โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

การเมืองไม่เสถียร ทุบดัชนีความเชื่อมั่นเอกชนวูบต่ำสุดในรอบ 15 เดือน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 05 ส.ค. 2565 เวลา 07.55 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 05.05 น.
45378

หอการค้าไทย เผยดัชนีคววามเชื่อมั่นผู้ประกอบการลดลงต่ำสุดในรอบ 15 เดือน เหตุผลจากการเมืองเป็นหลัก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทุกภูมิภาคซึม ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กดดันกำลังซื้อไม่ฟื้นมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ในเดือน พ.ค. 2562 ซึ่งทำการสำรวจจากกลุ่มหอการค้าภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 370 ตัวอย่าง พบว่า อยู่ที่ระดับ 47.4 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 15 เดือน ลดลงจาก 47.8 ในเดือนก่อนหน้า และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการในทุกภูมิภาคทั่วปะเทศ รวมทั้งกรุงเทพฯ มีความเชื่อมั่นลดลงทุกรายการ ทั้งเศรษฐกิจโดยรวม สาเหตุสำคัญมาจากความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาล การเมืองขาดเสถียรภาพ

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า ภาคบริการ การจ้างงาน รวมไปถึงภาคการค้าชายแดน ดัชนีความเชื่อมั่นปรับลดลง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ แล้วปัญหาสงครามการค้ามีแนวโน้มรุนแรง การส่งออกลดลง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งกดดันให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลง ล้วนมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ

ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบ ปัจจัยบวก เช่น กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ต่อปี ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปริมาณผลผลิตภาคการเกษตรขยายตัว อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพืชเกษตร ซึ่งมีผลต่อรายได้และมีผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นอยู่ ขณะที่ ปัจจัยลบที่กระทบ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวลดลงในช่วงไตรมาส 1 ที่ 2.8% การส่งออกลดลงจากปัญหาสงครามการค้า ความกังวลเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล การเมืองไม่มีความแน่นอนขาดเสถียรภาพ ประชาชนมีความกังวลเรื่องของค่าครองชีพ ราคาสินค้า ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ

อย่างไรก็ดี หอการค้าไทยมองปัญหาหลักที่ทุกภาคมีผลกระทบตรงกัน คือ เรื่องของราคาสินค้าเกษตรที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เพราะมองว่าหากการเลือกตั้งผ่านไปเรียบร้อยและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 2562 ซึ่งจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลอาจจะต้องมุ่งเน้นเข้าไปดูแลภาคเกษตรและการท่องเที่ยว เพราะหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น จะมีผลต่อรายได้ ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยจะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังโตได้ 3.8-4 % และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3.5 %

ส่วนแนวทางแก้ไขอื่นๆที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาดำเนินการ คือ การแก้ไขปัญหายค่าครองชีพ ปัญหาความยากจน ลดความเลื่อมล้ำในสังคม กระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ เร่งผลักดันระบบขนส่งคมนาคมของประเทศให้มีความเชื่อมโยงเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร ส่งเสริมการท่องเที่ยวชมชุน ซึ่งหากเดินหน้าได้เชื่อว่าความเชื่อมั่นของประกอบการจะกลับมาปรับตัวดีขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0