โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ข้าราชการสยาม ดูหมิ่นดูแคลน “พระพุทธรูปลาว” ชี้ ไม่คู่ควรกับบ้านเมืองกรุงเทพฯ

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 03 ต.ค. 2566 เวลา 02.26 น. • เผยแพร่ 01 ต.ค. 2566 เวลา 05.36 น.
ภาพปก-พระลาว

สมัยรัชกาลที่ 4 ข้าราชการสยาม ดูหมิ่นดูแคลน “พระพุทธรูปลาว” ได้แก่ พระเสริม และ พระใส ว่าไม่คู่ควรกับบ้านเมืองกรุงเทพฯ

ในบทความเรื่อง พระพุทธรูปอีสาน : ว่าด้วย การสร้าง และการเสื่อม แห่งการนิยาม คุณค่าความหมาย โดย ติ๊ก แสนบุญ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2559 นอกจากจะบอกที่มาที่ไปของพระพุทธรูปอีสานได้อย่างน่าสนใจแล้ว อีกประเด็นสำคัญของบทความคือการสะท้อนมุมมองของคนไทยที่มีต่อพุทธศิลป์ของคนลาว

ติ๊กยกบันทึกพงศาวดารในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งอ้างว่ามีกลุ่มเสนาบดีที่เป็น “ข้าราชการสยาม” ตำหนิ “พระพุทธรูปลาว” หมายถึง พระเสริม (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร) และ พระใส (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย) สองพระพุทธรูปที่สยามได้มาหลังการทำลายกรุงเวียงจันทน์ สมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์ ว่าไม่คู่ควรกับบ้านเมืองกรุงเทพฯ

“เพราะพระพุทธรูปเป็นแต่ของหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ย่อมๆ ไม่เป็นที่เห็นเป็นประหลาดอัศจรรย์อะไรนักนั้นก็ไม่ควรแก่พระบารมีเลย พระพุทธรูปอย่างนี้ถึงอยู่ในกรุงเทพมหานครก็ไม่เป็นที่ออกอวดแขกบ้านแขกเมืองได้เหมือนพระแก้วมรกตและพระแก้วผลึก”

ติ๊กยังยกคำกล่าวของ สมเกียรติ โล่ห์เพชรัตน์ ซึ่งปรากฏตามบทความว่าในวงการนักสะสมพระพุทธรูปในเมืองไทยจะนิยมเรียกพระพุทธรูปที่ไม่งดงาม หรือมีความอ่อนด้อยทางทักษะฝีมือว่าเป็น พระพุทธรูปลาว เช่นเรียกว่า พระเชียงแสนลาว หรือพระอยุธยาลาว ฯลฯ

ทั้งหมดมีนัยยะที่มีพื้นฐานมาจากความมีอคติทางชาติพันธุ์จากคำว่าลาว ในฐานะลูกไล่ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่อยู่ในกลุ่มสายสกุลช่างพื้นบ้าน ซึ่งสมเกียรติกล่าวต่ออีกว่า แท้จริงแล้วศิลปะพระพุทธรูปล้านช้างแบบช่างเมืองหลวงนั้นมีความสวยงาม มีความประณีตไม่แพ้ศิลปะของประเทศใดในโลก เป็นความงามแบบอุดมคติ และมีความเป็นเอกลักษณ์ลาวอย่างแท้จริง

สำหรับพระพุทธรูปสกุลช่างพื้นบ้านของอีสานนั้น ติ๊กอธิบายว่า ช่างกลุ่มนี้เป็น “ช่างชาวบ้าน” ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพหลักทางด้านงานช่าง แต่เป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีอาชีพหรืองานประจำทางการเกษตรกรรม ส่วนใหญ่ไม่ใช่ช่างฝีมือที่มีทักษะทางการสร้างประติมากรรมโดยเฉพาะ ต่างจากกลุ่ม “ช่างพื้นเมือง” หรือช่างราษฎร์ ที่ได้คนใหญ่คนโตระดับเจ้าเมืองชุบเลี้ยง จึงมีฝีมือในเชิงช่างที่สูงกว่าช่างพื้นบ้าน

ติ๊กกล่าวว่า ความหยาบกระด้างไม่ได้สัดส่วนพุทธลักษณะของพระพุทธรูปที่สร้างโดยช่างพื้นบ้าน คือสิ่งที่สะท้อนถึงคุณค่าทางศิลปะพื้นบ้าน (Folk art) อย่างเต็มที่ พร้อมยกบทกวีของ วิโรฒ ศรีสุโร ประกอบว่า

“นั่งเลี้ยงควายหาไม้มาแซะแกะเป็นพระ ไม่สวยสะแต่สวยซื่อคือพระพุทธ แทนคุณค่าความดีความบริสุทธิ์ ใจผ่องผุดเกิดพุทธ…ปฏิมากร”

“…ฐานชุกชีมีพระไม้หลากหลายยิ่ง พระจริงๆ ใช่พระปลอมยอมยกให้ นั่งเลี้ยงควายแกะพระไว้ด้วยหัวใจ สมาธิใสศิลป์บริสุทธิ์วิมุตติธรรม”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2559

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0