โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คนจบ ป.ตรี ว่างงานกว่า 1 แสน ! ก.ศึกษาฯ เเนะปรับหลักสูตร ตอบโจทย์ตลาดเเรงงาน

TODAY

อัพเดต 22 พ.ค. 2562 เวลา 14.42 น. • เผยแพร่ 22 พ.ค. 2562 เวลา 14.42 น. • Workpoint News
คนจบ ป.ตรี ว่างงานกว่า 1 แสน ! ก.ศึกษาฯ เเนะปรับหลักสูตร ตอบโจทย์ตลาดเเรงงาน

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว ความเหลื่อมล้ำที่ยังแก้ไม่ตก อีกหนึ่งปัจจัยที่กำลังสะท้อนให้เห็นว่าเป็นสัญญาณที่น่ากังวล ก็คือปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มคนจบปริญญาตรี

 คงจะมีคำถามว่า คนเลือกงาน หรือ งานเลือกคน หรืออะไรทำให้คนที่เรียนในระดับอุดมศึกษามากกว่าแสนคน ไม่มีงานทำ

เมธารัศมิ์ วงศ์สมนึก เรียนจบปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์มา 8 ปีแล้ว เธอเปลี่ยนสถานที่ทำงานมา 7 แห่ง เฉลี่ยที่ละ 10 เดือน แต่ปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาชีพใด

หลังเรียนจบเธอทำงานที่สำนักข่าวแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสายงานตรงกับที่เรียนมา แต่เมื่อทำไปได้สักพัก กลับรู้สึกว่างานยังไม่ตรงกับความต้องการของตัวเอง จึงตัดสินใจลาออก และเป็นการว่างงานครั้งแรกหลังเรียนจบ

เมธารัศมิ์ ทำงานสลับกับว่างงานหลายครั้ง ขณะนี้ว่างงานมาแล้ว 1 ปี เธอยอมรับว่าช่วงว่างงานค่อนข้างเครียด แต่การเปลี่ยนงานบ่อย ไม่ได้เป็นเพราะเลือกงาน แต่คำนึงถึงคุณภาพงานและความสุขในการทำงานมากกว่า

และด้วยความสนใจด้านอาหาร เธอจึงลงเรียนคอร์สทำอาหารกับโรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อสร้างทักษะการเป็นเซฟ โดยหวังว่าจะเป็นใบเบิกทางให้มีอาชีพที่มั่นคงในอนาคต

ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนเมษายนที่ผ่านมาของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ว่างงาน 364,000 คน ในจำนวนนี้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด 126,000 คน และเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 208,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา 95,000 คน

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พบว่า ปี 2556-2560 มีผู้จบปริญญาตรีปีละประมาณ 300,000 คน และข้อมูลการจ้างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ชี้ว่า คนว่างงานที่จบปริญญาตรีมีมากถึง 170,900 คน

ซึ่งมาจากหลายสาเหตุอาทิ เรียนในสาขาไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แต่เป็นการเลือกตามกระแสหรือค่านิยม บางส่วนมีความต้องการเพียงใบรับรองคุณวุฒิเท่านั้น บางส่วนลาออกจากงาน และต้องการเปลี่ยนงานใหม่ เพื่อหาประสบการณ์ในการทำงาน

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่กลับพบว่าบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์ มีมากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งส่วนใหญ่อาจประสบปัญหาการว่างงาน กระทรวงศึกษาธิการ จึงขอให้สถาบันอุดมศึกษาปรับปรุงหลักสูตร เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงาน รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0