โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คนหนุ่มสาวกับการเมือง: ความย้อนแย้งในสังคมไทย - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2562 เวลา 11.11 น.

ในห้วงยามนี้ ประเด็นที่ดูจะเป็นที่ถกเถียงและได้รับความสนใจอย่างมากในสังคมไทยคือ ประเด็นความตื่นตัวเรื่องการบ้านการเมืองของคนรุ่นใหม่ การถกเถียงแตกออกเป็น 2 ทิศทางใหญ่ๆ คือ ทางหนึ่ง ความใส่ใจปัญหาสังคมและการเมืองของเยาวชนได้รับเสียงชื่นชมจากคนจำนวนมาก ว่าเป็นดัชนีบ่งชี้ว่าสังคมไทยยังมีความหวัง

เพราะนักเรียนไม่เอาแต่ก้มหน้าก้มตาเรียนหนังสือโดยไม่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง แต่ใส่ใจเรื่องส่วนรวมและกล้าแสดงออกว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ แต่ท่ามกลางเสียงชื่นชม ก็มีความเห็นอีกทางหนึ่งที่ตรงกันข้าม คือมีผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจออกมาแสดงความวิตกกังวลและไม่พอใจกับการแสดงออกทางการ

เมืองเชิงสัญลักษณ์ของนักเรียน บ้างบอกว่านักเรียนถูกล้างสมอง บ้างบอกว่ามีคนบงการอยู่เบื้องหลัง บ้างก็บ่นว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ไม่ใช่ธุระของนักเรียนที่อยู่ในวัยศึกษา บ้างไปไกลถึงขั้นบอกว่าเด็กเหล่านี้เป็นยุวชนเรดการ์ดแบบสมัยการปฏิวัติวัฒนธรรมของประเทศจีน!

ท่ามกลางความเห็นโต้เถียงฝุ่นตลบ เสียงที่ถูกกลบหายไปคือเสียงของเยาวชนคนหนุ่มสาว เราได้ทราบแต่ว่าผู้ใหญ่คิดอย่างไร แต่ได้ยินเสียงของเด็กน้อยมาก มีเพียงบางสำนักข่าวที่ตามไปสัมภาษณ์กลุ่มนักเรียนที่ทำพานไหว้ครูซึ่งแสดงรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งบรรดานักเรียนก็ชี้แจงอย่างสุภาพและชัดเจนว่า “เจตนาหลักๆ ของพวกผมก็คือ รักและเคารพนับถืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยครับ และอยากให้ทุกคนยึดมั่นในประชาธิปไตย” 

ในขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนกลับเรียกเด็กมาอบรมว่า “หนูๆ ยังเป็นเด็กอยู่ ยังไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” น่าสนใจว่า หากเปรียบเทียบกันแล้ว ดูเหมือนนักเรียนจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและประชาธิปไตยที่เป็น “ผู้ใหญ่” มากกว่าผู้ใหญ่จริงๆ เสียอีก 

ในสังคมไทย ผู้ใหญ่มักใช้ความอาวุโสและสถานะที่เหนือกว่าในการแสดงทัศนะและอำนาจเหนือคนที่อายุน้อยกว่า โดยไม่พยายามชี้แจงเหตุผลและคำอธิบายว่าความคิดของตนนั้นถูกต้องหรือมีน้ำหนักมากกว่าอย่างไร แต่เน้นใช้อำนาจที่ตนมีมากกว่ามากดทับความคิดของคนที่ตนมองว่ายังเป็นเด็ก 

การทำเช่นนี้ย่อมยากที่จะทำให้คนหนุ่มสาวเข้าใจและยอมรับได้อย่างสนิทใจ สิ่งที่พวกเขาทำได้ก็มีแค่เพียงก้มหน้ายอมรับอย่างขัดฝืน ไม่กล้าโต้แย้งหรือคัดค้าน เพราะย่อมกลัวถูกลงโทษภาคทัณฑ์ 

จะว่าไปแล้ว เด็กในสังคมไทยนั้นน่าสงสาร เพราะชีวิตถูกทำให้สับสนมิใช่น้อย เนื่องจากตั้งแต่วัยเยาว์ ผู้ใหญ่มักชอบตำหนิเยาวชนไทยว่าคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองไม่เป็น เน้นแต่ท่องจำ ไม่กล้าถามคำถามในห้องเรียน ผู้ใหญ่ยังมักชอบตำหนิเด็กว่าไม่สนใจปัญหาบ้านเมือง 

สนใจแต่เรื่องของตัวเอง โดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียล จะถูกต่อว่ามากเป็นพิเศษว่าเป็น generation me คือสนใจแต่เรื่องของตัวเอง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง สนใจแต่เรื่องแฟชั่น กินเที่ยว เล่นเกมส์ ชีวิตไร้แก่นสารสาระ ไม่เคยใส่ใจปัญหาสังคมและการเมือง แต่เมื่อเด็กคิดวิเคราะห์เองเป็น รู้จักตั้งคำถาม ติดตามข่าวสาร หันมาสนใจปัญหาบ้านเมือง 

และแสดงออกซึ่งสิ่งที่พวกเขาคิด ผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจกลับไม่พอใจและตำหนิ บอกว่าไม่เหมาะสม ก้าวร้าว ยังเป็นเด็ก อย่าสนใจการเมือง ตั้งใจเรียนหนังสือก็พอ นับว่าเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมากทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่ให้เด็กรู้สึกสับสนได้ย่างไร และยิ่งทำให้เยาวชนมีความรู้สึกว่าความสนใจและการแสดงออกทางการเมืองของพวกเขาจะได้รับคำชื่นชมก็ต่อเมื่อแสดงออกให้ตรงตามความคิดผู้ใหญ่และกรอบที่ผู้ใหญ่กำหนดไว้เท่านั้น 

อันที่จริง เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมไทย มักเกิดขึ้นมาจากการผลักดันของคนหนุ่มสาวซึ่งตื่นตัวและมีความฝันอยากเห็นสังคมไทยที่ดีกว่า การปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 สำเร็จด้วยการผลักดันของรัชกาลที่ 5 และคนหนุ่มหัวก้าวหน้าที่รวมกลุ่มกันในนาม “สยามหนุ่ม” (Young Siam) เพื่อต่อสู้กับกลุ่ม “สยามเก่า” (Old Siam) ที่เป็นขุนนางอาวุโสที่ต่อต้านและขัดฝืนความเปลี่ยนแปลง 

มุ่งธำรงรักษาโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจการเมืองแบบเดิมที่พวกตนซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยได้ประโยชน์ รัชกาลที่ 5 และกลุ่มสยามหนุ่มใช้ความอดทนและกุศโลบายในการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมการเมืองแบบเดิม ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัยให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จนสามารถปฏิรูปรัฐไทยให้ทันสมัยได้สำเร็จในท้ายที่สุด 

การปฏิวัติ 2475 เพื่อวางรากฐานประชาธิปไตย ระบอบรัฐธรรมนูญ และรัฐสภาในสังคมไทย ก็สำเร็จด้วยการผลักดันและความกล้าหาญของคนหนุ่มสาวที่เป็นข้าราชการทหารและพลเรือนหัวก้าวหน้า โดยได้รับความสนับสนุนจากปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้าหัวสมัยใหม่ กลุ่มผู้นำคณะราษฎรนั้นส่วนใหญ่เป็นข้าราชการรุ่นใหม่

ที่ต้องการเห็นประเทศมีประชาธิปไตย เอกราช ความปลอดภัย สิทธิเสรีภาพ การศึกษาสำหรับทุกน และความเท่าเทียม (หลัก 6 ประการของคณะราษฎร) ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำที่เป็นมันสมองคนสำคัญของคณะราษฎรมีอายุเพียง 32 ปีเท่านั้นตอนนำการปฏิวัติ และสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นอีกหลายคนก็มีอายุอยู่ระหว่าง 20 ปลายถึง 30 ต้น      

ส่วนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่าง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 นั้นเป็นการเคลื่อนไหวที่นำโดยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เป็นการปฏิวัติของคนหนุ่มสาวโดยแท้ ซึ่งในยุคนั้นนักศึกษาไทยไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างโดดเดี่ยว แต่เคลื่อนไหวและตื่นตัวไปพร้อมกับเยาวชนคนหนุ่มสาวทั้งโลกในยุค 1960s 

ที่ฝันอยากเห็นโลกที่มีสันติภาพ มีความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ และมีความยุติธรรม (เพลงแห่งยุคสมัยคือเพลง imagine ของจอห์น เลนนอน) คนหนุ่มสาวทั่วโลก ณ ขณะนั้นเลือกที่จะไม่นิ่งเฉยหรือปิดปากเงียบต่อปัญหาส่วนรวม และสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับความเป็นไปของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่หลักสูตรการศึกษามิได้เปลี่ยนแปลงตามให้ทัน คำถามแห่งยุคสมัยดังกล่าวที่ถูกเรียกขานว่าเป็น “ยุคแห่งการแสวงหา” คือ คำถามที่ว่าเราสามารถที่จะมีชีวิตที่แตกต่างและดีกว่าเดิมได้หรือไม่? และถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมและสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม คนหนุ่มสาวจะต้องทำอย่างไร?  

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน โลกกำลังได้พบเห็นคลื่นของความเปลี่ยนแปลงและความตื่นตัวของคนหนุ่มสาวอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่การเคลื่อนไหวในปรากฏการณ์อาหรับสปริง การชุมนุมที่ฮ่องกง ขบวนการคนหนุ่มสาวในสหรัฐอเมริกาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องการควบคุมอาวุธปืนและสิทธิของคนกลุ่มน้อย หรือขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม

ในสวีเดนที่นำโดย เกรตา ธันเบิร์ก ผู้นำเยาวชนอายุเพียง 16 ปี ที่ตอนนี้กลายเป็นไอดอลของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก กรณีของเกรตาทำให้เราเห็นแล้วว่า บางครั้งความกล้าหาญและจิตสำนึกที่สวยงามของเด็กก็สามารถเป็นพลังที่ปลุกเร้าจิตสำนึกของผู้ใหญ่ได้ หากผู้ใหญ่ใจกว้างและเปิดใจรับฟัง 

เมื่อไม่นานมานี้ นิตยสาร Time ฉบับเดือนพฤษภาคม ตีพิมพ์รูปเกรตา บนหน้าปก ภายใต้ธีมว่าด้วยผู้นำที่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่กำลังขยับ เขย่า และเปลี่ยนแปลงโลก นอกจากเกรธาแล้ว ยังมีคนหนุ่มสาวหลายคนที่ลุกขึ้นมาริเริ่มกิจกรรมความเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนสังคมให้น่าอยู่กว่าเดิม 

พวกเขาคือความหวังและแรงบันดาลใจ และสังคมที่ฉลาดคือสังคมที่โอบอุ้มและเปิดทางให้กับคนรุ่นใหม่ มิใช่ทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายล้างพวกเขา เพราะนั่นเท่ากับการทำลายอนาคตของตัวเอง หวังว่าสักวันหนึ่งผู้ใหญ่ในสังคมไทยจะมีใจที่เปิดกว้างรับฟังและร่วมกันหล่อเลี้ยงศักยภาพของคนหนุ่มสาวให้เติบใหญ่แข็งแรง และร่วมกันสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิมสำหรับคนทุกรุ่นทุกวัยร่วมกัน 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0