โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้านานๆ ทำให้ร่างกายเคยชินกับการใช้ยา หยุดใช้ยาได้ยากขึ้น

The Momentum

อัพเดต 27 ก.พ. 2563 เวลา 12.20 น. • เผยแพร่ 26 ก.พ. 2563 เวลา 19.21 น. • THE MOMENTUM TEAM

หลายคนอาจจะใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้าเพื่อจัดการกับปัญหาความเครียด แต่ผลการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ในThe Journal of the American Osteopathic Association ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลต่อเนื่องถึงหกทศวรรษ พบว่า การใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้าต่อเนื่องในระยะยาวอาจจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้หากผู้ใช้ยาหยุดยา โดยจะมีอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ วิตกกังวล ท้องร่วง กระวนกระวาย เหนื่อยอ่อน และมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ งานวิจัยยังพบว่า การใช้ยาต้านภาวะซึมเศร้านานๆ อาจทำให้ยากต่อการหยุดใช้ยา เพราะยาสามารถทำให้ผู้ใช้ยาเกิดการติดยาทางกายได้

ดร.มิเรล์ ริซกัลลา จากMidwestern University ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวว่า“ฉันเข้าใจว่าหลายคนรู้สึกปลอดภัยที่ภาวะซึมเศร้า หรือ วิตกกังวล สามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มันเป็นยาที่ออกฤทธิ์เปลี่ยนแปลงสมอง และไม่แนะนำให้ใช้ยาเป็นวิธีการรักษาอย่างถาวร”

จากสถิติของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี2017 พบว่า ร้อยละ12.7 ของประชาชนอเมริกันที่มีอายุ13 ปี ขึ้นไป ใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้าเป็นรายเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลของปี1999 ที่มีประชาชนเพียงร้อยละ7.7 ที่ใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุว่า1 ใน4 ของผู้ใช้ยาต้านภาวะซึมเศร้า ใช้ยามานาน10 ปี หรือมากกว่านั้น การศึกษายังพบว่า การใช้ยาประเภทนี้ในระยะยาวยังเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะantidepressant discontinuation syndrome ที่ทำให้ร่างกายเคยชินกับการใช้ยา ทำให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาได้ยากขึ้น เพราะไม่อยากเผชิญกับผลกระทบที่ตามมาจากการหยุดยา

ดร.มิเรล์ ริซกัลลา ระบุเพิ่มเติมในรายงานว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหยุดการใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้า เนื่องจากบ่อยครั้งแพทย์ไม่วางแผนในการหยุดยาให้ผู้ป่วย ดร.มิเรล์ ริซกัลลา จึงแนะนำว่า แพทย์ผู้สั่งยาควรจะวางแผนในการหยุดยาให้ผู้ป่วย ควบคู่กับวิธีดูแลสุขภาพจิตแบบไม่ต้องกินยา เช่น การบำบัด การออกกำลังกาย หรือการทำสมาธิ

นอกจากนี้นักวิจัยเสนอคำแนะนำว่า ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าที่ต้องการจะลดการใช้ยาเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากอาการ antidepressant discontinuation syndrome ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์

ที่มา

https://www.sciencealert.com/antidepressants-can-cause-withdrawal-like-symptoms-that-make-getting-off-them-harder

https://www.businessinsider.com/antidepressants-can-cause-painful-withdrawal-dependence-symptoms-anxiety-and-flu-2020-2 

ภาพ: Darren Staples/AFP

 

หมายเหตุกองบรรณาธิการ:  ข่าวนี้เป็นข่าวที่นำมาจากงานวิจัย ซึ่งมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และวิชาการ และได้รับการเผยแพร่ในสื่อวิชาการทางการแพทย์

ทางกองบรรณาธิการนำข่าวนี้มาเผยแพร่ต่อ โดยไม่ได้มีความหมาย ข้อความ หรือการชักจูงให้คนป่วยไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลงานวิจัยที่น่าสนใจในอีกด้านหนึ่ง ว่ามีผลการศึกษาผลข้างเคียงจากการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ป่วย ไม่ว่าจะโรคไหนที่ต้องกินยาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จำต้องระมัดระวังว่ายาเหล่านั้นจะสร้างผลข้างเคียงอย่างไรบ้างในระยะยาว

อนึ่ง ทางเว็บไซต์ The Momentum มีการนำเสนอข่าว บทความ เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้ามาโดยตลอด ในหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถติดตามอ่านย้อนหลังได้ในเว็บไซต์ เพื่อทำความเข้าใจแง่มุมอื่นๆ ในประเด็นเรื่องภาวะซึมเศร้าได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0