โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คลื่นแห่งการประท้วง (2) - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 06.17 น. • ประจักษ์ ก้องกีรติ

สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนบทความเรื่อง “คลื่นแห่งการประท้วง” อธิบายปรากฎการณ์การชุมนุมบนท้องถนนของผู้คนจำนวนมากเพื่อประท้วงรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในทุกภูมิภาค ไล่ตั้งแต่เอเชีย ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา ไปจนถึงแอฟริกา โดยสรุปทิ้งท้ายว่า บทเรียนที่สำคัญจากคลื่นการประท้วงในโลก ณ ขณะนี้ คือ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ การคอร์รัปชั่น และการผูกขาดอำนาจสูง ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบทางการเมืองสูงตามไปด้วย

มาถึงสัปดาห์นี้ ขออนุญาตใช้พื้นที่เขียนถึงเรื่องนี้ต่อ เพราะคลื่นแห่งการประท้วงยังคงลุกลามและขยายตัวไปอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศหลักในยุโรปล้วนเผชิญกับการประท้วง ได้แก่ สเปน ซึ่งประเด็นการแยกตัวของแคว้นคาตาลูญญากลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง ที่สาธารณรัฐเช็ค คลื่นประชาชนราว 200,000 คน ออกมาเดินขบวนขับไล่นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งในประเด็นคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อน นับเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1989 ที่ฝรั่งเศสมีการชุมนุมครบรอบ 1 ปีของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง ผู้คนยังคงมาเข้าร่วมจำนวนมากเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารประเทศของประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่พุ่งสุง

ที่อิหร่าน ประชาชนออกมากชุมนุมปิดถนน เพราะไม่พอใจที่รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมัน รัฐบาลใช้ความรุนแรงปราบผู้ชุมนุมและ “ชัตดาวน์อินเทอร์เน็ต” ไม่ให้คนทั้งประเทศเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ทั้งนี้ก็เพื่อตัดช่องทางการสื่อสารและนัดหมายชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วง

ส่วนประเทศที่ก่อนหน้านี้มีการประท้วงมานานนับเดือน สถานการณ์ก็ยังคุกรุ่นและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ที่อิรัก ความรุนแรงโดยรัฐบาลต่อผู้ชุมนุมเพิ่มสูงขึ้นโดยมีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงแล้วถึง 300 กว่าคน ที่เลบานอนสถานการณ์ก็ตึงเครียดสูงขึ้น แรกเริ่มเดิมทีการประท้วงของประชาชนเกิดขึ้นเพราะไม่พอใจผลการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสที่ทำให้ประธานาธิบดีเอโบ โมราเลส ผู้นำประชานิยมฝ่ายซ้ายขวัญใจคนจนชนะเลือกตั้ง จึงออกมาประท้วงเพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่สุดท้ายกองทัพและชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมฉวยใช้สถานการณ์ความวุนวาย “รัฐประหารเงียบ” บีบให้โมราเลสลงจากตำแหน่ง จนต้องลี้ภัยไปอยู่เม็กซิโก ผู้นำคนใหม่ซึ่งมีแนวนโยบายแบบขวาสุดโต่งสถาปนาอำนาจและเริ่มกวาดล้างเครือข่ายนักการเมืองสังกัดพรรคของโมราเลส โดยไม่ชัดเจนว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่เมื่อใด ทำให้ฝ่ายประชาชนที่สนับสนุนอดีตประธานิบดีโมราเลสออกมาประท้วงต่อต้านการกระทำที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการยึดอำนาจอย่างไม่ชอบธรรม

ที่ฮ่องกง แน่นอนว่าสถานการณ์ยังคงคุกรุ่นและรุนแรงมากขึ้น มีการปะทะอย่างดุเดือดระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจที่มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิค มีการปิดล้อมมหาวิทยาลัย มีการยิงแก๊สน้ำตา และมีคนถูกจับกุมจำนวนมาก คนหนุ่มสาวฮ่องกงแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าพวกเขาปักหลัก “สู้ไม่ถอย” เพื่อเสรีภาพและอนาคตของพวกเขา ในขณะที่รัฐก็ใช้มาตรการหนักขึ้นเรื่อยๆ ในการควบคุมสถานการณ์

คำถามที่นักสังเกตการณ์และนักวิเคราะห์ทั่วโลกกำลังถามคือ *คลื่นการประท้วงที่เกิดขึ้นกำลังส่งสัญญาณอะไรให้กับเรา *

บางคนบอกว่านี่คือ “อาหรับสปริง ภาค 2” แต่คราวนี้ไม่เหมือนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เพราะการชุมนุมประท้วงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในภูมิภาคเดียว และเป้าหมายของการประท้วงก็มีความหลากหลายกว่าเดิม รัฐบาลที่ตกเป็นเป้ามีทั้งรัฐบาลทหาร รัฐบาลเผด็จการพรรคเดียว รวมถึงรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

แน่นอนว่าสาเหตุเฉพาะหน้าที่เป็นชนวนของการประท้วงมีหลากหลายตามแต่กรณีไป ดังที่ชี้ให้เห็นในบทความเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ใจกลางของการประท้วงคือ การต่อต้านระบบ (ซึ่งใหญ่กว่ารัฐบาลและตัวผู้นำ) ที่ล้มเหลว

เราอาจจะสรุปรวบยอดคลื่นของการประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายมุมโลก ณ ขณะนี้ว่า มันขับเคลื่อนด้วยความโกรธและความอัดอั้นตั้นใจของผู้คนที่รู้สึกว่า “ไม่มีอะไรจะเสียอีกต่อไป” (nothing to lose) ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ล่มสลายและล้มเหลว บิดเบี้ยว ไม่ตอบสนองคนส่วนใหญ่ของสังคมให้สามารถมีชีวิตที่ดีได้ (broken system)

ระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศนอกจากชะงักงันแล้ว ยังเป็นระบบที่สร้างความเหลื่อมล้ำสูง คนบนยอดปิรามิดได้ประโยน์มหาศาลและมั่งคั่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราเร่ง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของสังคมที่อยู่ตรงกลางและฐานล่างของปิรามิดมีสถานะทางเศรษฐกิจที่หยุดนิ่งรวมถึงถดถอย ดิ้นรนหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอดแบบวันต่อวันโดยมองไม่เห็นอนาคตที่สดใสรอพวกเขาอยู่ข้างหน้า จนเกิดเป็นความรู้สึกร่วมของความ “ทนไม่ไหว” กับระบบที่เป็นอยู่ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการประท้วงในหลายประเทศ ทั้งอิรัก อิหร่าน เอควาดอร์ เลบานอน จึงมีชนวนเหตุมาจากเรื่องค่าครองชีพและราคาสินค้ากับบริการที่เพิ่มสูงขึ้น

ระบบการเมืองที่ล้มเหลวมาซ้ำเติมสถานการณ์นี้ เพราะเมื่อประชาชนมีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก แต่เมื่อแหงนมองไปยังระบบการเมือง พวกเขากลับพบว่าเขาไม่มีพื้นที่ในระบบที่ “ส่งเสียง” ได้ และไม่มีตัวแทนที่ “แคร์” ทุกข์ร้อนของพวกเขา การส่งเสียงให้รัฐบาลหันมา “ฟัง” ความเดือดร้อนของสามัญชนคนธรรมดาจึงระเบิดออกมาบนท้องถนน ท้องถนนกลายเป็นพื้นที่ของเสรีภาพที่จะประท้วงระบบที่ปิดกั้นและไม่ปรับตัว ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุผลว่าชนวนการประท้วงในหลายประเทศมาจากการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส การออกกฎหมายที่กระทบสิทธิเสรีภาพพลเมืองโดยไม่มีการรับฟังเสียงประชาชนก่อน และการที่ประชาชนไม่มีสิทธิเลือกตัวแทนของตนเอง

ระบบที่ล้มเหลวนั้นสาหัสและน่าวิตกกังวลกว่าผู้นำที่ล้มเหลว เพราะการแทนที่ผู้นำเดิมที่ฉ้อฉลผูกขาดอำนาจ ขาดความสามารถ และคอร์รัปชั่นนั้นมิใช่เรื่องที่ยากจนเป็นไปไม่ได้ และอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาอันสั้น แต่การแก้ไขระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ผุพังและล้มเหลวนั้นเป็นกระบวนการที่กินระยะเวลายาวนาน และต้องอาศัยพลังร่วมอันมหาศาลของผู้คนในสังคมที่มีเจตจำนงร่วมกัน.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0