โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากเหงื่อ ที่รู้ผลได้ภายในเวลาไม่ถึงนาที

TODAY

อัพเดต 22 ม.ค. 2563 เวลา 09.39 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2563 เวลา 09.39 น. • Workpoint News
การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากเหงื่อ ที่รู้ผลได้ภายในเวลาไม่ถึงนาที

หนึ่งในคดีใหญ่ที่คนในสังคมเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดคงนี้ไม่พ้นกการจับกุมนายประสิทธิชัย เขาแก้ว อายุ 39 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิ์ชัย ต.หัวไผ่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีชิงทองลพบุรี โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐานได้นำทั้งเสื้อผ้า รองเท้าเทียบเคียงหาพยานหลักฐานให้ได้ตัวคนร้าย และการตรวจดีเอ็นผู้ต้องสงสัย โดยดีเอ็นเอที่คนร้ายทิ้งไว้ ที่เป็นไปได้ที่สุดคือ เหงื่อของคนร้าย เพื่อนำมาเทียบเคียง

หลายคนอาจจะสงสัยว่า เหงื่อของคนเราสามารถใช้ในการการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้จริงหรือ ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจเทคนิคการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) กันก่อน โดยปกติแล้วการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่เราเคยเห็นเจ้าหน้าที่ใช้บ่อยครั้งคือ การตรวจสอบจากลายนิ้วมือ หรือการตรวจสอบจากดีเอ็นเอ

การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลด้วยลายนิ้วมือ

ลายนิ้วมือเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งของงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เนื่องจากลายนิ้วมือของแต่ละบุคคลจะไม่ซ้ำกันและไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต การตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือนั้นจะตรวจพิสูจน์โดยผู้ชำนาญ ซึ่งจะตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือจากสถานที่เกิดเหตุกับแผ่นลายพิมพ์นิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว ด้วยกล้องขยาย 4-6 เท่า

หรืออีกวิธีคือการตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือแฝงด้วยเครื่องตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมืออัตโนมัติ (AFIS) ในกรณีที่ไม่มีผู้ต้องสงสัย การตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลจะต้องดูจากจุดลักษณะสำคัญพิเศษของจุดตำหนิ (Special Characteristic Minutia) ของลายเส้นที่มีจุดลักษณะเป็นเส้นแตก เส้นแขนงเส้นสั้นๆ เส้นทะเลสาบ การสิ้นสุดของเส้น ซึ่งจุดพิเศษเหล่านี้จะปรากฏบนลายนิ้วมือ ฝ่ามือ และฝ่าเท้า แล้วทำการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายเส้นของจุดลักษณะสำคัญพิเศษตั้งแต่ 10 จุดขึ้นไป

การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลด้วยดีเอ็นเอ

มนุษย์ทุกคนจะมีสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ (DNA – Deoxyribonucleic acid) ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่ โดยจะได้รับสารพันธุกรรมจากพ่อและแม่อย่างละครึ่ง ดีเอ็นเอของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่ละคนจะมีดีเอ็นเอที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองแม้พี่น้องที่เกิดจากพ่อแม่ เดียวกัน ยกเว้นในกรณีของฝาแฝดแท้ซึ่งเกิดจากไข่ใบเดียวกัน จึงจะมีดีเอ็นเอเหมือนกันทุกประการ สารพันธุกรรม (DNA)  พบในเซลล์เกือบทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิต  มีอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์และพบในไมโตคอนเดรีย(Mitochondria)

การเปรียบเทียบ DNA อาจจะใช้เทคนิค ที่ใช้สารบางอย่างตัดเส้นนิวคลีโอไทด์ออกเป็นท่อนๆ ส่วนของ DNA ที่เรียงตัวเหมือนกันบนเส้น นิวคลีโอไทด์จะถูกตัดออก ทำให้ได้เส้นนิวคลีโอไทด์หลายๆ เส้นที่มีขนาดต่างกัน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับเส้น นิวคลีโอไทด์ในคนคนเดียวกัน การถูกตัดก็จะถูกตัดที่เดียวกัน จำนวนท่อนของ DNA ที่ได้ก็จะเหมือนกันด้วย และสามารถเปรียบเทียบกันได้

หรือการใช้เทคนิคของการตรวจหากลุ่มของ DNAในส่วนต่างๆ ของโครโมโซมที่แสดงลักษณะ ของความซ้ำกันเป็นช่วงๆ (Short Tandem Repeated) ซึ่งจะถ่ายทอดทางกรรมพันธ์เช่นกัน ตัวอย่างเช่นตำแหน่ง DNAที่โครโมโซมคู่ที่หนึ่งที่เรียกว่า D1S80 ซึ่งมีกลุ่ม DNA ซ้ำกันหลายลักษณะ ทำให้สามารถหาจำนวนที่ซ้ำกันของ DNA  ที่จุดนี้แล้ว ก็สามารถบอกความแตกต่างในแต่ละคนได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจหา DNA ได้จากส่วนต่างๆ ของ ร่างกายเช่น คราบเลือด, คราบอสุจิ, กระดูก ฯลฯ ทำให้การพิสูจน์บุคคลสามารถได้แน่นอนมากขึ้น

พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากเหงื่อ วิธีใหม่ในการสืบคดี

เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมาทาง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Jan Halámek คณะวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยออลบานี รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาเหงื่อของมนุษย์ และพบว่าเหงื่อของเราประกอบไปด้วยกรดอะมิโน (amino acid) และสารเมตาบอไลต์ (metabolite) แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคน แต่ความเข้มข้นของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป

โดย น.ส.พรรณพร กะตะจิตต์ นักวิชาการสาธารณสุข ได้อธิบายกระบวนการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากเหงื่อไว้ในบทความเรื่อง “เหงื่อ หลักฐานใหม่ในการพิสูจน์บุคคล” ว่า มีสารเมตาบอไลท์ 3 ชนิดที่สามารถใช้เพื่อระบุลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลได้ ซึ่งสารสารเมตาบอไลต์ (metabolite) ทั้ง 3 ชนิดได้แก่ ยูเรีย(Urea) แลคเทต (Lactate) และกลูตาเมต (Glutamate) ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละคน

ซึ่งทางนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองเก็บตัวอย่างเหงื่อบริเวณท่อนแขนของอาสาสมัคร 25 ตัวอย่าง ทดลองเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่สังเคราะห์ขึ้น 25 ตัวอย่าง ปรากฏว่า การทดลองสามารถแยกแยะความแตกต่างของแต่ละตัวอย่างได้ตามความเข้มข้นของเมตาบอไลท์และใช้เวลาสั้นๆ เพียง 30-40 วินาทีในการวิเคราะห์เท่านั้น

แต่ทว่าความเข้มข้นของเมตาบอไลท์ยังไม่อาจสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของยีนที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละบุคคลได้เท่ากับลายนิ้วมือ เนื่องด้วยปัจจัยในเรื่องการรับประทานอาหาร สุขภาพ และการออกกำลังกายที่ทำให้ให้สารเมตาบอไลท์เปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้นการเก็บข้อมูลและการติดตามความเปลี่ยนแปลงเหงื่อของแต่ละบุคคล จึงถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการระบุอัตลักษณ์บุคคล อย่างไรเหงื่อก็เป็นตัวอย่างหลักฐานที่สามารถเปิดเผยเพศและอายุได้โดยประมาณ

 

 

 

ที่มา : This New Technique Could Identify Suspects At A Crime Scene In Just 30 Seconds

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0