โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กูรูคาด SET ไม่หลุด 1,500 จุด แนะลุยหุ้นปันผลสูง

efinanceThai

เผยแพร่ 28 ม.ค. 2563 เวลา 10.34 น.

โบรกฯคาดหุ้นไทยไม่หลุด 1,500 จุด มองแกว่งตัวในกรอบ 1,500 - 1,560 จุด แม้หลายปัจจัยลบกระหน่ำ ทั้งส่งออก เบิกจ่ายงบรัฐฯสะดุด ไวรัสโคโรน่าระบาด ภัยแล้ง และการลงทุนเอกชนชะลอ มองอาจฉุดจีดีพีปีนี้โตต่ำกว่า 2.8% แถมมีโอกาสหั่นกำไรบจ.ปีนี้ลง จากเดิมคาดอยู่ที่ 95.71 บาท แนะเก็บหุ้นจ่ายปันผลสูง

*** กูรูฟันธง SET ไม่หลุด 1,500 จุด พื้นฐานหุ้นไทยยังแกร่ง

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ควรหลุดกรอบ 1,500 จุด เนื่องจากพื้นฐานตลาดหุ้นไทยยังมีความแข็งแกร่ง แม้ว่าสถานการณ์ถือว่ามีความเสี่ยง และ กระทบต่อหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวก็ตาม

แนะนำกลยุทธ์เลือกหุ้นที่มีการจ่ายปันผล เนื่องจากจะไม่ได้รับผลกระทบ หรือ ความเสี่ยงจากไวรัสโคโรนา แนะนำลงทุนหุ้นในกลุ่มสื่อสาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และรอจังหวะเข้าลงทุนในตอนที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปมากโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มการบิน และ โรงกลั่น

"ไม่เชื่อว่าหุ้นไทยจะหลุด 1,500 จุด เพราะพื้นฐานเรายังดี หากมองย้อนไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส หุ้นปรับตัวลงมา 10-15% ซึ่งตอนนี้ราคาหุ้นก็ปรับลงมาประมาณนี้จึงอยากให้ลงทุนหุ้นในกลุ่มปันผล และ หุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัส"

นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย ประเมินดัชนีหุ้นไทยยังผันผวนในระยะสั้น จากกรณีไวรัสโคโรน่าระบาด แต่หากสถานการณ์สามารถควบคุมได้ภายใน 2 - 3 เดือน ดัชนีในระดับ 1,500 จุด น่าจะสะท้อนความกังวลไประดับหนึ่งแล้ว โดยทางการจีนมีระบบจัดการได้รวดเร็วกว่าในอดีตมาก ดังนั้นน่าจะคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้เร็ว

ส่วนในระยะยาวการลงทุนในหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ คาดว่าดัชนีในปีนี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นแตะที่ระดับ 1,700 จุด  เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และสภาพคล่องในระบบสูง ประกอบกับราคาหุ้นไทยที่ปรับลงมาในระดับต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน ทำให้ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ 

*** มองกรอบ SET สัปดาห์นี้ 1,500 - 1,560 จุด เชื่อไวรัสอู่ฮั่นส่งผลกระทบทางอ้อม

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด ระบุว่าประเด็นเชื่อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีเพียงแนวโน้มกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนที่ชะลอตัวลงในระยะสั้น ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ของบริษัทจดทะเบียนบางแห่งให้ปรับตัวลดลง

ซึ่งคาดการณ์ว่าประเด็นดังกล่าวจะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 และดัชนีตลาดหุ้นยุโรป EUROSTOXX 600 มีโอกาสปรับตัวลดลงประมาณ 3-5% นับจากวันศุกร์ที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่คาดการณ์ว่า ดัชนีตลาดหุ้นจีนมีโอกาสปรับตัวลงประมาณ 6-8% จากสมมุติฐานการรับมือที่ดีของรัฐบาลจีนในปัจจุบันและอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าหากเทียบกับในอดีต

ส่วนตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ค้าปลีก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ สายการบิน กลุ่มโรงพยาบาลและธุรกิจโรงแรม ระยะสั้นถูกผลกระทบจากแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่อาจจะลดลงในระยะสั้นมองกรอบดัชนีในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,500 – 1,560 จุด

แนะนำให้ทยอยสะสมในกลุ่มหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว อาทิ หุ้นในกลุ่มหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูงและลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ 

*** เอเซียพลัส มองสวน ชี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยดับ จีดีพีโตต่ำ 2.8%

บล.เอเซีย พลัส ระบุ เศรษฐกิจไทยในปี 63 มีความเสี่ยงที่จะเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย 2.8% โดยมีทั้งหมด 5 ปัจจัยกดดันหลัก ดังนี้ 

1.การส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนอยู่ เนื่องจากภาษีในรอบ 1 - 3 ยังไม่ถูกยกเลิก ความเสี่ยงจากสงครามการค้าคู่อื่นๆ ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์ และการที่สหรัฐฯตัดสิทธิ GSP ไทย 

2.การเบิกจ่ายของภาคใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ: ความเสี่ยงจากร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า จากกรณีลงคะแนนเสียงแทนกันของ ส.ส. จากกำหนดการเดิมคาดจะเบิกจ่าย ก.พ.  ล่าสุด คาดว่าอาจจะเบิกจ่ายได้อย่างเร็วคือ เดือน เม.ย-พ.ค.2562 

3.การบริโภคครัวเรือน : ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปีนี้จะแล้งมากที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง กระทบต่อรายได้ของเกษตรกร และฉุดรั้งกำลังซื้อของกลุ่มฐานราก
 

4.การลงทุนเอกชน: ความกังวลของปัจจัยเสี่ยงต่างๆข้างต้น โดยเฉพาะการส่งออกชะลอตัว และงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า คาดทำให้ภาคเอกชนยังชะลอการลงทุนออกไปก่อน

5.การท่องเที่ยว: การระบาดของไวรัสโคโรนา ที่ยังแพร่ระบาดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิต 82 ราย และผู้ติดเชื้อ 2.9 พันคน  ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกมีแนวโน้มมาไทยลดลง กระทบรายได้จากการท่องเที่ยว(การท่องเที่ยวมีสัดส่วนใน GDP ไทยประมาณ 20%) 

นอกจากนี้จะกดดันให้ต่างชาติขายหุ้นไทยมากสุดในภูมิภาค รวมถึงเม็ดเงินไหลจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเห็นได้ชัด

*** จ่อปรับลด EPS ปี 63 ลงอีก หลังบริษัทจดทะเบียนหลายรายมีความเสี่ยง

บล.เอเซีย พลัส ระบุเพิ่มเติมว่าประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียนไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น EPS ปี 63 ที่ 95.71 บาท ณ ปัจจุบัน SET Index ซื้อขายกันบน P/E ที่ 16.5 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับทั่วไป แต่ยังมีความเสี่ยงที่หลายๆบริษัทอาจถูกปรับประมาณการลงอีก จากหลากหลายปัจจัยแวดล้อมที่กดดันทุกฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนจีดีพีไทย 

อย่างไรก็ตามในระยะสั้น SET Index ยังมีโอกาสรีบาวน์ระยะสั้น เนื่องจากSET Index ปรับฐานแรงผิดปกติซึ่งจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี มีเพียง 14 วันที่ SET Index ปรับฐานลงมาเกิน 3% และหลังจากนั้น 3 วัน ส่วนใหญ่ดัชนีมักจะฟื้นตัวได้ดีเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 1.2%

*** คลังเล็งหั่นจีดีพี อ่วมพิษโคโรน่าระบาด

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังจะทบทวนจีดีพีปีนี้ จากเดิมคาดจะเติบโต 3.3%  เพราะมีหลายปัจจัยกดดันทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว -  การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาลมีวิธีรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

*** SET วันทำการล่าสุดยังร่วงแรง -10.89 จุด ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 

วันนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,513.26 จุด ลดลง -10.89 จุด หรือ -0.71% มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 67,069.58 ล้านบาท ลดลงแรงต่อเนื่องเป็นวันที่ 2
ดัชนี SET100 ปิดที่ 2,222.63 จุด ลดลง -16.32 จุด หรือ -0.73%
ดัชนี SET50 ปิดที่ 1,016.90 จุด ลดลง -7.63 จุด หรือ -0.74%
ดัชนีตลาด mai ปิดที่ 297.12 จุด ลดลง -2.69 จุด หรือ -0.90%

 
หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับได้แก่

1.AOT ปิดที่ 68.00 บาท ลดลง -0.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 5,989.90 ลบ.
2.BAM ปิดที่ 26.00 บาท ลดลง -0.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 3,822.51 ลบ.
3.GPSC ปิดที่ 88.25 บาท ลดลง -3.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 3,538.25 ลบ.
4.GULF ปิดที่ 190.50 บาท ลดลง -4.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,284.11 ลบ.
5.PTT ปิดที่ 43.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,265.88 ลบ.

ดูข่าวต้นฉบับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0