โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ครูเป็นหนี้เพราะ...เป็นอาชีพ​ที่ต้องมีหน้ามีตา​ จริงหรือ

NATIONTV

อัพเดต 11 ต.ค. 2562 เวลา 03.02 น. • เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 16.33 น. • Nation TV
ครูเป็นหนี้เพราะ…เป็นอาชีพ​ที่ต้องมีหน้ามีตา​ จริงหรือ
ครูเป็นหนี้เพราะ…เป็นอาชีพ​ที่ต้องมีหน้ามีตา​ จริงหรือ

การแก้ปัญหาหนี้ครูที่วิกฤติกับคุณครูบางกลุ่ม จึงอาจนำมาซึ่งการมีคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีขึ้น และมากไปกว่านั้นคือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่คนที่ทำอาชีพสุจริตคนหนึ่งควรจะได้รับ

"เพราะเป็นอาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคม" นี่เป็นเหตุผล ที่หลายๆคนหยิบยกขึ้นมาตอบถึงปัญหาหนี้ครู เวลาถูกถามว่าทำไมครูถึงต้องเป็นหนี้ ซึ่งก็ดูแล้วจะเป็นคำตอบที่ตื้นเขินเกินไป

เราพูดปัญหาหนี้ครูในวันนี้ ไม่ใช่ต้องการตอกย้ำซ้ำเติมหรือแก้ต่างครูที่เป็นหนี้ แต่อยากจะบอกให้รู้ว่า จริงๆแล้วมันน่าจะมีปัญหาในเชิงโครงสร้างหรือมีอะไรที่ซับซ้อนมากไปกว่า "พฤติกรรมการใช้จ่ายของครูในชีวิตประจำวัน" ซึ่งเป็นเรื่องระดับบุคคลมากๆ

รายการสารคดี "เรื่องใหญ่ Thai PBS" ที่เล่าถึงปัญหาหนี้ท่วมครู ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวของครูที่เป็นหนี้ออกมาอย่างน่าสะเทือนใจ มีกรณีของคุณครูที่เกษียณแล้วก็ยังใช้หนี้ไม่หมด ที่น่าเศร้าคือครูบางคนต้องขอข้าววัดกิน คำถามคือทำไมเราถึงต้องมาเห็นคุณครูตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ครูบางคนถูกยึดบ้านต้องหนีไปอยู่ที่วัด เป็นภาพที่สวนทางหากนึกย้อนถึงพระคุณของครูที่เคยสั่งสอนเรามา การเป็นผู้ทำหน้าที่ให้ความรู้กับลูกศิษย์ไม่น่าจะต้องมีสภาพชีวิตที่ยากลำบากและแร้นแค้นขนาดนี้

ปัญหาหนี้ครูเกิดจากอะไร สารคดีเรื่องดังกล่าว อธิบายไว้ประมาณ 3 สาเหตุหลักๆ 

1) เกิดจากความจำเป็น เพราะขึ้นชื่อว่าครูก็ต้องช่วยเหลือเด็ก เด็กบางคนยากไร้ไม่มีโอกาสครูก็ต้องควักเนื้อแบ่งให้ ครูเป็นอาชีพที่ต้องช่วยเหลือคน 

2) เป็นอาชีพที่ต้องมีหน้ามีตา 

3) เกิดจากการให้กู้ที่ซ้ำซ้อน

ในกรณีนี้ผมอยากโฟกัสที่ข้อที่ 3 คือการอนุมัติกู้ที่ซ้ำซ้อน เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง และเชื่อว่าจะมีศักยภาพในการใช้หนี้ที่ดีที่สุดอาชีพหนึ่ง เป็นที่มาให้มีกองทุนต่างๆปล่อยกู้รวมถึงสถาบันการเงินมองครูเป็นมนุษย์ทองคำ

วงจรหนี้ครูเริ่มจาก การมีกองทุนสวัสดิการหลายอย่างให้คุณครูด้วยกู้โดยหักจากสลิปเงินเดือน เช่น โครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เป็นต้น

คุณครูหลายคนถูกหักเงินเดือนในสลิปจากกองทุน กู้ยืมต่างๆ เหลือเงินให้ใช้อยู่แค่ 100 กว่าบาทต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่าไม่พอใช้ นำมาสู่การกู้หนี้ ทั้งในระบบจากสถาบันการเงินและนอกระบบ

วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้นตอนนี้ ซึ่งคุณครูสามารถเรียกร้องได้สำเร็จแล้วก็คือการหักเงินเดือนจากสลิปจะต้องไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้มีเงินเหลือพอใช้ในชีวิตประจำวัน หลังจากนั้นจะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้และสุดท้ายก็คือมีกลไกต่างๆป้องกันให้ครู กลับไปสู่วงเวียนปัญหาเดิม

เมื่อคนที่เป็นหนี้คือครู ผลกระทบก็ต้องตกอยู่กับนักเรียนด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทำให้คุณภาพการเรียนการสอนตกต่ำลง

เวลาใครบอกว่าครูเป็นอาชีพที่มีหน้ามีตาก็ไม่ผิด เพราะคุณครูก็ต้องเป็นที่เคารพนับถือของเด็กๆ อาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางจิตใจ จำเป็นต้องวางตัว ให้เหมาะสมกับสถานะทางสังคม แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาสู่การสร้างหนี้สิน ซึ่งเหตุผลการเป็นหนี้อาจจะไม่ได้มาจากเรื่องนี้เป็นหลัก

การแก้ปัญหาหนี้ครูที่วิกฤติกับคุณครูบางกลุ่ม จึงอาจนำมาซึ่งการมีคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีขึ้น และมากไปกว่านั้นคือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่คนที่ทำอาชีพสุจริตคนหนึ่งควรจะได้รับ

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #NationTV #Nation

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0