โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คนไทยงง! “เหลื่อมล้ำแล้วยังไง?” ส่งผลกับชีวิตเราจริงเหรอ?

Another View

เผยแพร่ 13 ม.ค. 2562 เวลา 01.00 น.

คนไทยงง! เหลื่อมล้ำแล้วยังไง?ส่งผลกับชีวิตเราจริงเหรอ?

ประเด็นให้พูดถึงกันอย่างกว้างขวางหลังจากที่บริษัทวาณิชธนกิจชื่อดังอย่างเครดิตสวิส (Credit Suisse) เผยแพร่รายงานความมั่งคั่งโลก ประจำปี 2018เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา มีสื่อหลายสำนักได้นำรายงานฉบับดังกล่าวมานำเสนอ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “ไทยเป็นประเทศไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นา ๆ กระทั่งกลายเป็นดราม่าในโซเชียลมีเดีย แต่ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาพัฒน์ฯ ที่ได้ออกมาโต้แย้งว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะหากใช้ดัชนีจีนี (GINI Index) ตามข้อมูล ของธนาคารโลกเป็นตัววัดจะพบว่าไทยเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำอยู่ในลำดับกลาง ๆ เท่านั้น 

คำถามที่มีต่อประเด็นความเหลื่อมล้ำก็คือ ความเหลื่อมล้ำมันส่งผลอย่างไรต่อคนทั่วไปบ้าง 

เราอาจจะแบ่งความเหลื่อมล้ำออกเป็น 2 ประเภท คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างชาติ และความเหลื่อมล้ำประจำชาติ ความเหลื่อมล้ำประเภทแรกเป็นการดูรายได้ของคนทั่วโลกโดยไม่สนเชื้อชาติ ส่วนความเหลื่อมล้ำประเภทที่ 2 หรือความเหลื่อมล้ำประจำชาตินั้น เราจะดูการกระจายรายได้เฉพาะของคนในประเทศ ซึ่งนักวิชาการก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำนั้นเพิ่มหรือลดกันแน่ แต่เสียงส่วนใหญ่ไปในทางที่ว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศลดลง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในประเทศกลับเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศกำลังพัฒนา โดยสาเหตุหลักที่มักถูกหยิบยกมาอธิบาย คือ การค้าระหว่างประเทศภายใต้รูปแบบของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน สินค้าอุตสาหกรรมส่วนมากถูกผลิตในประเทศกำลังพัฒนา เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ คนจนในประเทศกำลังพัฒนาลดลง ในขณะเดียวกัน แรงงานไร้ฝีมือในประเทศที่พัฒนาแล้วก็อาจจะตกงาน เพราะบริษัทใหญ่ ๆ  ไปตั้งโรงงานในประเทศอื่นที่ต้นทุนถูกกว่า เหลือไว้เพียงงานที่ใช้ทักษะสูง ๆ เงินเดือนสูง ๆ ความเหลื่อมล้ำในประเทศร่ำรวยจึงเพิ่มขึ้น 

คำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หากเศรษฐกิจดีขึ้นและทุกคนมีรายได้ที่มากขึ้น จับจ่ายคล่องขึ้น ทำไมเราต้องไปสนใจด้วยว่าบางคนรวยล้นฟ้าเหลือเกิน คนรวยทำงานหนัก แบกรับความเสี่ยงจากการลงทุน ก็สมควรแล้วมิใช่หรือที่จะรวยกว่าคนอื่นมี 4 ประเด็นด้วยกัน ที่พยายามจะตอบคำถามว่าเหลื่อมล้ำแล้วยังไง

ประการแรก ความเหลื่อมล้ำส่งผลอย่างไรต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเด็นของความเหลื่อมล้ำมันซ่อนอยู่ในเรื่องของ “กำไร” บริษัทจำเป็นที่จะต้องนำกำไรไปลงทุนต่อ และการลงทุนต่อนี่แหละคือที่มาของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงจำเป็นที่คนบางกลุ่มต้อง “รวย” มากพอที่จะออมและลงทุน ถ้ามองในแง่นี้ความเหลื่อมล้ำถือเป็นเรื่องดีเพราะช่วยให้เศรษฐกิจโต

ถึงอย่างนั้น การเติบโตจะไม่เกิดขึ้นเลยหากคนรวยเหล่านี้ไม่ได้นำกำไรที่ได้ไปลงทุนต่อ แต่กลับไปซื้อเรือยอร์ชเพื่อขับเล่น  ซื้อคอนโดหรูที่หัวหิน หรือนำไปซื้อหุ้นคืนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งสูงสุดให้ผู้ถือหุ้น ดังนั้น เมื่อประเทศมีความเหลื่อมล้ำ เราจึงมีความหวังริบหรี่ว่ามันจะช่วยให้การกระจายรายได้ดีขึ้น

ประการที่สอง เราต้องทำความเข้าใจว่าความเหลื่อมล้ำคือความยากจนโดยเปรียบเทียบ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสังคมที่มีคนจนเยอะเสมอไป แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามีความเหลื่อมล้ำ ปัญหานี้จะถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นพ่อ-แม่ สู่รุ่นลูก และรุ่นหลาน ถ้าเราไปถามคนจน เราก็มักจะพบว่าบรรพบุรุษเป็นคนจน

ลองนึกภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมาก ๆ หากพ่อแม่มีฐานะยากจน ไม่มีเงินส่งเสียให้ลูกเข้าชั้นเรียนได้เหมือนเด็กคนอื่น ไม่มีแม้แต่มรดกหรือทรัพย์สิน เด็กเหล่านี้ก็ต้องทำงานตั้งแต่เล็ก เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความรู้ที่เหมาะสมและขาดทักษะในการทำงาน ต้องทำงานที่ใช้แรงกาย นอกจากนั้น ต้องทำงานหนักและยาวนานกว่าคนอื่น สุขภาพไม่ดี และยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องของการคุมกำเนิดและสุขอนามัยอื่น ๆ เมื่อมีลูก ลูกก็สุขภาพแย่เพราะแม่ไม่แข็งแรง ได้รับโภชนาการไม่เหมาะสม เกิดเป็นทารกยากจน ซึ่งหากรัฐบาลไม่ช่วยเหลือเยียวยา หรือนโยบายเข้าไม่ถึงคนกลุ่มนี้ พวกเขาก็จะสืบทอด “มรดกความจน” ต่อไปเรื่อย ๆ ขณะที่บางครอบครัวเกิดมา ลูกก็มีเงินแสนเงินล้านไว้ในบัญชีตั้งแต่คลานไม่ได้

ประการที่สาม ความเหลื่อมล้ำยังมีมิติของการเมืองเข้ามาด้วย เจ้าสัวทั้งหลายมักจะมีบทบาทสำคัญต่อการเมือง อาจมาในรูปของการสนับสนุนพรรคการเมือง หรือการนั่งเป็นบอร์ด เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ใช้ทุนของตัวเองเพื่อต่อรองนโยบายเศรษฐกิจให้เป็นไปตามที่ใจต้องการ แทนที่ทรัพยากรของประเทศจะถูกใช้ในโครงการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพของเศรษฐกิจและสังคม กลับต้องถูกใช้ไปอย่างไม่ชาญฉลาด คนรวยแล้วก็รวยยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนคนที่จนก็จนต่อไป

ประการที่สี่ ความเหลื่อมล้ำเกี่ยวข้องกับความเครียดและการแสดงออกของคน ในช่วงที่เศรษฐกิจมีการเติบโต สังคมมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะคนรวยมีโอกาสมากกว่า ฉกฉวยประโยชน์ได้ก่อนใคร ในช่วงแรกคนทั่วไปสามารถ “อดทน” กับความเหลื่อมล้ำได้ เพราะเขาเชื่อและหวังว่าสักวันหนึ่งเขาต้องรวยขึ้นบ้าง แต่หากนับแกะ 100 ตัวก็แล้ว 1,000 ตัวก็แล้ว ชีวิตของเขายังไม่ดีขึ้น ยังจนเหมือนเดิม คนกลุ่มนี้ก็จะเลิกโลกสวยและแสดงอาการไม่พอใจออกมา เช่น การออกมาเดินประท้วงหรือแสดงออกให้รัฐบาลรับรู้ว่า พวกเขาไม่โอเคกับสภาพ “รวยกระจุก-จนกระจาย” แบบนี้

หากลองไปดูตามคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราจะเห็นคำพูดประมาณว่า “เกลียดคนรวย” “ตัดพ้อชีวิต” “มีรัฐบาลไปทำไม” หรือบางคนกล่าวว่า คนชั้นกลางคือคนที่น่าสงสารที่สุด เพราะนอกจากจะต้องเสียภาษีโดยไม่มีที่จะลดหย่อนแล้ว ยังต้องมารับรู้ว่าตัวเขาเองไม่ได้อะไรเลยจากนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบัน

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการแสดงออกเท่าที่แสดงได้ ภายใต้รัฐบาลทหาร ลองนึกภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราอยู่ในสภาวะปกติ เราคงได้เห็นการเดินขบวนอย่างกลุ่ม Occupy movement ที่เป็นการแสดงออกของประชาชนต่อความเหลื่อมล้ำที่กระจายไปทั่วโลก การเข้าใจความเหลื่อมล้ำไม่ได้หยุดอยู่ที่ว่า เราเป็นที่หนึ่งในโลกหรือเปล่า แต่คือ เราทำอะไรบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

อ้างอิง

https://themomentum.co/global-wealth-report-thailand-inequality-2018/

https://thematter.co/thinkers/how-inequality-effects-people/67927

https://themomentum.co/welfare-card

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0