โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เมื่อพราหมณ์ "แบก" วรรณะต่ำเข้าเทวสถาน

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 27 มิ.ย. 2562 เวลา 04.05 น. • เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 04.05 น.
DbDjkl3UQAAZ9U-

กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา (2562) มีข่าวที่ทำให้พุทธศาสนิกชนทั่วโลกเป็นกังวล เมื่อองค์ทะไลลามะที่สิบสี่ทรงมีพระอาการประชวรค่อนข้างมาก

ในขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ The Tibetan Journal รายงานว่า หัวหน้าพราหมณ์และศาสนิกฮินดูของเทวสถานชื่อ “จิลกูร พละชี” (Chilkur Balaji) ในเมืองไฮเดอราบัท รัฐเตลังคนะ ทางตอนใต้ของอินเดีย ได้จัดพิธีสวดมนต์เพื่อขอให้พระองค์หายประชวรโดยเร็ว

ข่าวนี้ได้สร้างความแปลกใจว่าความสัมพันธ์ของวัดฮินดูนี้กับองค์ทะไลลามะมาจากไหน

ที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ทะไลลามะและหัวหน้าพราหมณ์วัดนี้ คือท่านรังคะราชัน (CS Rangarajan) ได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว

เพราะท่านพราหมณ์ได้ทำสิ่งที่ฮือฮาในสังคมอินเดียจนเป็นข่าวไปทั่วโลก

และทำให้องค์ทะไลลามะทรงประทับพระทัยมาก

 

จริงๆ แล้วเทวสถานแห่งนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เพราะเป็นเทวสถานเก่าแก่ซึ่งประดิษฐานพระศรีนิวาสหรือพระศรีเวงกเฏศ อันเป็นรูปเคารพที่สำคัญของพระวิษณุ ซึ่งชาวบ้านมักเรียกกันว่า “พละชี” (ออกเสียงใกล้เคียงว่าบาลายี Balaji)

ส่วนวัดที่เป็นต้นฉบับและมีชื่อเสียงที่สุดของพระเวงกเฏศ อยู่บนภูเขาติรุมาลา ในรัฐอันธระประเทศ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นวัดอันดับหนึ่งของอินเดีย ทั้งในแง่จำนวนผู้ไปแสวงบุญ ความงาม และความเก่าแก่ รวมทั้งยอดเงินบริจาค

ชาวฮินดูโดยเฉพาะผู้นับถือไวษณวนิกาย เชื่อว่าพระเวงกเฏศ (องค์ที่ติรุมาลา) ไม่ใช่เทวรูปที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่เป็นองค์พระวิษณุเองปรากฏเป็นเทวรูปให้สาวกได้บูชาอย่างใกล้ชิด

หากใครสนใจมีโอกาสก็ไปชมสักครั้งเถิดครับ จะได้เห็นสิ่งอันไม่คิดว่าจะได้เห็นในชีวิตนี้ เช่นพระวิมานที่หุ้มด้วยทองคำทั้งหลัง

 

แม้วัดจิลกูรจะเป็นเทวสถานไม่ใหญ่โตนัก ไม่เหมือนวัดต้นฉบับ กระนั้นก็มีชื่อเสียงมากในด้านความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะการขอพรด้าน “วีซ่า” (Viza) เพื่อไปยังต่างประเทศ ถึงกับเรียกกันว่าเทวสถานวีซ่า (Viza Temple) เลยทีเดียว

ท่านรังคะราชันเป็นผู้มีแนวคิดก้าวหน้า ในราวเดือนเมษายนปีที่แล้ว (2561) ท่านได้เดินทางไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยในเมืองและได้พบกับนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่เป็น “ทลิต” (Dalit) หรือคนในวรรณะต่ำ หลังพูดคุยกัน ท่านได้เล่าถึงตำนานเก่าแก่ที่พราหมณ์ต้องแบกคนวรรณะต่ำเข้าในวัด

และทำให้เกิดความคิดที่จะทำตามในเวลาต่อมา

 

ตํานานนี้มาจากตำนานธรรมของฝ่ายไวษณวนิกาย ในราวคริสต์ศตวรรษที่แปด มีกลุ่มของคนสามัญจากหลากหลายพื้นภูมิในอินเดียภาคใต้พยายามจะเผยแพร่คำสอนเกี่ยวกับความภักดีในพระวิษณุหรือพระกฤษณะให้กับคนธรรมดา

กลุ่มนี้เรียกว่าอาลซวาร์ (Azahwar) หรืออาลวาร์ (Alvar) ซึ่งคล้ายคลึงกับกลุ่มของอีกนิกายที่เผยแพร่การนับถือพระศิวะ ชื่อนยันนาร์ (Nyannar)

ในกลุ่มอาลวาร์นี้ มีท่านหนึ่งที่ชื่อติรุปปาน อาลวาร์ ท่านผู้นี้มีชาติกำเนิดในวรรณะต่ำ ครอบครัวอยู่ในพวกนักดนตรี

วันหนึ่งขณะที่เดินทางไปยังมหาเทวสถานศรีรังคัม ซึ่งเป็นศาสนนครที่ประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุไสยาสน์พระนาม “พระศรีรังคัม” (ShriRangam) นับถือกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไวษณวนิกาย ท่านไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังเทวสถานด้านในด้วยชาติกำเนิดอันต่ำต้อยของท่าน

ต้องบอกก่อนว่า ในอินเดีย เทวสถานหลายแห่งไม่อนุญาตให้คนนอกศาสนาและคนในวรรณะต่ำเข้าสักการะเทวรูปด้านใน (ไม่ใช่ในครรภคฤหะซึ่งเข้าได้แต่พราหมณ์ผู้ปรนนิบัติ แต่หมายถึงในอาคารสภา) เพราะถือว่าอาจนำมลทินโทษไปสู่เทวรูปแล้วก็จะเกิดบาปกรรมแก่คนผู้นั้นเอง แม้แต่ในปัจจุบันยังมีหลายที่ที่ยังปฏิบัติเช่นนี้อยู่ ซึ่งที่จริงควรพิจารณายกเลิกได้แล้ว

ดังนั้น ติรุปปานจึงทำได้แค่ขับร้องบทเพลงสรรเสริญอยู่ด้านนอก แล้วตนเองก็ตกภวังค์ดื่มด่ำในอารมณ์ความภักดีจนกีดขวางทางเดินของพราหมณ์ชื่อโลกสารังคะ ผู้มีหน้าที่สักการะ (อรจกะ) ที่เพิ่งตักน้ำมาเพื่อนำเข้าไปในเทวสถาน สารังคะจึงโยนหินเล็กๆ ก้อนหนึ่งไป หวังจะสะกิดให้คนวรรณะต่ำหลีกทาง (ไม่ยอมถูกตัวเพราะกลัวแปดเปื้อน) เผอิญหินนั้นไปโดนเข้าที่หน้าผากของติรุปปานจนเลือดออก ทว่าติรุปปานก็มิได้บ่นอะไร ทำเพียงแต่หลีกทางให้ โดยพราหมณ์เองก็ไม่ขอโทษ

เมื่อพราหมณ์โลกสารังคะเข้าไปภายในเทวสถานแล้ว ก็พบว่าหน้าผากของเทวรูปพระศรีรังคัมมีเลือดออกเช่นเดียวกับติรุปปาน จึงทราบแน่ว่าตนได้กระทำผิด

ตกกลางคืนพระศรีรังคัมได้ไปเข้าฝัน มีบัญชาให้วันรุ่งขึ้นพราหมณ์ต้องแบกติรุปปานด้วยไหล่ตัวเองเข้ามายังเทวสถาน

รุ่งเช้าพราหมณ์จึงไปขอให้ติรุปปานขึ้นขี่ไหล่ตนเพื่อเข้าไปยังเทวสถาน ติรุปปานผู้อ่อนน้อมไม่ยอมทำตาม พราหมณ์จึงบอกว่า นี่เป็นพระบัญชาของพระเป็นเจ้า แล้วแบกติรุปปานขึ้นขี่ไหล่ตนเองท่ามกลางสายตางุนงงของผู้คนตรงเข้าไปยังเทวสถานชั้นใน

ติรุปปานได้ทัศนาพระเจ้าอันเป็นที่รัก ซึ่งไม่คาดคิดมาก่อนว่าในชีวิตนี้จะมีโอกาสเห็น เขาจึงขับบทประพันธ์สรรเสริญขึ้นสดๆ ด้วยความไพเราะอ่อนหวาน และได้หายไปรวมกับพระเป็นเจ้าที่เขารัก

 

ด้วยแรงบันดาลใจจากตำนานนี้ ศรีรังคะราชันเห็นว่าธรรมเนียมการกีดกันคนเข้าสักการะพระเป็นเจ้าเป็นเรื่องที่ไม่ควรยอมรับ รวมทั้งธรรมเนียมการไม่แตะเนื้อต้องตัวกันด้วย ท่านจึงได้จัดพิธี “มุนีวาหนะเสวา” (การรับใช้ อันมี “มุนี” เป็นพาหนะ) ขึ้นในวันที่ 17 เมษายนปีที่แล้ว (2561) โดยได้เชิญเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อนายอาทิตยะ ซึ่งเป็นคนในวรรณะต่ำมายังเทวสถานของท่าน

นายอาทิตยะผู้นี้มีอายุยี่สิบห้าปี แต่เป็นคนเคร่งศาสนาและมีความรู้ทางศาสนาดีมาก เขาเล่าว่า ครอบครัวของเขาได้รับการปฏิบัติไม่ดีอยู่เสมอ และแม้แต่เทวสถานใกล้บ้านก็ยังปฏิเสธไม่ให้เขาเข้าไปสักการะ ซึ่งเทวสถานอีกหลายแห่งยังคงมีการปฏิบัติเช่นนี้อยู่

เขาหวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

 

พิธีเริ่มขึ้น โดยท่านศรีรังคะราชันได้แบกนายอาทิตยะขึ้นบนไหล่ (ขี่คอ) แล้วเดินเข้าไปยังเทวสถานท่ามกลางดนตรีปี่กลองแห่แหน จากนั้นจึงได้ทำพิธีบูชาเทวรูปด้วยกัน มีการสวมกอดและให้สัมภาษณ์ท่ามกลางประจักษ์พยานนับพัน

ศรีรังคะราชันให้สัมภาษณ์ว่า ท่านต้องการให้ทุกๆ เทวสถานทำอย่างเดียวกันนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องแบกทลิตเข้าไปภายใน

แต่ขอให้ต้อนรับ และให้ทุกๆ คนได้ร่วมพิธีอย่างเต็มที่ โดยถือว่าการกระทำในครั้งนี้เป็นการรณรงค์ “ความเท่าเทียม”

ภายใต้แนวคิดว่า “ทุกๆ คนเท่าเทียมกันหมดในสายพระเนตรของพระเจ้า”

การกระทำครั้งนี้ก่อให้เกิดความสนใจเป็นอย่างมากทั้งภายในและภายนอกอินเดีย เพราะเป็นเหตุการณ์ลักษณะเดียวกับที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ คือการท้าทายขนบจารีตเก่าๆ ที่พ้นสมัย

 

ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะนับเป็นการโต้แย้งต่อธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่ทำสืบๆ กันมา โดยมิต้องอ้างถึงมโนทัศน์จากตะวันตก (แม้จะมีอิทธิพลจริงๆ ก็ตาม) ที่อาจทำให้คนที่เคร่งศาสนาหรืออนุรักษนิยมมากๆ ต่อต้าน

แต่เป็นการพยายามค้นหา และ “ตีความ” ตำนานธรรม หรือธรรมเนียมและคำสอน “ภายใน” ของตนเองให้สอดคล้องกับคุณค่าร่วมของโลกสมัยใหม่ โดย “คนใน” เอง

อินเดียน่าสนใจตรงนี้แหละครับ ศาสนธรรมของอินเดียจึงมีความหลากหลาย และมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากมีอำนาจขององค์กรศาสนาส่วนกลางกดทับไว้

แต่เหตุที่อินเดียเป็นประชาธิปไตยและเป็นรัฐฆราวาส มันจึงเกิดขึ้นได้

เมื่อเหตุการณ์นี้เป็นที่รับรู้ องค์ทะไลลามะทรงชื่นชมเป็นอย่างมาก และได้ส่งจดหมายไปยังท่านศรีรังคะราชัน โดยกล่าวว่า พระองค์รู้สึกสั่นไหวกับเหตุการณ์นี้มากที่ท่านพยายามรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ โดยการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้

และพระองค์หวังว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะได้รับการตอบสนองในที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน

 

ในขณะที่เรากำลังมะงุมมะงาหรากับตัวบทเก่าๆ ที่โจมตีอินเดียอยู่ตลอดเวลา โดยมิได้เปิดโลกไปพบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ที่อินเดียกำลังก้าวไปข้างหน้าทั้งทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และสังคม แม้จะช้าหรือมีอุปสรรคบ้างก็ตาม

แต่สังคมไทยตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่? และกำลังจะไปไหน?

จะมีคำตอบในสภาไหม? ผมเองก็ไม่รู้

หรือคำตอบจะอยู่ในสายลม?

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0