โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คนเราต้องตาย..ข้อคิดจากความตายที่ยังไม่ตายก็ต้องรู้

LINE TODAY

เผยแพร่ 16 พ.ค. 2561 เวลา 09.51 น. • Pimpayod

ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือสัจธรรม “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” ไม่ว่าใครก็หลีกหนีสิ่งเหล่านี้ไม่พ้น หลายคนคิดว่า “ความตายเป็นเรื่องไกลตัว เรายังไม่ตายเร็ว ๆ นี้หรอก” แต่รู้หรือไม่..ความตายติดตามไปทุกที่ ไม่มีใครเลือกได้ว่าจะตายตอนไหน ตายอย่างไร เห็นกันหลัด ๆ แล้วตายจากกันไปก็มีให้เห็นมากมาย

อย่างที่หลายคนมักตั้งคำถามว่า “ตายแล้วไปไหน” สำหรับพุทธศาสนิกชน พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงความตายไว้ว่า “ความตายที่แท้จริงนั้นไม่มี การที่ร่างกายเสื่อมสลายหายไป เป็นเพียงการแตกสลายแยกกันไปของธาตุที่เคยรวมกันอยู่ เหลือเพียงดวงจิตของเราซึ่งจะท่องไปตามเหตุ ตามกรรม ในต่างวาระ นั่นก็คือการเวียนว่ายตายเกิด” 

ดังนั้นเมื่อตายแล้วเราก็จะไปตามแรงกรรมของแต่ละคน ทำกรรมดีก็ไปสู่ภพภูมิที่ดี ทำกรรมชั่วก็เวียนว่ายตายเกิดต่อไป และหากทำกรรมดีโดยปราศจากกิเลสทั้งปวง ก็นำไปสู่ “นิพพาน” หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งถือเป็นความสุขอันแท้จริงยิ่งใหญ่และเป็นจุดหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา

แต่ละศาสนามีคำตอบของการ “ตายแล้วไปไหน” ต่างกัน อย่างชาวมุสลิมเชื่อว่าชีวิตหลังความตายเป็นช่วงของการรอ เป็นการรอคอยเพื่อสอบสวนการกระทำความดี-ความชั่วอีกครั้ง ก่อนจะไปสู่นิรันดร์ ฉะนั้นหลุมฝังศพคือ สถานที่พักก่อนการฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเพื่อชำระบาป 

ส่วนคริสต์ศาสนิกชนก็เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดในโลกนี้เป็นชาติแรก (ไม่มีชาติที่แล้ว) ดังนั้นเมื่อตายแล้วจะไม่กลับมาเกิดอีก โดยวิญญาณจะออกจากร่างและไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ คือ "สวรรค์" หรือ "นรก" ตลอดไปชั่วนิรันดรโดยไม่มีวันตาย และไม่สามารถย้ายข้ามภพได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด จุดร่วมที่เหมือนกันก็คือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ซึ่งเป็นสัจธรรมที่เที่ยงแท้ที่สุดโดยไม่มีอะไรมาหักล้างได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะนับถือศาสนาหรือไม่ สิ่งที่ต้องทำเมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็คือ “ความดี”

เมื่อรู้ว่าตายแล้วไปไหน เราจะไม่กลัวความตายทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนใกล้ตัว ที่สำคัญถ้ามองในมุมกลับความตายก็เป็นบทเรียนให้กับตัวเราและครอบครัวได้เช่นกัน

ข้อคิดจากความตาย

เมื่อใครสักคนจากไป ความสูญเสีย ความเสียใจเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญและรับมือกับมันให้ได้ คนที่เคยสูญเสียอาจจะเข้าใจเรื่องแบบนี้ได้ดีกว่า แต่ใช่ว่าคนที่ไม่เคยจะรับมือกับมันไม่ได้ 

สำหรับคนที่จากไปก็มุ่งหน้าไปสู่ทางแห่งกรรมของตน ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ต้องอยู่ให้ได้ ปรับตัว ปรับใจ ฮึดสู้ขึ้นมาใหม่ อาจจะเอาการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รักเป็นเครื่องเตือนใจว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร อย่าลืมว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ไม่มีใครหลีกเลี่ยงความตายและการสูญเสียได้ สิ่งที่ทำได้คือทำใจและตั้งตัวให้ได้กับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับที่จะเกิดขึ้น

ข้อคิดอย่างหนึ่งก็คือปกติเรามักไม่พูดถึงความตายตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ บ้างก็ว่าอัปมงคล บ้างก็ว่าเป็นลาง แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธศาสนาสอนให้เราระลึกถึงความตายบ่อย ๆ และสม่ำเสมอ เพื่อให้คุ้นชินกับความตายที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตัวเราเองและคนใกล้ชิด ทำให้ความตายกลายเป็นครูที่สอนให้เราใช้เวลาอย่างมีคุณค่า และกลายเป็นมิตรที่รอเราอยู่ในอนาคตอันใกล้นี้

ที่สำคัญอย่ามองว่าการระลึกถึงความตายคือลางร้ายที่ทำให้ตายเร็วขึ้น เพราะความตายไม่ใช่ลางร้าย แต่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ซึ่งเราไม่รู้เท่านั้นเองว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่าลืมว่าท้ายที่สุดแล้วคนเราก็หนีความจริงไปไม่พ้น จะโชคลางหรือเรื่องอัปมงคลแค่ไหน คนเราก็ต้องตายอยู่ดี จะทำอย่างไรให้ชีวิตมีคุณค่าตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นต่างหากที่สำคัญกว่า

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว..ก็ใช้ชีวิตซะให้คุ้มค่า จากไปเมื่อไหร่ ก็จะได้ไปอย่างไม่ต้องมีห่วง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0