนกวนประสาท แต่ผมไม่รู้จริงๆ

 บางส่วนของบทนำจากหนังสือ ‘เสียงแห่งทศวรรษ’ (รวมบทสัมภาษณ์คัดสรรในรอบสิบปี ตีพิมพ์ครั้งแรกมีนาคม 2551) โดยวรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักสัมภาษณ์ที่ถือเป็น ‘ครู’ ของใครหลายคน เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

 ในอาชีพการงานคนทำสัมภาษณ์ มีคนเคยถามผมว่าจะรู้ได้ยังไงว่าผู้ให้สัมภาษณ์พูดความจริง

 แทนคำตอบ ส่วนใหญ่ผมหัวเราะ

 เพราะรู้ว่าเขาถามเล่นๆ ไม่หวังคำตอบจริงจัง หรือไม่ก็ไม่มีเวลามากพอที่จะฟัง

 ให้ตอบอย่างเป็นเรื่องเป็นราว สำหรับผม นี่เป็นปริศนาธรรมระดับชาติ นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

 หากควรทำเป็นวิทยานิพนธ์ หรือรายงานถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กระนั้นเลย

 รถสีขาว แต่แปะสติ๊กเกอร์ไว้ว่า ‘รถคันนี้สีน้ำเงิน’ เราจะแปรความหมายอย่างไร

 ความจริงของเขาคืออะไร

 ความจริงของคุณคืออะไร

 แค่นี้เราก็อาจต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญผ่าตัด ตีความ อธิบาย หาความหมายร่วมกันให้ได้ก่อน เพื่อจะตอบคำถามได้ตรงประเด็น

 ระหว่างนี้ ผมขออนุญาตตอบอย่างจริงใจไปก่อน---หากว่าคุณขี้เกียจรอขั้นตอนขึ้นโรงขึ้นศาลซึ่งท่านก็วุ่นวายหลายเรื่อง วุ่นวายและมีคนพยายามจะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

 ย้อนไปสู่คำถาม---จะรู้ได้ยังไงว่าผู้ให้สัมภาษณ์พูดความจริง

 ผมจะไปรู้ได้ยังไงล่ะครับ โธ่..

.

 เท่าที่พูดคุยกันได้ ผมอยากอธิบายเรื่อง ‘ความจริง’ แบบนี้ 

 เรื่องแรก - บทสัมภาษณ์ใน ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ เป็นเรื่องเล่าว่าด้วยประสบการณ์ชีวิต ลงลึกที่ความรู้สึกนึกคิด ดังนั้นไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบความจริง เพราะหากเริ่มต้นด้วยท่าทีเช่นนั้น ใครเล่าจะอยากเปิดใจสนทนา  

 เรื่องที่สอง- เขาหรือเธอไม่ใช่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ เลยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามเพื่อจับผิด หรือต่อให้คุยกับรัฐมนตรี ข้าราชการประจำกระทรวง หรือนักการเมืองท้องถิ่น ผมก็ไม่ได้คุยเรื่องงบประมาณประจำปี นอกจากบทบาทใหญ่โตแล้ว เขายังเป็นพ่อแม่ เป็นสามีภรรยา เป็นลูกหลาน หรือเป็นคนธรรมดาด้วย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมสนใจมากกว่า 

 เรื่องที่สาม- ก่อนจะถามว่าอะไรจริง-อะไรไม่จริง ต้องย้อนไปที่ระหว่างบรรทัดของคำถามด้วยว่า ความจริงคืออะไร  

 ถ้าพ่อคนหนึ่งบอกว่ารักลูกมาก เลยตั้งใจทำงานหาเงินเพื่อหยิบยื่นความสุขสบายให้ ทั้งข้าวของเครื่องใช้มากมาย อีกทั้งเงินทองไม่เคยขาดมือ วันหยุดก็หาเวลาไปเที่ยวด้วยกัน เพียงแค่ระหว่างวันต้องเจรจาธุรกิจอยู่ตลอด ถ้าเขามีลูกหลายคน บางคนเข้าใจเงื่อนไขและพอใจกับสิ่งที่ได้รับ แต่บางคนบอกว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ความรัก!

 เช่นนั้นแล้ว เราควรเชื่อความจริงจากใคร

 ถ้าไม่นับความจริงแบบตรงไปตรงมาว่า นี่โต๊ะ นั่นช้าง โน่นทะเล – ความหมายของ ‘ความจริง’ ที่ว่าด้วยประสบการณ์ชีวิตนั้น ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเกี่ยวข้องกับมุมมองของแต่ละคนด้วย สิ่งที่เรามองตัวเอง กับสิ่งที่คนอื่นมองเข้ามา ไม่มีทางที่จะตรงกันทุกรายละเอียด 

 เรื่องสุดท้าย- คนเพิ่งเจอกันไม่กี่นาที ผมไม่รู้หรอกว่า ‘ความจริงคืออะไร’ เมื่อไม่รู้ ผมเลยไม่ค่อยสนใจ แต่ละคำถามเลยไม่ใช่การตรวจสอบ แต่เป็นการสำรวจเบื้องหลังความคิดและการกระทำเหล่านั้น 

 เพราะอะไรถึงทำแบบนั้น

 หลังจากทำแล้วเกิดความรู้สึกยังไง

 มองย้อนกลับไปเห็นอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น

 ฯลฯ

 พอใช้คำถามเหล่านั้นบ่อยๆ ถามด้วยความสงสัย ถามแบบไม่จับผิด ถามโดยไม่อวดฉลาดว่ารู้ทัน หลายครั้งเลยที่คำตอบคือบทเรียนชั้นดี

 วิธีเยียวยาบาดแผลจากความผิดพลาด

 เรื่องราวระหว่างทางของความพยายามในชีวิต

 มุมมองในการก้าวข้าวเพื่อเปลี่ยนจากเศร้าเป็นสุข

 ฯลฯ

 ตลอดการทำงาน ผมเองค่อยๆ เติบโตผ่านเรื่องเล่าของพวกเขา และเชื่อว่าคนอ่านคงได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

 ณ ปัจจุบัน หากใครถามว่า “เราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาพูดความจริง” 

 ผมคงตอบว่า “ไม่รู้ว่ะ แต่ผมไปคุยมาจริงๆ” 

 ทันทีที่กดโพสต์ลงเพจ ผมหมดหน้าที่แล้ว ใครอ่านแล้วได้อะไร ใครอ่านแล้วไม่ได้อะไร หรือใครอ่านแล้วอยากตรวจสอบความจริง สิทธิ์นั้นเป็นของทุกคน 

.

.

ติดตามบทความของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคารที่ 1 และ 3 ของเดือน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0