โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คนไทยคนเดียวใน Everest Marathon 2019 เล่าประสบการณ์วิ่งบนยอดเขาสูงที่สุดในโลก

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 25 มิ.ย. 2562 เวลา 03.26 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2562 เวลา 14.15 น.
dlf01240662p1

พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน : เรื่อง

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนเราออกเดินทาง หนึ่งร้อยปีก่อน เมื่อนักปีนเขาชื่อก้องโลก “จอร์จ มัลเลอรี” ตอบคำถามนักข่าวคนหนึ่งที่ถามว่า ทำไมเขาต้องการปีนไปยืนบนยอดเขาเอเวอเรสต์ มัลเลอรีตอบเรียบ ๆ ว่า “เพราะมันอยู่ที่นั่น”

การปีนเขาสำหรับบางคนเป็นความโง่ สำหรับบางคนเป็นการเดินไปตามลมหายใจ การวิ่งบนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอาจจะโง่ยิ่งกว่า

ข้อความเกริ่นข้างต้นนั้นมาจากพิพัฒน์ ละเอียดอ่อน (Pipat Laeadon) ผู้พิชิต Everest Marathon 2019 ที่เป็นเสมือนแขกรับเชิญที่มาเขียนบอกเล่าเรื่องราวการวิ่งบนเส้นทางที่โหดที่สุดในโลก ให้ผู้อ่านของ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับรู้และเห็นภาพผ่านเนื้อหาทั้งหมดต่อจากนี้

“Everest Marathon 2019” The world’s highest race on earth ชื่อเป็นทางการว่า “Tenzing-Hillary Everest Marathon” เป็นงานแข่งขันกีฬาผจญภัยบนที่สูงระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้นประจำทุกปีในวันที่ 29 พฤษภาคม เพื่อเป็นเกียรติให้กับ Late Tenzing Norgay Sherpa และ Sir Edmund Hillary สองนักปีนเขาที่ได้รับการยกย่องเป็นผู้พิชิตยอดสูงสุดของเอเวอเรสต์ได้เป็นครั้งแรกของโลก เมื่อ 29 พฤษภาคม ในปี ค.ศ. 1953

50 ปีถัดมา “Tenzing-Hillary Everest” ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2003 เพื่อระลึกถึงโอกาสครบรอบ 50 ปีของทั้งสองคน

สำหรับปีนี้เป็นครั้งที่ 17 ของการจัดงาน เคยมีคนไทย 1-2 คน เข้าร่วมการแข่งขันนี้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และปีนี้ก็มีคนไทยหนึ่งคนที่ไปร่วมกับทีม avengers ที่มาจากทั่วโลก ด้วยหวังที่จะพิสูจน์ร่างกายและจิตใจของตัวเอง

The Everest Marathon เป็นการวิ่งเทรลในระยะฟูลมาราธอน (42.195 กม.) ขึ้นชื่อว่าเป็นเส้นทางที่สูงและโหดที่สุดอันหนึ่งในโลก เพราะมันยากเย็น แม้แค่จะยืนหายใจเฉย ๆ บนพื้นที่ที่ออกซิเจนเหลือเพียงครึ่งเดียวของระดับปกติที่มนุษย์ใช้ชีวิต ความสูงขนาดนั้นไม่ใช่เพียงแค่ระยะที่สูงชันกว่า 5,300 เมตร นักวิ่งยังต้องเผชิญอากาศแปรปรวนทั้งหนาวเหน็บที่คร่าชีวิตผู้คนที่ขึ้นมาที่นี่แล้วนักต่อนัก

ผู้เข้าร่วมเกมนี้ต้องใช้เวลา 12 วันแรกเดินไต่เขาพาตัวเองขึ้นไปให้ถึงจุดสตาร์ต EBC trekking ผ่านเขาเสียดฟ้าสูงชันระยะทางกว่า 60 กม. ไปยัง Everest base camp ซึ่งเป็นจุดสตาร์ต ใครมีโอกาสไปถึงจุดนี้ จะได้ชม Kala Patthar Summit จุดชมวิวที่สวยที่สุดของเอเวอเรสต์อย่างใกล้ชิด ณ ความสูง 5,545 เมตร เป็นรางวัล

เมื่อถึง Everest base camp ทุกคนจะได้พัก 1 วัน (ที่นี่อนุญาตให้ค้างคืนได้เฉพาะผู้ที่จะขึ้นยอดเอเวอเรสต์เท่านั้น) รุ่งขึ้นเช้ามืด 29 พฤษภาคม นักวิ่งจะมาพร้อมที่จุดสตาร์ต และหกโมงเช้าสัญญาณปล่อยตัว Everest Marathon หฤโหดที่รอคอยดังขึ้น

นี่เป็นระยะทาง 42 กม. ที่บรรจุไปด้วยประสบการณ์ชีวิต เทือกเขา ความหนาวเหน็บ วัดวาอาราม วิถีชีวิต ตัวจามรี สะพานแขวน และธาตุทรหด

เมื่อข้ามเส้น finished line ทุกคนมีเวลาดื่มด่ำกับชัยชนะของตัวเองไม่นาน เพราะภารกิจของผู้พิชิตยังไม่สิ้นสุด finisher ทุกคนยังต้องเดิน trekking กลับลงมาที่เมือง Lukla เอง รวมการเดินทางที่ท้าทายยาวนานรวม 20 วัน

ผู้จัดการแข่งขันบอกว่า มีนักวิ่งจำนวนมากที่ไม่ถึงจุดสตาร์ต และจำนวนมากไปไม่ถึงเส้นชัย เนื่องจากระดับออกซิเจนข้างบนน้อยกว่าระดับปกติถึงครึ่งหนึ่ง

Tenzing-Hillary Everest Marathon ไม่ได้เป็นเพียงแค่การวิ่ง แต่มันเป็นประสบการณ์ชีวิต

โลกรับรู้ว่าที่ใดมีความฝัน ที่นั่นมีคนพยายามไปหามันเสมอ สุดยอดจอมยุทธ์จากทั่วโลกจึงเดินทางมารวมตัวกันทุกปีที่นี่

ในปีนี้นักแข่งต่างชาติ 140 คน หนึ่งในนั้นก็คือคนไทย พร้อมกับนักแข่งเนปาล 53 คน รวมเป็นเกือบ 200 ชีวิต ที่มารวมตัวกันเพื่อวิ่งบนทางลาดชันของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก

การเดินทางทรหดกำลังเริ่มต้นขึ้น…

*เรียนรู้สิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ในชีวิต *

นักแข่งต่างชาติกว่า 140 คน ถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ เพื่อสะดวกในการจัดการ โดยแบ่งเป็นทีมสี red, blue, yellow, orange ซึ่งจะไปรวมกับนักแข่งเนปาลเจ้าถิ่น 53 คน ที่จุดสตาร์ตบน Everest base camp

การปรากฏกายของเหล่าทวยเทพ 26 คน สำหรับ blue team การทักทายสำหรับเพื่อนใหม่ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันในอีก 2-3 สัปดาห์เริ่มต้นขึ้น ร่างกายของทุกคนบ่งบอกถึงความเป็นนักกีฬาที่ผ่านสมรภูมิมาโชกโชน เพื่อรับมือกับสิ่งที่ต้องเผชิญที่นี่

โจทย์แรก ทุกคนต้องบริหารน้ำหนักถุง duffle ที่ให้เชอร์ปาแบก รวม day pack น้ำหนักเฉลี่ยไม่เกิน 15 กก. !!

ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออกจากชีวิต แต่เรื่องที่ท้าทายยิ่งนัก คือ การตัดสิ่งที่สำคัญออกไปจนเหลือแต่ สิ่งที่สำคัญที่สุดเท่านั้น

ทักษะในการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป เป็นสิ่งที่ยากจริง ๆ… แล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่า น้ำพริก หมูหยอง พริกป่น เสื้อผ้าที่มากไป มันคือส่วนเกินของชีวิตจริง ๆ

27 พฤษภาคม : สูงสุดคือจุดเริ่มต้น

นักแข่งทั้งเกือบ 200 คน ออกเดินขึ้นไปถึงยังจุดสตาร์ต Everest base camp วันนี้

ดินแดนสวรรค์ที่อากาศ -17 องศา หิมะตก ลมแรง หันไปมีแต่หิมะ ธารน้ำแข็ง พวกเราจะได้นอนเต็นท์พักที่แดนสวรรค์แห่งนี้ 2 คืน ก่อนเริ่มการแข่งขัน Everest Marathon 2019 และ 28 พฤษภาคม นักแข่งทุกคนตรวจสุขภาพครั้งสุดท้ายก่อนพักปรับตัว 1 วัน

29 พฤษภาคม : เวลาที่ทุกคนรอคอย Race Day

จุดสตาร์ตที่เรียกว่า Ice Fall ธารน้ำแข็งบน Everest base camp นักแข่งทุกคนพร้อมออกสตาร์ต 7 โมงเช้า ในระยะฟูลมาราธอน

การวิ่งลงบนทางลาดชันของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกได้เริ่มขึ้น และแน่นอน มันไม่ได้วิ่งลงอย่างเดียว พื้นผิวหิน สลับน้ำแข็ง ด้วยออกซิเจนที่เบาบาง บรรยากาศที่ทุกคนรอคอย ชัยชนะคือการเอาชนะตัวเอง “แล้วพบกันที่เส้นชัย” คือ คำทักทายกัน

นักวิ่งท้องถิ่นชาวเชอร์ปาวิ่งเหมือนบิน เหมือนเป็นธรรมชาติของพวกเขา ไม่เคยมีนักแข่งต่างชาติสามารถเอาชนะได้เลยตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ผู้จัดจึงแยก international runner กับ local runner ออกจากกัน

นักแข่งทยอยเข้าจุด cut off 32 กม. ก่อน 4 โมงเย็น ใครมาไม่ทันจะไม่ได้รับอนุญาตให้วิ่งต่อ ต้องค้างคืนเพื่อความปลอดภัย และออกสตาร์ตใหม่ตอน 6 โมงเช้าของวันที่ 30 พฤษภาคม (โดนปรับเวลา 3 ชม.)

เมื่อจบการแข่งขัน มีนักวิ่งจบฟูลมาราธอนจำนวน 176 คน รวมทั้งคนไทยหนึ่งคนที่จบในอันดับที่ 45 (45th international runner)

*31 พฤษภาคม : เส้นชัยไม่ใช่จุดสิ้นสุด *

ตลอด 12 วันที่พาตัวเองไปยังจุดสตาร์ต บน Everest base camp เพื่อวิ่งมาราธอนบนความสูงกว่า 5,300 เมตร ที่ที่ออกซิเจนเบาบาง มีไม่ถึงครึ่งที่ใช้ชีวิตปกติ แม้เพียงแต่จะแปรงฟันยังหอบ… ทุกคนเอาชนะตัวเอง

แต่เส้นชัยไม่ใช่จุดสิ้นสุด วันนี้ทุกคนยังต้องเดินต่อกลับลงมาเองอีก 4 วัน

ขากลับวันนี้ ทุกคนต้องข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่า ฝ่าฝนหนักและลูกเห็บตลอดทาง…

7 ชม.ผ่านไป ระหว่างความอ่อนล้า หนาวเหน็บ นึกถึงคำพูดของ race director กล่าวไว้ก่อนแข่ง 1 วันที่ว่า…

“พระเจ้าเท่านั้นรู้ดีว่าผู้คนที่มาจากส่วนต่าง ๆ ของโลก เพื่อได้วิ่งลงไปตามทางลาดของภูเขาที่สูงที่สุดในโลก ที่ไม่ใช่การวิ่งเหยาะยามเช้าประจำวันของใครสักคน และไม่ใช่แม้แค่การแข่งขัน เมื่อเราฝ่าสภาพความโหดร้ายแปรปรวนขึ้นมาถึงในวันนี้ ถึงจุดเริ่มการวิ่งมาราธอนในวันที่ 29 พฤษภาคม ถือเป็นการเฉลิมฉลองของจิตวิญญาณมนุษย์และความอดทน ธาตุทรหดของมนุษย์ เป็นเหตุการณ์หนึ่งของจักรวาล ถ้ามนุษย์ต่างดาวกำลังดูเราในวันนั้น พวกเขาจะมึนงงและถามว่า สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อ่อนแอเหล่านี้กำลังทำอะไรอยู่ แต่ผมสามารถกล้ายืนยันได้ว่า มันสมเหตุสมผลสำหรับทุกคนในที่นี้”

แม้เราทุกคนมาที่นี่ด้วยเหตุผลแตกต่างกัน ด้วยพลังจากจิตใจ “เราทุกคนอยู่ที่นี่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา และนั่นคือเหตุผลที่แท้จริงที่คุณอยู่ที่นี่”

 

3 มิถุนายน : มิตรภาพร่วมทาง

สิ่งที่สวยงามที่สุด คือ การได้สัมผัสจิตใจที่เข้มแข็งของผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด แม้ว่าอาจถูกบั่นทอนด้วยอายุ แต่ไม่ใช่จิตใจ

ชายผู้นี้จบ Everest Marathon ด้วยการฉลองวันเกิดวัย 67 ปี

การใช้ชีวิตร่วมกันมาสองสามสัปดาห์ ยิ่งคุยยิ่งรู้ว่าคนนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่คนในโลก ที่พิชิตครบ World Grand Slam Adventures หมายถึง ผู้บรรลุครบสุดยอด 9 สิ่งในฝันของนักผจญภัย

การปีนขึ้นเหยียบ submit พิชิตยอดเขาสูงสุดทั้ง 7 ทวีปในโลก+เดินทางไปที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้

นอกเหนือจากนั้น ชายผู้นี้ยังวิ่ง 150 ไมล์ ในการแข่งขัน 7 วัน ข้ามทะเลทรายโลก อาตากามา, โกบี และซาฮารา ครบทั้ง 3 ทะเลทราย และเมื่อตอน 60 ปี เขาได้เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะทาง 150 ไมล์ บนพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็งบนคาบสมุทรแอนตาร์กติก วิ่ง ultra หาเงินบริจาคมาทั่วโลก

เป็นคนเก่งระดับโลก ที่อ่อนน้อมถ่อมตัวตามวิสัยคนเก่ง

ถามว่า คุณได้อะไรจากการทำแบบนี้ คำตอบเรียบง่ายจากชายผู้นี้ คือ “very beneficial when you getting old !!!!”

ทุกอย่างเรียบง่ายราวกับลมเบา ๆ ที่พัดผ่านตัวไป ในนาทีนี้ภารกิจที่หนักหนาได้ลุล่วง ทุกคนเอาชนะสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ขยายขอบเขตความกว้างไกลของจิตใจภายในตัวตนออกไป รอยยิ้ม การโอบกอด แสดงความยินดี และถึงวันที่ต้องจากลา

 

ขอบคุณการบินไทยร่วมสนับสนุนการเดินทาง

youtube
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0