โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การเมืองเรื่องเพศและการเมืองแบบไทยๆ ใน 'รามเกียรติ์'

The MATTER

อัพเดต 12 พ.ย. 2562 เวลา 03.32 น. • เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 03.13 น. • seX-ray

ในบรรดาวรรณคดีนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ดูเหมือนว่า 'รามเกียรติ์' จะถูกนำมารับใช้เป็นละครที่มีนัยยะทางการเมืองบ่อยๆ ก็แน่ล่ะมันเป็นผลผลิตทางการเมืองนี่นา ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบใดก็ตาม

ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการสลักเล่าเรื่องรามเกียรติ์ว่าด้วยตอนพระรามทำสงครามกับเจ้าเกาะลงกาเพื่อชิงตัวนางสีดากลับคืนอโยธยา เป็นรูปนูนต่ำที่หน้าบันพระวิหารทิศทั้งสี่และวิหารคดทั้งสี่ในวัดโพธิ์ เพื่อรำลึกถึงคราวเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก่อนปราบดาภิเษก เคยตั้งพลับพลาหน้าวัดโพธารามก่อนจะลงเรือไปปราบจลาจลที่ฝั่งธนบุรี ด้วยเหตุที่อ้างว่าพระเจ้าธนบุรีเสียสติ และคุมขังลูกเมียของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไว้ด้วย [1] และในสมัยรัชกาลที่ 4 มักให้เล่นโขนตอนรามเดินดง 14 ปี เพื่อรำลึกถึงการออกบวชอันเนิ่นนาน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็จัดให้แสดงโขนกลางแปลงที่ท้องสนามหลวงตอนรามเข้าเมือง ในคราวกลับจากเสด็จยุโรปครั้งแรก

รามเกียรติ์ดัดแปลงมาจากมหากาพย์สันสกฤต Ramayana ที่มีระยะเวลาการร่วมแต่งต่อเติมแก้ไข ตั้งแต่ 4-7 ศตวรรษก่อนคริสต์กาลจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 3 เพื่อบอกเล่าถึงความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ที่อาศัยในอินเดียเหนือกับอินเดียใต้ นิยามให้เป็นมหายุทธระหว่างเทพเจ้ากับอสูร ธรรมะชนะอธรรม ก่อนจะถูกทำให้เป็นละเม็งละครที่แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชาติพันธุ์ของพระเอกอย่าง 'พระราม' จึงเป็นมนุษย์รูปร่างงดงามตามอุดมคติ คือลักษณะอ้อนแอ้น สวยงาม ตามลักษณะเทวดาที่อิ่มทิพย์สุขสบาย ผิดลักษณะของกษัตริย์ในความเป็นจริงที่เป็นวรรณะนักรบ ขณะที่ผู้ร้ายอย่าง 'ทศกัณฑ์' ถูกวาดภาพให้เป็นยักษ์ร้ายร่างกายมหึมา หลายมือหลายหัว  สามารถแยกดวงใจออกจากกาย ในรามายณะฉบับอินเดียหลายๆ ฉบับ ทศกัณฐ์มีชื่อว่า ราวัณ (Ravana) หรือ ราพณ์ ซึ่งน่าจะแผลงมาจากภาษาทมิฬคำว่า อิไรวัน, อิเรอิวัน ซึ่งแปลว่า พระเจ้าหรือกษัตริย์ [2] เป็นอสูรอมตะเพราะเก็บน้ำอมฤตไว้ที่ท้อง

ซ้ำร้ายครอบครัวทศกัณฐ์ในรามเกียรติ์ยังถูกเล่ามีเพศวิถีที่ไร้ระเบียบสะเปะสะปะ (ในสายตาของมนุษย์) สมสู่กับปลาจนเกิด 'นางสุพรรณมัจฉา' (ซึ่งเดี๋ยวสุพรรณมัจฉาก็ไปได้กับหนุมานอีกต่อหนึ่ง) สมสู่กับช้างเกิดกุมารยักษ์หน้าเป็นช้างสองตน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริวารของทศกัณฐ์ นอกจากนี้ก็มีมเหสีนางมณโฑที่มีกำเนิดมาจากคางคก รวมทั้งมีญาติเป็น นางยักษ์อีกา 'นางกากนาสูร'

ขณะที่บ้านพระรามนางสีดาเป็นตัวแทนของมนุษย์

และตระกูลของทศกัณฑ์ก็เป็นอสูรสัตว์ประหลาดเป็นภัยคุกคามมนุษย์

ลิงอย่างหนุมานคือสิ่งมีชีวิตที่ใกล้เคียงมนุษย์แต่ยังไม่เจริญเท่า ทำหน้าที่เป็นบริวารแรงงานมนุษย์ผู้เจริญแล้ว ถูกเกณฑ์ให้ไปรบกับอสูร หนุมานจึงเป็นเหมือนกลุ่มชาวพื้นเมืองที่เจ้าชายเมืองอโยธยาไปพบระหว่างเดินทางไปรบกับเจ้าเมืองลงกา

เพราะลิงกับยักษ์นั้นในรามเกียรติ์เล่าว่า มีชาติกำเนิดเดียวกันคือ เกิดจากต้นไผ่ที่ผุดขึ้นมาระหว่างฤๅษีกำลังเข้าฌาน จึงนำไปถวายพระอิศวรทำคันศร แต่เมื่อลองโก่งศรดู ก็หักออกเป็น สองท่อน เลยโยนทิ้งไป ปลายธนูกลายเป็นพญาวานรชื่อ 'นิลเกสร' ส่วนโคนธนูกลายเป็นพญาอสูรชื่อ 'เวรัมภ์' แล้วยังทำนายด้วยว่าวงศ์วานว่านเครือวานรที่มีกำเนิดจากปลายคันศรจะชนะเผ่าพันธุ์อสูร [3]

ตามรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 หนุมานมีแม่คือ 'นางสวาหะ' เกิดจากการที่นางถูกสาปให้ต้องไปยืนขาข้างเดียวอ้าปากอยู่บนเขาเพื่อเป็นการทรมาน ต่อมาพระพายได้นำอาวุธพระอิศวรซัดเข้าปาก นางจึงปฏิสนธินิรมลให้กำเนิดหนุมาน

เหมือนกับในสังคมบุพกาล ที่การตั้งท้องและการเป็นแม่คนนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ชายในอดีตไม่สามารถอธิบายแบบชีววิทยาได้ว่าทำไมอยู่ดีๆ ถึงมีเลือดประจำเดือนหรือทารกออกมาจากตรงนั้นของผู้หญิงได้

ความลึกลับนี้กลายเป็นคุณสมบัติของ 'ความเป็นหญิง'

ที่ผู้ชายยุคนั้นต่างหวาดกลัวเพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายหรือควบคุมได้

เหมือนที่นางสวาหะให้กำเนิดหนุมานเกิดจากนางสวาหะกับพระพาย (ลม) ที่มองไม่เห็น

ผู้หญิงจึงถูกเชื่อว่ามีอำนาจมหัศจรรย์อันลึกลับที่เนรมิตมนุษย์ อันเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงเผ่าพันธุ์และเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการดำรงชีวิต ทำให้สังคมในยุคนั้น ยกย่องและบูชาผู้หญิงที่ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้เอง นับญาติสืบเชื้อสายทางฝ่ายแม่ เด็กไม่มีความจำเป็นต้องรู้จักพ่อ สำนึกเกี่ยวกับพ่อไม่ได้เกิดในช่วงสมัยนั้น เพราะเชื่อว่าเด็กเกิดมาเองด้วยพลังวิเศษของหญิง [4] ในบุพกาล ผู้หญิงจึงไม่จำเป็นต้องรักษาพรหมจรรย์ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องประกันความมั่นใจให้ผู้ชายว่าเด็กที่เกิดออกมามีใครเป็นพ่อ นอกจากนี้พวกเธอยังมีเสรีภาพในการเลือกสามี

ร่องรอยสังคมเช่นนี้จึงไปปรากฏในสังคมยักษ์รามเกียรติ์ ขณะที่พระรามพระลักษณ์เดินทางตามหานางสีดา ผ่านนางยักษ์สาว 'อโยมุขี' อยากได้พระลักษณ์เป็นผัว จึงเข้ามากอดรัด เป็นเหตุให้ลักษณ์ใช้พระขรรค์ฟัน เต้านม หู จมูก นางจึงหนีไป [5] กรณีเดียวกับนางสำมนักขา น้องสาวทศกัณฐ์ นางเป็นหม้ายและเปล่าเปลี่ยวหัวใจ พบพระรามเดินดงจึงอยากได้มาเป็นผัว พยายามเกลี้ยกล่อม เมื่อดีลไม่สำเร็จจึงเข้าตบตีนางสีดา สุดท้ายก็ถูกพระลักษณ์ลงโทษด้วยการตัดแขนขาจมูกและหูทิ้ง แล้วไล่กลับลงกาไป

ขณะที่นางมณโฑ มเหสีทศกัณฐ์นั้น กลายเป็นหญิงที่มากสามีและมีวิชาคาถาอาคม ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ได้ เดิมนางเป็นคางคกทำความดีความชอบจนฤษีเสกให้เป็นหญิงสาว แล้วนำไปถวายเป็นเมียพระอิศวร แล้วพระอิศวรก็ประทานให้ทศกัณฐ์ต่อ แต่ระหว่างที่อุ้มนางมณโฑกลับกรุงลงกา ได้ต่อสู้กับพาลีพญาลิงเจ้าเมืองขีดขินจนพ่ายแพ้ ทศกัณฐ์จึงเสียนางมณโฑให้แก่พาลีไป เมื่อนางตั้งครรภ์กับพาลี ฤๅษีอังคต อาจารย์ของพาลีจึงเกลี้ยกล่อมให้คืนนางมณโฑแก่ทศกัณฐ์ แล้วควักลูกในท้องอันเกิดกับพาลีออกมาใส่ท้องแพะแทน จากนั้นจึงค่อยนำนางมณโฑส่งกลับทศกัณฐ์ โดยไม่แยแสเสียงคัดค้านนางมณโฑ

การทำคลอดและการตั้งครรภ์อันเป็นพื้นที่

และการสร้างอำนาจเฉพาะของผู้หญิงแต่เดิม

จึงตกเป็นของนักบวชและนักปกครองชาย

กลายเป็นการต้องสละลูกของตนเองให้เป็นสมบัติอยู่ในการครอบครองของสามีอย่างเลี่ยงไม่ได้ ที่พวกผู้ชายกลุ่มนี้ไม่ได้สนใจว่าลูกของนางจะเกิดออกมาจากช่องคลอดแพะหรือของนางเอง หลังจากนั้นนางมณโฑก็ถูกส่งคืนทศกัณฐ์ แล้วก็ได้กับหนุมานอีกทีที่แปลงกายเป็นสามีนาง และเมื่อทศกัณฐ์ถูกสังหาร นางก็ตกเป็นมียพิเภก น้องชายสามีอีกทอด

สภาวะสิ้นอำนาจในอนามัยเจริญพันธุ์ของมณโฑจึงเท่ากับการสลายอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของหญิงชนพื้นเมืองดั้งเดิม เพราะนางมณโฑคือนางคางคกหรือคันคาก ซึ่งก็เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อีกตัวเช่นเดียวกับเงือก งู นาค เพราะเสียงร้องของคันคากเป็นสัญลักษณ์ของฟ้าฝนและความอุดมสมบูรณ์ ตามวัฒนธรรมท้องถิ่นที่บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพศหญิงให้เป็น 'เจ้าแม่' ที่สัมพันธ์กับแม่ ความอุดมสมบูรณ์ความเจริญงอกงาม ซึ่งมักมีให้เห็นในชุมชนเกษตรกรรมอินเดียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต่อมาตำนานความเฮี้ยนหรืออภินิหารของพวกเธอก็มักจะถูกปราบหรือทำให้เชื่องโดยผู้ชาย ไม่ว่าจะโดยเทวดานักบวชหรือชนชั้นปกครอง ด้วยการจับทำเป็นเมีย

ยิ่งเมื่อหนุมานสืบมรรคา เพื่อกรุยทางให้กองทัพลิงของพระรามไปรบกับทศกัณฐ์ ก็ยิ่งทำให้เห็นหญิงท้องถิ่นที่มีอำนาจพละกำลังกระจัดกระจายตามทางก่อนถึงกรุงลงกา ซึ่งโดนหนุมานฆ่าตาเกลี้ยง ทั้งนางผีเสื้อสมุทร นางอังกาศตไล (หรือ อากาศตะไล) ที่ขัดขวางทางหนุมาน

ขณะที่คำว่า 'ผีเสื้อ' ในภาษาไตและลาวโบราณหมายถึงเจ้าที่หรือผู้รักษาท้องถิ่น [6] ส่วนคำว่า 'ตะไล' นั้น ในภาษาทมิฬแปลว่า ที่สูงหรือศีรษะ [7] นางผีเสื้อสมุทรเป็นนางยักษ์เฝ้ากรุงลงกา รูปร่างใหญ่โต มีฤทธิ์มาก วันหนึ่งขณะเดินตระเวนรอบเกาะลงกา พบหนุมานบุกเข้ามาจึงต่อสู้กันไม่มีใครแพ้ชนะ นางผีเสื้อตัดปัญหาขย้ำกินหนุมานเป็นอาหาร หนุมานจึงใช้ตรีตัดตับไตไส้พุงของนางแล้วกรีดท้องออกมา แล้วตัดแขนขาโยนให้ปลาในทะเลรอบลงกากิน ส่วนนางอังกาศตไล พระเสื้อเมืองแห่งกรุงลงกา มีหน้าสีแดงสี่หน้า แปดมือ ได้ต่อสู้กับหนุมาน แต่เพลี่ยงพล้ำถูกหนุมานฆ่าตายเช่นกัน

ในรามเกียรติ์ไทย นางอังกาศตไล ถูกอธิบายให้เป็นยักษ์กะเทย มีทั้งสองเพศสภาพ ระหว่างรบเธอถูกหนุมานล่วงละเมิดทางเพศ จับนมจับก้นอย่างที่ไม่เกิดกับศัตรูเพศอื่น กลายเป็นฉากตลกในการแสดงโขน แม้ว่าเรื่องแบบนี้โดยสามัญสำนึกแล้ว มันไม่ใช่เรื่องขำขันก็ตาม

อย่างไรก็ตามการล่วงละเมิดทางเพศมักเกิดขึ้น

ในสงครามโดยทหารฝ่ายพระรามเสมอ

หรือจะเรียกว่าเป็น wartime rape ก็ได้

คราวศึกสหัสเดชะ เพื่อนยักษ์ทศกัณฐ์ เมื่อพญายักษ์ใหญ่เพลี่ยงพล้ำถูกหนุมานจับตัวได้ ทหารลิงก็จับนางสนมยักษ์มาลวนลามต่อหน้าต่อตา ให้สหัสเดชะชอกช้ำคับแค้นใจก่อนถูกหนุมานสังหารตาย คราวทศกัณฐ์ประกอบพิธีชุบตัวให้เป็นกายเพชรคงกระพัน หนุมานก็จับนางมณโฑเมียรักทศกัณฐ์มาลวนลามเกี้ยวพาราสีโชว์ให้เสียตบะระหว่างประกอบพิธี

ส่วนนางมณโฑที่อยากช่วยสามีรบกับพระราม จึงประกอบพิธีหุงน้ำทิพย์ที่ถ้าใครดื่มแล้วจะฆ่าไม่ตาย นำมาพรมปลุกชีวิตคนตายให้ฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ แต่ในระหว่างพิธีหุงน้ำเจ็ดวันนั้น นางห้ามมีเพศสัมพันธ์ นางจึงให้สามีอดใจไว้ก่อนแล้วไปออกรบ หนุมานจึงแปลงกายเป็นทศกัณฐ์บอกว่าชนะสงครามแล้ว แล้วก็ชวนกันไปฉลองกันสองต่อสอง เป็นอันพิธีแตก

มากไปกว่านั้น รักระหว่างรบของหนุมานที่มีบ่อยครั้งเช่นกัน สมกับเป็น 'หนุมานชาญสมร' ทั้งสมรที่แปลว่า ผู้หญิง และ การรบ

เหมือนทศกัณฑ์ หนุมานเองก็กินหลากหลายตั้งแต่ ยักษ์ นางฟ้า นางเงือก ตั้งแต่บุษมาลี ซึ่งเป็นนางฟ้าต้องคำสาปให้มาอยู่ในเมืองร้างโลกมนุษย์ เมื่อชี้ทางไปกรุงลงกาให้กับหนุมาน ที่ไปสืบทางรบก็เกี้ยวพาราสีได้เป็นเมียหนุมานก่อนได้กลับขึ้นสวรรค์

นางสุพรรณมัจฉา ลูกสาวทศกัณฐ์กับนางปลา ที่เข้ามาก่อกวนขัดขวางตอนหนุมานควบคุมงานสร้างถนนข้ามมหาสมุทรไปยังกรุงลงกา แต่นางก็เสร็จหนุมาน จนนางเลิกก่อกวนการสร้างถนน แต่อย่างไรก็ตามนางก็สามารถทำให้หนุมานหยุดสร้างถนนได้ในช่วงเวลาหนึ่งด้วยการเสียเวลามาเล่นบทอัศจรรย์กับนาง

รวมทั้งนางเบญจกาย ลูกสาวของพิเภกที่เป็นน้องชายทศกัณฐ์ เมื่อพิเภกมาสวามิภักดิ์ต่อพระรามแล้ว ทศกัณฐ์จึงใช้เบญจกายแปลงกายเป็นนางสีดานอนอืดลอยน้ำหลอกให้พระรามเข้าใจว่านางสีดาตายแล้ว จะได้ถอยทัพกลับไป แต่แผนลวงนี้นอกจากจะไม่สำเร็จ ยังถูกหนุมานเกี้ยวจนตกเป็นเมียอีกนาง

ตรงกันข้ามกับหนุมานในรามายาณะของอินเดีย ที่ได้รับการเคารพบูชาเป็นเทพองค์หนึ่ง เป็นอวตารของพระอิศวร (อินเดียเรียกว่า พระศิวะ) เป็นผู้พิทักษ์ความดีงามที่มีความเก่งกาจสามารถกำลังวังชา งามสง่า และมีจิตใจซื่อตรง ภักดีต่อพระรามกับนางสีดา ถึงขั้นแหวกอกให้เห็น anatomy ว่าก็มีพระรามนางสีดาข้างในนั้น

ขณะที่หนุมานรามเกียรติ์ไทย เป็นเพียงลิงเผือกที่มีอภินิหาร ฉลาดเจ้าเล่ห์แสนกล ซ้ำยังเจ้าชู้ สามารถสมสู่กับหญิงสาวที่พบขณะปฏิบัติภารกิจได้ ไม่ใช่เทพเจ้าอย่างรามายณะอินเดีย เพราะถือว่ากษัตริย์เท่านั้นที่ประหนึ่งเทพเจ้าได้ ที่ข้าราชการบริวารรวมไปถึงพสกนิกรจำต้องภักดีประหนึ่งหนุมานที่จงรักภักดีต่อพระรามอย่างถวายหัว รู้จักที่ต่ำที่สูง เหมือนกับหลังศึกทศกัณฐ์ พระรามได้แบ่งกรุงอโยธยาปกครองร่วมกัน ทว่าหนุมานมีบุญบารมีก็ไม่ถึงพระราม พอนั่งบัลลังก์แล้วร้อน พระรามจึงไปสร้างเมืองใหม่ให้ปกครองพร้อมมอบนางในให้อีก 5,000 นาง

รามเกียรติ์จึงไม่เพียงเป็นมหากาพย์ระหว่างคนกับยักษ์ ยักษ์กับลิง ความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าหรืออาณาจักร แต่ยังรวมถึงการปะทะกันระหว่างเพศสภาพที่ต่างกันระหว่างท้องถิ่น ซี่งมันก็สนุกดีและก็น่ากลัวไปพร้อมกัน เมื่อมองว่า การศึกสงครามในนามของศีลธรรมอันดีงาม เพื่อรับใช้สมมุติเทพอย่างพระราม จะต่อสู้อย่างไรก็ได้ ไม่ถือว่าผิด

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] วัชรี วัชรสินธุ์,วัดพระเชตุพน : มัชฌิมประเทศอันวิเศษในชมพูทวีป, กรุงเทพฯ : มติชน, 2548, หน้า 94-95.

[2] พระยาอนุมานราชธน,อุปกรณ์รามเกียรติ์, กรุงเทพฯ : ศยาม, 2550, หน้า 46.

[3] ทรงวิทย์ ดลประสิทธิ์ , สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ),โคตรวงศ์ทศกัณฐ์, กรุงเทพฯ : มติชน, 2541, หน้า 7 - 9.

[4] ไชยันต์  ไชยพร, “ผู้หญิงกับความรู้ในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองตะวันตก : ว่าด้วยวาทกรรมแห่งอุปสรรคของความรักระหว่างโซเฟียกับโซเฟีย? ตอนที่สอง : ว่าด้วยวาทกรรมม์กซิสต์”,ผู้หญิงกับความรู้.กรุงเทพฯ : โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546,หน้า 92.

[5] อุทัย สินธุสาร, รามายนะ รามจริตมานัส,(กรุงเทพฯ : ศยาม, 2535),หน้า 62.

[6]จิตร ภูมิศักดิ์,ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม, กรุงเทพฯ : มติชน, 2547,หน้า 39 – 40.

[7] ชำนาญ รอดเหตุภัย,รามเกียรติ์ปริทัศน์, นครปฐม, โครงการผลิตเอกสารตำราเรียน วิทยาลัยครูนครปฐม, ม.ป.ป.,หน้า 117.

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0