โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ขนส่งฯ สตาร์ทมาตรการ ตั้งจุดตรวจรถ - คนขับรถสาธารณะ (Checking Point) ทุก 90 กิโลเมตร ทั่วประเทศ

BLT BANGKOK

อัพเดต 17 ก.ย 2562 เวลา 07.45 น. • เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 07.42 น.
46d5354777ce901342bfab0a7628c69c.jpg

กรมการขนส่งทางบก เริ่มใช้มาตรการ Checking Point ตรวจรถ - คนขับรถสาธารณะ ทุกๆ 90 กม. ทั่วประเทศ ด้านผู้ประกอบการคัดค้าน เพราะเห็นว่าเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม รวมถึงเสียรายได้ ส่วน Checking Point ทุก 90 กม. ถี่เกินไป จะทำให้โปรแกรมการเดินทาง - กรุ๊ปทัวร์รวน แนะควรมีทุก 300 กม.
โดยนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2562 เป็นต้นไป จะเริ่มดำเนินการตรวจรถ และพนักงานขับรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง เพื่อตรวจสอบมาตรฐานผู้ขับขี่ และตรวจสภาพรถให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย ณ จุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ (Checking Point) ทุกๆ ระยะทาง 90 กิโลเมตร ทั่วประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับ กองบังคับการตำรวจทางหลวง และ บริษัท ขนส่ง จำกัด และจะดำเนินการต่อเนื่องทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ Checking point จะดำเนินการตรวจพนักงานขับรถ โดยตรวจระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจต้องเป็นศูนย์ ต้องมีใบอนุญาตขับรถถูกต้องตรงตามประเภทรถ คุมเข้มชั่วโมงการทำงานของพนักงานขับรถ และตรวจพินิจรถโดยสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัยตลอดการเดินทาง
ซึ่งมาตรการตรวจรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจ Checking Point จะเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการขนส่งให้ควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยของรถ และอุปกรณ์ส่วนควบ และการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถตลอดระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกัน และลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เข้มข้น จริงจัง ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้หากผู้ประกอบการขนส่งประจำทางและไม่ประจำทางละเลยไม่นำรถเข้ารับการตรวจความพร้อม ณ จุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ (Checking Point) จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 31 (10) หรือตามมาตรา 32 (6) แล้วแต่กรณี
ขณะที่นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมรถร่วมเอกชน ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางบก เรื่องขอคัดค้านการขอความร่วมมือในการนำรถเข้าตรวจสภาพ และนำพนักงานขับรถเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ตามที่ ขบ. ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไป เนื่องจากโดยปกติทางผู้ประกอบการจะต้องนำรถโดยสารเข้ารับการตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง ตามที่ ขบ. กำหนด และทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ก็ตรวจสอบทั้งสภาพรถโดยสาร และสมรรถภาพพนักงานขับรถรวมถึงพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกๆ 3 เดือนอยู่แล้ว
ดังนั้นการมีนโยบายให้ตรวจซ้ำอีก เป็นการเสียเวลา และเพิ่มภาระด้านต้นทุน เพราะในการนำรถตรวจสภาพต้องเสียเวลาอย่างน้อย 1 วัน และมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมัน ค่าจ้างพนักงานขับรถ ประมาณ 2,500 บาท/ครั้ง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็จะสูญเสียรายได้ เพราะไม่สามารถนำรถไปวิ่งให้บริการได้ และหากไม่ผ่านการตรวจสภาพต้องนำรถไปปรับปรุงแก้ไข และนำมาตรวจสภาพใหม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว
ทั้งนี้ ทางสมาคมเชื่อว่าการตรวจสภาพรถเดิมนั้นมีความเข้มงวดอยู่แล้ว หากตรวจสภาพรถไม่ผ่าน ก็นำรถออกวิ่งให้บริการไม่ได้อยู่แล้ว
ด้านนายสุวิทย์ เกตุประยูร อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ให้ผู้ประกอบการนำรถเข้ามาตรวจสภาพอีกเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน เพราะปกติรถโดยสารไม่ประจำทางจะต้องตรวจสภาพปีละ 2 ครั้งตามที่ ขบ. กำหนดอยู่แล้ว
ส่วนการตั้งจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ (Checking Point) ที่มีระยะห่างจุดละ 90 กม. เป็นมาตรการที่จะส่งผลกระทบกับเวลาในการเดินทางของผู้โดยสาร เพราะมีระยะทางที่ถี่เกินไป ในการตรวจแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลา ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่ 10 นาที แต่อย่างน้อยต้อง 30 นาที หากแวะตรวจ 3 ครั้งก็เสียเวลาไป 1 ชั่วโมง 30 นาที ทำให้โปรแกรมการเดินทางล่าช้า ทั้งนี้เสนอว่าระยะทางที่เหมาะสมต่อการตั้งจุด Checking Point คือ ทุก 300 กม. หรือประมาณ 4 ชม. ซึ่งจะสอดรับกับข้อกำหนดที่ให้หนัพงานขับรถหยุดพักทุก 4 ชม. ทำให้ไม่เสียเวลาเพิ่มมากขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0