โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ข้าฯ ถูกอุปโลกน์ให้เป็น “เทพทันใจ”

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 02 ม.ค. เวลา 13.42 น. • เผยแพร่ 02 ม.ค. เวลา 00.47 น.
ภาพปก-ผีนัตพม่า
หญิง สักการะ เทพทันใจ นัต โบโบยี ใน พม่า

“ข้าฯ ไม่ใช่ เทพทันใจ ข้าฯ คือ ‘โบโบยี’ แปลเป็นไทยว่า ‘พ่อปู่’ หรือ ‘พ่อใหญ่’ คนมอญพม่านับถือข้าฯ มาช้านาน คนมอญสร้างรูปข้าฯ เพื่อรำลึกคุณงามความดีตามตำนาน แต่คนพม่าสร้างรูปข้าฯ ไว้ทั่วไปทุกย่านบ้านเรือน ในฐานะนัต (Nat) กึ่งเทพกึ่งผี…” หากตะแกพูดได้แกคงจะพูดเช่นนี้!

คนพม่านับถือ ผีนัต (Nat) มาก่อนการยอมรับนับถือพุทธศาสนา ทุกวันนี้ก็ยังคงศรัทธาไม่เปลี่ยน ในบรรดานัตหลากหลาย นัตยอดนิยมตนหนึ่งชื่อว่า “โบโบยี” ใบหน้ายิ้มแย้ม ท่าทางใจดี มือซ้ายถือไม้เท้า มือขวาชี้ไปข้างหน้า คนไทยพากันเรียกว่า “เทพทันใจ” ถ้าไม่ถูกไกด์พม่าหลอก ก็สร้างเรื่องหลอกตัวเอง หรือปนๆ กันไป

รู้กันในหมู่นักท่องเที่ยวไทยว่า ใครที่ต้องการขอพร ให้หาเครื่องบูชาที่มีวางขายเป็นชุด ประกอบด้วย กล้วย มะพร้าว หมาก เมี่ยง ดอกไม้ ใบหว้า และฉัตรธงสักการะ จากนั้นนำธนบัตรใส่มือนัต 2 ใบ ไหว้ขอพรแล้วดึงกลับมาเก็บไว้ใบหนึ่ง หยอดตู้บริจาคใบหนึ่ง (คล้ายสูตรหลวงพ่อคูน) เสร็จแล้วก้มให้หน้าผากสัมผัสนิ้วชี้ของนัต

ดูจากของเซ่นไหว้ล้นเหลือ นัตตนนี้ดูท่าจะได้รับความนิยมกว่าใคร เห็นทีว่าคงจะต้องบันดาลพรตลอดเวลา ไม่มีวันหยุด และที่แน่นอนคือเงินจากนักท่องเที่ยวที่บริจาคให้นัต

เรื่องจริงที่ไม่จริงซึ่งนักท่องเที่ยวไทยไม่ตระหนักก็คือ เดิมเทพองค์นี้มาจากตำนานพระเจดีย์เละเกิ่ง (ชเวดากอง) กล่าวคือ หลังจาก ตปุสสะ ภัลลิกะ (ตะเป๊า ตะปอ) พ่อค้าวาณิชมอญสองพี่น้องได้รับพระราชทานพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า 8 เส้นแล้วก็ได้นำกลับมายังบ้านเมือง ถวายพระเกศาธาตุดังกล่าวแก่พระเจ้าอุกกะลาปะ กษัตริย์มอญผู้ครองเมืองอุกกะลาปะ (ชื่อโบราณของเมืองเละเกิ่ง หรือย่างกุ้ง)

ระหว่างค้นหาสถานที่อันเหมาะสมเพื่อสร้างพระเจดีย์ประดิษฐานพระเกศาธาตุ บทบาทเทพอุ้มสมก็ได้ปรากฏขึ้น

เนื่องจากมีเพียง “พ่อปู่” หรือพระอินทร์แปลงองค์เดียว ที่รู้สถานที่ประดิษฐานพระธาตุของอดีตพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ก่อน จึงเหาะลงมาชี้ทางไปยัง “เขาสิงคุตระ” ที่สมควรบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธโคดมไว้ในที่เดียวกัน…

ไอ้ที่ชี้นิ้วนั่น ชี้ไปยังสถานที่สร้างเจดีย์ประดิษฐานพระธาตุ!!!

พระอินทร์ยังงงไม่หาย ทำไมคนไทยจึงเลือกที่จะแต่งเรื่องแล้วเชื่อถือฝังหัวงมงายเสียเอง สนุกสนานกับการขอกันถึงปานนั้น แต่ที่แน่ๆ ทางวัดพม่าคงดีใจ คนไทยบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปยืนเข้าแถวส่งเครื่องบรรณาการให้ในรูปแบบใหม่

“ข้าฯ รักคนไทย คนไทยใจดี ลูกหลานของข้าฯ ทั้งมอญพม่าว้ากะเหรี่ยงไทใหญ่ไปทำงานเมืองไทยเป็นล้านคน คนไทยก็ดูแลพวกเขาอย่างดี ให้งานทำ ข้าฯ จึงรักคนไทย อยากบอกแก่ท่านทั้งหลายว่า อย่าพยายามให้ข้าฯ เป็นเทพทันใจเลย คนไทยมีธรรมะที่ดีที่สุดของพุทธองค์อยู่แล้ว ข้าฯ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ศรัทธาในพระธรรมคำสอนเหล่านั้น

สิ่งที่ข้าฯ มีให้คนไทยอย่างล้นเหลือ คือ ความปรารถนาดี…จะนำหน้าผากมาสัมผัสนิ้วข้าฯ ก็ยินดี แต่จงเข้าใจว่า ข้ามิได้มีพรวิเศษใด (ไม่เช่นนั้น ข้าฯคงช่วยลูกหลานข้าฯ ให้รวยสมใจกันทุกคน ไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานเมืองไทย) แต่เพื่อเป็นการเตือนตน ขอท่านจงมีสติและตระหนักรู้ ตามหนทางหลุดพ้นอันประเสริฐแห่งพุทธองค์เถิด”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ : รามัญคดี – MON Studies

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0