โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ขยันทำกิน! “ปั้นจั่น – ปรมะ” เดินสายขายผักไฮโดรโปนิกส์ ธุรกิจครอบครัว

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 16 ก.ค. 2562 เวลา 07.14 น. • เผยแพร่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 07.14 น.
thumbnail_pic-728x706 (1)

ขยันทำกิน! “ปั้นจั่น – ปรมะ” เดินสายขายผักไฮโดรโปนิกส์ ธุรกิจครอบครัว

นอกจากเฝ้ารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ความสุขหนึ่งของคนปลูกต้นไม้ คือยามได้เห็นช่วงเวลาแห่งการผลิดอกออกผล และยิ่งสุขเกินบรรยาย ถ้าผลผลิตที่ได้เหล่านั้นกลายมาเป็นอาชีพไว้เลี้ยงตัว อย่างเช่นสวนผักไฮโดรโปนิกส์ “Veggies House” ของครอบครัว ปั้นจั่น-ปรมะ อิ่มอโนทัย ธุรกิจซึ่งเติบโตมาจากความชอบล้วนๆ

“ประมาณปี 2553 แป้งไปฝึกสอนที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) แล้วมีอาจารย์ท่านปลูกไว้หน้าโรงเรียน คุณพ่อไปเห็นตอนเริ่มเก็บได้ มันสวยดี ที่บ้านชอบปลูกต้นไม้กันอยู่แล้วเลยขอซื้อรางต่อจากอาจารย์ อาจารย์ก็ให้ต้นอ่อนอายุ 1 สัปดาห์มา เรามาลองปลูก พอครบกำหนดที่กินได้ลองกินดูมันไม่ขมเลย หลังจากนั้นก็ปลูกกินเองมาตลอดทั้งที่แต่ก่อนเป็นคนไม่กินผักเลย” แป้งจี่-สุปวีณ์ อิ่มอโนทัย น้องสาวปั้นจั่น ผู้รับหน้าที่หลักดูแลธุรกิจนี้บอกยิ้มๆ ถึงที่มา

ก่อนเล่าว่า “พอปลูกมาสักพัก เริ่มอยากให้คนอื่นกินด้วย พี่ปั้นก็แนะนำว่าเธอลองทำใหญ่ไปเลย แต่คุณแม่บอกว่าอย่าเพิ่ง ทำจากเล็กๆ ไปก่อนดีกว่า เราเลยค่อยๆ ทำ ไปซื้อรางมาตรฐานมาปลูกขาย ขายแรกๆ ไม่ได้คิดว่าจะเอาดีด้านนี้ เพราะเรียนจบมาหางานประจำทำ ไม่ได้มีทุน ไม่ได้มีที่ทางเยอะ ตอนเริ่มก็ปลูกขายให้ที่ทำงานคุณพ่อคุณแม่ ขายให้คนแถวบ้าน ใช้แบบหั่นขายเป็นถุงๆ ไม่ได้มีแบรนด์ของตัวเอง เพราะไม่กล้าบอกใครมากกลัวผักไม่พอส่ง แต่ทำสักพักเริ่มไปปรึกษาศูนย์วิจัยที่ซื้อมา เขาแนะนำให้จัดขายเป็นกระเช้า เราก็ลองดูแล้วก็เริ่มคิดชื่อ”

โดยตอนนั้นผัก 2 รางที่ปลูกประกอบไปด้วยผัก 8 ชนิด เช่น กรีนคอส เรดคอส บัตเตอร์เฮด เรดคอรัล ฯลฯ ที่มากหน่อยจะเป็นกรีนโอ๊กกับเรดโอ๊ก ซึ่งรวมๆ แล้วสัปดาห์หนึ่งเก็บขายได้ 160 ต้น สร้างรายได้ต่อเดือน 20,000-30,000 บาท มากกว่าเงินเดือนประจำของแป้งจี่เกือบ 2 เท่า

“เงินเดือนเรา 14,000 บาท แต่รายได้เสริมกลับเยอะกว่า เพราะขายเป็นกระเช้าจะได้กำไรเยอะขึ้น ราคาอยู่ที่ 400-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับความแพงของกระเช้า แต่ถ้าเป็นต้นราคาอยู่ที่ 30-35 บาท และถ้าขายเป็นต้นไม่หมดก็จะเอามาหั่นใส่ถุงขายรวมผักหลายๆ ชนิด ขาย 120 กรัม 60 บาท ซึ่งถือเป็นการเคลียร์ก่อนที่เราจะปลูกเซตใหม่”

เมื่อเห็นอาชีพเสริมไปได้ดี ส่วนอาชีพหลัก “แอ๊กเคานต์ แมเนจเมนต์” กลับทำงานไม่เป็นเวลา บวกกับมีแผนเรียนต่อปริญญาโท แป้งจี่จึงตัดสินใจลาออก โดยพร้อมยอมรับทุกความเสี่ยง ไม่ว่าจะสภาพดินฟ้าอากาศ แมลงศัตรูพืชที่มีผลต่อการอยู่รอดของผัก รวมถึงจำนวนอันไม่แน่นอนของลูกค้า

“การทำธุรกิจของตัวเอง ถ้าขยันมากก็ได้มาก ถ้าซื่อสัตย์จริงใจกับลูกค้าก็อยู่ได้นาน แล้วเราแพลนชีวิตตัวเองได้ แต่ก็กดดันนะ บางทียอดไม่ถึง กำไรไม่ดีก็แย่หน่อย สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมั่นใจว่าอยู่ได้จริงๆ ไม่เดือดร้อนใคร ไม่เดือดร้อนพ่อแม่ ถ้าถึงขนาดกู้หนี้เพื่อลงทุนก็เสี่ยงเกินไป ถ้ายังไม่มีต้นทุนอยากให้ทำงานประจำไปก่อนแล้วทำสิ่งที่ตัวเองชอบเป็นอาชีพเสริมควบคู่กันไป อย่างของแป้งที่ผ่านมาอาจไม่ได้ตามเป้า ผักตายบ้างเจอหนอนลงเพราะเราไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ก็ไม่เคยขาดทุนนะ” สาววัย 27 ปีแบ่งปันประสบการณ์ หลังทำอาชีพเสริมเป็นงานหลักมา 5 ปี

ขณะเดียวกันก็ยอมรับ “จริงๆ คุณแม่ยังอยากให้หางานประจำทำอยู่ แต่แป้งตั้งใจอยากให้เป็นอาชีพไปเลย เพราะตอนนี้เราขยายพื้นที่ปลูกแล้ว”

โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพิ่งเช่าที่แถวๆ บ้านย่านพัฒนาการ ประมาณ 50 ตารางวา มาปรับพื้นที่เพื่อลงรางปลูก 9 ราง ยาวรางละ 6 เมตร กว้าง 3 เมตร รวมทั้งค่าที่ ค่าอุปกรณ์ ค่าเมล็ดผักแล้วเป็นเงินร่วม 500,000 บาท

“คุณพ่อช่วยลงทุนให้ก่อน ถ้าได้มาแล้วก็จะคืนเขา ซึ่งถ้าคุณพ่อไม่ได้เงินเกษียณอาจไม่ได้มองตรงนี้ก็ได้ เราก็มองว่าเอาเงินเกษียณมาทำรายได้เข้ามาเรื่อยๆ โดยพื้นที่ที่ทำขยายได้อีก แต่ให้ตรงนี้อยู่ตัวสักหน่อยก่อน”

“สำหรับผักล็อตแรกที่ขายได้เป็นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม คร่าวๆ น่าจะได้ประมาณ 600 ต้น ขายเป็นต้นได้ต้นละ 30 บาท สัปดาห์หนึ่งได้ 18,000 บาท เดือนหนึ่งก็ 70,000-80,000 บาท แต่เราก็ไปติดต่อเพื่อนที่ทำสลัดโรลขายไว้ด้วยว่าเรามีผักจะส่งให้ อันนั้นจะขายเป็นกิโลกรัม ถ้าผักต้นใหญ่ น้ำหนักเยอะ รายได้จะดีกว่าขายเป็นต้น ซึ่งพี่ที่ศูนย์วิจัยเขาบอกว่าถ้าจะให้คืนทุนทั้งหมดก็ต้องใช้เวลาปีครึ่งถึง 2 ปี” เธอเล่า

พร้อมกับเอ่ย เมื่อถูกถามถึงหน้าที่ของปั้นจั่น “พี่ปั้นช่วยดูทำเลที่ปลูกให้ว่าโอเคไหม แพลนให้ทำเป็นแบบนั้นแบบนี้ แล้วส่วนใหญ่ก็เน้นโปรโมต หาลูกค้าให้ เขาก็บอกตลอดว่าถ้าไม่มีที่ส่งบอกนะจะหาที่ส่งให้ ช่วยออกความคิดทางด้านการตลาด แต่ไม่ได้ลงมาช่วยปลูก”

ถึงอย่างนั้นคนปลูกก็ย้ำว่านี่คือ “ธุรกิจของครอบครัว” ด้วย “จุดประสงค์ของสวนผักคืออยากให้เป็นรายได้อีกทางของครอบครัว พ่อแม่เกษียณแล้วไม่มีรายได้ ตอนนี้เรายังไม่ได้ทำงานประจำก็อยากเอาเงินส่วนนี้มาช่วยครอบครัวให้พ่อแม่ได้อยู่สบายไม่ต้องเหนื่อย”

สำหรับอนาคตนั้น นอกจากการเปลี่ยนชื่อจาก “เวจจี้ เฮ้าส์” ที่หลายเจ้าใช้อยู่มาเป็น “อิ่มอโนทัยฟาร์ม”หรือ “สุปวีณ์ฟาร์ม” ตามชื่อนามสกุลที่กำลังเลือกๆ อยู่ สาวเจ้ายังหวังจะส่งผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษออกขายไปทั่วประเทศ โดยตอนนี้อยู่ระหว่างทดลองส่งไปรษณีย์ไปให้เพื่อนที่ต่างจังหวัดชิมว่าผักยังจะสด กรอบ อร่อยหรือไม่

“เรามีความวาดฝันว่าจะส่งขายในประเทศให้ได้” แป้งจี่บอก

แต่ไม่วายแสดงความกังวล “สิ่งที่กลัวที่สุดคือพอเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมเพื่อส่งขายเราก็กลัวเรื่องคุณภาพ เพราะเป็นคนเน้นคุณภาพ ไม่ได้เน้นกำไร รู้สึกว่าทำอย่างนั้นอยู่ไม่นาน ถ้าให้ของไม่ดีลูกค้าเขาจะจำแล้วไม่ซื้ออีก ทุกครั้งถึงมือลูกค้าเราดูแล้วว่าถ้าเป็นเราเราก็กิน ตั้งแต่ทำมาไม่เคยมีสักครั้งที่ลูกค้าไม่โอเค”

“บางทีเกิดแอ๊กซิเดนต์ผักต้นเล็ก เราต้องบอกลูกค้าก่อนว่าผักต้นเล็ก ผักไม่สวย ถามความสมัครใจเขาตลอดว่าจะรับอยู่ไหม หรือบางทีลูกค้ามาสั่งกระเช้าแล้วอยากได้การ์ดเราก็ทำให้ วาดให้เอง อะไรทำให้ได้ก็ทำ พยายามทำทุกอย่างให้คุ้มค่ากับสิ่งที่เขาให้เงินเรามา อยากให้เขาได้สิ่งที่ดีที่สุด”

ดีต่อใจทั้งคน (ทำ) ให้ และคนรับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0