โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

คลายข้อสงสัย ว่าทำไมอะไรก็‘จีน’

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 12 ก.ย 2562 เวลา 03.20 น.

 

ช่วงที่ผ่านมามีความรู้สึกว่าหัวกระไดของทำเนียบรัฐบาลไม่แห้ง ในมิติความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจกับต่างประเทศ โดยเฉพาะชาติในเอเชียด้วยกัน จะบอกว่าเพราะมีการประชุมด้านอาเซียนในกรุงเทพฯด้วย ก็ไม่ผิดนักหากจะมองแบบนั้น

แต่ที่น่าสนใจคือมี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เดินทางคณะใหญ่มาเยือนประเทศไทยในรอบกว่า 7 ปี มีผู้บริหารจากค่ายรถยักษ์ใหญ่โตโยต้า มาเข้าพบ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯที่ทำเนียบ แถมในการประชุมครม.เมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังถามกระทรวงคมนาคมถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน

ความรู้สึกคือ ชาติในเอเชียที่ช่างเป็นมิตรกับเราดีแท้ แต่คำถามว่าทำไมหนอรัฐบาลจึงใส่ใจกับชาติเอเชียเยี่ยงนี้

 

*ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ *

 

 

หลังจากนั้นผมมีโอกาสไปนั่งฟัง ดร.สมคิด ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ“อนาคตเศรษฐกิจไทย เรากำหนดได้ ซึ่งจัดโดย สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์  ได้เห็นภาพของเศรษฐกิจ 3 ยุค ที่เชื่อมโยงให้เห็นว่าทำไม ประเทศไทยถึงเนื้อหอม มีชาติในเอเชียรวมทั้งจีนมาสนใจตลอดเวลา

คำตอบได้จาก ดร.สมคิดเล่าเป็นชั่วโมงบนเวที ท่อนหนึ่งว่า รอบกว่า 20 ปีในชีวิตนักการเมืองของรองนายกฯคนนี้ ผ่านการเมืองยุคแรก คือ ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 หรือ ต้มยำกุ้ง คงไม่ต้องบรรยายให้เยิ่นเย้อว่าหนักหน่วงขนาดไหนสำหรับประเทศไทย แต่คีย์เมสเสจที่ดร.สมคิด บอกคือ“ประเทศมีจุดอ่อน  คือ เสาหลักมีความผุกร่อนถ้าไม่เสริมเศรษฐกิจจะไม่มีทางแข็งแรงได้เลย เรื่องบุคลากรในองค์กร เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้วการปฏิรูปคือหัวใจสำคัญ แต่เมื่อเศรษฐกิจรุ่งเรืองเรามักไม่นึกถึงการปฏิรูป การเมืองก็นึกถึงเรื่องเฉพาะหน้า การชนะกันทางการเมืองได้เสียงเท่านั้น” 

เศรษฐกิจยุคที่ 2 ของรองนายกฯผู้นี้คือ ช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีสิ่งที่เกิดขึ้น 2 อย่าง 1. การเมืองเริ่มมีปัญหา ความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งทางสังคมเริ่มเกิดกีฬาสี เกิดขึ้นพร้อมกับสัญญาณบางอย่างว่าความสามารถในการแข่งขันของเราเริ่มถดถอย ค่าแรงไทยแพงกว่าเวียดนาม อุตสาหกรรมขนาดเบาเริ่มเคลื่อนย้ายออก ความสามารถแข่งขันถดถอยลง การเมืองไม่นิ่ง ขนาดประชุมอาเซียนซัมมิทผู้นำยังหนีขึ้น ฮ. แทบไม่ทัน

 

ยุคที่ 3 คือ ที่มีการรัฐประหารของ คสช. ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ความเชื่อมั่นก็ไม่ดี การท่องเที่่ยวซบเซาไม่ฟื้นเต็มที่ ด้านต่างประเทศโดนกดดันจากอเมริกาและยุโรป

จากนั้นดร.สมคิด เล่าอธิบายว่า ประเทศแรกที่มาหาและ“เป็นแบ็ก” ให้เราคือประเทศจีน

“ผมไปจีน ผมถือจดหมายส่วนตัวจากท่านนายกฯ“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ตอนนั้นเป็นหัวหน้าคสช.ด้วย นำไปให้มุขมนตรีแห่งรัฐของเขา ให้จีนกับเราสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในยามนั้นเราต้องการมิตรประเทศ ยุโรปไม่มองหน้าเรา ไม่ให้เจรจากันระหว่างบุคลากรทางการเมือง อเมริกาก็เช่นกัน ก็มีแต่ประเทศเอเชียที่มาติดต่อกับเรา

“มีคนถามว่าทำไมเราไม่ทำเอฟทีเอกับยุโรปกับอียู ผมก็บอกว่า ก็เขาไม่ทำกับเรา ไม่ใช่ไม่อยากทำ”

 ในตอนท้ายๆ รองนายกฯ วิเคราะห์ถึงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ“มีเทรดวอร์ มีคนถามผมว่าจบเร็วไหม คิดว่าจะจบหลังเลือกตั้งของอเมริกา สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การหาเสียงแน่นอน และเราต้องอยู่ของเราให้ได้ ผมคิดว่าเราน่าจะประคองอยู่ได้”

 

คอลัมน์ อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3504 วันที่ 12-14 กันยายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0