โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คมนาคมเตรียมนำร่อง 3 เส้นทางหลักขับเร็ว 120 กม./ชม.ได้

TODAY

อัพเดต 10 ธ.ค. 2562 เวลา 03.38 น. • เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2562 เวลา 03.38 น. • Workpoint News
คมนาคมเตรียมนำร่อง 3 เส้นทางหลักขับเร็ว 120 กม./ชม.ได้

รมว.คมนาคมเห็นชอบนโยบายเร่งด่วนกระทรวงคมนาคมเพิ่มความเร็วรถยนต์ขับบนถนนสายหลักเป็น 120 กม./ชม. เบื้องต้นเตรียมนำร่องถนนสายเอเซีย พหลโยธิน และถนนมิตรภาพ  

วันที่ 10 ธ.ค.2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแปรนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ โดยมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเจือ ราชสีห์ และนายตติรัฐ รัตนเศรษฐ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุม ในวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าที่ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ 2 เรื่อง คือพิจารณานโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผลการทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอัตราความเร็วบนทางหลวง เพราะกฎหมายดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ทับซ้อนกัน จึงมีมติเห็นชอบให้ปรับแก้กฎกระทรวงในการกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดของรถยนต์ตาม พ.ร.บ. 2 ฉบับ ให้สอดคล้องกัน โดยใช้ประเภทของถนนเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างเช่น ถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องจราจรขึ้นไป ซึ่งมีการแบ่งทิศทางการจราจรแยกออกจากกันและมีเกาะกลางหรือกำแพงกั้นเป็นความเร็วสูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งนี้ ควรกำหนดอัตราความเร็วต่ำสุดที่อนุญาตให้ใช้ในช่องจราจรขวาสุด รวมทั้งกำหนดบทลงโทษผู้ขับขี่ที่ใช้ช่องจราจรขวาสุดที่ใช้ความเร็วต่ำกว่า 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นต้น

เบื้องต้นกำหนดเส้นทางไว้ 3 เส้นทางหลัก คือ ถนน ทล.หมายเลข 32 (สายเอเชีย) ช่วงบางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 150 กิโลเมตร, ถนนมิตรภาพสายอีสานกรุงเทพ-นครราชสีมา และถนนวิภาวดีเส้นทางขึ้นเหนือจากชานเมืองกรุงเทพมหานคร

และการพิจารณานโยบายปรับเวลาการอนุญาตให้รถยนต์บรรทุกขนาดตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปเข้าเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ตั้งแต่เวลา 24.00 – 04.00 น. ตามที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เรื่อง ขอให้ทบทวนหรือชะลอนโยบายห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑลบางเวลา โดยเสนอว่า ปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยและรถบรรทุกเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากในแต่ละวันมีรถบรรทุกวิ่งเข้า – ออกพื้นที่กรุงเทพฯ เฉพาะช่วงเวลาเพียงวันละ 12 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นการขยายระยะเวลาห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุแต่จะมีผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์และระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง การขนส่งจะต้องเชื่อมต่อกันทุกระบบจะเกิดปัญหาลูกโซ่ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ผลกระทบต่อการพักผ่อนเวลากลางคืนของชาวกรุงเทพฯ โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้
- ทบทวนหรือชะลอนโยบายอนุญาตให้รถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อ วิ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงเวลา 24.00 – 04.00 น.
- ควรมีการประชุมกับเอกชนผู้เกี่ยวข้องให้รอบด้านเพื่อความรอบคอบ
- ให้ สนข. ร่วมกับสถาบันการศึกษาทำการศึกษารายละเอียดผลกระทบด้านโลจิสติกส์ให้รอบคอบ
- เลื่อนเวลาทำงานและเลิกงานของราชการและรัฐวิสาหกิจให้เลื่อมกัน เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์และลดความแออัดบนถนน
- ย้ายโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมออกนอกพื้นที่เมือง
- ยกเลิกการใช้ประโยชน์ท่าเรือกรุงเทพ และผลักดันการพัฒนาท่าเรือบก (DRY PORT)
- สร้างจุดพักรถบรรทุก สถานีขนส่งสินค้ารถบรรทุก เพื่อพักสินค้าและเปลี่ยนถ่ายสินค้ารถใหญ่ไปใช้รถเล็ก

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับข้อเรียกร้องดังกล่าวไปพิจารณา โดยกำหนดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ให้ชัดเจนภายใน 1 เดือน ซึ่งมาตรการทั้งหมดต้องตอบโจทย์เรื่องการจราจร ต้นทุนการก่อสร้าง และให้พิจารณาข้อกฎหมายของ กทม. ประกอบด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก และผลกระทบต่อภาคเอกชนโดยให้พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0