โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กำเนิด “โรงเรียนดัดสันดาน” สมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับเด็กที่ทำผิดกฎหมาย

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 20 มิ.ย. 2564 เวลา 07.15 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2564 เวลา 07.12 น.
นักเรียนโรงเรียนฝึกอาชีพ ( หรือ โรงเรียนดัดสันดาน เดิม)  ภาพจาก กรมราชทัณฑ์, รายงานประจำปีของกรมราชฑัณฑ์ พ.ศ. 2499 (พระนคร; โรงพิมพ์มหาดไทย, 2500)
นักเรียนโรงเรียนฝึกอาชีพ ( หรือ โรงเรียนดัดสันดาน เดิม) ภาพจาก กรมราชทัณฑ์, รายงานประจำปีของกรมราชฑัณฑ์ พ.ศ. 2499 (พระนคร; โรงพิมพ์มหาดไทย, 2500)

ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการบํารุงบ้านเมืองและราษฎรไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดังจะเห็นได้จากการสร้างกลไกและองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมารับผิดชอบภารกิจสมัยใหม่ของรัฐที่ไม่เคยมีมากก่อน เช่น การสาธารณสุข, การประปา, การรถไฟ, การ สุขาภิบาล, การราชทัณฑ์ และการศึกษา

รวมถึง “โรงเรียนดัดสันดาน” สำหรับควบคุมดูแล เด็กที่ทำผิดอาญาบ้านเมือง

เรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนดัดสันดานนี้ศรัญญู เทพสงเคราะห์ เขียนไว้ในบทความหนึ่งในหนังสือ “ราษฎธิปไตยฯ” (สนพ.มติชน มิถุยายน 2562 ) ซึ่งขอคัดย่อบางส่วนมานำเสนอดังนี้

เพื่อแก้ปัญหาเด็กในสังคมเมืองพระนคร ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของสังคมเมือง ที่ทําให้เกิดสถานบันเทิงและแหล่งเริงรมย์ในพื้นที่สาธารณะ อาทิ โรงบ่อน, โรงมหรสพ และโรงหญิงนครโสเภณี ซึ่งสถานที่เหล่านี้ได้เป็นที่พักพิงของเด็กเกเรและเด็กเร่ร่อนผู้ถูกเรียกว่า “เด็กกลางถนน” และ “เด็กหน้าโรงบ่อน” ที่สร้างความวุ่นวายในสังคมเมือง รวมถึงมีแนวโน้ม คอนโจรผู้ร้ายในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ทางกระทรวงนครบาลจึงตั้ง “โรงเรียนดัดสันดาน ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2450 เพื่อสถาบันควบคุมและดัดสันดานเด็กกลุ่มดังกล่าว และเป็นการแบ่งแยกการลงโทษผู้กระทําผิดระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ตามกฎหมายสมัยใหม่ในเวลานั้น

เนื่องจากแนวคิดที่ว่าหากสิ่งเด็กไปลงโทษคุมขังกับนักโทษผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะชักพาให้เด็กประพฤติชั่วมากขึ้น โดยใน พ.ศ. 2450 เมื่อประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ได้กําหนดให้ผู้กระทําผิดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องถูกส่งตัวไปควบคุมที่โรงเรียนดัดสันดาน ตามคําสั่งศาล ดังนั้นโรงเรียนดัดสันดานจึงไม่ได้ควบคุมเฉพาะเด็กกลางถนนและเด็กหน้าโรงบ่อนในพระนครเท่านั้น แต่รวมไปถึงเด็กที่กระทําผิดทางอาญาทั้งในพระนครและหัวเมือง

ระยะแรกนั้นโรงเรียนดัดสันดานขึ้นกับกองตระเวน กระทรวงนครบาล โดยกองตระเวนจัดสรรงบประมาณมาเป็นค่าใช้สอยสําหรับโรงเรียนดัดสันดาน ทั้งค่าเบี้ยเลี้ยงเด็กดัดสันดาน ค่าพาหนะรับส่ง ค่าเครื่องนุ่งห่มและที่นอน และเลือกพื้นที่อดีตพระราชวังฤดูร้อน ของรัชกาลที่ 5 บนเกาะสีชัง มาดัดแปลงเป็นโรงเรียนดัดสันดาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและเอื้อต่อการควบคุมเด็ก เนื่องจากสภาพที่ตั้งเป็นเกาะกลางทะเลยากต่อการหลบหนี

เมื่อพิจารณาระบบของโรงเรียนดัดสันดานพบว่า โรงเรียนดัดสันดานให้ความสําคัญกับการควบคุมมากกว่าการอบรมสั่ง สอนเด็กที่กระทําผิดให้กลายเป็นคนดี ดังสะท้อนจากพระดำริ ของกรมหลวงดํารงราชานุภาพเกี่ยวกับโรงเรียนดัดสันดานว่ามีลักษณะ “เป็นคุกครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนครึ่งหนึ่ง” ที่จะต้องบังคับเด็กไว้อยู่ในโรงเรียนตลอดเวลาที่กําหนด แต่ในการดําเนินงานของโรงเรียนดัดสันดานกลับเน้นลักษณะคุกมากกว่าโรงเรียน โดยอยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงนครบาลมิใช่กระทรวงธรรมการ มีนายสิบพลตำรวจเป็รผู้ควบคุมเด็ก ส่วนครูผู้สอนคือ นักโทษที่มีทักษะด้านการสอนหนังสือ งานช่างไม้และการจักสาน โดยระยะแรก “ครูนักโทษ” หลายคนประพฤติตัวไม่ดี ระหว่างทำงานที่โณงเรียนดัดสันดาน เนื่องจากเป็นนักโทษในข้อหาฆ่าคนตาย ปล้นฆ่าและทำร้ายร่างกาย

ปัญหาดังกล่าวทำให้กระทรวงนครบาลและกระทรวงธรรมการร่วมกันพิจารณษระเบีบการศึกษาสำหรับโรงเรียนดัดสันดาน พ.ศ. 2459 เช่น ควรจัดให้เด็กได้เรียนหลักสูตรสามัญศึกษาและวิชาชีพ, กวดขันความประพฤติ, การแยกเด็กที่มีโทษหนักเบาออกจากัน แต่การแก้ปัยหาดังกล่าวก็ติดขัดเพราขาดงบประมาณ สุดท้ายจึงแก้ปํยหาได้เพียงการเปลี่ยนครูจาก “นักโทษ” มาเป็น “ตำรวจ” แทน ซึ่งก็ยังเป็นการเน้นการควบคุมเป็นสำคัญ

ในเวลานั้นโรงเรียนดัดสันดานสามารถรองรับได้เด็กได้เพียง 50 คน หากมีเด็กเกินกว่าที่กำหนด โรงเรียนก็จะขอให้ชะลอการส่งตัวไว้ก่อน ทำให้ต้องขังเด็ก(ที่ต้องคำพิพากษาเหล่านั้น)ไว้ที่เรือนจำ หรือมอบหมายให้ไปอยู่ในปกครองของใคร  นอกจากนี้โรงรียนดัดสันดานที่เกาะสีชังยังรับเฉพาะเด็กผู้ชาย ส่วนเด็กผู้หญิงที่ถูกพิพากษาแก้ปัญหาด้วยการส่งตัวไปภูมิลำนาเดิมให้เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ไปปกครองและดัดสันดาน

หลังการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลคณะราฎรได้รับปรุงงานราชทัณฑ์ ให้อบรมและฝึกฝนนักโทษเป็นพลเมืองดีตามหลักวิชาการก่อนส่งกลับสู่สังคม ส่วนของโรงเรียนดัดสันดานนั้น ในปี 2476 หลวงบรรณสารประสิทธิ์ รักษาราชการในจำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เสนอว่าโรงเรียนควรมีลักษณะเป็น โรงเรียดงดัดสันดาน (Reform School) ผสมกับโรงเรียนใกวิชาชีพ (Industrial School) ที่อบรมปรับเปลี่ยนนิสันและฝึกอาชีพ เพื่อให้เด็กเป็นแรงงานทางเศรษฐกิจในอนาคต แลพะมองหาสถานที่ตั้งโรงเรียนดัดสันดานที่มีพื้นที่มากพอสำหรับงานเกษตร, ใกล้ชุมชน และง่ายต่อการควบคุม โดยพื้นที่พิจารณาคือ บริเวณเกาะเมืองกรุงเก่า

โครงการโรงเรียนดัดสันดานของหลวงบรรณสารประสิทธิ์นั้น กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณามี หม่อมเจ้าสกลรรณากร วรวรรณ (ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย) เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย พระยาอนุสสรธุระการ (ผู้แทนอธิบดีกรมตำรวจ), พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (ผู้รั้งตําแหน่งอธิบดีกรมมหาดไทย), นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ (ผู้ช่วยราชการกระทรวงมหาดไทย) และหลวงบรรณสารประสิทธิ์ (ผู้รักษาราชการในตําแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์)

เมื่อที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบโครงการฯ และเห็นควรให้กรมราชทัณฑ์ตั้งงบประมาณสําหรับโรงเรียนด้านต่างหาก เพื่อใช้เป็นเงินค่า เบี้ยเลี้ยงเด็ก เงินเดือนเจ้าหน้าที่ และค่าใช้สอยต่างๆ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีใน (17 เมษายน 2477)

การปรับปรุงโรงเรียนดัดสันดานได้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อรัฐบาลพระยาพหลฯ โอนงานโรงเรียนจากกรมตํารวจ มายังกรมราชทัณฑ์ในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2478 (พ.ศ. 2479 ตามปฏิทินปัจจุบัน) และที่สําคัญคือการร่างกฎหมายเพื่อเป็นหลักปฏิบัติงานของโรงเรียน ได้แก่ พระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจําพวก พ.ศ. 2479

เดิมกฎหมายฉบับดังกล่าวมุ่งการควบคุมเด็กที่กระทําผิดอาญา ต่อมาได้เพิ่มการควบคุมเด็กเร่ร่อน เด็กอนาถา และเด็กนักเรียนที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อย เพื่อฝึกสอนอบรมศีลธรรม ความรู้ทั่วไป และวิชาชีพต่างๆ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนชื่อจาก “โรงเรียนดัดสันดาน” มาเป็น “โรงเรียนฝึกอาชีพ”

กิจกรรมของเด็กทุกคนในโรงเรียนฝึกอาชีพในแต่ละวันมีดังนี้ ช่วงเช้า (06.00-09.00น.) เริ่มจากฝึก กายบริหารการฝึกระเบียบตามแบบทหารและรับประทานอาหารเช้า ช่วงสาย (09.00-12.00 น.) เป็นการเรียนวิชาสามัญในชั้นเรียน และรับประทานอาหารกลางวัน ช่วงบ่าย (13.00-16.50 น.) มี การจัดอบรมวิชาชีพ (กสิกรรมและการช่าง) และการเล่นกีฬา ช่วงเย็นและค่ำ (17.00-21.00 น.) คือช่วงรับประทาน จบด้วยการประชุมอบรมด้านศีลธรรมจรรยาและการสวดมนต์ นอกจากนี้ระหว่างเวลา 16.00-17.00 ของทุกวัน เด็กยังต้องทําความสะอาดพื้นที่บ้านพักและบริเวณโรงเรียน และทุกวันเสาร์ จะต้องทํางานโยธาตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น.

นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2480 จากผลพวงของภาวะสงครามโลกส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการสถาบันราชทัณฑ์หลาย ขณะที่โรงเรียนฝึกอาชีพของกรมราชทัณฑ์ประสบปัญหาเด็กวินัยหย่อนยานเช่นกัน ดังสะท้อนจากสถิติเด็กหลบหนีที่สูงมาก โดยใน พ.ศ. 2488 มีเด็กหลบหนี 46 คน จากจํานวนเด็กทั้งหมด 150 คน และ พ.ศ. 2489 มีเด็กหลบหนี 27 คนจากจํานวนเด็กทั้งหมด 118 คน

ขณะเดียวกันจากการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสังคมสงเคราะห์ ในประเทศไทยช่วงปลายทศวรรษ 2490 ได้มีอิทธิพลต่อแนวคิด การปฏิบัติและอบรมแก้ไขความประพฤติของเด็กและเยาวชนที่ทำผิดกฎหมายของรัฐตามหลักสังคมสงเคราะห์ ที่เน้นการช่วยเหลือในระยะยาวจนกว่าผู้รับจะสามารถช่วยตนเองได้ ส่งผลให้กรมประชาสงเคราะห์กลายเป็นหน่วยงานหลัก ในการดูแลสวัสดิภาพเด็กและจัดบริการสงเคราะห์แก่เด็กกําพร้า อนาถาไร้ที่พึ่ง เด็กที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองยากจน เด็กที่มีปัญหาความประพฤติ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามงานเกี่ยวกับเด็กของกรมประชาสงเคราะห์กลับทับซ้อนกับงานโรงเรียนฝึกอาชีพของกรมราชทัณฑ์ ด้วยเหตุนี้ ใน พ.ศ. 2500 กระทรวงมหาดไทยจึงได้โอนโรงเรียนฝึกอาชีพ ไปสังกัดกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางแก้ไขความประพฤติของเด็ก และมีการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจําพวก พ.ศ. 2479 เพื่อโอนโรงเรียนฝึกอาชีพไปอยู่กับกรมประชาสงเคราะห์

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 กรมราชทัณฑ์ได้ทําพิธีส่งมอบเด็กในโรงเรียนฝึกอาชีพ ไปอยู่ในเยาวสถานห้วยโป่ง จังหวัดระยอง อันเป็นสถานสงเคราะห์ เด็กและเยาวชนที่กระทําผิดกฎหมายหรือมีปัญหาความประพฤติใน ความดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ และถือเป็นจุดสิ้นสุดการดําเนินงานดัดสันดานเด็กของกรมราชทัณฑ์รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 22 ปี

ข้อมูลจาก

ศรัญญู เทพสงเคราะห์. ราษฎรธิปไตย: การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ) ราษฎร. สำนักพิมพ์  มติชน, มิถุนายน 2562

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 8 สิงหาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0