โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งหอมหวาน หากขัดแย้งกันต่อไปก็มีแต่เสียกับเสีย

Rabbit Today

อัพเดต 22 ก.ค. 2562 เวลา 07.37 น. • เผยแพร่ 22 ก.ค. 2562 เวลา 07.37 น. • อาณัติ
ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งหอมหวาน หากขัดแย้งกันต่อไปก็มีแต่เสียกับเสีย

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ พอมาอยู่ร่วมกัน คนหนึ่งอย่าง อีกคนอย่าง รวมกันหลายคนก็หลายอย่าง ความขัดแย้งไม่เกิดก็แปลกแล้วเธอ แต่ในเมื่อรู้แล้วว่า สิ่งที่เป็น ที่ทำ ที่มี จะนำไปสู่การกระทบกระทั่ง จนแตกหัก เสียหาย ก็กลับมาสำรวจตัวเอง คอยระวังระไวไว้แต่ต้น จะดีกว่ามาเสียใจทีหลัง

ถาม : ทำอย่างไรไม่ให้ขัดแย้งกันเล่า

ตอบ : มีหลักให้ยึดให้เกาะสิเธอ เมื่อไม่มีหลักเกี่ยวเกาะ ถ้าเป็นเรือก็กวัดแกว่งไปกับเกลียวคลื่นอารมณ์ ความรู้สึก เหวี่ยงตัวเองไปกับกระแสที่มากวน ด้วยทัศนคติสามัญอย่าง ตัวเรา เราถูก เราดี เราสามารถ เราเหนือกว่าคนอื่นไปเสียทุกอย่าง เริ่มต้นก็พร้อมปะทะเสียแล้ว เพราะคิดว่าเรือตัวเองสวย แข็งแรง ไม่มีวันล่ม วันหลง

เอาเถอะ ที่พลาดไปแล้ว ก็อย่าค่อนขอดกันว่า คนนั้น คนนี้เป็นสายบุญ สายบาป สายเปย์ สายย่อ สายแว้น ฯลฯ ต่อกันเลย ทุกคนต่างล่องลอยในโลกแห่งชีวิต หากไม่มีอะไรคอยยึด ค่อยเกาะ เราจะหลงระเริง และหลุดร่วงไปจากความสำเร็จและความสุขโดยง่ายดาย แล้วก็เจ็บปวด เศร้าตรม วนไป…วนไป

จากตรงนี้กล่าวอ้างหลักธรรมในพุทธศาสนาที่สอนถึงการอยู่ร่วมกันในชื่อ สังคหวัตถุ 4 ประกอบไปด้วย ทาน สมาธิ ปัญญา สมานัตตัตตา

เมื่ออ้างอิงความหมายจาก ‘พจนานุกรมพุทธศาสตร์’ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ความหมาย สังคหวัตถุ 4 คือ ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี, หลักการสงเคราะห์

1. ทาน หรือ การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของ ตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน

จากตรงนี้ ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อเรามีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมุ่งช่วยเหลือกันและกัน การตบตี แย่งชิง และทะเลาะกันก็ดูจะเกิดโดยยาก เรียกว่าชนะตั้งแต่ตั้งต้น

ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งหอมหวาน หากขัดแย้งกันต่อไปก็มีแต่เสียกับเสีย,Rabbit Today
ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งหอมหวาน หากขัดแย้งกันต่อไปก็มีแต่เสียกับเสีย,Rabbit Today

ข้อถัดมา 2. ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ คือ วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยอมตาม

จากตรงนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าเราพูดจาดี จากจิตใจที่ดี คำอ่อนหวาน สุภาพ ก็ประสานสามัคคี และสร้างไมตรีอันดีให้กับผู้ที่เรารัก เราร่วมงาน หรือที่เราร่วมวงเสวนาและปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างงดงาม เรียกว่าชนะใจตั้งแต่เปล่งวาจา

3. อัตถจริยา หรือ การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม

จากตรงนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าเราทำตัวเป็นประโยชน์กับคนใกล้ตัว สมาชิกในครอบครัว เพื่อนในออฟฟิศ หรือชุมชนที่เราอยู่ เราจะเป็นคนที่ไม่ขัดแย้งกับใครเลย เพราะเรามองประโยชน์เป็นเรื่องหลัก คล้ายคนทำงานเพื่องาน ไม่ได้อิงคน หรือกลุ่มใด 

ข้อสุดท้าย 4. สมานัตตตา หรือ ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอด้วยปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี 

ไม่ถือตัว ไม่ถือตน ปฏิบัติต่อทุกคนเสมอกัน ข้อนี้ฟังง่าย ปฏิบัติยาก แต่ใครทำได้ก็เป็นชัยชนะสำคัญของชีวิต

ด้วยหลักธรรมที่กล่าวมาเป็นสากล ปรับใช้ได้กับทุกคน ทุกฝ่าย ทุกวัย เมื่อเป็นได้กันโดยส่วนใหญ่ ทำให้การอยู่ร่วมกัน ไม่มีตบตีแย่งชิง ไม่เป็นสิงห์คีย์บอร์ด ไม่อวดอ้าง หรือโยนบาป

ใครยังเป็นไม่ได้ เพราะไม่มีหลักให้เกาะ ก็ขอให้ลองนำธรรมะระดับสองพันกว่าปีนี้ไปปรับใช้ดู ได้ผลดีแล้วก็ส่งต่อไปยังคนรอบข้าง ให้เจริญจิต เจริญใจต่อๆ กันไป เป็นกุศลนะเธอนะ เข้าพรรษาหรือไม่เข้าพรรษา ก็มีหลักธรรมประจำชีวิตได้นะเธอ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0